เลขาครป. จี้ '4 นายพล' ตอบคำถามคดีค้ามนุษย์

เลขา ครป.” จี้ “4 นายพล” ตอบคำถามคดีค้ามนุษย์ เรียกร้อง “ประวิตร-จักรทิพย์” รับผิดชอบโยกย้ายไม่เป็นธรรม ชี้ขบวนการค้ามนุษย์เกิดจากช่องโหว่ของนโยบายด้านความมั่นคงและงบลับทางการทหาร และ “ประยุทธ์” ไฟเขียวรู้เห็นเป็นใจ

20 ก.พ.65 – นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ว่า ต้องขอขอบคุณ รังสิมันต์ โรม ได้ทำให้สังคมไทยเข้าใจปัญหานี้ทางโครงสร้างอย่างชัดเจนขึ้นในระบอบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ของชนชั้นนำไทย พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 คือตำรวจน้ำดีที่สุดคนหนึ่งในวงการตำรวจไทย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ควรจะรักษาไว้และให้รางวัลเชิดชู ไม่ใช่ขับไสไล่ส่งออกไปจากองค์กรจนกระทั่งต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ เพราะแพ้ภัยอำนาจอิทธิพลที่กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐในรูปของพี่น้องโรงเรียนเตรียมทหาร และนายร้อย จปร. ที่กลายเป็นระบบอุปถัมภ์นิยม ทั้งในหน่วยงานราชการ อำนาจเถื่อนและเศรษกิจสีเทา โครงสร้างสังคมไทยลักษณะนี้จึงอนุญาตให้แก๊งมาเฟีย เจ้าพ่อค้ายา ผู้มีอิทธิพลเถื่อน เข้าสู่ระบบ และมีหน้ามีตาในสังคมการเมืองไทย กระทั่งนั่งอยู่ในรัฐสภา

การที่ พล.ต.ต.ปวีณ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทั้งที่เป็นตัวหลักในการทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา จนสามารถจับกุมนายทหารระดับนายพล ตำรวจยศใหญ่ กระทั่งนักการเมืองท้องถิ่นได้หลายคนนั้น ผมคิดว่ามีคนที่จะต้องรับผิดชอบและตอบคำถามในเรื่องนี้หลายคน ไม่ใช่แค่ตอบคำถามประชาชนไทย แต่ตอบคำถามประชาคมโลกด้วย

คนที่หนึ่ง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นั่งเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 21 ต.ค.58 และมีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.ปวีณ ไปรักษาราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประวิตร ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามว่า กลั่นแกล้งสั่งย้ายทำไม หรือตั้งใจส่งเขาไปตายหรือไม่ เพราะชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษ เต็มไปด้วยอำนาจมืดและขบวนการที่เกี่ยวข้องในเส้นทางค้ามนุษย์ริมชายแดน ทำไมไม่ให้เขาทำงานคดีต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ต่อไป หรือมอบอำนาจเลื่อนตำแหน่งให้
คนที่สอง คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่เพิ่งได้เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ในขณะนั้น ที่อ้างว่าได้รับคำแนะนำจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 16 ของ พล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยคนสำคัญในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ว่าให้ย้ายไปชายแดนใต้เนื่องจาก พล.ต.ต.ปวีณ เชี่ยวชาญกฎหมายความมั่นคง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า การสั่งย้ายทั้งๆ ที่มีคดีค้างอยู่และมีผลงานเป็นที่ปรากฎถือเป็นการกลั่นแกล้งและปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ และได้สอบถามความสมัครใจเจ้าตัวในการสั่งย้ายนี้ด้วยหรือเปล่า

นอกจากนี้ หลังจากคดีนี้พัวพันกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายและ พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าชุดทำคดี ได้ถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายการเมือง จนตัดสินใจทำหนังสือลาออกเมื่อ 5 พ.ย.58 และขอลี้ภัยภายหลังขอให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ทบทวนคำสั่งไม่สำเร็จนั้น ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคงได้เห็นปัญหาจึงพยายามขอให้ พล.ต.ต.ปวีณ ยับยั้งใบลาออกและให้โอนย้ายไปทำงานในสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ (สนง.นรป.904) แทน หรือย้ายไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อดูคดีค้ามนุษย์ต่อ เพื่อให้ตำรวจน้ำดีได้ทำงานช่วยบ้านเมืองต่อไป แต่ขณะไปถอนใบลาออกในอีกวันต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร. กลับบอก พล.ต.ต.ปวีณ ให้ลาออกไปอยู่เงียบๆ แทน โดยต่อสายให้ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ประจําสํานักพระราชวังพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เสนอทางเลือกนี้ ได้ยืนยันกับ พล.ต.ต.ปวีณ โดยตรง

ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ อาจกลัวว่าการปฏิเสธเข้าสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ อาจเป็นภัยคุกคามจากการปฏิเสธก็ได้ จึงขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย เพราะอยู่ใน สตช.ก็ไม่ได้แล้ว อาจมีภัยจากการทำคดีค้ามนุษย์และอาจถูกกลั่นแกล้งคดี ม.112 ดังนั้น คนที่สาม ที่ต้องตอบคำถามก็คือ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย นั่นเอง ว่าเขารับงานใครมาหรือไม่? ทำไมเสนอทางเลือกใหม่ต่างไปจากสองทางเลือกแรกและขัดกับข้อเสนอของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ต้องการให้ไปช่วยงานในตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.จุมพล ก็ได้กลายเป็นผู้ต้องหาคดีประพฤติชั่วร้ายแรงและบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ โดยสำนักพระราชวังลงโทษไล่ออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ในวันที่ 27 ก.พ.60 ปัจจุบันพ้นโทษออกมาแล้ว

สำหรับข้อครหาที่ว่า พล.ท.มนัส เสียชีวิตในเรือนจำจากเหตุหัวใจวายนั้นมีการตัดตอนคดีหรือไม่ ในเรื่องนี้กรมราชทัณฑ์เคยเผยแพร่เอกสารยืนยันการเสียชีวิตของ พล.ท. มนัส ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพฯ ในวันที่ 2 มิ.ย.64 แล้ว หลังจากเข้ารับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ 1 เดือน เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง และหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ และได้เสียชีวิตขณะเดินออกกำลังกายแล้ววูบหมดสติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผบ.เรือนจำ อาจต้องเผยแพร่เอกสารผลชันสูตรจากแพทย์ด้วย

และ คนที่สี่่ ที่ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามสังคมไทยคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ย่อมรู้เห็นเป็นใจไม่มากก็น้อย เพราะ พล.ต.ต.ปวีณ กำลังทำคดีสำคัญเพื่อกู้หน้าประเทศไทย สร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่ประชาคมโลก หลังจากที่ถูกกดดันจากผลการจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย นอกจากนั้น พล.ต.ต.ปวีณ เคยทำเรื่องขอให้พล.อ.ประยุทธ์ ช่วยทบทวนคำสั่งด้วย แต่ก็ไม่มีการตอบรับ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะรู้เห็นเป็นใจและไฟเขียวด้วย

ขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลายเป็นกลุ่มที่เกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติไปโดยปริยาย จึงอาจทำให้รูปแบบองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้อาจถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศไทยได้เช่นกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เบื้องหลังของขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาล้วนเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา เพราะทำกันอย่างเป็นระบบ มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ระหว่างทางมีผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพัน จากการที่มีการเปิดเผยค้นพบแคมป์พักชั่วคราวของขบวนการค้ามนุษย์บนเทือกเขาแก้ว ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา อ.รัตภูมิ หลายพื้นที่ในจังหวัดสงขลาในปี 2558 ซึ่งถูกสร้างขึ้นในลักษณะเกือบถาวรและรอบบริเวณยังพบหลุมฝังศพมากมายหลายสิบหลุมจนโลกต้องตะลึง นอกจากนี้ยังพบที่ จ.พังงา จ.ชุมพร และ จ.ระนอง ด้วยโดยมีทั้งชาวโรฮิงญา พม่า ไทย และมาเลเซีย เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้

ขบวนการต้นทางมีคนที่ถูกเรียกว่า “มาชี” สามารถพูดได้ 3 ภาษา คือภาษาโรฮิงญา ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ เป็นผู้คุมดูแลระหว่างการเดินทางและในค่ายพัก โดยมีเครือข่ายมาชีทั้งหมดประมาณ 300 คนในขณะนั้น ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย และพม่า มาชีจะนำพาชาวโรฮิงญาขึ้นเรือเล็กออกจากพม่าและชายแดนบังกลาเทศ มาขึ้นเรือใหญ่กลางทะเล และขึ้นฝั่งในหลายจังหวัดของไทย ไม่ว่าจะเป็น จ.ระนอง จ.พังงา ตามแนวอันดามัน เพื่อขึ้นรถเดินทางต่อไปยังแคมป์กักขังใกล้ชาย แดนไทย-มาเลเซีย ที่ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ระหว่างทางจึงต้องมีการเข้าหาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเปิดทาง โดยเฉพาะตำรวจท้องที่ หรือตำรวจทางหลวงต่างๆ ทำให้นายหน้าโรฮิงญามักจะรู้จักมักคุ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยหลายคนเป็นอย่างดี

