สภาที่ 3 จัดเสวนาทวงคืนที่ดินเขากระโดงให้การรถไฟฯ

'สภาที่ 3' เสวนาทวงคืนที่ดินเขากระโดง 'นิติธร' ชี้ สะท้อนมุ่งทรัพย์สินชาติ-ทำลาย 'สถาบันฯ-ระบบยุติธรรม' ด้าน 'การุณ' เชื่อกลุ่มการเมืองจ้องเข้ายึดแย่งแผ่นดินมากที่สุด ลั่น ถ้า 'การรถไฟฯ' ตั้งเป็นทนาย จะจัดการด้วยตัวเอง ขณะที่ 'วีระ' สงสัย มีการเอื้อประโยชน์ 'ภท.-พท. หรือไม่ ฝ่าย 'สาวิทย์' มองเป็นต้นตออำนาจสู่การเมืองระดับประเทศ

4 ธ.ค.2567 - ที่ห้องประชุม 14 ตุลา ถนน ราชดำเนิน บริเวณอนุสรณ์สถาน14ตุลา ในงานเสวนา สภาที่ 3 เรื่อง ทวงคืนที่ดินเขากระโดง ซึ่งมีวิทยากรผู้รักชาติรักแผ่นดิน ประกอบด้วย นายการุณ ใสงาม อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.บุรีรัมย์, นายสาวิทย์ แก้วหวาน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย, นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย, นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา, นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และนายอินทร์ แย้มบริบูรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และผู้ก่อตั้งสภาที่ 3 กล่าวเปิดงานว่า ที่ผ่านมาเกิดการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย รวมถึงการติดคุก ติดตาราง บางคนเลี่ยงป่วย โดยเฉพาะคนที่รวยกะทันหัน ภายใน 3 ปีนี้ ก็ระวังหน่อย อาจติดคุก ไม่ได้ใช้เงิน บ้านเมืองจะได้สะอาดสักที

สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องเขากระโดง ไม่ใช่แค่การคืนที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย แต่เป็นการดูถูกเหยียดหยามกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีเรื่องอย่างนี้ มีการเพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรม และไม่แคร์กฎหมาย บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร หากทุกคนละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะคนที่มีอิทธิพล ก็สามารถใช้อิทธิพลตัวเองลบล้าง ทำให้เห็นชัดว่าอยากจะเอาอะไรก็เอา

กรณีเขากระโดงนี้ชัดมาก และมีระบบที่แย่มาก เพราะการที่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ และนักการเมือง ไม่เคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทำให้การละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น วันนี้เราจึงมาพูดถึงเรื่องต่างๆ อย่างการเรียกร้องคืนแผ่นดินเขากระโดงให้กับการรถไฟ

สิ่งที่เกิดขึ้นยังเชื่อมโยงไปถึงการออกพระราชบัญญัติต่างๆ รวมถึงกรมการขนส่งทางราง ซึ่งต้องดูว่าออกในสมัยของใครที่มีอำนาจ เพราะการจะยึดสมบัติการรถไฟที่มีมากมาย การรถไฟควรนำสมบัติของตัวเองมาสร้างประโยชน์ และคืนหนี้ตามที่รัฐบาลพยายามสร้างหนี้ให้กับการรถไฟ

สิ่งที่แปลกประหลาดมากที่สุดคือ การที่กรมรางควบคุมการรถไฟ และคนที่อยู่ในกรมรางก็มาจากกรมทางหลวง ซึ่งไม่มีความรู้ทางรถไฟ ถามว่าการรถไฟควรจะยอมหรือไม่ให้คนที่ไม่มีความรู้มาควบคุม สำคัญที่สุดตัวเองยังไม่ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ พร้อมยกตัวอย่าง กรณีคานหล่นบริเวณถนนพระราม 2 ที่สร้างความเสียหาย มีคนตายไม่รู้เท่าไหร่ ตัวเองยังทำหน้าที่ได้ไม่ดี แล้วจะมาควบคุมการรถไฟได้อย่างไร

นายอินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวาระหนึ่งที่สภาที่สาม จะได้ทำหน้าที่ในการ ชำแหละความไม่ได้เรื่องได้ราวของผู้บริหารประเทศชุดนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ เพราะศาลฎีกาได้ทำการตัดสินแล้ว รวมถึงการอุทรและศาลปกครอง ขนาดมีถึง 3 ศาล ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติ ฝ่ายบริหารก็ยังไม่ทำ พวกตนไม่รู้จะทำไง จึงไปฟ้องหลักเมืองแทน เพราะประชาชนหวังกับหน่วยงานรัฐไม่ได้ หมดที่พึ่ง

