'ณัฐวุฒิ' แนะม็อบไล่รัฐบาล หันไปไล่ให้รัฐบาลรีบขุดพลังงานใต้ทะเลไทย-กัมพูชา มาแบ่งกัน

30 พ.ย.2567 - นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เชื่อว่าเรื่อง MOU 44 คงต้องคุยกันอีกยาวถ้ามีการตั้งกรรมการเจรจา และเริ่มต้นพูดคุยระหว่าง 2 ประเทศ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็จะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ขยายผล ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องชี้แจงกันต่อไป

ก่อนจะถึงขั้นตอนนั้น ผมมีตัวอย่างการดำเนินการระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นใกล้เคียงกับพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา มาเล่าให้ฟัง

ไทยกับมาเลเซียเคยมีข้อพิพาทเรื่องดินแดน เพราะทั้ง 2 ประเทศใช้หลักเกณฑ์ในการประกาศเขตแดนทางทะเลและกำหนดไหล่ทวีปแตกต่างกัน ไทยอาศัยเส้นขอบของเกาะโลซิน มาเลเซียไม่เห็นด้วย บอกว่าควรใช้ฝั่งเป็นเส้นมัธยฐาน เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันประมาณ 7,250 ตร.กม. ห่างจากปัตตานี 180 กม. จากสงขลา 260 กม. และห่างจากโกตาบารูของมาเลเซีย 150 กม.

การเจรจาแบ่งอาณาเขตทางทะเลระหว่าง 2 ประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2515 จนในที่สุดได้ทำความตกลงเพื่อให้สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลบริเวณที่เหลื่อมล้ำร่วมกัน และมีการลงนาม “บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วม เพื่อแสวงผลประโยชน์จากทรัพยาการในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย” โดยเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า พื้นที่พัฒนาร่วม เมื่อปี 2522

ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต สัดส่วน 50 : 50 เป็นเวลา 50 ปี ถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมร่วมกัน และแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติในเวทีระหว่างประเทศ

การดำเนินการมีทั้งราบรื่นและติดขัด จนในที่สุดองค์กรร่วมนี้ก็ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 จากนั้นมีการตั้งบริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) และทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศมาเลเซีย) ในปี 2543 และสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ในปี 2548 รวมเวลาตั้งแต่เกิดข้อพิพาท จนถึงการใช้ผลประโยชน์ร่วมกัน 33 ปี

จากข้อมูลปี 2562 พื้นที่ดังกล่าวผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตคอนเดนเสท(ก๊าซเหลว)ได้ประมาณ 16,700 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมรายได้ระหว่าง 2 ประเทศ ณ ขณะนั้น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง สนับสนุนทุนวิจัยให้มหาวิทยาลัยทั้ง 2 ประเทศ 16 โครงการ มากกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ

นี่เป็นตัวแบบหนึ่งให้เห็นว่าปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ในแนวตะเข็บของแต่ละประเทศ หลายแห่งใช้วิธีการว่าถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ปล่อยไว้ ค่อยๆคุยกันไปโดยห้ามแต่ละฝ่ายรุกล้ำ แต่หากมีทรัพยากรมูลค่ามหาศาล สิ่งที่ควรจะเป็นคือหาทางนำมาใช้ เหมือนไทยกับมาเลเซียทำสำเร็จมาแล้ว

กรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชาเกิดตั้งแต่ปี 2513 ผ่านไป 53 ปียังไม่จบ ทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท คิดเป็นหลายสิบเท่าตัวของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย ยังนอนอยู่ก้นทะเล ไม่มีใครได้นำมาใช้

ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องเขตแดนไม่สำคัญ แต่เรื่องแบบนี้เป็นปัญหาอมตะของหลายประเทศ มีแนวชายแดนมากมายทั่วโลกที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่อาจหาข้อยุติร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งแตกหักกันเสมอไป

รัฐบาลชุดนี้ก็เหมือนคนไทยทุกคน ไม่มีใครยอมเสียดินแดนไม่ว่าจะกับประเทศไหนก็ตาม แต่ความพยายามที่รัฐไทยทำมากว่าครึ่งศตวรรษ ถ้าจะหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ รับผลประโยชน์ด้านพลังงานร่วมกันได้ โอกาสสำเร็จมีสูงมากจากสัมพันธภาพอันดีของ 2 ประเทศเวลานี้

ถ้าจะมีการไล่รัฐบาล ก็ควรไล่ให้รีบไปทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน โปร่งใส รายงานความคืบหน้าต่อประชาชนทุกระยะ เอาความสำเร็จมาให้ประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จตุพร' ท้าร้ฐบาล อยากมีเรื่อง! รีบเจรจา MOU 44 - ตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ ให้เร็ว

'จตุพร' เชื่อปม MOU 44 เป็นชนวนจัดการรัฐบาลที่คิดล้มประเทศ ลั่นนายกฯพูดเธอกับฉับตกลงกันไม่ได้ ต้องแบ่งประโยชน์ ส่อเจตนามุ่งหาแต่ประโยชน์ไม่คิดเจรจาเขตแดนก่อนชัดเจน ท้าอยากมีเรื่องรีบเจรจากัมพูชา และตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติให้เร็ว เชื่อคนจะลงถนนแน่ ฟาด ปปช.-กกต.อย่ามัวแต่รำมวยเอาแต่ปากกล้า รีบทำหน้าที่ตรวจสอบคำร้องให้ยุติโดยเร็ว