จากการที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช จับกุมรถขนส่งชาวโรฮิงญาได้กว่า 101 คน ซึ่งเสียชีวิตลงจากสภาพการเดินทางแออัดภายในรถ 3 คน มีการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงผู้ต้องหาทั้งในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.สงขลา จากการจับกุมในครั้งนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถขยายผลเชื่อมโยงไปยังนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์อีกหลายคน รวมถึงบางคนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์และถูกฆ่าตาย นำไปสู่การพบศพอีกจำนวนมากมายในค่ายพักชั่วคราวบนเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่่งเป็นจุดชำระเงินค่าไถ่หรือค่าหัวแรงงานนั่นเอง

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงบางส่วนใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากนโยบายด้านความมั่นคงและงบลับทางการทหาร เพื่อหารายได้จากธุรกิจสีเทาจนสร้างเป็นโครงข่ายที่ใหญ่โต โดยหลังจากปี 2556 เป็นต้นมาที่มีการจับกุมชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ซึ่่งก่อนหน้านั้นพวกเขาจะเป็นผู้นำพาผู้อพยพด้วยกันเองและมีคนในพื้นที่คอยให้การช่วยเหลือ แต่ต่อมามีคนไทยตั้งตัวเป็นนายหน้าเรียกค่าไถ่รับผลประโยชน์แทน ทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเกิดค่ายกักขังบนภูเขาขึ้น
ในช่วงนั้น หน่วยงานทางปกครองของไทยบางหน่วยจึงใช้วิธีจัดงบประมาณ ดำเนินการในทางลับเพื่อขนชาวโรฮิงญาออกจากราชอาณาจักร เพื่อแก้ปัญหาการพักพิงในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อถูกจับกุมในฐานะลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากพม่าและบังกลาเทศไม่ยอมรับคนเหล่านี้เป็นพลเมือง จากนโยบายความมั่นคงและการใช้งบลับดังกล่าว กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคน จับมือกับนักการเมืองท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง รวมทั้งตำรวจ ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการวางโครงข่ายขบวนการนำพาชาวโรฮิงญาส่งให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ ดังคดีที่มีการจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่เกี่ยวข้อง และสั่งย้ายข้าราชการตำรวจหลายคนที่ได้รับส่วย

นอกจากนี้ ริมชายแดนเทือกเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ควบคุมชาวโรฮิงญาจำนวนมากเพื่อการค้ามนุษย์ เรียกค่าไถ่ และส่งตัวไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น ยังเคยเป็นที่ควบคุมผู้อพยพชาวอุยกูร์อีกด้วยเช่นกัน ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านั้นทางการไทยเคยจับกุมผู้อพยพชาวอุยกูร์ได้กว่า 280 คน ซึ่งต่อมามีการพิสูจน์สัญชาติจนมีการส่งตัวไปยังตุรกี 171 คน ส่วนอีก 109 คน ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนเพื่อดำเนินคดีตามคำร้องขอ ซึ่งต่อมาได้เกิด “วินาศกรรมราชประสงค์” ขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โรม' กล่อม 'ทักษิณ' เข้าแจง กมธ.ความมั่นคง ปมชั้น 14 เชื่อเป็นผลดีต่อรัฐบาล-นายกฯอิ๊งค์

นายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเชิญนายทักษิณ ชินวัตร

สส.รังสิมันต์ แจงเหตุกมธ.มั่นคงฯ เชิญ 'ทักษิณ' แจงปมนักโทษเทวดาชั้น 14

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึง

'รังสิมันต์' มัด 'ทักษิณ' เช็กอาการแค่ 4 นาที อีก 17 นาทีเดินทางไปรพ.ตำรวจ

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภาย

'โรม' ยัน กมธ.ความมั่นคง มีอำนาจเค้นข้อมูล 'ป่วยทิพย์ชั้น 14' อย่าอ้างกฎหมาย PDPA

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกมธ.ถึงการพิจารณาวาระกรณีกรมราชทัณฑ์

ชี้ช่อง ‘รังสิมันต์’ เอาผิดนักโทษเทวดา สมุดบันทึกสีน้ำเงินเล่มใหญ่ หลักฐานมัดความผิดปกติ

ข้อมูลจากเอกสารสมุดบันทึก และรายงานจากแอพพลิเคชั่นไลน์แทน ถ้าไม่มีหลักฐานชิ้นนี้ สามารถสันนิษฐานได้เลยว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น

ดิ้นหนัก! 'โรม' ชี้ 'พรรคประชาชนพม่า' เป็นเฟกนิวส์ ลั่นรักษาผลประโยชน์คนไทยมาตลอด

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน จัดแถลง Policy Watch ในเรื่องประเทศไทยควรทำอย่างไรกับปัญหาเมียนมา