กรณีพื้นที่เขากระโดงนี้ การรถไฟได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 นำมาทำต่อ ออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา ปี 2462 ในการกำหนดแผนที่ และกำชับ ในปี 2464 โดยมีการออกพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง ออกมาอีก

นายนิติธร กล่าวว่า หากดูนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ ทุกเรื่องจะมุ่งตรงไปที่ทรัพย์สินของประเทศชาติ ทั้งระบบการเงิน ที่ดิน ตลอดจนสิทธิพิเศษของคนต่างชาติ ขณะเดียวกัน ยังมีการแอบซ่อนตัวในการออก พ.ร.บ.ราง ซึ่งหากผ่านไปได้ บริเวณที่ดินของสองข้างทางรถไฟ จะถูกเปลี่ยนผ่านสู่มือคณะกรรมการบริหาร ซึ่งควบคุมโดยฝ่ายการเมือง ทำให้เป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในการบริหารผลประโยชน์

ขณะนี้ สิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และ 2.การทำลายระบบกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะศาล พร้อมยกตัวอย่างว่า หากพิจารณาในเรื่องเขากระโดง หลายคนมองว่า เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย หรือกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกรณี MOU 44 ก็ล้วนสะท้อนการมุ่งตรงกระบวนการยุติธรรมถูกทำลาย พระบรมราชโองการถูกทำลาย

ย้อนกลับไป พรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคประชาชน ทุกคนทราบดีว่ามีส่วนสำคัญในการที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หากมองภาพรวมจะเห็นว่า บ้านเมืองกำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเขาโยงเป็นเรื่องๆ ให้ประชาชนทำความเข้าใจเป็นเรื่องๆ เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย เกิดความสับสน ส่งผลให้ประเทศไปไหนไม่ได้ หากไม่ฟื้นอำนาจรัฐ หรือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอำนาจของประชาชนที่ถูกต้องเป็นธรรม ทุกอย่างจะถูกทำลายผ่านโครงการต่างๆ เหล่านี้

เพราะอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ วันนี้ใครมองว่าแยกออกจากกัน ใครมองว่าไม่รวมมือกันบ้าง เวลาที่เขาจะยึดประเทศประเทศหนึ่ง เมื่อทำลายสองส่วนข้างต้นแล้ว อีกสิ่งที่มีประสิทธิภาพคือเรื่องระบบเศรษฐกิจ สำหรับฝ่ายการคลังแน่นอนว่าฝ่ายการเมืองมีอำนาจเต็มที่ แต่เรื่องการเงินไม่ใช่ นี่จึงทำให้เกิดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้เกิดระบบการเงินดิจิทัล เพราะการยึดกับระบบการเงินของประเทศให้ได้ ไม่ได้หมายความแค่ จะต้องตั้งประธานบอร์ด หรือผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยให้ได้ แม้จะเป็นส่วนสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือต้องเป็นเจ้าของระบบเงินตรา

ภาพรวมทางการเมืองทั้งหมดที่เกิดขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยอย่างแท้จริง คือเปลี่ยนแปลงไปเป็นของนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่เป็นนักโทษที่ไม่ยอมติดคุก หรือนักการเมืองตระกูลชิน อย่ามองว่าวันนี้นักการเมืองยังอยู่ฝ่ายประชาชน ตนขอยืนยันว่าไม่มี เพราะทั้งหมดร่วมมือกันหมดแล้ว

นายการุณ กล่าวว่า การรถไฟเป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อได้รับมาจากเจ้าของแผ่นดิน ก็ควรมีหน้าที่ทำนุดูแลรักษา ทำประโยชน์ แต่วันนี้เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ที่เรียกว่ารัฐมนตรี ซึ่งต้องมาทำงานต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดิน กลับปล่อยปละทิ้งแผ่นดินของพระองค์ ให้ประชาชนเข้ายึดครอง โดยเฉพาะกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เข้าแย่งยึดแผ่นดินมากที่สุด

สำหรับคำพิพากษาที่ออกมานั้น จะมาเถียงกันเรื่องเพิกถอนได้อย่างไร เพราะคำฟ้องของการรถไฟ ระบุ โจทก์ทั้ง 35 คน ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับจำเลยที่หนึ่ง ซึ่งคือการรถไฟ ที่จะได้รับสิทธิครอบครองในประโยชน์ที่ดินพิพาท โจทก์ทั้ง 35 คน เข้ามาอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดการรถไฟ ทำให้ได้รับความเสียหาย การรถไฟนำไปทำประโยชน์ไม่ได้ จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียหาย ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงขอบังคับให้จำเลยทั้ง 35 คน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป แล้วส่งมอบคืนที่ดินให้กับการรถไฟ ดังนั้น คำพิพากษา มีเพียงให้ขับไล่ รื้อถอน และเรียกค่าเสียหายละเมิด มีแค่นี้ ไม่มีแม้แต่ตัวอักษรเดียวเรื่องเพิกถอน

