ชี้เป้า 'ทรัมป์ รีเทิร์น' เขย่า 2 พื้นที่ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ใหม่

คลองปานามาและกรีนแลนด์อาจเป็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ กลุ่มทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่ไฮเทค คือ ปัจจัยทำให้เกิดจักรวรรดินิยมใหม่ในอนาคต  แผนกระตุ้น 15 ล้านล้านบาทของจีนส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจภูมิภาคและไทย

29 ธ.ค.2567 – รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง กรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ต้องการนำคลองปานามากลับมาสู่ภายใต้อำนาจสหรัฐอเมริกาและการเสนอซื้อ “กรีนแลนด์” ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวหากไม่ได้เป็นเพียงกลยุทธสร้างอำนาจต่อรองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาแล้ว สิ่งนี้อาจจะสะท้อนยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของทีมที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ได้ไม่น้อยว่า ต้องการสร้างระบบ Deal-based มากกว่าระบบ Rule-based ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นการจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้บทบาทนำของสหรัฐฯอีก 4 ข้างหน้า มีแนวโน้มของการใช้อำนาจที่เหนือกว่าบีบให้เจรจาแบบทวิภาคีแทนระบบพหุภาคี สิ่งนี้จะสั่นคลอนรากฐานของระบบพหุภาคีทางการค้าและเศรษฐกิจที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ การสร้างระบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ต่างไปจากระบบโลกาภิวัตน์ในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา การพูดถึงนโยบายการขยายอิทธิพลและดินแดนของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์กับกลุ่มชาตินิยมขวาจัดในสหรัฐฯ สะท้อนฐานคิดแบบชาตินิยมจะเป็นสิ่งที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯมากยิ่งกว่าเดิม  

รศ. ดร. อนุสรณ์  ระบุว่า แนวนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์จะผลักภาระงบประมาณทางการทหารไปที่ประเทศพันธมิตรต่างจากแนวทางของสหรัฐฯที่ผ่านมาที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิทรูแมนที่ “สหรัฐอเมริกา” ทำตัวเป็นตำรวจโลก รัฐบาลทรัมป์มองว่าข้อตกลงการค้าเสรีจำนวนหนึ่งไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯและต้องเจรจรตกลงกันใหม่ และให้น้ำหนักต่อการปรับเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการค้า ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในของสหรัฐฯภายใต้แนวคิดลัทธิปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) มีท่าทีที่เป็นมิตรกับระบอบอำนาจนิยมของรัสเซียอันอาจส่งผลดีต่อการยุติสงครามยูเครนได้ โดนัล ทรัมป์สมัยเป็นนักธุรกิจเคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการทหารของรัฐบาลสหรัฐฯว่าทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ เมื่อเข้ามาทำงานทางการเมืองก็ยังมีจุดยืนชัดเจนในการลดการสนับสนุนทางการทหารต่อประเทศพันธมิตร โดนัล ทรัมป์แสดงจุดยืนด้านการต่างประเทศ “แบบกลุ่มทุนชาตินิยม” อย่างชัดเจนมากว่า 40 ปีที่แล้ว เมื่อตอนที่มีการขยายตัวของกลุ่มทุนข้ามชาติญี่ปุ่นอย่างก้าวกระโดด (คล้ายกับกลุ่มทุนจีนในปัจจุบัน) และมีการลงทุนและซื้อกิจการอย่างมหาศาลของกลุ่มทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในมหานครนิวยอร์ก อย่างเช่น กลุ่มมิตซูบิชิได้เข้าซื้อกลุ่มอาคารร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ (Rockefeller Center) เป็นต้น โดนัล ทรัมป์ได้แสดงจุดยืน “แบบกลุ่มทุนชาตินิยม” ตั้งแต่ช่วงนั้น การดำเนินนโยบายแนวกลุ่มทุนชาตินิยมจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ต้องจับตาผลกระทบอย่างใกล้ชิด คือ การปลุกกระแสชาตินิยมขวาจัดในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมติดตามมาหากไม่สามารถกำกับควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  

