3 พ.ย.2567-พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตเสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.) ซึ่งสมัยเป็นสว.มีบทบาทอย่างมากในการติดตาม-การอภิปรายเรื่องความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา ย้ำว่า ควรต้องมีการยกเลิก MOU44 เพราะMOU44ที่ทำขึ้น เหมือนกับเป็นการสร้างความชอบธรรมระดับหนึ่งให้กับเส้น 266 ที่กัมพูชา ทำไว้ จากหลักเขตที่ 73 ที่เป็นพรหมแดนประชิดกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ตรงบ้านหาดเล็ด จังหวัดตราด ตรงหลักเขต 73
ตรงนั้นคือจุดที่เป็นปัญหาและเป็นการแบ่งเขตที่ค่อนข้างจะยาก ซึ่งเรื่องพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ต้องดูเรื่องการลากเส้นที่ถูกต้องก่อน เริ่มที่การดูว่า การลากเส้นมีกฎเกณฑ์ กฎกติกาอย่างไร ซึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดการพูดกันว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน เป็นเรื่องของการอ้างสิทธิ แต่เกาะกูด ที่กำลังเป็นประเด็น แล้วไปเรียกว่าพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด จริงๆไม่อยากใช้คำนี้ เพราะเกรงจะเข้าใจผิด เพราะเรื่องนี้มีความชัดเจนทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ,สนธิสัญญาต่างๆ และกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนศักยภาพต่างๆ ในการที่เราจะรักษาอธิปไตย เกาะกูดเป็นของไทยเราชัดเจน ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันและจะเป็นแบบนี้ต่อไป เป็นหนึ่งอำเภอของเรา แต่สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้นเวลานี้ คือเป็นพื้นที่ทะเลใต้เกาะกูดลงมา เวลาที่ไปเรียกกันพื้นที่ทับซ้อน
“จริงๆ อยากให้เรียก พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา เป็น OCA ที่บังเอิญมาเกิดใต้เกาะกูดลงไปถึงอ่าวไทย ที่ตอนนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า น้ำจรดทรายเลยหรือไม่ หรือจะเว้นระยะบริเวณอาณาเขต 12 ไมล์รอบเกาะกูด ก็ต้องมีการเจรจากัน แต่ขณะนี้เรื่องการอ้างสิทธิ์ ต่างฝ่ายต่างก็ประกาศโดยใช้คำว่าเส้นไหล่ทวีป (continental shelf)ซึ่งแต่ละประเทศประกาศไม่ตรงกัน”
อดีตเสนาธิการทหารเรือ กล่าวอีกว่า เรื่องไหล่ทวีป เกิดขึ้นครั้งแรกตามอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 ที่จะมีอนุสัญญาย่อยอยู่อีก 3-4 ฉบับ หนึ่งในนั้นคืออนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป อนุสัญญาฉบับดังกล่าว จะมีความชัดเจนในเรื่องของความลึกของน้ำ คือ 200 เมตร แต่ต่อมาเกิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่เป็นกฎหมายทะเลเหมือนกัน ก็ได้เปลี่ยนจากไหล่ทวีป จากใช้ความลึกน้ำ 200 เมตร มาเป็นระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นชายฝั่งและอาจขยายได้ถึง 310 เมตรในบางกรณี