'30 ปีพฤษภาประชาธรรม' จัดใหญ่เชิญนานาชาติถกเรื่องสิทธิมนุษยชน - ความยุติธรรม

“บุญแทน” แย้ม “30 ปีพฤษภาประชาธรรม” เตรียมจัด “เวทีวิชาการระหว่างประเทศ” จ่อ เชิญ “ทูต-ตัวแทนหน่วยงานระหว่างประเทศ” เข้าร่วมถก “สิทธิมนุษยชน -ความยุติธรรม-การพัฒนาประชาธิปไตย” พร้อม “กิจกรรม 5 เรื่องหลัก” หวังเรียนรู้จากมิตรประเทศ เพื่อคนรุ่นหลังจะมีอนาคตที่ดีกว่า

13 ก.พ. 2565 – นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงการจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ว่า เหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้ามาติดตามข่าวสารมากมาย ไม่เฉพาะสื่อมวลชนของไทยเท่านั้น องค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ หรือภาคประชาสังคม ฮิวแมนไรตส์วอตช์ , แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมทั้งองค์กรของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเจนีวา ต่างส่งผู้แทนเข้ามาติดตามสถานการณ์ในประเทศไทย

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวที่มีผู้สูญเสีย และหลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ก็ส่งผู้แทนเข้ามาติดตามหาสาเหตุต่างๆว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ช่วงเดือนพฤษภา 2535 เป็นอย่างไร ในช่วงนั้นองค์กรระหว่างประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ ก็ให้ความสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ที่ประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ถูกรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนโดยทหาร ปราบปรามอย่างรุนแรง ฉะนั้นต้องคิดว่าประชาคมระหว่างประเทศ ให้ความสนใจในเรื่องความรุนแรงxกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่ง ที่สืบเนื่องมาจาก 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาก็เป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่ง” นายบุญแทน กล่าว

นายบุญแทน กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 30 ปี คณะผู้จัดประกอบด้วยพฤษภาประชาธรรม ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ที่รับผลกระทบ จากเหตุการณ์การสูญเสีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 รวมทั้งองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยหรือ ครป. ที่เข้าร่วมในการจัดงานดังกล่าวด้วยกัน ภารกิจที่เราได้รับมอบหมาย คือ การเชื่อมประสานกับเครือข่ายประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งความจริงแล้วในส่วนของคณะกรรมการญาติพฤษภา ก็เคยส่งข้อร้องเรียนต่อข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ เมื่อประมาณปี 2542 – 2543 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อญาติยื่นข้อร้องเรียนต่อศาลแพ่งและศาลอาญา หลังจากเหตุการณ์พฤษภาไม่นาน ศาลก็ยกฟ้องคดีดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่ามี พ.ร.ก.กฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว ประชาชนไม่สามารถเอาผิดหรือเรียกร้องค่าเสียหาย จากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบอีกต่อไป ทำให้เป็นการสูญเสียความยุติธรรมในการเข้าถึงความยุติธรรมทางอาญาดังกล่าว

“ฉะนั้นเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ญาติพฤษภาต้องยื่นข้อร้องเรียน เพื่อหาความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ เพราะเรื่องของคนหายเรื่องของการสูญเสียจากเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บดังกล่าว ก็เข้าไปอยู่ในสารระบบของระบบสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งตรงนี้ก็เป็นตัวเลขที่มีการระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนนั่นคือความผูกพันที่ ญาติวีรชนพฤษภาซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง จากเหตุการณ์ความรุนแรง ก็แสวงหาความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศตรงนี้”

ประธานครป.กล่าวอีกว่า ในโอกาสที่มีการจัดงานรำลึก 5 ปีพฤษภาประชาธรรม เมื่อปี 2540 และในช่วงเดือนพฤษภาคม 2545 ทศวรรษพฤษภาประชาธรรม ทางคณะกรรมการก็เคยมีการจัดประชุมวิชาการระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนความยุติธรรม และประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ในโอกาส 30 ปีก็ถือเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่ง ที่คิดว่าเรื่องนี้จะต้องมีการหยิบยกเหตุการณ์พฤษภาขึ้นมา เป็นอุทาหรณ์ให้กับประเทศต่างๆ ให้กับกระบวนการภาคประชาชน ภาคส่วนต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้รับบทเรียนต่างๆดังกล่าว ในการที่จะต้องต่อสู้ด้วยสันติวิธี ยึดหลัก”อหิงสธรรม”