รศ. ดร. อนุสรณ์  ขยายความต่อว่า กรณีคลองปานามาก็ดี กรณีเกาะกรีนแลนด์ก็ดี หรือแม้นกระทั่งการพูดถึง “แคนาดา” ในฐานะรัฐที่ 51 ก็ดี สะท้อนนโยบาย Make America Great Again นั้นมีกลิ่นอายของลัทธิจักรวรรดินิยมแบบใหม่อยู่ ไม่ใช่เป็นเรื่องของแนวคิดการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว (Isolationism) แบบลัทธิมอนโร (ของอดีตประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร)  ในเบื้องต้น นโยบายต่างประเทศแบบขยายอิทธิพลของสหรัฐฯอาจทำเกิดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกใหม่ ส่งผลต่อระบบการค้าโลก ระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกได้ ความเสี่ยงและโอกาสต่างๆจะเกิดขึ้นต่อประเทศต่างๆแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่สถานะของแต่ละประเทศในพลวัตของระบบความสัมพันธ์ใหม่นี้ มองโลกในแง่ดี คาดหวังว่า รัฐบาลทรัมป์จะใช้มาตรการทางการเมือง มาตรการเศรษฐกิจ หรือมาตรการทางการเงินเพื่อขอซื้อกรณีกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ขอเช่าหรือขอส่งคืนกรณีคลองปานามา หรือ ให้เกิดกระบวนการผนวกรวมกับแคนาดาโดยสมัครใจ อย่างไรก็ตาม กรณีแคนาดาน่าจะเรื่องการแสดงความเห็นเฉยๆ ไม่น่าจะมีนโยบายหรือมาตรการอะไรจริงจัง กรณีคลองปานามาและกรณีกรีนแลนด์ก็หวังว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันเพื่อต่อรองเท่านั้น หากดำเนินการจริงตามที่ประกาศน่าจะผลกระทบเกิดขึ้นตามมามากมาย

“จุดมุ่งหมายของลัทธิมอนโรในอดีต ที่จะนำพาประเทศให้อยู่ในความสงบ และ โดดเดี่ยว และไม่ต้องการให้ชาติยุโรปเข้ามาแทรกแซงทางด้านการเมือง หรือแสวงหาดินแดนในทวีปอเมริกา ต่างจาก แนวคิดแบบจักรวรรดินิยมฟื้นคืนชีพภายใต้ Make America Great Again อย่างชัดเจน  แถลงการณ์ของลัทธิมอนโรในช่วง ค.ศ. 1823 เป็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ที่มีหลักการณ์สำคัญดังนี้ สหรัฐอเมริกาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกา ถ้าประเทศใดในทวีปยุโรปเข้ามายุ่งเกี่ยว กดขี่ประเทศในอเมริกา สหรัฐอเมริกาจะถือว่าการกระทำของประเทศนั้น เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ และ ความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้ประเทศใดในทวีปยุโรปเข้ามาแสวงหาอาณานิคมในทวีปอเมริกาอีกต่อไป สหรัฐอเมริกาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศของทวีปยุโรป” รศ. ดร. อนุสรณ์ ระบุ

รศ. ดร. อนุสรณ์  ระบุด้วยว่า ส่วนนโยบายต่างประเทศแบบ America Great Again ของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ น่าจะมีบางส่วนคล้ายกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในยุคลัทธิจักรวรรดิเฟื่องฟูในช่วงศตวรรษที่ 19 และนโยบายขยายดินแดนตามลัทธิความเชื่อ Manifest Destiny รัฐบาลสหรัฐฯในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการขยายอิทธิพลและบทบาทผ่านการซื้อดินแดนและผนวกรวมดินแดนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ การซื้อหลุยเซียน่า (ครอบคลุมพื้นที่ 15 มลรัฐของสหรัฐฯในปัจจบัน) ของสเปนจากรัฐบาลจักรวรรดิสเปน การซื้ออลาสก้าจากจักรวรรดิรัสเซีย มีข้อพิพาทกับจักรวรรดิอังกฤษแล้วได้ดินแดนรัฐโอเรกอน และ ใช้เส้นขนานที่ 49 แบ่งเขตแดนระหว่างสหรัฐฯกับแคนาดา ผนวกรวม รัฐเท็กซัสและรัฐใกล้เคียงทั้งหมดหลังสงครามสหรัฐ-เม็กซิกัน รวมทั้งสหรัฐฯใช้เงินซื้อดินแดนในรัฐนิวเม็กซิโกและรัฐแอริโซนาตอนใต้จากเม็กซิโก ผนวกรวมฮาวาย ฟิลิปปินส์ และ หมู่เกาะต่างๆในแปซิฟิคหลังสงครามสหรัฐ-สเปน

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่ไฮเทค คือ ปัจจัยทำให้เกิดจักรวรรดินิยมแบบใหม่ในอนาคต กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ไฮเทคและกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมผูกขาดอื่นๆมีบทบาทและอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะเพิ่มมากขึ้นในยุครัฐบาลทรัมป์ จากบทความของ วอลเตอร์ เอ. แมคดูกัลล์ และ แฮร์รี่ แม็กดอฟ บรรณาธิการของสารานุกรม Britannica ได้นำเสนอเปรียบเทียบการวิเคราะห์ของปัญญาชนสามท่าน ท่านแรก คือ จอห์น แอตกินสัน ฮ็อบสัน นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมชาวอังกฤษ ในงานศึกษาสำคัญ ของเขาเรื่อง Imperialism, a Study (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1902) เขาได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของปัจจัยผลักดันต่างๆ เช่น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจ ลัทธิชาตินิยมและความรักชาติ การเห็นแก่ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ และจิตวิญญาณแห่งการผจญภัยในการผลักดันลัทธิจักรวรรดินิยม นอกจากนี้ ฮ็อบสันยังได้พบว่า ผลประโยชน์ทางการเงินของชนชั้นนายทุนดำรงอยู่ในฐานะ “ผู้ควบคุมเครื่องจักรของจักรวรรดินิยม” นโยบายของลัทธิจักรวรรดินิยมต้องถูกมองว่าไร้เหตุผลหากมองจากมุมมองของประเทศโดยรวมหรือประชาชนส่วนใหญ่ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับนั้นน้อยกว่าต้นทุนของสงครามและความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ผลประโยชน์มหาศาลทางอำนาจและเศรษฐกิจอยู่กับกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศ ตลาดบริโภคภายในเล็กเกินไปสำหรับการขยายตัวของการผลิตสินค้าและบริการของกลุ่มทุนย่อมนำไปสู่การขยายตัวไปยังตลาดต่างประเทศ เมื่อบริษัทขนาดใหญ่เผชิญกับข้อจำกัดในโอกาสการลงทุนเพื่อขยายการผลิต ผลจากการกระจายรายได้ที่ไม่เหมาะสม พฤติกรรมผูกขาดจะนำไปสู่ความจำเป็นในการเปิดตลาดใหม่และโอกาสการลงทุนใหม่ในต่างประเทศ

วลาดิมีร์ เลนินในปี ค.ศ. 1917 ได้เขียนหนังสือ ชื่อ Imperialism, the Highest Stage of Capitalism แม้จะมีความคล้ายคลึงกันหลายประการกับฮอบสัน แต่ที่ลึกๆ แล้ว มีความแตกต่างระหว่างกรอบการวิเคราะห์ของฮอบสันและเลนิน และข้อสรุปของทั้งสองคนด้วย ในขณะที่ฮอบสันมองว่าลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนนิยมบางกลุ่ม เขาเชื่อว่าลัทธิจักรวรรดินิยมสามารถถูกกำจัดได้โดยการปฏิรูปสังคมในขณะที่ยังคงรักษาระบบทุนนิยมไว้ สิ่งนี้จะต้องจำกัดผลกำไรของชนชั้นที่มีผลประโยชน์ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับลัทธิจักรวรรดินิยมและบรรลุการกระจายรายได้ที่ยุติธรรมมากขึ้นเพื่อที่ผู้บริโภคจะสามารถซื้อผลผลิตของประเทศได้ ในทางกลับกัน เลนินมองว่าลัทธิจักรวรรดินิยมนั้นเชื่อมโยง อย่างใกล้ชิด กับโครงสร้างและการทำงานปกติของระบบทุนนิยมขั้นสูงจนเชื่อว่ามีเพียงการล้มล้างระบบทุนนิยมโดยการปฏิวัติและแทนที่ด้วยระบบสังคมนิยม เท่านั้น ที่จะกำจัดลัทธิจักรวรรดินิยมออกไปจากโลกได้

รศ. ดร. อนุสรณ์  ระบุด้วยว่า ขณะที่ ปัญญาชนอีกท่านหนึ่ง Joseph Alois Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ท่านนี้ สร้างข้อโต้แย้งทางวิชาการมุ่งเป้าไปที่กระแสความคิดของมาร์กซิสต์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความคิดที่ว่าลัทธิจักรวรรดินิยมเติบโตมาจากทุนนิยมโดยธรรมชาติ หนังสือ ของSchumpeter “Capitalism, Socialism and Democracy”  อธิบายกระบวนการสร้างอำนาจผูกขาดและนำไปสู่การขยายอำนาจอันเป็นฐานของลัทธิจักรวรรดิที่แตกต่างออกไป โดยกล่าวว่าผู้ประกอบการต่างก็หาทางใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้า บริการหรือนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถทำให้องค์กรมีกำไรจากการเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly profit) ได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่พยายามจะลอกเลียนเทคโนโลยีของผู้อื่น หรือดัดแปลงพัฒนาต่อยอดก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดที่ความสามารถในการผูกขาดหมดไป ณ จุดนี้สิ่งต่างๆ จะวนกลับมาเป็นวัฏจักร เพื่อหนีการลอกเลียนแบบผู้ประกอบการเดิมหรือคนที่มองหานวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ จากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ Schumpeter เรียกว่าเป็น การทำลายที่สร้างสรรค์ (creative destruction) เมื่อมีการคิดสิ่งใหม่ๆ ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โอกาสใหม่รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ผลของนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกรณีของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล กลุ่มทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่ไฮเทคของสหรัฐฯก็ดี ของยุโรปก็ดี ของจีนก็ดี อาจเป็น ปัจจัยทำให้เกิดจักรวรรดินิยมแบบใหม่ในอนาคต 