กฎหมายทะเลทั้งสองฉบับยังมีผลบังคับใช้อยู่ ยังไม่ได้ยกเลิก กฎหมายทั้งสองฉบับ กำหนดในเรื่องของการแบ่งเขต ให้ใช้เส้น มัธยะ หรือ median line คำว่าไหล่ทวีป ปรากฏอยู่ในกฎหมายทะเลทั้งสองฉบับ การประกาศของกัมพูชากับของไทย ที่กัมพูชาประกาศปี 2515 ส่วนไทยประกาศปี 2516 ตอนนั้นยังไม่เกิดกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ตรงกับปี 2525 เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1958 ที่มีการพูดถึงเรื่องไหล่ทวีปไว้แล้ว ของกัมพูชา แค่กลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว พอผิด พื้นที่ OCA ของเรา ของเรากับกัมพูชา ไม่มีส่วนใดแม้แต่ตารางนิ้วเดียวที่ตกลงกันได้ เขตแดนทางทะเลเรากับกัมพูชา ไม่มีส่วนใดเลยที่เราตกลงกันได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว เพราะว่ามันทับซ้อนกันตั้งแต่ทรายเม็ดแรกแล้วที่ชายหาด
ทำก่อนและทำทันทีได้เลย คือยกเลิก MOU44 ส่วน 266 เป็นการประกาศฝ่ายเดียว ของเราก็ประกาศ 211 ไว้ ก็ปล่อยให้มันเกยไว้แบบนี้ แต่ว่า MOU44 มันเป็นเอกสารที่เหมือนว่าเราไปประทับตรา ว่าเรายอมรับว่ามีพื้นที่ทับซ้อน มีเส้นนี้ขึ้นมา มันกึ่งๆ ยอมรับเส้น 266 เพราะของกัมพูชาที่ประกาศตอนปี 2515 และของเราประกาศตอนปี 2516 ก่อนหน้านี้ปี 2544 เราไม่เคยยอมรับว่า เส้นที่ลากผ่านเกาะกูด เป็นเส้นที่ถูกต้อง เราไม่เคยยอมรับเลย จนกระทั่งมีมาปรากฏใน MOU44 มันคือยอมรับเลย เพราะในส่วนของอารัมภบท MOU44 เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า ตระหนักว่า ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า recognizing จากผลของการอ้างสิทธิของประเทศทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ก็คือแต่ก่อนเราไม่ได้ยอมรับเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่ก่อนเป็นที่ของเรา มันเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตรงนี้เอง เพราะฉะนั้นหากปล่อยเอาไว้ ประกอบกับเงื่อนไข ในเรื่องการแบ่งเขตว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อให้เราเจรจาไปตาม MOU 44 ทางฝ่ายโน้นก็อาจบอกว่าขอกลับไปเป็นตามที่เคยประกาศไว้ตอนปี 2515
“23 ปีที่ผ่านมาหลังมีการทำ MOU44 มีการประชุมไปเรื่องการแบ่งเขตแค่สองครั้ง ประชุมกันเรื่องการแบ่งปันทรัพยากรประมาณ 5-6 ครั้ง ที่ก็ถือว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะฉะนั้นผมกล่าวได้ว่า ทั้ง MOU 44 และ OCA ผมถือว่าด้วยความเสี่ยงต่างๆ ในเรื่องการยอมรับ เส้นที่เขามาลากผ่านเกาะกูดต่างๆ ผมมองดูว่าขณะนี้มันเหมือนเป็นกับดัก ในเรื่องที่เราจะไปสู่การสูญเสียดินแดนของเราได้”
พล.ร.อ.พัลลภ กล่าวว่า มีข้อเรียกร้องเรื่องการแบ่งปันพลังงาน แต่มองว่าเรื่องของ MOU 44 และการแบ่งปันพลังงาน แม้ MOU 44 จะบอกไว้เรื่องการแบ่งปันพลังงานแล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้มีความเสี่ยงเนื่องจากว่า MOU 44 และ OCA มันมีพัฒนาการมาเป็นมหากาพย์ ผมในฐานะนักการทหาร มองว่าสถานการณ์ของเราในขณะนี้ มองออกว่าที่เรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 เพราะถ้ามองให้ดีตามช็อตอะไรต่างๆ มันเหมือนมีกับดักอยู่ด้วยบันไดสามขั้นด้วยกัน
ขั้นแรกก็คือ ที่เป็นพัฒนาการของสถานการณ์ โดยสถานการณ์แรกคือ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเส้นเขตแดนที่ลากผ่านเกาะกูดที่ลากผ่านเกินสิทธิ แต่ของเราตามสิทธิแต่จะทำอย่างไรให้เส้นนี้มีความชอบธรรม ก็คือ ทำให้มันปรากฏอยู่ว่า อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับหรือไม่ ก็คือ MOU44 เพราะคือ MOU44 บอกว่ายอมรับตรงนี้ แผนที่แนบท้ายก็มี ซึ่งเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ เขาจะชิงไหวชิงพริบกัน ขั้นแรกตอนนี้ คือ MOU44 ก็เหมือนกับเป็นการสร้างความชอบธรรมระดับหนึ่งให้กับเส้น 266 ซึ่งขณะนี้ผมมองดูว่าเราอยู่ในกับดักบันไดขั้นที่หนึ่งอยู่แล้ว
บันไดขั้นที่สอง คือเมื่อเส้นนี้มีความชอบธรรม ก็จะสร้างสิทธิอธิปไตยของแต่ละฝ่ายขึ้นในพื้นที่ OCA นี้ สิทธิอธิปไตย กฎหมายทะเล มันจะอ่อนจากอำนาจอธิปไตยหน่อย อำนาจอธิปไตยคุณมีอำนาจร้อยเปอร์เซ็นต์ นิติบัญญัติ ตุลาการ อำนาจศาล เหมือนแผ่นดิน ก็คือทะเลในอาณาเขต แต่ว่าพ้นจากพื้นที่ทะเลอาณาเขตไป ที่คือพื้นที่ไหล่ทวีป เรียกว่าสิทธิอธิปไตยคือรัฐชายฝั่ง มีสิทธิในทรัพยากรทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นปลา น้ำมัน ก๊าซ อะไรต่างๆ แต่เพียงผู้เดียวเรียกว่าสิทธิอธิปไตย แต่ส่วนอื่น เช่นต่างชาติยังเดินเรือผ่านได้ตามปกติ คือไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีสิทธิอธิปไตย บันไดขั้นที่สองคือต่างฝ่ายต่างสร้างให้มีอธิปไตยในส่วนนี้ แต่ก่อนเราจะเห็นว่าใต้เกาะกูด เป็นสิทธิอธิปไตยของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ทีนี้หากว่าพื้นที่สีแดง หากเขาได้เข้ามีส่วนมาแชร์ มีส่วนแบ่งในสิทธิอธิปไตยด้วย ตรงนี้ก็เท่ากับว่าเรายอมรับในสิทธิอธิปไตยของเขา ในพื้นที่ซึ่งปกติแล้วเขาไม่มีสิทธิเลย แต่เขาสามารถจะมาแชร์ในส่วนนี้ได้ นี้คือขั้นที่สอง
ส่วนขั้นที่สาม คือสมมุติขั้นที่หนึ่งเรียบร้อย ขั้นที่สองเราตกลงแบ่งปันแล้ว ต่อไปอีก 40-50 ปีน้ำมันหมด ก๊าซหมด รุ่นลูกรุ่นหลานเรา ต่อไปจะทำอย่างไร มันยังทับซ้อนกันอยู่ ก็ชวนกันเจรจา ตรงนี้จะยาก เพราะอีกฝ่าย ก็อาจขยาย เพราะจากเคยมีสิทธิอธิปไตย ก็ขอขยายเป็นอำนาจอธิปไตยมาได้ไหม สมมุติว่ามันยังทับซ้อนกันอยู่ แล้วมีกรณีพิพาท มีทะเลาะกัน มีเรือประมงไปจับปลา แล้วเกิดมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ต่างบอกว่าเป็นเขตของตัวเอง ถ้าเกิดข้อพิพาทแล้วขึ้นสู่ศาลโลก มีการฟ้องร้องกัน เราจะเสียเปรียบเพราะการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆในเรื่องการแบ่งเขตแดน ผมบอกเลยว่า โดยกฎหมายทะเล เขาใช้หลักของเส้นมัธยะ กับอีกอันที่เขาเขียนเปิดไว้ หรือในบางกรณีที่บางประเทศมี”สิทธิทางประวัติศาสตร์”และแม้แต่อนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 ก็ได้รับรองสิทธิทางประวัติศาสตร์ไว้ด้วย ซึ่งสิทธิทางประวัติศาสตร์หมายถึงว่าในอดีตที่ผ่านมา เคยได้มาร่วมใช้สิทธิในพื้นที่นั้นอย่างไรบ้าง ก็เมื่อเขาเคยมีสิทธิอธิปไตยแล้ว แล้วเราเองก็ยอมรับในส่วนนี้พื้นที่ใต้เกาะกูด ดังนั้นมันก็มีความเสี่ยง ผมไม่ได้หมายถึงว่าเราจะเสียร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ถามว่า รุ่นลูกรุ่นหลาน จะกล้าเอาเคสนี้ขึ้นสู่ศาลโลกหรือไม่
“ตอนนี้เราเข้าไปอยู่ในกับดักขั้นที่สองแล้ว คือมี MOU ไว้แล้ว ก็อย่างที่ผมเสนอว่าสิ่งที่ต้องทำอันแรก ก็คือหนึ่งยกเลิก MOU44 สอง คือในทุกกรณี เราต้องไม่เข้าไปสู่บันไดขั้นที่สอง คือไม่มีการแชร์ ไม่มีการแบ่งปันทรัพยากรใดๆ ในพื้นที่ แต่ถ้าจะเจรจากันหลังยกเลิก MOU44 เราสามารถใช้กลไกเจรจาตามปกติได้ โดยมีกฎหมายทะเลเป็นกรอบกติกา ที่เราก็ดำเนินการสำเร็จมาแล้วกับประเทศอื่นๆ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แพทองธาร’ ยันพรรคร่วมไร้ปัญหา หลังภาพ 'ทักษิณ-อนุทิน' ออกรอบตีกอล์ฟด้วยกัน
ความจริงแล้วตนและนายอนุทิน ก็คุยกันอยู่แล้ว ถึงจะมีปัญหาอะไรก็คุยกันเคลียร์กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆถึงเวลาถ้ามีอะไรก็คุย
อย่างหล่อ! ‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟเคลียร์ขัดแย้ง ‘ทักษิณ’ ยันการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟ ‘ทักษิณ’ เคลียร์ปมขัดแย้ง ยัน ‘การกระทำสำคัญ กว่าคำพูด’ ย้ำอีแอบ ไม่ได้หมายถึงตัวเอง - ภูมิใจไทยชัดเจน เพราะข้อเท็จจริงเข้าประชุมครม.
การเมืองมกรา’68 พรรคร่วมร้อนรุ่มแตกหัก ‘ทักษิณ’ หนาวสะท้านชั้น 14
ทักษิณขยี้หนัก โชว์ภาพตีกอล์ฟขนาบข้างทุนผูกขาด ส่อสื่อสัญญาณรุก “พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ” คาดชะตากรรมไม่แตกต่าง “ประวิตร-พปชร.” ประเมินปี 68 ปมชั้น 14 ทำการเมืองร้อนแรง
สัญญาณชัด! ‘เทพไท’ ฟันฉับความขัดแย้งในรัฐบาล เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน
เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กระโดดข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน
นักเขียนค่ายผู้จัดการ มองทางเลือก ‘ทักษิณ’ ยุบสภาล้างไพ่ใหม่ เหตุมั่นใจกระแส ’อิ๊งค์-ตัวเอง’
ทักษิณโชว์ร่วมก๊วนกอล์ฟอนุทิน โดยมีเจ้าสัวพลังงานร่วมด้วย โดยสื่อบอกว่าสยบรอยร้าว2พรรค ซึ่งจริงๆแม้ 2 พรรคจะขบเหลี่ยมทิ่มแทงกันบ้าง ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ทักษิณขู่ฟอด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2