วันนี้ประเทศไทยมีศาล 3 ชั้น แต่ปรากฏว่ากรมที่ดินตั้งศาลดีแก ขึ้นมา 2 ชุด เป็นคณะกรรมการ เลยพากันเขียนคำวินิจฉัย เป็นเหมือนคำพิพากษาดีกู คือไม่เพิกถอน ต้องเอาพวกนี้เข้าคุก เพิกถอนรื้อให้เกลี้ยง ถ้าการรถไฟเซ็นใบตั้งทนายความใบเดียว ตนจะไปจัดการให้

นายสราวุธ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่สหภาพมองคือ ประเด็นที่อ้างถึงคำพิพากษา ในเรื่องการเพิกถอน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาชัดเจนว่าที่ดินทั้ง 5,083 ไร่ เชื่อว่าเป็นที่ดินของการรถไฟ ตามราชกฤษฎีกา ปี 2462 นำไปสู่เรื่องการจัดทำแนวเขตต่างๆ และแผนที่แนบท้าย ซึ่งคือแผนที่แสดงเขตก่อสร้างทางรถไฟ ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมาจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะตรงทางแยกย่อยเข้าเขากระโดง ซึ่งศาลเชื่อว่า นี่เป็นแผนที่ที่เป็นข้อยุติว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟ

จนถึงคำพิพากษาของศาลปกครอง ที่ตั้งข้อสังเกต ในส่วนของอธิบดีกรมที่ดิน เพิกเฉยหรือไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 61 เกี่ยวกับเรื่องเมื่อมีความปรากฎว่า โฉนดออกเอกสารสิทธิ์คลาดเคลื่อน จึงนำไปสู่การพิสูจน์กระบวนการในการเพิกถอน และอีกข้อสังเกตคือ ให้คณะกรรมการตามมาตรา 61 ดำเนินการร่วมกับการรถไฟ เพื่อชี้แนวเขต แต่คณะกรรมการไม่นำข้อมูลไปพิจารณา ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุใดจึงไม่ดำเนินการเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ ในการปกป้องที่ดิน ทางสหภาพจะติดตาม และดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อทวงคืนที่ดินให้กลับมาเป็นของการรถไฟ

นายวีระ กล่าวว่า เมื่อตนได้รับร้องเรียนเรื่องจากพนักงานรถไฟ และสหภาพ ก็พยายามทำเท่าที่ข้อมูลมีปรากฎ พร้อมยื่นกล่าวหาร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ว่าการรถไฟ 2 ครั้ง ในปี 2564 และ 2565 กรณีเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพียงตรวจสอบ ยังไม่ตอบรับว่า จะไต่สวนหรือไม่ เนื่องจากหากรับไว้ไต่สวนแล้ว จะต้องไต่สวนภายใน 2 ปี ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช. ก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายของตัวเอง

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวกับเรื่องซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบนั้น มีกฎหมายออกมาแล้ว แต่ไม่ถูกบังคับใช้ ผู้มีอำนาจไม่สน ไม่ทำกัน

และเมื่อสังคมไทยไม่พูดเรื่องนี้ ตนขอถามว่าแล้วใครได้ประโยชน์ ก็คนที่ไปครอบครองเขากระโดงเองที่ได้ประโยชน์ แต่การรถไฟ และประชาชนเสียหาย หากเราสู้ผิดจุด สู้ไม่ถูกประเด็น จะทำอะไรเขาไม่ได้ เขาก็ลอยตัวเงียบไม่ออกมาพูดอยู่อย่างนั้น

พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริหารการรถไฟ นำเอกสารมาให้ แล้วตนจะดำเนินการตามช่องทางที่สามารถทำได้ เพราะตัวคุณเป็นผู้เสียหาย เป็นหน้าที่คุณ อยากจะโดนเหมือนลูกพี่คนก่อนใช่หรือไม่ ไม่ใช่ติดต่อมาให้ตนช่วย แต่ไม่มีข้อมูล เพราะจะทำอะไรไม่ได้ คนที่กล้าทำมี เขาจะทำแทนคุณ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดความยุติธรรม กฎหมายจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ก็อยู่ที่ว่าผู้บริหารการรถไฟจะเอาจริงหรือไม่ หรือเพราะขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงไม่กล้า ยิ่งถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นคนของพรรคภูมิใจไทย ก็คงทำไม่ได้ แต่ขณะนี้เป็นคนของพรรคเพื่อไทย จึงสงสัยว่ามีการต่อรองเพื่อสมประโยชน์กันหรือไม่

