กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

8 พ.ย.2567 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562  ณ นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิส เพื่อเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาและขจัดความไร้รัฐให้หมดไป (zero statelessness) ภายในปี 2567 และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ เพื่อให้บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร (ชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม) ที่รอการพิจารณากำหนดสถานะในปัจจุบัน จำนวนกว่า 483,000 คน ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายและสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้ 
 
อันสอดคล้องและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งบัญญัติรับรองให้คนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน 
 
การดำเนินการตามมติ ครม.นี้ จะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาคำขอให้ได้มา
ซึ่งสถานะบุคคลตามกฎหมายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้ระยะเวลา 270 วัน สำหรับกระบวนการพิจารณาคำขอออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวรของผู้อพยพมาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นเวลานาน และ 180 วัน สำหรับกระบวนการพิจารณาคำขอมีสัญชาติไทยกลุ่มบุตรของผู้อพยพที่เกิดในไทย เหลือเพียงระยะเวลา 5 วัน
 
กสม. ขอชื่นชมรัฐบาลในความพยายามแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ที่ไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อขจัดความไร้รัฐให้หมดไปในปี 2567 ตามที่เคยได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ โดยมติ ครม. ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดจำนวนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในโลกดังที่ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมไว้ อย่างไรก็ดี กสม. หวังว่า ในการปฏิบัติตามมติ ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ จะเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย มีความระมัดระวังและป้องกันมิให้เกิดการทุจริตทางทะเบียนราษฎรขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การขจัดความไร้รัฐมีความเป็นธรรมและสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง 
 
สำหรับการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ กสม. ได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งภาคประชาชน องค์กรเอกชน ภาควิชาการ และหน่วยงานของรัฐเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของประเทศ และได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวหารือในงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน : เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม.” เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โดยได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย และมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินโครงการคลินิกสิทธิมนุษยชนโดยลงพื้นที่สำรวจสถานะบุคคลและรับเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง
 
 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่

'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

กสม.ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน-การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

กสม. ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ตร. ขานรับพร้อมยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในสถานที่ควบคุมตัว

กสม.แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ให้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สวมเสื้อชั้นในได้

กสม. แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสวมเสื้อชั้นในหรือแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