กสม.บอกสื่อให้ทำข่าวเคารพอัตลักษณ์ทางเพศ

กสม.ตรวจสอบกรณีการนำเสนอข่าวสารที่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ แนะ กสทช.เร่งจัดทำแนวทางนำเสนอเนื้อหาของสื่อที่เคารพอัตลักษณ์ทางเพศ

10 ก.พ.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวว่า ตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนหลายกรณีระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2564 กล่าวอ้างว่า สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีแห่งหนึ่งและสำนักข่าวแห่งหนึ่งเสนอข่าวสารโดยพาดหัวข่าวด้วยถ้อยคำที่อาจกระทบต่ออัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น “รวบสาวสองค้ากามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” “จับกะเทยฆ่าสาวทอม” “มีสาวประเภทสองรุมทำร้าย” ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งเป็นการสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม จึงขอให้ตรวจสอบ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิด หรือกระทบต่อสิทธิของบุคคล หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร แต่การดำเนินการต่าง ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิของบุคคลดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นด้วย

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าสถานีเคเบิ้ลทีวีผู้ถูกร้องได้เสนอข่าวที่มีข้อความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจริง แต่ยังไม่อาจถือได้ว่ามีการผลิตซ้ำและต่อเนื่อง จนถึงขนาดที่ทำให้สังคมเกิดอคติต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับภายหลังได้รับการร้องเรียน ผู้ถูกร้องได้แก้ไขการนำเสนอข่าวสารที่มีเนื้อหาดังกล่าวแล้ว ขณะที่สำนักข่าวผู้ถูกร้องอีกแห่ง จากการตรวจสอบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสถานีเคเบิ้ลทีวีผู้ถูกร้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรัฐสภา ดังนี้ 1.สถานีเคเบิ้ลทีวีผู้ถูกร้องในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ต้องไม่นำเสนอหัวข่าว ความนำ และภาพประกอบจนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากสาระสำคัญของข่าว และต้องนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้านอัตลักษณ์ รวมทั้งควรปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. 2564 อย่างจริงจัง

และ2.ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำและผลักดัน (ร่าง) แนวทางในการนำเสนอเนื้อหารายการเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี และเผยแพร่แนวทางในการนำเสนอเนื้อหารายการฉบับดังกล่าว รวมทั้งกรณีข้อร้องเรียนที่ กสทช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่เหมาะสมให้สื่อมวลชน องค์กรสื่อ และองค์กรที่ควบคุมดูแลหรือกำกับดูแลสื่อทุกแขนงได้รับทราบทั่วกัน 3.ให้รัฐสภาเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีหลักการสำคัญในการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และมุ่งส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนไปพร้อมกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แก๊งคอลฯ ลูบคม ปธ.กมธ.ตำรวจ ลูกสาวถูกหลอกรีดเงิน 6 แสน จี้ ผบ.ตร-นายกฯ แก้ปัญหาด่วน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลูบคม 'ชัยชนะ' ปธ.กมธ.ตำรวจ โวยลูกสาวถูกหลอกรีดเงิน 6 แสน ประนามพฤติกรรมเลวทราม จี้ ผบ.ตร-นายกฯ แก้ปัญหา คอลเซ็นเตอร์ด่วน

กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่

'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