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวต่อว่า การดำเนินการมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน จะทำให้ “จีน” หลุดพ้นจากภาวะซบเซาและเงินฝืดได้ แต่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวเนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกินและภาวะอุปทานส่วนเกินจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ การเร่งรัดการส่งออกและระบายสินค้าออกสู่ตลาดโลกในราคาถูกอาจเจอกับอุปสรรคจากการตั้งกำแพงภาษีในระยะต่อไป การที่รัฐบาลจีนประกาศแผนออกพันธบัตรพิเศษในปี พ.ศ. 2568 เพื่อระดมทุนมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเพิ่มเติมอีก 15 ล้านล้านบาท โดยมุ่งไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น ระบบราง สนามบิน ลงทุนในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งกระตุ้นภาคการบริโภคอุดหนุนสินค้าอุปโภคบริโภค และ จัดสรรเงินลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมแห่งอนาคตประมาณ 4.68 ล้านล้านบาท ขนาดของงบประมาณกระตุ้น 15 ล้านล้านบาทน่าจะทำให้รับมือกับการชะลอตัวของการส่งออกไปสหรัฐฯที่เกิดจากกำแพงภาษีที่อาจปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 60% ได้ และ ยังส่งผลบวกต่อภาคส่งออกภาคการลงทุนของประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันสูง มีห่วงโซ่อุปทานเดียวกันในสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทที่เกี่ยวพันกัน เป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในระดับ 5% มีความเป็นไปได้และส่งผลบวกต่อการค้าและการลงทุนของอาเซียนและไทย

รศ. ดร. อนุสรณ์  ระบุว่า การออกพันธบัตร 3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 15 ล้านล้านบาท หรือ 4.11 แสนล้านดอลลาร์) คิดเป็น 2.4% ของจีดีพีประเทศจีน ขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกินความคาดหมาย รัฐบาลจีนยอมก่อหนี้จำนวนมหาศาลเพื่อให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดการเงินของภูมิภาคเอเชีย ในระยะสั้น การก่อหนี้ในการออกพันธบัตรของรัฐบาลจีนทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและ 30 ปีของจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.01% และ 0.02% ตามลำดับ

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวในช่วงท้ายว่า จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายใน รัฐบาลควรเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบประกันสังคมซึ่งเป็นเสาหลักของระบบสวัสดิการสังคมของไทยด้วยการเพิ่มการจ่ายเงินสมทบเป็น 5% ให้เท่ากับนายจ้าง ผู้ประกันตน นอกจากนี้ควรเร่งดำเนินการขยายฐานสมาชิกและนำแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น อย่างล่าสุด มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรเป็น 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนี้ เด็กกว่า 1.2 ล้านคนในครอบครัวผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทันที เงินจากกองทุนประกันสังคมนี้จะช่วยให้ครอบครัวรายได้น้อยดูแลลูกๆของแต่ละครอบครัวได้ดีขึ้น พวกเขา คือ อนาคตของสังคมไทยและโลก.      

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกันสังคม ดูแลผู้ประกันตนทุกช่วงวัย โชว์ความสำเร็จการดำเนินงาน ปี 67

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้เปิดการแถลงข่าว ผลการดำเนินงานสำนักงานประกันสังคม ประจำปี 2567

กรีนแลนด์ ยืนหยัดคัดค้าน 'โดนัลด์ ทรัมป์'

ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศย้ำอีกครั้งว่า เขาต้องการควบคุมกรีนแลนด์ แต่ผู้นำรัฐบาลของเกาะมีปฏิกิริยาตอบโต้เรื่องนี้ด้วยคำพูดที่ชัดเ

”พิพัฒน์“ เปลี่ยนกระทรวงสู่ยุคAI สร้างทักษะการใช้ AI บริการหางาน พัฒนาฝีมือ แจ้งข้อร้องเรียน รับสิทธิประกันสังคม ให้สะดวก รวดเร็วขึ้น .

วันที่ 23 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในงานการประชาสัมพันธ์ด้านปัญญาประดิษฐ์และการนำไปใช้สำหรับบุคลากรภาครัฐ (Kick off Artificial Intelligence Literacy for Government officer)

'อนุสรณ์' ชี้ 'มาดามหน่อย' สานต่อนโยบายเพื่อไทย พัฒนาโคราชสู่ความยั่งยืน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พรรคเพื่อไทย เปิดตัวนางยลดา หวังศุภกิจโกศล อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา เป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา ในนามพรรค

ประกันสังคม ย้ำสิทธิการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนทุกช่วงวัย

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (สปส.) กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมมุ่งพัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง