27 พ.ย.2567- ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ผมจะไม่ไปถ่ายรูป จับมือ กับผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชีวิต เพราะผมไม่ได้ต้องการเก็บสถิติของตัวเองระหว่างการเป็นรัฐมนตรี ดังนั้น ผมมักจะปฏิเสธงานรูทีนที่เป็น Multilateral (พหุภาคี) ซึ่งชาติมหาอำนาจ หรือ ชาติที่เป็นผู้นำเป็นผู้กำหนดวาระ เพราะส่วนใหญ่จะถูกกำหนดเป้าหมาย หรือ ผลลัพธ์ตามที่เจ้าภาพต้องการไว้แล้ว
แต่ผมจะเน้นไปร่วมงานที่เป็น Bilateral (ทวิภาคี) ที่ผมและประเทศที่เราไปพบ กำหนดวาระร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศมากที่สุด นี่คือ ยุทธศาสตร์ที่ผมใช้ด้านนโยบายระหว่างประเทศของ อว. ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรี
เพราะผมพูดมาตลอดว่า งานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมของเราต้องไม่เริ่มต้นจากศูนย์ หรือ หนึ่ง เราจะต้องก้าวกระโดดให้ยาว ให้ไกล โดยร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่มีวิทยาการ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเรา ที่ทำให้เราสามารถพัฒนา หรือ ยกระดับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมของเราได้ ตามโจทย์ หรือ ยุทธศาสตร์ของชาติ
ไม่ใช่สะเปะสะปะ ใครมีอะไรดีก็เอาหมด แต่ต้องพิจารณาตามความต้องการของประเทศ และ ศักยภาพของเรา โดยต้องไปบอกเค้าว่าเรามีอะไรดี มีอะไรเด่น ที่จะทำให้เค้าสนใจจะมาเป็นพันธมิตรกับเราแบบ WIN WIN
ซึ่งผมใช้ความเข้าใจ และ ประสบการณ์ของผมด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่มองโลก เห็นโลกมากกว่าแค่ประเทศไทย และเห็นความหลากหลายของอารยธรรม ความเจริญก้าวหน้า ที่ไม่ได้มีแต่ตะวันตกเท่านั้นที่เป็นผู้นำ หรือ มีความรุ่มรวยทางวิทยาการ
เพราะไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม BRIC บราซิล รัสเซียอินเดีย จีน อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือ กลุ่มประเทศอาเซียน กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ล้วนแต่เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า ทางวิทยาการอย่างที่เราไม่ควรจะมองข้าม
ผมจึงให้ความสำคัญและเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศมากกว่า 30 ครั้ง แน่นอนครับ ทุกครั้งผมมีวาระเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด และเปิดโอกาสให้หน่วยงาน และ ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงไปเรียนรู้ ฝึกฝน ในการใช้ยุทธวิธีการเจรจา ผูกมิตร และ การมองหาโอกาส ความร่วมมือกับนานาประเทศ
ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน และ ทำบ่อยๆ จะทำให้เราเห็นภาพใหญ่และนำองค์กรให้ก้าวไปไกลกว่า เพราะเป้าหมายและนโยบายของผมคือ นำวทน.ไปรับใช้ประเทศ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคน เพื่อให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580
ผมวางยุทธศาสตร์ด้านบนไปที่ ประเทศพัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันออก 3 ประเทศที่ผมเลือกที่จะใช้เวลาที่มีอยู่จำกัด ไปที่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพราะอยู่ใกล้เรา ค่อนข้างรัก และ ชื่นชมคนไทยอยู่แล้ว และ นักธุรกิจเองก็มาลงทุนในประเทศเราเป็นจำนวนมาก ผมจึงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ
ในขณะเดียวกัน ผมเลือกที่จะวางยุทธศาสตร์ด้านล่างไปกับกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อให้ประเทศที่ก้าวหน้ากว่ามองว่าเราเป็นศูนย์กลางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เรียกได้ว่า มาหาไทยประเทศเดียว ได้บวก ลาว กัมพูชา พม่าไปด้วย และ ประเทศใน CLMV ก็ยินดีรับการสนับสนุนจากเราอยู่แล้ว ดังนั้น ถือว่า WIN WIN ครับ
สำหรับประเทศที่เก่งกว่าเรา ผมใช้กลยุทธ์ กล้าที่จะ “ขอ” ขอเข้าไปพูดคุย เจรจา ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ เราต้องยื่นมือออกไป ไม่ใช่สงวนท่าที ติ๋มๆ จ๋องๆ อย่าไปเกรงกลัวประเทศมหาอำนาจมากจนเกินไป และอย่าดูเบาประเทศที่เล็กกว่าเรา
โดยการไปพูดคุยทุกครั้งจะต้องกำหนดวาระให้ชัด และต้องทำให้เค้ารู้ว่าเรามี “ความสามารถ” มี “ของดี” อะไร ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเค้า ซึ่งเรื่องแบบนี้ถ้าไม่พูดคุยกันก็จะไม่รู้ เพราะเป็นความก้าวหน้า หรือ เทคโนโลยีภายในประเทศ ที่แม้แต่คนในประเทศก็ยังไม่รู้เลยครับว่า เรามีของดี พอเค้าได้รู้จักว่าเราก็พอจะมีความสามารถ มีคนเก่ง เค้าก็กล้าที่จะเปิดประตูความร่วมมือระหว่างกันง่ายขึ้น
นี่ คือ การ “นำ” ของผม ที่ใช้สิ่งที่ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ ไปใช้กับวิทยาศาสตร์ ผมใช้หลัก personal relationship ซื้อใจ และ ใช้ความจริงใจในการร่วมงานกัน คนไทยเก่ง และ มนุษยสัมพันธ์ดี ผมให้ทุนกับประเทศ CLMV เพื่อให้เค้าได้ส่งคนของเค้ามาเรียน และ กลับไปพัฒนาประเทศเค้า ซึ่งเป็นการผูกมิตรที่ดีที่สุด เพราะได้ดูแลลูกหลานของเค้าให้เก่งและมีความสุข และเราได้โอกาสในการส่งออกอุดมศึกษาของเราไปสู่ประเทศอื่นด้วย
โดยตอนนั้นผมได้เข้าพบท่าน “สมเด็จฮุนเซน” เพื่อเปิดความสัมพันธ์ด้านการอุดมศึกษาและวิจัย ซึ่งท่านก็ได้บอกผมว่า “ไทยเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาค ” และ ขอบคุณที่ให้ทุนเรียนโท-เอก และสนับสนุนทั้งด้านดาราศาสตร์ ไอที ชีววิทยาศาสตร์ อาหาร และด้านอื่นๆ และ เปิดให้ร่วมฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในความดูแลของ อว. ความสัมพันธ์แบบนี้ผมคิดว่าเหนียวแน่นยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทางการค้า และ เศรษฐกิจอีกครับ WIN WIN อีกแล้วครับ
เรื่องการข่าวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนโยบายระหว่างประเทศ ที่ผมเคยให้ข่าวว่าอีก 7 ปี ไทย ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่จะผลิตยานอวกาศ ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ต่อจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตอนนั้นคนในประเทศไม่เชื่อ และ เย้ยหยันว่า ฝันไปหรือเปล่า ทำไมไม่เอางบไปถมถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อแบบผิวดวงจันทร์จะดีกว่า ผมคิดในใจ นี่มันสะท้อนโลกทรรศน์ของคนไทยจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า “ไทยจะเป็นชาติด้อยพัฒนาตลอดไป จะไม่มีวันเป็นชาติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้”
แต่ปรากฏว่า ผู้นำหลายประเทศได้ยินเรื่องนี้ และเข้ามาพูดคุยกับผมเรื่อง Space Port / Space Economy เพราะเค้าเห็นโอกาส เห็นความเป็นไปได้ ดังนั้น อว.จึงต้องมุ่งมั่นพัฒนาให้มีดาวเทียมที่สร้างโดยคนไทย สร้างยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ให้ได้ ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 5 ปีกว่าๆ มันมีหลักฐานเชิงประจักษ์พิสูจน์ได้แล้วครับ และผมมั่นใจว่าคนไทยทำได้จริง และ ผมไม่ได้โม้
และในที่สุด ตอนนั้นผมได้เจรจากับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences - CAS) องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration - CNSA) จนเค้ายินดีสนับสนุนการส่งดาวเทียมของไทยร่วมไปกับภารกิจ ฉางเอ๋อ และ ความร่วมมือการพัฒนา วทน. ในหลายสาขาโดยเฉพาะด้านการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน (โทคาแมค)
ซึ่งตอนนั้น นับเป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะไทยที่ใหญ่ที่สุด หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย และเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงลึกระหว่างไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันต่อไปครับ
ทั้งหมดนี้ ผมอยากบอกว่า เคล็ดความสำเร็จอย่างหนึ่งของ อว. คือ ความโชคดีที่มีท่านปลัดกระทรวงที่เก่ง มีความรู้ ความสามารถในระดับโลก ท่าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ซึ่งท่านเป็นอดีตปลัดอว. ในยุคที่ผมเป็นรัฐมนตรี ท่านสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมเหรียญทอง อันดับ 1 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านวิทยาภูมิคุ้มกันระดับโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ที่สำคัญที่สุด ท่านเป็นคนที่ “สามารถ” ครับ
ท่านสามารถรับนโยบายและปฏิบัติภารกิจทุกอย่างให้ลุล่วง ด้วยเวลาที่รวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ ผมจึงอยากแนะผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่า ท่านต้องเลือกปลัดที่ “สามารถ” ไม่ใช่เลือกปลัดตามอายุราชการ หรือ เส้นสาย แล้วกระทรวงของท่านจะเจริญรุ่งเรืองครับ
ตลอด 3 ปี 1 เดือน ผมเข้าไป “นำ” และ “สั่งการ” ไม่ใช่ไป “ทำงาน” ผมบอกเสมอว่า รัฐมนตรีอย่าไปทำงานแทนข้าราชการประจำ อย่าไปทำงานแทนนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ แต่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถในการ “นำ”
โดยเริ่มจากการเป็นนักเรียนน้อยก่อน เรียนรู้เรื่องราวทุกอย่างในกระทรวงให้เร็ว ให้รอบด้าน ปรับตัวให้เร็ว สรุปและถอดบทเรียนให้เร็ว ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ มองให้ไกล ให้กว้างกว่าแค่ประเทศไทย ไม่ต้องใช้ทฤษฏีเดิมๆ แต่ต้องสร้างทฤษฏีด้วยตัวเองขึ้นมาใหม่ ทดลองทำ เรื่องไหนไม่เวิร์คก็เปลี่ยน ก็ปรับ ให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด
เพราะคุณอาจมีโอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่จะได้เป็นรัฐมนตรี ดังนั้น ต้อง “นำ” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และจำไว้เสมอว่า รัฐมนตรีเป็นคนไม่มีเวลา หรือ มีเวลาน้อยมาก จึงอย่าทำอะไรไปเรื่อยๆจนหมดสมัยครับ นี่คือสิ่งที่ผมอยากถ่ายทอดให้กับผู้ที่เป็นรัฐมนตรี และ กำลังจะเป็นรัฐมนตรีในอนาคตครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อยครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘เศรษฐา’ ถึงกรุงโรมเตรียมคุยนักธุรกิจ ก่อนเข้าพบนายกฯอิตาลี หารือทวิภาคี
ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เสร็จสิ้นภารกิจที่เมืองมิลาน ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานลีโอนาร์โด ดาวินชี ฟิอูมิชิโน โดยมีนายเก-ราโด อมาดุซซี (Gherardo Amaduzzi) รองอธิบดีกรมพิธีการฑูต สาธารณรัฐอิตาลี พร้อมด้วยบุคคลฝ่ายไทยให้การต้อนรับ
'ดร.เอนก' ชวนเก็บกระเป๋าออกเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกและสิ่งใหม่ๆ
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เรื่องเล่า ดร.เอนกเมื่อครั้งเป็น รมว.อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม
'ชัย' โวภารกิจ 'เศรษฐา' 3 วันคุ้มค่าเครื่องบินแน่นอน!
โฆษกรัฐบาลร่ายยิบการประชุม UNGA78 ของนายกฯ แจงรายละเอียดงานตลอด 3 วัน ทั้งพหุภาคี-ทวิภาคี ลั่นคุ้มค่าเครื่องบินแน่
'นันทิวัฒน์' ชี้การสู้รบใน 'เมียนมา' ส่งผลกระทบคนไทยตามแนวชายแดน ลั่นอย่าผลักเพื่อนเป็นศัตรู
'นันทิวัฒน์' ชี้ภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นที่ช่วงชิงของมหาอำนาจ การสู้รบใน'เมียนมา'ส่งผลกระทบต่อคนไทยตามแนวชายแดนเดือดร้อน ลั่นอย่าผลักเพื่อนเป็นศัตรู เผยการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการบรรยากาศดีมาก
อดีตรองอธิการบดี มธ. ตอบชัด ชาติมหาอำนาจหนุนพรรค ‘ก้าวไกล’ จริงหรือ?
อดีตรองอธิการบดี มธ. ตอบข้อสงสัยละเอียดยิบ ชาติมหาอำนาจให้การสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค หมายถึงพรรคก้าวไกลให้ชนะการเลือกตั้งเพื่อได้เป็นรัฐบาลจริงหรือ