กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ
29 พ.ย.2567- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นผู้ต้องขังของเรือนจำกลางคลองเปรม ตั้งแต่ปี 2548 โดยศาลอาญาพิพากษาว่าผู้ร้องกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและปล้นทรัพย์ โทษจำคุกรวม 26 ปี 32 เดือน ระหว่างถูกคุมขังในช่วงปี 2556 – 2565 ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยเรือนจำและเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น (ผู้ถูกร้อง) เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ร้องจำนวน 7 คดี แต่จนถึงปัจจุบันพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย โดยผู้ร้องมีกำหนดพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวในเดือนกันยายน 2567 จึงประสงค์ให้ผู้ถูกร้องเร่งรัดการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในทางราชทัณฑ์ และขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 บัญญัติให้รัฐจัดให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 วรรคแรก และมาตรา 134 วรรคสาม ได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาให้มีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองสิทธิของบุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดให้มีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำในการได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น โดยพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ดำเนินงานและกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า ซึ่ง ตร. มีประกาศ เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 กำหนดระยะเวลาการสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ และมีคำสั่งที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุมตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 กำหนดแนวทางการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมในคดีอื่น ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นไว้ (ผู้ต้องหาอายัด) โดยให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นให้แล้วเสร็จ โดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษในคดีเดิมก่อน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมได้ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร้องจำนวน 7 คดี โดยมีคดีที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ผู้ถูกร้องได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปสำนวนสอบสวนเสนอพนักงานอัยการแล้ว 1 คดี ส่วนอีก 6 คดี ยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายนับแต่วันรับคำร้องทุกข์ และได้อายัดตัวผู้ร้องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 กระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ภายหลังผู้ร้องได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. พนักงานสอบสวนจึงได้ถอนอายัดตัวผู้ร้องต่อเรือนจำกลางคลองเปรม
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ผู้ร้องถูกอายัดตัวซึ่งยาวนานมากกว่าสิบปี โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานสอบสวน ผู้ถูกร้อง มิได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีข้างต้นแต่อย่างใด และคดีทั้งหมดนี้เป็นคดีที่ผู้ถูกร้องรู้ตัวผู้กระทำความผิดและสถานที่คุมขัง อีกทั้งเป็นการดำเนินคดีอาญาทั่วไปที่มิได้มีความซับซ้อนในทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการสอบสวนภายในระยะเวลา 2 เดือนนับตั้งแต่วันรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพราะอาจมีผลทำให้คดีขาดอายุความได้ นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องไม่ได้บันทึกข้อมูลทางคดีไว้ในระบบฐานข้อมูล ทำให้ไม่สามารถติดตามผลความคืบหน้าทางคดีให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน และแม้ผู้ถูกร้องจะชี้แจงว่า การโยกย้ายพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบบ่อยครั้งทำให้การดำเนินคดีไม่ต่อเนื่อง ก็ไม่ใช่เหตุผลอันควรแก่เหตุที่ใช้กล่าวอ้างในกรณีสอบสวนคดีอาญาล่าช้า เนื่องจากการโยกย้ายต้องมีการส่งมอบงานและมอบหมายงานให้กับผู้รับผิดชอบคนใหม่ดำเนินการภายในการควบคุมกำกับของผู้กำกับการสถานีตำรวจในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน รวมทั้งต้องมีการรายงานความคืบหน้าทางคดีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกระยะ
ดังนั้น จึงเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ผู้ถูกร้อง ในการดำเนินคดีต่อผู้ร้องที่ล่าช้าเกินสมควร ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 คำสั่งและประกาศ ตร. ที่เกี่ยวกับการเร่งรัดการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งกติกา ICCPR ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนอย่างรวดเร็ว และทำให้เสียประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การที่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 70 กำหนดให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำใช้ดุลพินิจในการลงโทษทางวินัยกับผู้ต้องขังคู่ขนานกับการดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัยโดยไม่ดำเนินคดีอาญาก็ได้ในกรณีที่ผู้ต้องขังได้กระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดลหุโทษ นั้น กสม. เห็นว่า หากเป็นกรณีที่ผู้ต้องขังมีการกระทำความผิดเล็กน้อย และไม่มีผู้เสียหายหรือผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดี ผู้บัญชาการเรือนจำควรพิจารณาลงโทษทางวินัยแทนการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญา เพื่อไม่ให้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมและเกิดปัญหาความล่าช้า ซ้ำซ้อน ดังเช่นกรณีตามคำร้องนี้
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมราชทัณฑ์ สรุปได้ ดังนี้
(1) ให้ ตร. สอบสวนสาเหตุแห่งความล่าช้าและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ผู้ถูกร้อง และสั่งการให้เร่งรัดการสอบสวนคดีของผู้ร้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้งกำชับสถานีตำรวจในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 และคำสั่ง ตร. ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 นอกจากนี้ ให้พัฒนาระบบติดตามคดีเพื่อให้คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีสามารถเข้าดูและติดตามความคืบหน้าทางคดีได้ พร้อมทั้งกำชับให้พนักงานสอบสวนบันทึกข้อมูลหรือรายงานความคืบหน้าทางคดีในระบบสารสนเทศข้อมูลอาชญากรรมของ ตร. อย่างสม่ำเสมอและเป็นปัจจุบัน
(2)ให้กรมราชทัณฑ์กำหนดแนวทางให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 70 กรณีผู้ต้องขังกระทำผิดอาญาและความผิดนั้นเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของเรือนจำ ความผิดตามมาตรา 73 หรือความผิดฐานพยายามหลบหนีที่คุมขัง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำวินิจฉัยลงโทษทางวินัยโดยไม่ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญา เนื่องจากเป็นคดีเล็กน้อยและไม่มีผู้เสียหายหรือผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดี เพื่อไม่ให้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจำนวนมากเกินจำเป็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้ รร.นายร้อยตำรวจเร่งคดีล่วงละเมิดทางเพศ!
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่
'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