“ขณะเดียวกันก็เป็นการเชิดชูความมุ่งมั่นของประชาชน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและการมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีของประชาชน ตรงนี้เป็นเจตนาดั้งเดิมของการจัดงานตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และในโอกาสนี้คณะกรรมการจัดงานฯจึงได้หารือกัน ว่าจะมีการจัดงานเวทีวิชาการระหว่างประเทศ โดยจะเชิญผู้แทนหน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ สหประชาชาติหรือองค์กร มูลนิธิสถาบันต่างๆ ที่ให้ความสนใจ ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในระดับสากล มาเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งเชิญทูตจากประเทศต่างๆ ที่ให้ความสนใจการจัดงานนี้ ซึ่งได้มีการกำหนดหัวข้อ ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นไปตามข้อกำหนดหรือแนวทางของการจัดงานในปีนี้ “

นายบุญแทน กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม 5 เรื่องหลักๆของประเทศ คือ 1. เรื่องของสิทธิมนุษยชนความเสมอภาคทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเราถือว่าเป็นความท้าทายในศตวรรษที่ 21 เรื่องนี้สำคัญ เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตย และความยุติธรรม การพัฒนามีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเราก็ตั้งใจที่จะเชิญผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ มาปาฐกถาและมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน เป็นการประชุมแบบออนไลน์ ผ่านระบบซูม ร่วมกับการประชุมในห้องประชุม ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมครั้งแรกที่เราจัดขึ้น

2. เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงความยุติธรรม และการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิติธรรม เราคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 มีบัญญัติไว้ชัดเจน และ รธน.ปี 50 กับปี 60 ซึ่งเป็น รธน.ฉบับที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันก็มี ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการที่จะบัญญัติในเรื่องของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ขณะนี้ผ่านไปเกือบ 5 ปีแล้ว ยังไม่เห็นวี่แววว่าการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปถึงไหน เนื่องจากรัฐอาจจะไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร

3. เรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน กับการให้การเยียวยาหรือฟื้นฟู กับเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วย บาดเจ็บล้มตายหรือแม้แต่กระทั่งกรณีคนหายก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับเหตุการณ์พฤษภาคมเท่านั้น แต่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด และช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างขุดรากถอนโคนเมื่อปี 2546 กรณีความขัดแย้งรุนแรงในภาคใต้ปี 2544 ซึ่งทำให้ทนายสมชาย นีละไพจิตร ต้องหายสาบสูญไป ตามด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะและตากใบในปีเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นทับทวีมากยิ่งขึ้น “เรามองว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีความต่อเนื่องเช่นนี้ รัฐจะต้องมีความรับผิดชอบในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้ที่ก่อให้เกิดการละเมิดเหล่านั้นจะต้องนำเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมบุคคลต่างๆเหล่านี้ถือเป็นการชำระล้างความผิด ซึ่งถือเป็นรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุดในระบบสากล เราก็จะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการลบล้างความผิด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด” นายบุญแทน กล่าว

นายบุญแทน กล่าวต่อว่า 4. เรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบธรรมาภิบาล ซึ่งเรื่องนี้พูดถึงกันมานานแล้วในเรื่องของความโปร่งใสการตรวจสอบได้ ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าสู่อำนาจทางการเมือง หรือในระบบราชการ เมื่อได้รับการฉันทามติเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นบทบาทของภาคประชาสังคม ในการติดตามและตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นความสำคัญ “ในโอกาสนี้จะได้ใช้เวทีในการเรียนรู้ จากกัลยาณมิตรของเราจากต่างประเทศและแลกเปลี่ยนว่า เราจะปฏิรูปการเมือง ระบบยุติธรรมของเราให้ไปสู่ความคืบหน้าให้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อาจจะเป็นหัวเรื่องหนึ่งย่อยๆ ในเรื่องของการสร้างระบบธรรมาภิบาลติดตามตรวจสอบถ่วงดุลเราก็มุ่งหวังที่จะเล่นการเมืองใหม่ ที่ประชาชนเป็นปากเป็นเสียงและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างแท้จริง”

5. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งหลายประเทศเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่ง ในการตรวจสอบว่าประเทศนั้นๆ มีความเป็นประชาธิปไตยและเคารพในหลักนิติธรรมมากน้อยแค่ไหน เราจะประสานความร่วมมือกับองค์กรสื่อมวลชน ในภูมิภาคระหว่างประเทศ มาเข้าร่วมกิจกรรมปรึกษาหารือในเรื่องนี้ เพราะความจริงแล้วการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่นกัน เมื่อสื่อไม่สามารถเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริงได้ ก็ย่อมกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยปริยาย

นายบุญแทน กล่าวอีกว่า เหตการณ์เดือนพฤษภาของเรา ยังพ้องกับเหตุการณ์ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของเรา คือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 – 20 พฤษภาคมปี 2523 เกาหลีใต้เกิดเหตุการณ์เกิดก่อนไทย 12 ปี คือ ประชาชนเมืองกวางจู เกาหลีใต้ ลุกขึ้นสู้ต่อต้านเผด็จการทหาร ที่มีความพยายามในการยึดอำนาจ และทำลายประชาธิปไตยในประเทศของเขา ทำให้ชาวเมืองกวางจูนับหมื่นนับแสนคนลุกขึ้นสู้ และเกิดวีรกรรมครั้งสำคัญที่ถูกทหารในขณะนั้น ปราบปรามอย่างรุนแรง เรารู้สึกว่าการมีส่วนร่วม ระหว่างกระบวนการของประชาชน ในเหตุการณ์พฤษภาคมของไทย กับกรณีของเหตุการณ์กวางจูก็เสมือนหนึ่งเป็นพี่น้องกัน ที่เราได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน “ในอดีตระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา คณะกรรมการญาติวีรชน และคณะกรรมครป.ได้มีการประสานความร่วมมือ กับกัลยาณมิตรของเราที่เกาหลีใต้ ในเรื่องการเรีอนรู้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อาจจะเป็นโอกาสเหมาะ ที่เราจะได้มีเพื่อนพี่น้องของเราจากกวางจูเกาหลีใต้ มาร่วมในเวทีและกิจกรรมของเราด้วย ซึ่งถือว่าการเฉลิมฉลองรำลึกวีรชนเหตุการณ์พฤษภาเหมือนกัน เพียงแต่ห่างกัน 12 ปี คืออุทาหรณ์ที่สำคัญ เพราะสิ่งที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ คือหลังจากเหตุการณ์กวางจูปี 2523 แล้ว ผู้นำของทหารหรือประธานาธิบดี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ฉ้อฉลในการใช้อำนาจปราบปรามประชาชน ก็ถูกจับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีการพิพากษาของศาลให้จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต จึงคิดว่าเป็นโอกาสสำคัญ ที่จะได้เรียนรู้จากมิตรประเทศ ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ระบบนิติธรรมนิติรัฐจะต้องดำรงอยู่และพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันว่า คนรุ่นหลังเราจะมีอนาคตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”นายบุญแทน กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' สวมบท สส. รับ 'คดีตากใบ' ไม่เป็นธรรม ไร้เงาผู้ต้องหา

'ทวี' ชี้ 'ตากใบ-ไฟใต้' ทุกภาคส่วนต้องร่วมหาทางออก ย้ำสังคมขาดความยุติธรรมมีความแตกแยก ผู้มีอำนาจอาจอยู่ไม่ได้ เร่งเยียวยาจิตใจคนชายแดนใต้

กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่

'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่

5 องค์กรปชต. เรียกร้อง ส.ส.เร่งพิจารณาแนวทางการตรา พรบ.นิรโทษกรรม

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank) มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตาม

'นิพิฏฐ์' ตัดพ้อ 'เบื่อ' ประกาศเลิกตามคดีทักษิณ ที่ ป.ป.ช.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก “เบื่อ” ระบุว่าเมื่อคืน ผมขึ้นเครื่องมาจากสนามบินตรัง เพื่อร่วมกับน้องๆคปท.ไปสอบถามป.ป.ช.ถึงความคืบหน้ากรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของคุณทักษิณ ชินวัตร

ศูนย์ทนายฯ เผย ผูัลี้ภัยไทยยังมี 104 คน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมือง-นิรโทษ 112

ศูนย์ทนายฯ เผย สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112