26 ธ.ค. 2567 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น 14 และ กกต.ยังมีการขยับอย่างมีนัยสำคัญในการสอบสวนการครอบงำพรรคการเมือง
"จุดตายนั้นยังอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะเป็นผู้พิพากษาลงโทษจำคุกทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ทักษิณได้รับพระบรมราชโองการลดโทษเหลือ 1 ปี แต่ไม่ปรากฎได้รับโทษสักวัน ฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์ของไทย เมื่อความอยุติธรรมตำหน้าตำตาคนไทยทั้งชาติ ยังสามารถเปลี่ยนดำเป็นขาวได้ ดังนั้นกรณีนี้จะเป็นอุทาหรณ์ที่ใหญ่มาก”
อีกทั้งกล่าวถึงการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกนายก อบจ.ว่า ขอให้ทักษิณ หาความสำราญได้เต็มที่ เพราะไม่รู้ว่า หากสภาอยู่ยาวครบวาระในปี 70 ทักษิณจะได้อยู่หาเสียงเลือก สส. หรือไม่ แต่ตนไม่เชื่อสภาจะอยู่ถึงปี 70 ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ. วันที่ 1 ก.พ. 68 ทักษิณมีเวลาอยู่ถึงแน่นอน
"เวลา 17 ปีที่ทักษิณลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ได้แค่พูดกับประชาชนผ่านหน้าวีดีโอลิงค์ ขณะนี้ได้กลับมาไทยแล้ว จึงอยากให้ทักษิณเสพความสุขกับการพูดต่อหน้าประชาชนบนเวทีปราศรัยให้เต็มที่ ตามแบบฉบับคนการเมืองที่มีความสุขเพียงการปราศรัยได้อวดรู้ และโชว์อาการของขึ้น ดุดัน เกรี้ยวกราด ผสมปนเปอารมณ์จนยากจะดูดซึมซับเอาของจริงได้"
อีกทั้งกล่าวว่า คนรักษาชาติบ้านเมืองล้วนมองเห็นปัญหาของทักษิณทั้งสิ้นว่า การดำรงอยู่ที่ผ่านมาได้กล่าวอ้างสร้างความกลัวเกินจริงกับพรรคประชาชน จนนำไปสู่ความเสียหายของบ้านเมืองอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น เรื่องราวประเดประดังใส่ทักษิณ จึงเป็นศาลาวัดใจว่า พร้อมจะไปเผชิญชีวิตในเรือนจำหรือไม่
พร้อมทั้งระบุถึงปัญหาจะประเดประดังใส่ทักษิณช่วงต้นปี 68 ว่า กรณีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้เสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกย่อมเข้าขอบเขตข้อกฎหมายต้องถูกตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง รวมทั้งยังลามโยงไปผูกพันกับกรณีนายกฯ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร แต่งตั้งบุคคลต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
นอกจากนี้ การตั้งคณะกรรมการเจทีซีไปคุยกับกัมพูชาเพื่อหารือแบ่งประโยชน์พลังงาน 50:50 ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะผลประโยชน์ประเทศเป็นของทุกคน จึงไม่มีสิทธิจะแบ่งยกให้ใครได้ง่ายๆ เสมือนเป็นสมบัติส่วนตัวของใคร
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องเก้าอี้ รมว.กลาโหมของบิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย จะมั่นคง และอยู่ดูแลความมั่นคงของประเทศหรือไม่ โดยเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้จะปนเปประเดประดังเข้าใส่ทักษิณตั้งแต่ต้นปี 68 และหลังปีใหม่ยังจะต้องผจญกับการถูกชำแหละ พรบ.บ่อนคาสิโนอย่างละเอียดกันอีกด้วย
ดังนั้น เรื่องราวอะไรก็ตามที่ประชาชนคนในชาติเห็นความเสี่ยง ย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ทักท้วง ซึ่งรัฐบาลอธิบายตอบโต้ไม่ได้แม้แต่กรณีเดียว มิหนำซ้ำการอ้างผลประโยชน์พลังงาน แต่คนไทยยังไม่ได้รับ แล้วกลับต้องสุ่มเสี่ยงกับการเสียดินแดนในกรณีเจรจาตกลง mou 44
