สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ จ่อเคลื่อนไหวหลังปีใหม่ หนุนเปิดทางตั้งกมธ.ร่วมสองสภา ทบทวน มาตรา 69 ปลดล็อกทำลายล้างทะเลไทย
29 ธ.ค.2567 – สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ระบุ มาตรา ๖๙ อวนล้อมจับตาถี่ในเวลากลางคืน (ยังไม่จบ) :
หลังปีใหม่ ขอวุฒิสภาพิจารณาแก้ไขมาตรา ๖๙ เปิดเส้นทาง “ตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา”
คืนความถูกต้องเป็นธรรมสมดุลยั่งยืนต่อสัตว์น้ำ ทะเล ธรรมชาติ และคนไทย
เรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน …
ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ปรากฏว่ามีข้อท้วงติงจากกรรมาธิการเสียงข้างน้อย กรณี มาตรา ๖๙ อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ ๓ มิลลิเมตรล้อมจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืนได้เป็นครั้งแรกในระบบกฎหมายไทย จะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศทะเล กระทบต่อพันธ์สัตว์น้ำจำนวนมากที่มีอาศัยระบบนิเวศทางทะเลในการเลี้ยงดูตัวอ่อนสืบเผ่าพันธ์ และผลกระทบจะไม่เกิดเฉพาะต่อชาวประมงพื้นบ้านพาณิชย์ทุกประเภทด้วยกันเองเท่านั้น ที่ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของฝูงปลาในการประกอบการประมง แต่ลุกลามขยายไปยังกลุ่มนันทนาการทางทะเล การดำน้ำ ธุรกิจการนำเที่ยวตกปลา และถึงที่สุดจะกระทบต่ออาหารในจานของคนไทยทุกคน
หลังการผ่านกฎหมายประมง มาตรา ๖๙ ชั่วข้ามคืน กระแสสังคมที่เพิ่งได้รับทราบได้พยายามส่งเสียง ขอให้ทบทวนกฎหมายมาตรานี้ แต่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายไปก่อนแล้ว หลังจากนี้คงเหลือแต่ขั้นตอนที่กฎหมายต้องผ่านการกลั่นกรองของวุฒิสภา ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา ๖๐ วัน หากไม่แล้วเสร็จสามารถขยายเวลาเพิ่มได้อีก ๓๐ วัน ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมในบางส่วน ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อพิจารณาร่วมกัน หากผลเป็นประการใด ให้สภาผู้แทนราษฎร ย้อนกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อชี้ขาดอีกครั้ง
แม้จะเป็นหนทางแสนยากลำบากแต่นับเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดกระบวนการทบทวนมาตรา ๖๙ ร่วมกันใหม่บนหนทางแห่งประชาธิปไตย ที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันจับตามองและมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศซึ่งเป็นสมบัติร่วมของคนไทยทุกคน บนหลักการเหตุผลความถูกต้องเป็นธรรมเท่าเทียมสมดุลและยั่งยืน
จึงขอประกาศถึงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน สื่อมวลชน นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักดำน้ำเพื่อชื่นชมธรรมชาติ นักตกปลา นักกฎหมาย นักการเมือง พรรคการเมือง ภาคธุรกิจเอกชน นักอนุรักษ์ ชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ ว่า ขอได้โปรด ร่วมกันติดตามสนับสนุน การเรียกร้องขอเปิดโอกาส ให้ วุฒิสภาทบทวนมาตรา ๖๙ กฎหมายประมงฉบับใหม่ ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการวุฒิสภาหลังปีใหม่ ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๖๘ นี้
หลังเทศกาลปีใหม่ ในวันที่วุฒิสภาประชุมพิจารณากฎหมายวันแรก เราจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ปักหลัก ยืนหยัด ณ รัฐสภา เดินสายให้ข้อมูล ขอความร่วมมือ และขอโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองได้ศึกษาทบทวนอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง เราจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อขอให้วุฒิสภาเปิดเส้นทางสู่การพิจารณาทบทวนมาตรา ๖๙ ร่วมกันใหม่ สู่ การตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา ต่อไป
ขอความสุขสวัสดีแด่ทุกท่านตลอดปีใหม่ แล้วเราจักสู้ไปพร้อมกัน
๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๗
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สถานการณ์ทางทะเลที่ต้องจับตา ขยับเศรษฐกิจสีน้ำเงินลดทำลาย
สถานการณ์ทางทะเลของประเทศไทยขณะนี้หลายปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งสัตว์ทะเลหายากเสี่ยงสูญพันธุ์จากกิจกรรมมนุษย์และสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ล่าสุดกรณีพะยูนตายมากถึง 5 ตัวภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เพียงเดือนเดียว
ชาวประมงพื้นบ้านสงขลา ออกคราดหอยเสียบ สร้างรายได้งามช่วงฤดูมรสุม
ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนเก้าเส้ง ประกอบอาชีพคราดหอยเสียบขายรายได้ดีเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นอิสระในช่วงฤดูมรสุมลมตะวันออกเฉียงเหนือ คลื่นลมเริ่มมีกำลังแรงหอยเสียบตัวโต น้ำหนักดี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัว
ประมงพื้นบ้านสงขลา อาศัยช่วงคลื่นลมไม่รุนแรง ออกจับปูม้ากำลังชุกชุม ขายได้ราคาดี
ที่ชายหาดบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ้านบ่ออิฐนำเรือหลายลำออกไปทำการประมงอวนปูกลางทะเล เนื่องจากในช่วงนี้คลื่นลมไม่รุนแรงสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้
เกาะลิบงอ่วมหนักรอบ 30 ปี! คลื่นซัดเรือประมงล่ม 7 ลำ รีสอร์ทพัง ชาวบ้านเผยปีนี้ฝนมาเร็ว
ในพื้นที่เกาะลิบง หมู่ 5 บ้านหลังเขา ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เกิดเหตุมีเรือประมงพื้นบ้านล่มจำนวน 7 ลำ หลังเกิดฝนตกและลมพายุในทะเลฝั่งอันดามัน โดยนายอ่าสาน ค
“PTTEP Ocean Data Platform” แพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของทะเลไทย
ปัจจุบัน ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมีอยู่ไม่มากนัก และยากต่อการค้นหา เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ
'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' กระตุก รัฐบาล ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ฟื้นฟูอาหารประมงไทย
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์บทความเรื่อง ความสั่นคลอนของระบบอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย (๑) มีเนื้อหาดังนี้