21 ธ.ค.2567 - นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
ผมได้ยินจากปาก "เจนเซ่น หวง" ประธานบริหาร Nvidia บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ว่า "เราจะเปิดศูนย์ออกแบบและวิจัยที่เวียดนาม" ก่อนที่ Nvidia จะประกาศอย่างเป็นทางการเสียอีก
ผมถามกลับทันทีว่า "เวียดนาม" เสนออะไรแก่คุณ ถึงไปลงทุน "ศูนย์ออกแบบ" ที่เป็น "หัวใจ" และ "มันสมอง" ของอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ทุกคนหวงแหน
คนสนิท "เจนเซ่น หวง" ขยับตัวทันที ห้ามไม่ให้นายพูดอะไรต่อ เจนเซ่นเลยตอบว่า "มันไม่สำคัญหรอก" (ไทยอย่าไปรู้เลย)
แต่ผมรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะผมในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย "CMKL" ที่ Carnegie Mellon สถาบันระดับโลกด้าน AI มาก่อตั้งร่วม เราเป็น "ลูกค้าคนแรก" ที่ซื้อ "ซุปเปอร์ AI คอมพิวเตอร์" รุ่น DGX-A100 ความเร็วสูงสุดในประเทศจาก Nvidia เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ยิ่งผมนั่งตรงข้าม "ตามองตา" กับ "เจนเซ่น หวง" เราเป็นพันธมิตรกันมาหลายปี "รู้กัน" จึงตอบคำถามได้ไม่ยากว่า มีอยู่ 4 ปัจจัยที่บริษัทระดับโลกไปลงทุนที่ "เวียดนาม"
1. "เวียดนามพัฒนาคุณภาพคน"
ประสบการณ์ของผม ทั้งที่มีเพื่อนชาวเวียดนามเมื่อครั้งเรียนที่ MIT และทั้งเคยสอนเด็กเวียดนามที่มาเรียนวิศวะลาดกระบัง ไม่ต้องอายแล้วที่จะบอกว่า "เด็กเวียดนาม" ฉลาด เก่ง และขยันมากกว่า ทั้งคะแนนวัดผล PISA ชี้ชัดว่าเด็กเวียดนามได้คะแนนสูงที่สุดในอาเซียน เป็นรองเพียงเด็กสิงคโปร์เท่านั้น
เวียดนามยังส่งเด็กรุ่นใหม่ ไปเรียนในสาขา "วิศวกรรม และคอมพิวเตอร์" ในมหาวิทยาลัยระดับโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย มากกว่าชาติใดในอาเซียน เพื่อกลับมาสร้าง "นวัตกรรม" พัฒนาเวียดนามสู่โลก AI เต็มรูปแบบ
พิสูจน์เวียดนาม "ทุ่มเท" พัฒนาคุณภาพคน ตั้งแต่ "อนุบาลถึงปริญญาเอก" จึงไม่แปลกที่บริษัทไฮเทค ทั้ง Nvidia Apple SpaceX และ Samsung ถึงยอมมาลงทุนที่เวียดนาม เพราะได้ "คนเก่ง" ที่คุ้มค่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับ "ค่าจ้าง"
2. "เวียดนามสนับสนุนการลงทุน"
เพราะเวียดนามเรียนรู้จาก "จีน" เรื่องการ "ดึงดูดทุนต่างชาติ" ใช้วิธี "วันนี้ฉันยอมเธอก่อน" วันหน้าฉันทำได้เอง แล้วค่อยว่ากัน คือ ยอมสนับสนุน ให้สิทธิพิเศษมากมาย พอบริษัทไฮเทคมาลงทุน "สร้างโรงงาน" "สร้างศูนย์วิจัย" ให้ SME เวียดนามได้เป็น "ผู้จัดหาของ หรือ Supplier" เรียนรู้จนทำได้เอง คราวนี้แหละ เดี๋ยวได้รู้กัน ฉันอาจจะชนะเธอก็เป็นไปได้ เลียนแบบกรณีจีนยอมเสนอให้ Tesla มาตั้งโรงงาน เพื่อให้ SME จีนเรียนรู้ สุดท้ายจีนกลายเป็น "เจ้าตลาด" รถพลังงานไฟฟ้า ไปเรียบร้อย
3. "เวียดนามมีนโยบายต่อเนื่อง"
ไม่ว่า "ผู้นำ" จะเป็นใคร "นโยบายเวียดนามไม่เปลี่ยน" เพราะอะไรที่ดีต่อประเทศชาติ ยังไงก็ต้อง "สานต่อ"
นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1986 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม เปิดประเทศให้กับการลงทุนจากต่างชาติ นโยบายเดินไปอย่าง "ต่อเนื่อง"
ยิ่งเวียดนามเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2007 ซึ่งช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เวียดนามได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Zones) ตามแบบจีน ยิ่งเกิดการลงทุนแบบก้าวกระโดด จนถึงทุกวันนี้
ขณะที่แนวคิด "สานต่อ" ไม่ค่อยเห็นใน "สังคมไทย" เราดีแค่ไหน คนใหม่มา เขาก็อยากเปลี่ยน อยากทำแบบของเขา สุดท้ายองค์กร "เสียหาย" ไม่พัฒนาต่อเนื่อง หากไม่เปลี่ยน "ทัศนคติ" ประเทศไทยสู้คนอื่นยากครับ
4. "เวียดนามสามัคคี ช่วยเหลือกัน"
"เวียดนาม" ประเทศสังคมนิยม ที่บอบซ้ำจากสงครามยาวนาน เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และเคยอยูใต้อิทธิพลของจีนมานานนับพันปี แต่วันนี้ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุด ทั้ง "ด้านเศรษฐกิจ" เพราะรู้ว่า "ทางรอด" มีทางเดียว คือ "ชาตินิยม" เพราะไม่มีชนชาติใดรักเรา เท่าชนชาติเราเอง
คนเวียดนามไม่ว่าอยู่ที่ใด "รวมกันติด" และ "ช่วยเหลือกัน" ผลักดัน "ทุกรูปแบบ" ให้รัฐบาลสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย ต้องสนับสนุนเวียดนาม
"ชาตินิยม" แบบเวียดนาม จึงเป็นความรักชาติที่กลมกล่อม ไม่ไปรุกรานใคร แต่ก็พร้อมจะแข่งขันกับทุกคน ผมขอพยาการณ์ว่า เวียดนามจะเป็น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน" และอาจขึ้นเทียบชั้นกับ "เกาหลี" ในอนาคตได้
ที่จริงไทยเราจับ "สัญญาณ" การก้าวกระโดดของเวียดนามได้มาหลายปี เพราะอัตรา "การเติบโตทางเศรษฐกิจ" สูงมากต่อเนื่อง แต่ไทยเรา "ยังนิ่ง" ไม่เข้าสู่โหมด "แข่งขัน" อย่างจริงจังสักที ทำให้ "เสียโอกาส" ไปทุกวัน ที่ไม่อาจย้อนคืน
แม้ผมยังเชื่อมั่นว่า #คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ก็กังวลไม่น้อย เมื่อรู้แจ้งว่า เวียดนามและชาติอื่น วันนี้ไม่มีใครอยู่นิ่งเลย ทุกชาติ "พร้อมแข่งขัน" แล้วไทยจะทำอย่างไร ทุกท่านคิดว่าไง แชร์กันได้นะครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน
'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า
เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที
ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน
ไทยพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% เริ่ม 1 พ.ย.
ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปี 67 โต 2.4%
ธนาคารโลก (World Bank) คงคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.4% เร่งตัวขึ้นจาก 1.9% ในปี 66