ทำไมรัสเซียบุกยูเครน! 'อดีตรองอธิการ มธ.' ย้อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่โซเวียดล่มสลาย

28 ก.พ. 2565 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กรณีรัสเซียบุกยูเครน หากเราอ่านดู และฟังข่าว จากสื่อตะวันตก รวมทั้งสื่อไทย เราคงตัดสินทันทีว่า กรณีนี้ตัวผู้ร้ายคือ รัสเซีย เพราะไปรังแกประเทศที่เล็กกว่า อ่อนแอกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งชาติตะวันตก โดยเฉพาะชาติที่เป็นสมาชิก NATO ก็ได้พร้อมใจกันออกมาประณามรัสเซียกันทั้งสิ้น ประหนึ่งว่ารื่องนี้เกิดขึ้นแบบกระทันหัน ฉับพลันทันที โดยไม่มีที่มาที่ไป ประเทศยูเครนอยู่ดีๆ ก็ถูกรุกรานจากรัสเซียโดยไม่มีสาเหตุอันควร

ชาวโลกทางฝั่งตะวันตก ก็พร้อมที่จะเชื่อว่ารัสเซียคือผู้ร้าย ด้วยเพราะถูกสื่อตะวันตกครอบงำมานาน ในภาพยนตร์ Hollywood ที่สร้างขึ้นที่เกี่ยวกับรัสเซียทุกเรื่อง รัสเซียถูกสร้างให้เป็นผู้ร้ายทุกเรื่อง

การจะทำความเข้าใจว่า เพราะอะไรรัสเซียจึงบุกยูเครน จะต้องมองย้อนกลับไปตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ยูเครนแยกตัวออกจากรัสเซียเป็นประเทศอิสระเมื่อปี ค.ศ.1991 เมื่อแยกตัวแล้วยูเครนก็มีปัญหามาตลอด เพราะเกือบจะไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำกว่าเมื่อสมัยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต GDP ต่อหัวของยูเครนในปี 1990 ก่อนแยกประเทศสูงกว่า GDP ต่อหัวในปี 2020 หลังแยกประเทศเสียอีก

ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยูเครนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายตะวันตก และฝ่ายตะวันออก ฝ่ายตะวันตก นำโดย นาย Stepan Bandera ซึ่งมีความต้องการแยกยูเครนออกเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตและโปแลนด์ เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันบุก Bandera เลือกที่จะอยู่ข้างเยอรมัน หลังสงคราม ชาวยูเครนตะวันตกมอง Bandera เป็นวีรบุรุษ แต่ชาวยูเครนตะวันออกไม่มีใครชอบกระทั่งเกลียดชัง Bandera เพราะชาวยูเครนตะวันออกนิยมรัสเซีย และส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซียใช้ภาษารัสเซีย ในขณะที่ชาวยูเครนตะวันตกนิยมยุโรปตะวันตก และถูกเรียกว่าเป็นฝ่ายขวาจัด หรือ Far Right

ปี 2010 ด้วยแรงสนับสนุนจากชาวยูเครนตะวันออก นาย Viktor Yanukovich ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี Yanukovich เป็นผู้ที่เอนเอียงไปทางรัสเซีย ในปี 2013 Yanukovich ปฏิเสธที่จะเดินหน้าทำข้อตกลงกับสหภาพยุโรปหรือ EU เป็นผลให้ประชาชนฝ่ายตะวันตกโกรธแค้น และเริ่มเกิดม็อบประท้วงการตัดสินใจดังกล่าว การประท้วงถูกเรียกว่า “Euromaidan” เพราะเริ่มเกิดขึ้นที่จตุรัส Maidan

แรกๆ ม็อบประกอบด้วยประชาชนฝ่ายนิยมยุโรปตะวันตกทั่วไปที่ประท้วงด้วยความบริสุทธิใจ ต่อมาเริ่มมีความรุนแรงมีคนทั้งฝ่ายผู้ประท้วงและฝ่ายตำรวจถูกยิงเสียชีวิต ในช่วงนี้เองจึงมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “Right Sector” ซึ่งเป็นเสมือนกองกำลังติดอาวุธที่เชื่อกันว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ดังปรากฏว่ามีวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกาคือนาย John McCain ปรากฏตัวร่วมกับกลุ่ม Right Sector ระหว่างการประท้วง กลุ่ม Right Sector เข้านำการประท้วง ทำให้ความรุนแรงขยายเป็นวงกว้างขึ้น

ในที่สุด Yanukovich ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เป็นผลให้ถูกลงมติในสภาให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการทำรัฐประหารแบบหนึ่ง และรัฐบาลชุดใหม่ ตำแหน่งที่สำคัญๆล้วนประกอบด้วยคนที่อยู่ในกลุ่ม Right Sector ทั้งสิ้น เป็นผลให้ประชาชนฝ่ายตะวันออกต้องตกอยู่ในความกลัว และต้องการจะแยกตัวออกจากยูเครน

เริ่มตั้งแต่ Crimea ซึ่งเป็นคาบสมุทร(peninsula) ที่อยู่ตอนตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน มีความต้องการจะแยกตัวเองออกกลับไปผนวกอยู่กับรัสเซีย รัสเซียจึงเห็นเป็นโอกาส ส่งกำลังเข้าไปจัดการให้มีการลงประชามติ ผลปรากฏว่ามีคนถึง 95.5%ต้องการไปอยู่กับรัสเซีย

ด้วยการสนับสนุนจากรัสเซีย การแข็งข้อและพยายามแยกตัวเองออกจากยูเครนของชาวยูเครนตะวันออกจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว รัฐ Donetsk และ Luhansk ซึ่งอยู่ในภูมิภาค Donbas ประกาศอิสระภาพและแยกตัวออกจากยูเครน รัฐบาลใหม่ของยูเครนถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการก่อการร้าย และนี่คือจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองในยูเครน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยูเครนเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น กองทัพยูเครนมีแต่ความอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับฝ่ายที่รัฐบาลเรียกว่าเป็นฝ่ายกบฏได้ ในช่วงนี้จึงมีกลุ่มคนที่เกิดจากพวกขวาจัด เป็นกลุ่มนีโอนาซี ใช้สวัสดิกะเป็นสัญญลักษณ์ประจำกลุ่ม เหยียดผิวและชอบความรุนแรง จัดตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธ เรียกว่า ” Azov Battalion ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธจากสหรัฐอเมริกา เข้ามาปฏิบัติการแทนทหาร และต่อมาจึงเข้าผสมผสานกับกองทัพในฐานะกองกำลังรักษาดินแดนหรือ National Guard

การสู้รบระหว่าง กองกำลัง Azov Battalion กับกองกำลังฝ่ายต้องการแบ่งแยกดินแดนจึงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2014 และแน่นอนว่ารัสเซียย่อมให้การสนับสนุนฝ่ายแบ่งแยกดินแดนอย่างเต็มที่มาโดยตลอด การสู้รบที่ยาวนานนี้ทำให้ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเสียชีวิตทั้งกองกำลังและประชาชนธรรมดาไม่น้อยกว่า 14,000 คน รัสเซียอ้างว่า ยูเครนกำลังทำลายและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนใน Donetsk และ Luhansk แต่สหรัฐอเมริกาและ EU ไม่เชื่อ และนาย Voldymyr Zelenskyy ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน ก็ออกมาปฏิเสธเช่นกัน

จะเห็นว่าการสู้รบได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว เหตุใดรัสเซียจึงบุกยูเครนในขณะนี้ ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า NATO คือการรวมตัวของสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกในยุคสงครามเย็น เพื่อต่อต้านรัสเซีย หากประเทศมสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งถูกรุกรานจากรัสเซียหรือใครก็ตาม ก็ถือว่าประเทศสมาชิกอื่นๆถูกรุกรานด้วย แน่นอนว่านาย Zelenskyy ย่อมเป็นพวกขวาจัด หรือ Far Right และไม่นิยมรัสเซีย นาย Zelenskyy จึงต้องการนำยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของ NATO ด้วยความยินดีของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆใน NATO แต่รัสเซียไม่อาจยอมได้ เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศที่คั่นกลางระหว่างรัสเซียกับประเทศใน EU จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ หากยูเครนเป็นสมาชิกของ NATO ก็หมายความว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถตั้งฐานยิงขีปนาวุธในยูเครนได้ อันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซีย

เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Cuban Missile Crisis ในปี 1962 เมื่อเครื่องบินสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาถ่ายรูปพบว่า รัสเซียกำลังสร้างฐานยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคิวบา ประธานาธิบดี John F. Kennedy ตัดสินใจนำเรือรบปิดล้อมคิวบาเพื่อไม่ให้รัสเซียขนขีปนาวุธเข้าคิวบาได้อีก และยื่นคำขาดต่อประธานาธิบดี Nikita Khrushchev ของรัสเซียให้หยุดการปฏิบัติการดังกล่าว และให้ทำลายฐานยิงเสีย โชคดีของชาวโลกที่ Khrushchev ยอมถอย มิฉะนั้นคงเกิดสงครามนิวเคลียร์ไปแล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดี Kennedy พุ่งกระฉูด ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐอเมริการแต่ได้รับคะแนนนิยมไปทั่วโลก แต่หาก Khruschev ไม่ยอมถอย Kennedy จะได้รับการยกย่องเช่นนี้หรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบ

จะเห็นว่า เมื่อรัสเซียทำเช่นนี้สหรัฐอเมริกาก็ไม่ยอม ถึงกับยอมเสี่ยงที่จะทำสงครามนิวเคลียร์ แล้วเมื่อถึงคราวของรัสเซียบ้าง ประธานาธิบดี Putin จะยอมได้อย่างไร

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ Putin ตัดสินใจบุกยูเครนก็คือ เมื่อรัสเซียประกาศรับรองการแยกตัวของ Donetsk และ Luhansk สหรัฐอเมริกาและประเทศที่เป็นสมาชิก NATO ต่างก็ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียทันที

สิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัสเซียไม่พอใจก็คือในปี 1989 ประธานาธิบดี Mikhail Gorbachev แห่งรัสเซียยอมให้มีการรวมประเทศเยอรมันตะวันตก กับเยอรมันตะวันออกเข้าด้วยกัน และได้มีการทำลายกำแพงเบอร์ลินที่สร้างขึ้นหลังสงครามโลกเพื่อแยกเยอรมันเป็น 2 ประเทศเสีย โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า NATO จะไม่รับสมาชิกเพิ่มอีก แต่ต่อมา NATO กลับรับสมาชิกเพิ่มอีกหลายประเทศ และกำลังจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอีก 1 ประเทศ เท่ากับว่า สหรัฐอเมริกาและ NATO ไม่ได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับรัสเซียแต่อย่างใดเลย แล้วครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและ NATO กลับไม่พูดถึงคำสัญญาเดิมต่อรัสเซียเลย มีแต่เรียงแถวออกมาประสานเสียงประณามรัสเซีย บางคนถึงกับประณามว่า เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนเลยทีเดียว

น่าแปลกที่ เมื่อสหรัฐอเมริกาถล่มอิรักจนยับเยิน แต่ไม่สามารถค้นหาอาวุธร้ายแรงที่ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีได้ ไม่เห็นมีประเทศไหนออกมาประณามว่าป่าเถื่อนเลยแม้แต่ประเทศเดียว

พวก 3 นิ้ว ก็บ้าจี้ออกมาประณามกับเขาด้วย บางคนเรียกร้องให้ประเทศไทยเลือกข้าง ด้วยเหตุผลว่าเวลานี้เราไม่ช่วยเขา ถึงเวลาเราเดือดร้อนเขาก็จะไม่ช่วยเรา ก็น่าแปลกอีก คนพวกนี้เคยโจมตีว่าการซื้อเรือดำน้ำไม่มีความจำเป็น เพราะสมัยนี้ไม่มีการรบกันอีกแล้ว บัดนี้กลับคิดอีกแบบ

ที่บรรยายเล่ามาทั้งหมด ไม่ใช่จะบอกว่าการที่รัสเซียบุกยูเครนเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพียงแต่ต้องการให้เข้าใจถึงเหตุผล ที่มาที่ไป ที่ทำให้ประธานาธิบดี Putinตัดสินใจเช่นนั้น สิ่งที่รัสเซียทำ ไม่ใช่ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่เคยทำ และต้องเข้าใจว่า รัสเซียไม่ได้ต้องการยึดยูเครนทั้งประเทศ เพียงไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO และต้องการให้สงครามระหว่างยูเครนกับ Donetsk และ Luhansk ยุติลง ด้วยการยอมให้ทั้ง 2 รัฐซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซียเป็นอิสระได้

ดังนั้นการทำให้สงครามยุติลงโดยเร็ว ไม่ขยายไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่อาจเป็นสงครามนิวเคลียร์ความจริงไม่ยากเลย เพียงแต่ยูเครนประกาศว่าจะไม่เข้าเป็นสมาชิกของ NATO สหรัฐยุติการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่วนเรื่อง Donetsk และ Luhansk ขอให้มีการตั้งโต๊ะเจรจากัน ถ้าทำได้ ทุกอย่างก็จบ หรืออย่างน้อยก็จบได้ชั่วคราว เพียงแต่สหรัฐอเมริกาและยูเครนจะยอมทำเช่นนั้นหรือไม่เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

จับตา! ปม 'นักโทษเทวดา' จุดตาย 'ทักษิณ-เพื่อไทย'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นเพราะคุณไพบูลย์ นิติตะวัน โปรโมตเรื่องหมัดเด็ดที่อาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยล่มสลายดีเกินไป

ต้องไม่ยอมมัน! อดีตรองอธิการบดี มธ. ปลุกขวางแก้ รธน. ทำลายความถูกต้อง-เป็นธรรม

ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม

ผู้ว่าฯธปท.จบจากที่ไหน 'นักวิชาการ' แนะดูคลิปแล้วจะตัดสินได้เองว่าสมควรเชื่อใคร

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า s

หยาม 'มาดามแพ' ไม่ได้เขียนนโยบายเอง ไร้วิสัยทัศน์ มีแต่พรรณนา กังขาผุด 'กาสิโน' ทำเลทอง

'อ.หริรักษ์' เชื่อนโยบายรัฐบาลผู้เขียนคงไม่ใช่ตัว'แพทองธาร' ภาพรวมไม่ต่างรัฐบาลชุดก่อนคือไม่มีวิสัยทัศน์ มีแต่การพรรณนา ชี้ entertainment complex จุดหมายที่แท้จริงคือ casino ในทำเลทอง ส่วนอื่นๆเป็นเพียงส่วนประกอบ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'งวด3คงไม่ได้แจกเพราะคงอยู่ไม่ถึง

อดีตรองอธิการบดี มธ. ห่วง ‘ภูมิธรรม’ คุมเหล่าทัพ ตัวเร่งรัฐประหารในอนาคตอันใกล้

การส่งคุณภูมิธรรมไปนั่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกองทัพทั้ง 3 เหล่า เหมือนกับเป็นการบอกว่า อำนาจอยู่ที่ฉัน ฉันจะเลือกใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้