"จตุพร" บี้กางสัญญาสัมปทานเชฟรอน หวั่นเร่งเจรจาแบ่งพลังงานลามไทยเสียดินแดนเกาะกูดเพิ่ม ลั่นดินแดนเป็นสมบัติชาติ ไม่ใช่สมบัติใคร เอาไปแลกน้ำมัน-ก๊าซไม่ได้ ซัดรัฐบาลทึกทักไทยได้ใช้น้ำมันราคาถูกและไม่เสียดินแดน ถามมั่นใจอะไรจึงตีขลุมเอาทั้งที่ยกสัมปทานให้ต่างชาติ แล้วกัมพูชาไม่ยอมเรื่องดินแดน เย้ย “บิ๊กอ้วน” อย่ามาการันตี อีกไม่นานก็ไปแล้ว ขอภาวนาอยู่ให้ถึงตรุษจีนปี 68 ก็แล้วกัน
31 ต.ค.2567 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า กรณีเกาะกูดและพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา นายกฯ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ควรอธิบายความจริงให้ประชาชนรับรู้อย่างครบถ้วน ไม่ใช่ปล่อยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม มากล่าวหาการปกป้องดินแดนเป็นพวกคลั่งชาติ ซึ่งก่อความขัดแย้งใหม่และเริ่มบานปลายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในทางประวัติศาสตร์แล้ว พื้นที่เกาะกูดเป็นดินแดนในปกครองของไทยมาตลอด แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 2515 ในยุคสงครามเย็น เกิดการสู้รบในศึกอินโดจีน รัฐไทยสมัยนั้น ได้ยกสัมปทานพลังงานก๊าซและน้ำมันใต้ทะเลอ่าวไทยเชื่อมต่อเขตแดนกัมพูชา ให้กับเชฟรอน สหรัฐอเมริกา โดยนายจตุพร เชื่อว่า เป็นนโยบายผิดพลาดมายาวนานกว่า 50 ปีจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ทบทวน และเปิดเผยสัญญาให้คนไทยได้รู้ความจริง
ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 ไทยทำข้อตกลง หรือ MOU 44 กับกัมพูชาในกรณีขยายเขตแดนทางทะเล 200 ไมล์ทะเลทับซ้อนกัน รวมถึงการครอบทับทั้งแหล่งพลังงานใต้ทะเลและอ้างกรรมสิทธิเหนือเกาะกูดของทั้งสองประเทศ จนไม่อาจตกลงกันได้มาถึงปัจจุบัน
นายจตุพร กล่าวว่า ในยุคสงครามอินโดจีน ผู้นำกัมพูชาแต่ละรุ่นยึดแนวทางชาตินิยมเพื่อรวมใจประชาชนทั้งชาติต่อสู้ปกป้องเอกราชดินแดน การรวมเป็นหนึ่งเอกภาพในหลักคิดแบบชาตินิยมดินแดนทำให้กัมพูชาปัจจุบันภายใต้การกุมอำนาจเบื้องหลังของสมเด็จฮุนเซนยึดมั่นและเดินตามอย่างเถรตรง
ด้วยเหตุนี้ เกาะกูดตามความเข้าใจของกัมพูชาแล้ว เป็นทั้งดินแดนและเครื่องมือปกครองไม่ให้คนกัมพูชาเกิดสามัคคีปั่นป่วนภายในประเทศ ดังนั้น กัมพูชาจึงยากจะปล่อยมือจากการครอบครองเกาะกูดไปได้ง่ายๆ และกลายเป็นปัญหาเขตแดนทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา แล้วลามลงลึกถึงพื้นที่ทับซ้อนใต้ทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติต้องนำมาต่อรองเจรจาผลประโยชน์พวงปัญหาเขตแดนด้วย
"ถ้า (ไทย-กัมพูชา) เจรจาตกลงผลประโยชน์แหล่งพลังงานกันได้ แต่ภูมิรัฐศาสตร์มีปัญหาในภูมิภาคนี้ โดยลาวกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน จึงนำสู่ปัญหาระหว่างสหรัฐกับจีนในพื้นที่ของเรา แล้วลากไปกระทบกระเทือนถึงปัญหาดินแดนในเกาะกูดด้วย ซึ่งกัมพูชาคงไม่ยอมเสียเปรียบให้ไทยเด็ดขาด" นายจตุพร กล่าว
พร้อมทั้งระบุว่า รัฐบาลไทยไม่พูดความจริงในพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชาให้คนไทยรับรู้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการทำสัญญายกสัมปทานพลังงานให้เชฟรอนตั้งแต่ปี 2515 และมีการต่ออายุสัญญาที่ไม่ได้ดำเนินการมาร่วมกว่า 50 ปี ดังนั้น จึงควรยกเลิกสัญญาหรือไม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลไม่พูดความจริงกับประชาชนก่อน ทำให้คนเข้าใจว่า ผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานธรรมชาติที่พูดกันว่ามีมากถึง 10-20 ล้านล้าน เป็นจริงหรือไม่ แม้เคยมีการสำรวจกันจริง แต่ไม่คาดการณ์ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด
นายจตุพร กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไปตกลงผลประโยชน์แหล่งพลังงานกับกัมพูชาก่อนแล้ว สิ่งสำคัญ คนไทยต้องรู้เช่นกันว่า เชฟรอนจะได้ประโยชน์จากพลังงาน และยังจะลากให้ไทยไปเสียดินแดนเกาะกูดด้วยหรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลอุ๊งอิ๊งต้องพูดความจริงทั้งสองเรื่องคือ เรื่องดินแดนและผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติในแหล่งทับซ้อนให้ชัดเจน
"กรณีดินแดนเกาะกูดรัฐบาลไทยต้องแสดงความชัดเจนว่า หัวเด็ดตีนขาดยืนยันว่าเป็นดินแดนไทย ส่วนผลประโยชน์พลังงานจะต้องจัดการให้คนไทยรับรู้แล้วระดมหาทางออกว่า เราไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญา (ยกสัมปทานให้เชฟรอน) นี้อย่างไร"
อีกทั้งย้ำว่า ถ้าสูบพลังงานใต้ทะเลขึ้นมาใช้แล้ว คนไทยรับรู้ว่า จะได้ใช้น้ำมันราคาถูกเป็นจริงหรือไม่ ยิ่งวันนี้สูบน้ำมันและก๊าซในพื้นดินไทยมานานกี่ปีแล้ว แต่น้ำมันไทยราคาถูกจริงหรือไม่ ทำไมราคาเท่ากับซื้อจากต่างประเทศ ถึงที่สุดแล้วผลประโยชน์จากแหลงพลังงานไม่ได้เป็นจริง และคนไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย
ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องนำสัญญายกสัมปทานให้เชฟรอนมาเปิดเผยถึงความเสียเปรียบที่ถูกปกปิดไว้ และสิ่งสำคัญจะเกิดการศึกษาว่า ใครไปขยายสัญญาในแต่ละตอนจนทำให้ประเทศสูญเสียเอกราชพลังงานกันแบบนี้ ดังนั้น จึงต้องนำมาตกลงกันให้ชัดเจน ถ้าไม่ตกลงจะมีช่องว่างผลประโยชน์เกิดขึ้น
"สมมติมีบางเรื่องผมเคยได้ยินมา แม้กระทั่งคำสั่งศาลให้บริษัทเอกชนชนะคดี แต่รัฐจะจ่ายเงินไม่ได้จะต้องไปผ่าน ครม.เสียก่อน ไม่ต้องบอกรัฐบาลไหนแล้วกัน แค่เอาเข้า ครม. บางรัฐบาล 500 ล้าน เห็นมั้ยมันมีช่องว่างให้บ้านเมืองนี้หากินกันได้ง่ายๆ"
นายจตุพร กลาวว่า เรื่องพลังงานมีผลประโยชน์ใหญ่กว่าการจ่ายสินบนแบบแปลกๆที่ผ่านมา และสถานการณ์บนภูมิรัฐศาสตร์ที่มหาอำนาจกำลังก่อกวอดกันทั้งสองซีก โดยอ่าวไทยจะเป็นพื้นที่เติมพลังงานได้ดีที่สุดของสงครามนี้ ยิ่งทำให้เจรจากันได้เร็ว ดังนั้น ต้องเปิดสัญญาให้คนไทยทุกฝ่ายได้รู้และระดมความคิดเพื่อหาทางประกาศอิสรภาพ เอกราชในเรื่องพลังงานนี้ได้อย่างไร
อีกทั้งย้ำว่า หลายรัฐบาลไทยที่ผ่านมา การเจรจากับกัมพูชาเพื่อยุติปัญหากันไม่ได้ เพราะมีกรณีดินแดนที่ตกลงกันไม่ได้ โดยกัมพูชาไม่ยอมเสียเปรียบ อีกอย่างรัฐบาลไทยขณะนี้ก็ไว้ใจไม่ได้ ดังนั้น การรีบเจรจาเรื่องผลประโยชน์แหล่งพลังงานก่อน จึงสุ่มเสี่ยงกับการแลกเสียดินแดนทับซ้อนทางทะเล
ดังนั้น การเร่งอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับเวลาที่เหลืออยู่ และไม่ได้มีหลักประกันว่าคนไทยจะได้ใช้น้ำมันและก๊าซในราคาถูกลง ส่วนคนได้ประโยชน์คือผู้รับสัมปทาน แค่รัฐอาจได้เพียงเศษสตางค์เป็นค่าภาคหลวง ปัญหาคือประชาชนไม่ได้อะไร แล้วจะรีบเจรจากันไปทำไม
"รัฐบาลในอดีตเจรจากับกัมพูชาในเรื่องประโยชน์จากพลังงานกันไม่ได้ เพราะติดเรื่องเขตแดนกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นหัวใจของชาติเอกราช คุณจะเอาผลประโยชน์ไปแลกกับดินแดนไม่ได้ เพราะดินแดนไม่ได้เป็นสมบัติคุณ มันเป็นสมบัติชาติ ฉะนั้นมันต้องตกลงเรื่องเขตแดนก่อน สมบัติใต้ทะเลจึงจะมาแบ่ง (ผลประโยชน์) กันถูก ในพื้นที่ทับซ้อนก็แบ่งกัน ส่วนจุดไม่ทับซ้อนแบ่งไม่ได้" พร้อมกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลใดไปตกลงเรื่องผลประโยชน์ก่อนดินแดนแล้ว ย่อมหลีกหนีถูกกล่าวหาขายชาติ ขายแผ่นดินไปไม่ได้ และจะถูกคนไทยกระทืบเอา
"วันนี้ผมอยากบอก รมว.กลาโหมและรองนายกฯ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) คุณเอาตัวมาการันตีไม่ได้หรอก เพราะอีกไม่กี่วันคุณก็ไปแล้ว ผมภาวนาให้รัฐบาลคุณอยู่ให้ถึงตรุษจีน (ปี 68) ก็แล้วกัน"
พร้อมกล่าวว่า การเจรจาเรื่องผลประโยชน์พลังงานก่อนตกลงเขตแดนเกาะกูดให้ชัดเจน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่ง รวมทั้งประโยชน์พลังงานไม่ได้เป็นของคนไทยด้วยแล้ว ถ้ารัฐบาลรีบเร่งไปเจรจาย่อมทำให้ความฉิบหายมาเยื่อน
นายจตุพร ยกกรณีร่างพรบ.ขนส่งทางรางของพรรคเพื่อไทยที่เสนอเข้าสภาก่อนฉบับที่ผ่านมาติ ครม. มาเปรียบเทียบว่า ถ้าไม่นำมาเปิดเผยผ่านสื่อให้สังคมรับรู้แล้ว คงเกิดความเสียหายอย่างมาก
แม้ขณะนี้ร่าง พรบ.ขนส่งทางรางทั้งฉบับ ครม. ร่างของพรรคเพื่อไทยและฉบับพรรคประชาชนผ่านสภาวาระแรกแล้ว ก็ต้องติดตามเพื่อไทยจะใช้เสียงข้างมากลากไปเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์เอื้อให้เอกชนในวาระสอง ขั้นแปรญัตติหรือไม่ ซึ่งรัฐจะเสียหายอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเมืองมกรา’68 พรรคร่วมร้อนรุ่มแตกหัก ‘ทักษิณ’ หนาวสะท้านชั้น 14
ทักษิณขยี้หนัก โชว์ภาพตีกอล์ฟขนาบข้างทุนผูกขาด ส่อสื่อสัญญาณรุก “พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ” คาดชะตากรรมไม่แตกต่าง “ประวิตร-พปชร.” ประเมินปี 68 ปมชั้น 14 ทำการเมืองร้อนแรง
ดร.อาทิตย์ ชื่นชม ‘พีระพันธุ์’ ไม่เหมือนนักการเมืองคนอื่น
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อในเฟซบุ๊ก ชื่นชมนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าก
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
จี้รัฐบาลประท้วงกัมพูชา
"สนธิรัตน์" นำทีมพลังประชารัฐลงพื้นที่ตราด "ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์" ชี้อันตรายมาก แนวสันเขื่อนดินที่กัมพูชาสร้างต่อเติมออกไป หากไม่มีการประท้วงหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆ ก
พปชร. ลงตราด ชวนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมคัดค้าน MOU 44
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานร่วมศูนย์นโยบาย และวิชาการ และ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมาเยี่ยมพี่น้องประชาชนในจังหวัดตราด โดยได้รับการประสานงานจากประชาชนในพื้นที่