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งน่ากังวลในกรณีของ ป.ป.ช.ที่จุดแข็งการตรวจสอบชั้น 14 อยู่ที่มีประธานอนุกรรมการตรวจสอบ คือนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา ซึ่งเป็นคนหนึ่งใน ป.ป.ช.ชุดใหญ่ และยังรับผิดชอบสำนวนการสอบสวนชั้น 14 ใน ปปช.ชุดใหญ่ด้วย ดังนั้น ย่อมทำให้มีบางคนพยายามแทรกแซงเข้าล้วงลูกการทำหน้าที่ไม่ได้ง่ายๆ
อีกทั้งกล่าวว่า ถ้าใครจะเปลี่ยนดำเป็นขาวแล้ว ต้องเปลี่ยนายเอกวิทย์ออกจากผู้รับผิดชอบสำนวนสอบสวนชั้น 14 เพื่อให้คนอื่นทำหน้าที่แทน แม้ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนดำเป็นขาว หรือล้มคดีก็ตาม แต่การดึงเวลาให้ผลการสอบสวนล้าช้าก็มีผลตามความต้องการของขบวนการโม่งแล้ว
"มีความพยายามของอีโม่งได้วิ่งเต้นทาบทามขอให้คุณเอกวิทย์สละตำแหน่งเพื่อให้รักษาการประธาน ป.ป.ช.ได้ตั้งคนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ดังนั้น ขอให้หยุดการกระทำเสียเถิด เพราะอีกไม่กี่เดือนก็พ้นวาระอยู่แล้ว ยิ่งดิ้นรนมากเท่าไรก็ไม่เป็นผลดีต่อชีวิตในบั้นปลาย และชีวิตควรมีความเพียงพอกันเสียบ้าง"
นายจตุพร กล่าว่า กรณีชั้น 14 แม้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่มีมติเอกฉันท์ให้คณะ ป.ป.ช.เป็นกรรมการไต่สวน แต่ยังมีการดิ้นรนไม่หยุด โดยต้องการเปลี่ยนตัวนายเอกวิทย์จากผู้รับผิดชอบสำนวนไต่สวน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องเกิดจากความสมัครใจของนายเอกวิทย์ที่จะสละการทำหน้าที่ด้วย ดังนั้นความต้องการของอีโม่งยังไม่สมประสงค์
“ขอส่งเสียงไปถึง ป.ป.ช.ว่า บัดนี้บ้านเมืองเสียมามาก ต้องรู้ว่าความลับไม่มีในโลก เสียงที่หลุดออกมานั้นต้องการให้ ป.ป.ช.เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นธรรม ปราศจากการครอบงำทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจหรือผลประโยชน์อื่นใด ดังนั้นในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่เหลือนั้น ควรทำในสิ่งที่ดีงาม อย่างน้อยที่สุดเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ การรับเงินเดือนก็รับวันโปรดเกล้าฯ ฉะนั้นต้องทำหน้าที่ที่ถูกต้องกับชาติบ้านเมือง การจะเปลี่ยนผิดเป็นถูกโดยเอาองค์กรไปแลกและทำให้ประเทศเสียหายนั้นให้หยุดยั้งการกระทำเสียเถอะ"
ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ.นั้น นายจตุพร กล่าวว่า พรรคประชาชนต้องปรับตัวในทางการเมือง เพราะถ้าเอาผลเลือกตั้งนายก อบจ.อุบล ซึ่งผ่านมาล่าสุดเป็นเครื่องชี้วัดแล้ว ผู้สมัครจากพรรคประชาชนได้เสียง 1.3 แสน เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปปี 66 คะแนนปาร์ตี้ลิสยุคพรรคก้าวไกลได้ถึง 3.2 แสน ดังนั้นเสียงหายไปมากถึง 2 แสน สิ่งนี้คือ ความผิดปกติทางการเมือง
นายจตุพร กล่าวว่า ประชาชนไม่ใช่ของตายทางการเมืองของใครหรือพรรคใด แต่เป็นขบวนการแนวร่วมต่อสู้ตามอุดมการณ์ ดังนั้น ประชาชนจึงเป็นของตายของกันและกันในแนวทางการต่อสู้ให้บรรลุอุดมคติ
พร้อมระบุว่า ในยุคหนึ่งคนเสื้อแดงเป็นฐานเสียงให้พรรคเพื่อไทย แต่เลือกตั้งปี 66 เสื้อแดงหนีเพื่อไทยไปให้เสียงสนับสนุนแนวทางต่อสู้กับพรรคก้าวไกล จึงทำให้ภาพรวมมี สส.เพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง นั่นแสดงถึงการทำแนวร่วมต่อสู้ของคนเสื้อแดง และเป็นเครื่องชี้ชัดว่า ประชาชนไม่ได้เป็นของตายให้ใครและพรรคใด
อีกทั้งกล่าวว่า คู่แข่งทางการเมืองสำคัญของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิมนั้น คือ พรรคเพื่อไทย เมื่อพรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้าน แต่เพื่อไทยเป็นรัฐบาล ดังนั้นฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบให้เข้มข้นถึงแก่นปัญหา เพื่อสร้างบรรทัดฐานการเมืองของสังคม อีกอย่างยังเป็นผลงานให้ประชาชนได้เทียบเคียงและรู้สึกพึงพอใจจะให้มาเป็นรัฐบาลมากกว่า
"ถ้าทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อรอเป็นรัฐบาล แน่นอนคะแนนเสียงจะจางหายไป โดยพื้นที่อุบลเป็นบทเรียนล่าสุดที่สะท้อนถึงเสียงที่หายไปจำนวนมากของพรรคประชาชน สิ่งนี้ต้องคิดแล้วว่า เสียงพรรคประชาชนหายไปไหน ทำไมพรรคไม่สามารถรักษาความพึงพอใจของคะแนนเสียงในปี 66 ไว้ได้ ดังนั้น ต้องกลับมาตรวจสอบการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาชนทำให้เกิดความพึงพอใจต่อคะแนนเสียงที่เลือกมาหรือไม่"
นายจตุพร กล่าวว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.ในวันที่ 1 ก.พ. 68 นั้น ย่อมเกี่ยวพันกับบทบาทการเมืองสนามใหญ่ที่จะส่งผลต่อเสียงความพึงพอใจกับการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย โดยในการเลือกตั้งปี 66 พรรคประชาชนมีโอกาสทำให้เกิดความพึงพอต่อแนวร่วมต่อสู้ทางการเมืองจึงได้ สส.ในหลายจังหวัดชนิดยกจังหวัดก็มี ย่อมเป็นโอกาสให้ได้ทำงานการเมืองกับท้องถิ่นด้วย
"การปรับการเมืองสนามใหญ่ให้เข้ากับเลือกตั้งท้องถิ่นต้องใช้ศิลปะอย่างเข้าใจ โดยที่ผ่านมา พรรคประชาชนได้รับบทเรียนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.มาแล้วหลายครั้ง ถึงแพ้มาครั้งที่ 1 และ 2 หากครั้งนี้ถ้าชนะไม่ได้อีก จะอยู่ในสถานการณ์ไหน"
อย่างไรก็ตาม หากมองในสถานะคนนอกแล้ว จะเห็นว่า พรรคภูมิใจไทยเลือกส่งเลือกตั้งนายก อบจ.ในจังหวัดที่คาดจะชนะ และไม่ได้ส่งในนามพรรคเพื่อไม่ให้เสียขัวญ ส่วนพรรคเพื่อไทยส่งจำนวนมากในนามพรรคเช่นเดียวกับพรรคประชาชน แต่พรรคเพื่อไทยขณะนี้มีผลชนะได้จับต้องแล้วในบางจังหวัด แต่พรรคประชาชนยังไม่ได้เลย ดังนั้นวันที่ 1 ก.พ. 68 จึงเป็นเครื่องวัดศักยภาพ
ส่วนการยกเลิกกำหนดการนายอันวาร์ นายกฯ มาเลเซีย นัดคุยกับทักษิณที่เกาะลังกาวีวันที่ 26 ธ.ค.นั้น นายจตุพร กล่าวว่า สะท้อนถึงการออกนอกประเทศของทักษิณมีปัญหา เพราะต้องคดี ม.112 และเงื่อนไขประกันตัวห้ามเดินทางออกนอกประเทศ อีกอย่างศาลยึดหนังสือเดินทางระหว่างประเทศไว้ด้วย อาจเป็นเพราะเคยมีพฤติการณ์หลบหนีคดีนานถึง 17 ปี ดังนั้น แสดงว่า การออกนอกประเทศเป็นเรื่องยากของทักษิณ
อย่างไรก็ตาม ทักษิณก็มีความสามารถปรากฎอยู่เช่นกัน แต่วันนี้เรื่องยากที่สุดคือต้องการออกนอกประเทศ แต่ช่วงอยู่ต่างประเทศเมื่อ 17 ปีที่แล้วการหาหนทางกลับมาประเทศเป็นเรื่องยากที่สุด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องชีวิตกลับตาลปัตรเท่านั้นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ดร.เสรี ฟาดพรรคขี้โม้-พรรควาทกรรม
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “พรรคหนึ่งมีแต่วาทกรรม ไม่เคยทำงาน
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
รทสช.ขยับทันควัน! หลังสื่อทำเนียบตั้งฉายา ‘พีระพัง‘
จากกรณี ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่