นายสาวิทย์ ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงนำที่ดินกลับ คืนมาไม่ได้ ทั้งที่การรถไฟจัดการกับปัญหาที่ดินทั่วประเทศได้หมด ยกเว้นที่ดินเขากระโดง โดยสามัญสำนึกแล้ว เมื่อเป็นที่ดินของรัฐ รัฐก็ควรมีหน้าที่ในการปกป้องประโยชน์หรือไม่ ดังนั้น ระยะเวลาที่ทอดยาวมานานขนาดนี้ แสดงว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ยาวนานมาพอสมควรเช่นเดียวกัน แล้วใครได้ประโยชน์ ทุกคนรู้ว่า การก่อร่างสร้างตัวมาเป็นการเมืองระดับชาติ มีเงินเป็นพันล้านหมื่นล้าน ที่มาก็คือก้อนหินก้อนนี้ เป็นรากฐานปฐมบทที่ทำให้อำนาจใหญ่โต ที่จะจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้

สำหรับภาคประชาชน เมื่อเราไม่คาดหวังกับสิ่งที่เป็นอยู่ กลไก และกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายไม่ทำงาน ศาลทำหน้าที่ไม่ได้ หากหน่วยงานต่างๆ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ตนมองว่า หากมีการออกโฉนดโดยมิชอบ กรมที่ดินก็ต้องยกเลิก หรือเพิกถอน เมื่อยกเลิกสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้นแล้ว การรถไฟก็ต้องไปบังคับออก หากไม่ออก ก็ต้องฟ้องศาล

ดังนั้น เบื้องต้นจึงต้องเพิกถอน และถอดเอกสารสิทธิ์ที่ดินก่อน เพราะต้องยอมรับว่า ที่ตรงนี้เป็นที่ดินของการรถไฟ แล้วค่อยมาทำสัญญากับ การรถไฟ เรื่องการเช่า เนื่องจากหน่วยงานอื่น ก็จ่ายค่าใช้ประโยชน์ให้กับการรถไฟ เหตุใดที่ดินที่มีปัญหาไม่กี่แปลงจึงเป็นปัญหา เราในฐานะสหภาพแรงงาน เราไม่เคยคิดให้การรถไฟไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ เพราะเขามีสิทธิ์ที่จะอยู่ได้ หากทำตามเงื่อนไข และข้อตกลง เว้นแต่การรถไฟต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ขอทุกฝ่ายหยุดตอบโต้ปม 'เขากระโดง' รอศาลฯตัดสินชี้ขาด 

นายอนุทิน​ ชาญ​วี​ร​กูล​ รอง​นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย​ กล่าวถึงข้อพิพาทเรื่องพื้นที่​เขากระโดง หลัง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐ

'กรมที่ดิน' โต้ยิบการรถไฟฯ ชี้คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน 35 ราย ไม่ได้เหมารวม 5,083 ไร่

กรมที่ดินออกแถลงการณ์ว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ การรถไฟฯ เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง

'วัชระ' ไล่บี้ ป.ป.ช. เร่งสอบ 2 กรณี ทุจริตรัฐสภาใหม่-กรมที่ดินขัดคำสั่งศาลปมเขากระโดง

นายวัชระ เพชรทอง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเรื่องอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ

เปิดข้อมูลใหม่ปม 'ปมกระโดง' พิรุธแผนที่การรถไฟฯรุกสิทธิชาวบ้าน

ปมพิพาทพื้นที่บริเวณเขากระโดง กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย (มท.2) และ “กรมที่ดิน” ลงพื้นรับฟังปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และหน่วยราชการ ในพื้นที่เขากระโดงใน จังหวัดบุรีรัมย์

'อนุทิน' วอนให้ทุกฝ่ายเงียบ! รอคำสั่งศาลปกครองปมเขากระโดง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1 ) กล่าวถึงข้อพิพาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ระหว่างก

เล่น 'ภูมิใจขวาง' ซะแล้ว! 'สุริยะ' ยันมีหลักฐาน เขากระโดง 5 พันไร่เป็นที่รถไฟ

นายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขากระโดง​ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากนายทรง