“กก.สมานฉันท์รัฐสภา” เผย “30 ปีพฤษภาประชาธรรม” ทุกฝ่ายหวัง “สังคมไทย-คนรุ่นใหม่” ตื่นรู้ ทำสังคมสันติสุข เดินหน้าสู่ ประชาธิปไตยยั่งยืนป้องกันความรุนแรงสูญเสียเหมือนในอดีต แนะต้องรู้จักอดทนรับฟังและเรียนรู้ความเห็นต่าง
30 ม.ค. 2565 นายภูมิ มูลศิลป์ คณะกรรมการสมานฉันท์ รัฐสภา และคณบดีคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงการจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ว่า ได้รับมอบหมายให้สนับสนุนงานด้านวิชาการ ในโอกาสสำคัญของการครบรอบ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ควรจะมีประเด็นใดที่เป็นประเด็นทางด้านวิชาการที่น่าสนใจบ้างความจริงแล้วในเรื่องการจัดการความทรงจำร่วมของสังคม ในการรับรู้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และมีความจริงอยู่หลายชุดที่ยังไม่เป็นที่ยุติ
“กิจกรรมที่คิดวางแผนกันไว้ คือทำอย่างไรให้สังคมเกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจระหว่างกัน อาจจะนำไปสู่การให้อภัย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่จะต้องจดจำเพื่อเป้าหมายสำคัญ คือการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้ หวนกลับคืนมาสู่สังคมไทย และก่อให้เกิดความแตกแยก รวมถึงสิ่งที่เราต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อปัจจุบันอีกด้วย” ดร.ภูมิ กล่าว
คณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า เราต้องส่งผ่านองค์ความรู้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปสู่คนรุ่นหลัง เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ และช่วยกันหาทางป้องกันไม่ให้วงจรเหล่านี้ กลับคืนมาและต้องหาทางออกร่วมกันของสังคม ในการเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านความรุนแรงต่างๆในอดีต เพื่อไปสู่อนาคตของประเทศต่อไป
“แนวคิดในเรื่องการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ไม่ใช่การรำลึกสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและปล่อยผ่านไป แต่คราวนี้เป็นโอกาสพิเศษที่หลายท่าน มาช่วยระดมความคิดเห็น ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่ดูแล้วมีร่องรอยเหตุการณ์คล้ายๆกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะฉะนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ส่งผ่านให้คนรุ่นปัจจุบัน ได้เรียนรู้และป้องกันสิ่งที่อาจจะกลายเป็นความรุนแรง หรือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะก่อให้เกิดสังคมสันติสุข และการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน” คณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าว
เมื่อถามว่า 30 ปีที่ผ่านมาคิดว่าประชาธิปไตย พัฒนาหรือเปลี่ยนผ่านไปอย่างไรบ้าง คณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือประชาชน ยังเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย แล้วยังมีความหวังต่อระบอบนี้ และเชื่อว่าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบระยะเวลา 30 ปี สิ่งนี้ควรที่จะเป็นการตกผลึกร่วมกันของสังคม ว่ารูปแบบหรือระบบการปกครอง ที่ประเทศเราต้องการคือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงแม้ว่าในการเดินทางอาจจะมีจุดสะดุดไปบ้าง แต่เราก็จะเห็นว่า ความตื่นตัวไม่ได้ลดน้อยลง และอุดมการณ์ความเชื่อยังถูกส่งผ่านไปยังคนรุ่นหลังต่อไป
“อาจจะดูว่าการเมืองช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีการเดินหน้าไปบ้างถอยหลังไปบ้าง แต่ส่วนตัวมองว่าการเดินทางของระบอบประชาธิปไตย คงต้องอาศัยความอดทนและอาศัยความต่อเนื่อง ดังนั้นสูตรสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยคงจะไม่มี อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นประวัติศาสตร์ในอดีต ถ้าเราไม่ได้ลืมเลือนแต่เรียนรู้ที่จะแก้ไขจุดผิดพลาดไป ก็จะกลายเป็นรากฐานของการการเดินทาง ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีและยังยืนต่อไปของประเทศ” ดร.ภูมิ กล่าว
ส่วนกรณีที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ดร.ภูมิ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าดี การที่คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการบ้านการเมืองในประเทศไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สังคมต้องทำความเข้าใจร่วม ก็คือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เรายอมรับ ในความเห็นที่แตกต่าง และสิ่งสำคัญคือเราจะสร้างสังคมอย่างไร ที่ทำให้ความแตกต่างนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สิ่งนั้นคือการฝึกในความอดทน และเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ที่เราจะรู้จักอดทนรับฟังและเรียนรู้ แม้ว่าเราจะมีความเห็นต่างกันก็ตาม แต่เราก็สามารถรับฟังความเห็นของคนอื่นได้ ขณะเดียวกันความเห็นของเราเองก็สามารถที่จะสื่อสารไปยังบุคคลต่างๆได้ โดยที่ไม่ควรจะถูกปิดกั้น แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกัน ก็สามารถเรียนรู้ที่จะยอมรับซึ่งกันและกันได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'30 ปีพฤษภาประชาธรรม' จัดใหญ่เชิญนานาชาติถกเรื่องสิทธิมนุษยชน - ความยุติธรรม
“บุญแทน” แย้ม “30 ปีพฤษภาประชาธรรม” เตรียมจัด “เวทีวิชาการระหว่างประเทศ” จ่อ เชิญ “ทูต-ตัวแทนหน่วยงานระหว่างประเทศ” เข้าร่วมถก “สิทธิมนุษยชน -ความยุติธรรม-การพัฒนาประชาธิปไตย” พร้อม “กิจกรรม 5 เรื่องหลัก” หวังเรียนรู้จากมิตรประเทศ เพื่อคนรุ่นหลังจะมีอนาคตที่ดีกว่า