สหรัฐอเมริกาและองค์การสหประชาชาตินำขบวนประณามการก่อรัฐประหารในเมียนมาและการจับกุมนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพลเรือนหลายรายเมื่อวันจันทร์ ทำเนียบขาวเตือนสหรัฐจะดำเนินการกับกองทัพเมียนมา ขณะจีนเรียกร้องทุกฝ่ายแก้ปัญหาขัดแย้งตามกรอบกฎหมาย
แฟ้มภาพ เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว (Photo by Drew Angerer/Getty Images)
การก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี ก่อนหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ของเมียนมาที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จะเปิดการประชุมสภาวันแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ เกิดขึ้นภายหลังมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างกองทัพที่เคยกุมอำนาจปกครองเมียนมานานเกือบ 50 ปี กับรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจีที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นครั้งที่ 2
กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ยืนยันว่ากองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนแล้วเมื่อวันจันทร์ ภายหลังควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน โดยกองทัพอ้างว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน และคณะกรรมการการเลือกตั้งล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา
เอเอฟพีรายงานว่า เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ออกแถลงการณ์เมื่อคืนวันอาทิตย์ตามเวลากรุงวอชิงตันว่า สหรัฐคัดค้านความพยายามใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา และจะดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบหากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ย้อนกลับ สหรัฐเรียกร้องให้กองทัพและทุกฝ่ายยึดมั่นในบรรทัดฐานประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมในวันนี้
ส่วนแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐ เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลและแกนนำภาคประชาสังคมทุกคน และเคารพเจตจำนงของประชาชาวพม่าตามที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน
ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางกระแสข่าวลือรัฐประหารและคำขู่ของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ว่าอาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ รัฐบาลสหรัฐพร้อมด้วยรัฐบาลชาติตะวันตกมากกว่า 12 ชาติ ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 29 มกราคม เรียกร้องให้กองทัพเมียนมายึดมั่นในบรรทัดฐานประชาธิปไตย
รัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์นั้นด้วย เป็นชาติแรกๆ ที่แสดงปฏิกิริยาต่อข่าวการจับกุมนางซูจีและการยึดอำนาจของกองทัพ โดยมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพหลักนิติธรรม, แก้ปัญหาขัดแย้งผ่านกฎหมายทางกฎหมาย และปล่อยตัวผู้นำพลเรือนและบุคคลอื่นๆ ที่โดนควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมายทุกคนทันที
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษประณามการก่อรัฐประหารและการคุมขังนางซูจี ที่เป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนโดยพฤตินัย และว่าการลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนต้องได้รับการเคารพและผู้นำพลเรือนทั้งต้องถูกปล่อยตัว
ที่กรุงปักกิ่ง หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า จีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของเมียนมา จีนหวังว่าทุกฝ่ายจะแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางสังคมและการเมือง
กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียก็ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยกล่าวว่าอินเดียสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างแน่วแน่ และเชื่อว่าหลักนิติธรรมและกระบวนการประชาธิปไตยต้องผดุงไว้
สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกของอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประณามอย่างรุนแรงต่อการควบคุมตัวนางซูจี, ประธานาธิบดีวิน มยิน และผู้นำคนอื่นๆ
ขณะที่ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ประณามรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรงและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมายทุกคน "ผลการเลือกตั้งต้องได้รับการเคารพ และกระบวนการประชาธิปไตยต้องได้รับการฟื้นฟู" เขากล่าว
กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยกล่าวว่า หวังว่าทุกฝ่ายจะใช้ความอดกลั้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลแนะนำชาวสิงคโปร์ในเมียนมาให้ระมัดระวังในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่นิ่งนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีคำเตือนพลเมืองของตนในเมียนมาเช่นกัน โดยขอให้อยู่แต่ในเคหสถาน และละเว้นการออกไปภายนอกยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ แต่ญี่ปุ่นไม่มีแผนจะนำพลเมืองกลับประเทศ แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางซูจีและรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |