26 ธ.ค.2567 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “อหิวาตกโรค” ระบุว่า อหิวาตกโรคไม่ใช่โรคใหม่ รู้จักกันและเคยระบาดมานานมากแล้วหลายร้อยปี
เคยระบาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ในปี 2363 ที่เรียกว่า ห่าลงปีมะโรง มีการบันทึกโดย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งประชากรขณะนั้นน่าจะมีประมาณ 3 ล้านคน ความเห็นส่วนตัว คาดว่าเสียชีวิตประมาณ 30,000 คน หรือประมาณ 1% ทำให้เผาศพไม่ทัน จึงมีการไปทิ้งไว้ริมแม่น้ำ และเป็นที่มาของแร้งวัดสระเกศ โดยศพที่ทิ้งน่าจะอยู่แถวบริเวณวัดสังเวช (ความเข้าใจของตัวเอง) การระบาดเป็นอยู่ 1 ปีก็สงบ จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่
หลังจากนั้น โรคก็มีการพบมาโดยตลอด ยังจำได้ว่าในสมัยเป็นเด็กๆ อหิวาตกโรคระบาดบ่อยมากโดยเฉพาะในฤดูร้อน ในช่วงมีการระบาด มีคำขวัญหรือให้ท่อง “ผักดิบผักสดงดเสียดีกว่า หากใช้น้ำท่า ควรต้มเสียก่อน”
จนในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาก็ยังมีการพบอหิวาตกโรค แต่สายพันธุ์ที่พบจะเป็น eltor มากกว่า classical และมีความรุนแรงน้อยกว่า สำหรับบ้านเราเมื่อพบก็จะบอกว่าเป็นโรคท้องเสียอย่างรุนแรง
ปัจจุบันสุขอนามัยดีขึ้นมาก น้ำกินน้ำดื่ม อาหารที่ใช้น้ำประปาที่ใช้ เราเห็นได้ชัดเจน เด็กรุ่นใหม่คงไม่เคยกินนั้นจากขัน ตักน้ำจากตุ่ม มารับประทานกันแล้ว ไม่เหมือนสมัยผมที่ยังเป็นเด็ก ใช้ขันเดียวกันกินน้ำ ไม่ได้มีการถือน้ำขวดอย่างในปัจจุบัน
อหิวาตกโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่ไวรัส เชื้อชื่อ Vibrio Cholera มีขนาดใหญ่กว่าไวรัสเป็นพันเท่า ระยะฟักตัวตั้งแต่ 12 ชั่วโมงจนถึง 5 วัน และมีอาการซึ่งขับถ่ายเชื้อเป็นจำนวนมากในช่วง 1-10 วัน อาการหลักก็จะมีคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนท้อง และท้องเสียถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำจำนวนมากอย่างรวดเร็ว รายที่รุนแรงการเสียน้ำออกได้เป็นลิตรๆ จึงทำให้ขาดน้ำและเสียชีวิตได้ ถ้าให้น้ำกับคืนไม่ทัน ในปัจจุบันการแพทย์และสาธารณสุขดีมาก โรคนี้รักษาได้มีทั้งยาปฏิชีวนะ และการให้น้ำเกลือทดแทนการสูญเสียน้ำที่ออกไปอย่างมาก จึงทำให้การเสียชีวิตต่ำมาก
ในที่ชนบทห่างไกลเรายังสอนการให้สารละลายน้ำเกลือแร่เข้าไปชดเชย เรามีองค์ความรู้อย่างมากในการรักษา ทำให้ในปัจจุบันอัตราตายจึงต่ำมาก การดูแลรักษาที่ดีในปัจจุบันนี้ถึงนอนโรงพยาบาลก็อยู่สั้นมาก 1-3 วัน
เรามียาปฏิชีวนะที่ดีที่สามารถฆ่าแบคทีเรีย โดยมีจุดมุ่งหมายลดการแพร่กระจายของเชื้อออกไปสู่ชุมชน
ปัจจุบันมีวัคซีนในการป้องกัน แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้สูงมากนัก เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ซึ่งแตกต่างกับสมัยก่อนที่ใช้ฉีด ผมจำได้ว่าสมัยก่อนฉีดแต่ละครั้งแขนบวมยกแขนไม่ขึ้น ปัจจุบันใช้รับประทานต้องให้ 2 ครั้ง ในผู้ที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไปแต่ไม่ควรเกิน 6 เดือน วัคซีนที่ใช้มีความปลอดภัย อาการข้างเคียงที่พบเล็กน้อยได้แก่คลื่นไส้อาเจียน อาจจะไม่สบายท้องบ้าง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีนจะกันได้ไม่นานเกิน 3 ปี
ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด ก็คงจะเป็นเรื่องของสุขอนามัย ความสะอาดของน้ำดื่ม อาหารที่กิน โดยเฉพาะผักดิบผักสด ต้องล้างให้สะอาดจริงๆ ถ้าเป็นไปได้ควรกินอาหารที่สุก สะอาด บริจาคแมลงวันตอม ดูแลสุขภาพ ล้างมืออยู่เป็นนิจ
การพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจสังคม สุขภาพ สุขอนามัย มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้โรคอหิวาตกโรคในประเทศไทยเป็นโรคที่พบได้น้อยมากและไม่มีการระบาดใหญ่มานานแล้ว เรามักจะได้ยินข่าวการระบาดของอหิวาตกโรค ในประเทศที่ยากจน มีภัยสงคราม หรือเกิดมหันตภัยทางธรรมชาติ
ถึงแม้ว่าโรคนี้เป็นโรคระบาดที่ยังไม่หมดไป โรคนี้ก็ยังเป็นโรคที่รักษาได้ มียาที่ใช้รักษา มีน้ำเกลือที่ลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ มีวัคซีนในการป้องกัน การให้การศึกษาเรื่องดูแลสุขภาพอนามัย จึงทำให้โรคนี้มีโอกาสน้อยที่จะระบาดในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' บอกอย่าตื่นตะหนกโนโรไวรัส
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา
'หมอยง' หวนระลึกโควิด19 ปีที่สองของการระบาด!
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์