'ศรีสุวรรณ' ฟ้อง กกพ.-กพช.-กบง. ระงับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่ม ทำให้ไฟฟ้าล้นประเทศ

30 ต.ค.2567- ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากประชาชนทั่วประเทศ ได้เดินทางมายื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ต่อศาลปกครอง ฐานใช้อำนาจและดุลยพินิจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเข้ามาในระบบอีก ทำให้ไฟฟ้าล้นประเทศ เพิ่มภาระหนี้ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบและออกประกาศให้เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 อีกรวมแล้วกว่า 2180 เมกะวัตต์(MW) โดยรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมไม่เกิน 600 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินอีกไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าที่จะส่งไปขายในสหภาพยุโรปไม่ถูกกีดกันทางการค้า เพราะใช้ไฟฟ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าที่มีมลพิษสูง

ทั้ง ๆ ที่ผ่านมา กกพ.-กพช.และ กบง. มีนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ผ่านมาตรการ Adder ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุน Adder ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 576 สัญญา กำลังผลิตตามสัญญา 4,844.75 เมกะวัตต์ แล้ว การใช้เหตุผลว่าสินค้าไทยถูกกีดกันทางการค้าจากยุโรป เพื่อนำมาสู่การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จึงเป็นข้ออ้างให้กลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงพลังงานไฟฟ้าของประเทศในขณะนี้ที่มีล้นระบบอยู่มากกว่า 50,625 MW ขณะที่มีการใช้ไฟฟ้าจริงอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นMW เท่านั้น

การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนจึงเป็นเพียงเล่ห์ฉลของรัฐบาลร่วมกับนายทุนพลังงาน ในการหาเหตุผลใหม่ๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาขายไฟให้รัฐเท่านั้น ทำให้การไฟฟ้าต้องมีภาระในการต้องรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว ทำให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจากการที่ต้องรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจากเอกชนจากระเบียบดังกล่าว ท้ายที่สุดต้องผลักภาระค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของเอกชนทั้งหมดมาให้ประชาชนทุกครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมรับผิดชอบ ผ่านค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที นั่นเอง

"ด้วยเหตุดังกล่าว ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าแพง จึงมาร้องสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนให้ช่วยฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับและยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนพลังงานดังกล่าวเสีย ซึ่งสมาคมฯก็เห็นพ้องด้วยจึงนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในวันนี้และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนมากไปกว่านี้ จึงได้ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับการลงนามซื้อขายไฟฟ้าหมุนเวียนชุดดังกล่าวไว้พรางก่อน จนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย"นายศรีสุวรรณ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศรีสุวรรณ' นำชาวลาดพร้าวฟ้องโยธากทม.-คชก.อนุมัติสร้างคอนโด 6 แท่งเลียบทางด่วนฯ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อฟ้อง ผอ.สำนักการโยธา ผอ.เขตลาดพร้าว และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA (คชก.) ของ กทม.

'ศรีสุวรรณ' ปลื้มศาลปกครองให้ชาวบ้านใกล้คลังน้ำมันสุวรรณภูมิ ชนะ 6 คดีรวด

'ศรีสุวรรณ'เผย ศาลปกครองพิพากษาให้วิศวกรจากกรมธุกิจพลังงานใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง สั่งบริษัทเชื้อเพลิงฯ แก้ไขหรือปรับปรุงระงับกลิ่นไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิงจากกิจการบริการน้ำมันให้สนามบินสุวรรณภูมิ ภายใน 120 วัน หากไม่แก้ไขให้เพิกถอนใบอนุญาต