'กสม.' เตรียมทำข้อเสนอถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากมลพิษด้านฝุ่นละอองในภาพรวม
30 ม.ค.2568 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ยานพาหนะ การเผาในที่โล่งทั้งภายในประเทศและในประเทศข้างเคียง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศบางช่วงมีความกดอากาศสูงและอากาศไม่ถ่ายเทส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) หนาแน่นและสะสมในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่ภาคเหนือ และอีกหลายพื้นที่ของประเทศมีรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2567 ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว กว่า 9.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบด้วยโรคมลพิษทางอากาศ โรคที่พบมากคือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด และในเดือนม.ค. 2568 มีรายงานการป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศแล้วกว่า 1 แสนราย ซึ่งปรากฏตามรายงานสื่อมวลชนว่า ผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเด็กบางรายมีเลือดกำเดาไหลและไอเรื้อรัง
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ การห้ามเผาในที่โล่ง การตรวจจับยานพาหนะที่ปล่อยไอเสียเกินมาตรฐาน การเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน การสนับสนุนให้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ การตรวจและแจ้งเตือนคุณภาพอากาศให้ประชาชนทราบ รวมถึงการเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM2.5 อย่างไรก็ดี ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีความซับซ้อนและมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ มาตรการของรัฐบางส่วนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องหรือดำเนินการเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงเท่านั้น ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความเข้มงวดจริงจัง จึงยังพบปัญหายานพาหนะปล่อยไอเสียหรือควันดำ การลักลอบเผาในที่โล่งหรือพื้นที่เกษตรกรรมยังคงเกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ทำให้ในภาพรวมรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ด้วยเหตุที่สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน (right to a clean, healthy and sustainable environment) ได้รับการรับรองว่าเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เนื่องจากการปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศมีส่วนส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและทำให้บุคคลได้รับสิทธิต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิในชีวิต สิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดี สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ ในปี 2566 กสม. จึงได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองในภาคเหนือเพื่อควบคุมปัญหาไฟป่าที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยบูรณาการการทำงานและจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ซึ่งมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ขณะที่ปี 2567 กสม. ได้ร่วมผลักดันให้มีกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อคุ้มครองสิทธิทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
จากสภาพปัญหาและข้อท้าทายดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2568 จึงเห็นควรให้จัดทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมลพิษด้านฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมของประเทศ โดยนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสิทธิในสุขภาพมาปรับใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน รวมทั้งบังคับใช้มาตรการแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดมลพิษและการป้องกันสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างเคร่งครัด และกระจายอำนาจลงไปถึงหน่วยงานในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ชี้สายการบิน ปฏิเสธออกบัตรโดยสารให้ 'ผู้ชายข้ามเพศ' เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ กรณีสายการบินแห่งหนึ่งปฏิเสธออกบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารข้ามเพศ เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหาทางป้องกันและแก้ไข
กสม. ชี้ สน.ชนะสงคราม แทรกแซงสิทธิ จัดเก็บ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเยาวชนนักกิจกรรม
กสม. ชี้ สน.ชนะสงคราม จัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเยาวชนนักกิจกรรมเป็นการแทรกแซงสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ จี้ตร. ยกเลิกการจัดทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวังด้วยเหตุแสดงออกทางการเมือง
ปชน.ยกพลแถลงดาดฟ้ารัฐสภาซัดวิกฤตฝุ่นพิษคือวิกฤตภาวะผู้นำ
'ปชน.' แถลง 'วิกฤต PM 2.5 คือ วิกฤตภาวะผู้นำ' เสนอมาตรการ แก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง เชื่อ หาก กทม. ทำได้จะเป็นโรลโมเดลให้พื้นที่อื่น 'ส.ก.บางซื่อ' ยก3เรื่องตบหน้า 'ชัชชาติ' มีอำนาจเต็มสางปัญหา
'หมอยง' แนะหลีกเลี่ยงฝุ่น PM2.5ดีกว่าใส่หน้ากาก!
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา
'นิด้าโพล' ชี้นโยบายรถไฟฟ้าฟรี ไม่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “กรุงเทพฯเมืองในฝุ่น” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