แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
25 ต.ค. 2567 – นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวถึงคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความในวันนี้ (25 ต.ค.) หากไม่สามารถนำตัวจำเลยไปส่งฟ้องต่อศาลได้ว่า ภาพรวมสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของทางการไทยในการอำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตากใบ ซึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการสากล กรณีตากใบเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงมาก เพราะโดยหลักแล้วประชาชนทุกคนมีสิทธิในการออกไปชุมนุม แต่กรณีตากใบ เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุและพอมีการจับกุม ควบคุมตัว ก็ใช้กำลังกับคนที่ถูกควบคุมตัว จนทำให้เสียชีวิตรวม 85 คน กรณีตากใบจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ไม่ได้สำคัญแค่ในตัวเหตุการณ์เอง แต่เป็นเหมือนหนึ่งในต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“เรื่องนี้จริงๆ เป็นความล้มเหลวต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ช่วงที่ผ่านมา ที่คดีกำลังจะหมดอายุความ แต่ตลอดช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐของไทยมีโอกาสที่จะดำเนินคดีกับคนที่รับผิดชอบในเหตุการณ์ตากใบหลายครั้ง จนมีคดีความเกิดขึ้นหลายคดี แต่กลับไม่มีความพยายามที่จะเอาผิดกับคนที่ต้องรับผิดชอบในทางอาญา จนผ่านมายี่สิบปี กลายเป็นว่าประชาชนต้องมาฟ้องคดีเสียเอง” นายชนาธิป ระบุ
นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า คดีตากใบที่มีการฟ้องต่อศาลนราธิวาส ที่แบ่งออกเป็นสองคดีคือคดีที่ประชาชนฟ้องกับคดีที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง จะพบว่าสำนวนของประชาชน มุ่งฟ้องไปที่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้สั่งการ แต่ของอัยการกลับมุ่งเน้นไปที่การเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าทางการไทย ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องความรับผิดทางอาญา ที่จำเป็นต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบ ที่เป็นผู้บงการ ที่สั่งการให้เกิดการละเมิดสิทธิฯ ต้องรับผิดเช่นกัน แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นสำนวนไหน ภาครัฐยังไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ จำเลยทั้งหมดในสองสำนวนไม่มาปรากฏตัวต่อศาล ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่คดีตากใบจะหมดอายุความ ที่ถือเป็นเรื่องน่าเสียใจและถือเป็นความล้มเหลว ที่ทั่วโลกจับตามองอยู่ว่าประเทศไทย ไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
เมื่อถามว่า มองว่าที่ผ่านมา ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเอาจริงในการติดตามตัวจำเลยตามหมายจับของศาลหรือไม่ นายชนาธิป กล่าวว่า ถ้าเรียกเป็นภาษาอังกฤษก็คือ TOO LITTLE, TOO LATE ทำน้อยไป ทำช้าไป ถึงจะมีรายงานว่ามีการออกหมายจับในประเทศ และต่อมามีการออกหมายแดง ตำรวจสากล และเข้าใจว่ามีการติดต่อสถานทูตประเทศต่างๆ แต่คิดว่า มันช้าเกินไป เพราะเวลาที่ผ่านไปเกือบยี่สิบปี ภาครัฐมีโอกาสที่จะดำเนินการเยอะมากในการที่จะเอาผิดทางอาญากับคนกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการทำอะไร จนมันช้าเกินไป ซึ่งหากเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ ตำรวจไทย มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างเช่น คดีดิไอคอนกรุ๊ป ประชาชนเห็นว่ากรณีอื่นๆ ตำรวจทำงานได้อย่างรวดเร็ว สามารถจับผู้ต้องหาได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้คนทั่วไปตั้งคำถามได้ว่า แล้วเจ้าหน้าที่มีเจตจำนงมากแค่ไหนในคดีตากใบให้มันลุล่วงประสบผลสำเร็จ
ส่วนที่มีการเสนอว่าหลังจากนี้ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้คดีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมีอายุความนั้น ทางแอมเนสตี้ฯ มองว่าควรมีการแก้ไข เพราะตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล มีการระบุไว้ชัดเจนว่ากรณีของการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง กรณีตากใบเข้าข่ายแน่นอน เป็นการทรมาน เป็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การเสียชีวิต ถือว่าเป็นอาชญากรรมในกฎหมายระหว่างประเทศด้วย กรณีพวกนี้ ไม่ควรมีอายุความอยู่ ซึ่งมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญาที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ ควรได้รับการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นอีก เพื่อไม่ให้เปิดช่องโหว่ให้กับคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้ประเด็นอายุความในการหลบหนีคดีได้
นายชนาธิป กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา เห็นชัดว่าประชาชนตื่นตัวและให้ความสนใจกับเรื่องตากใบอย่างมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีการถกเถียงเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ตากใบ และอาจจะมีการปล่อยข่าวปลอม เช่นปล่อยข่าวว่า รูปสลายการชุมนุม เป็นรูปที่มาจากประเทศเมียนมา มันสะท้อนให้เห็นว่าข้อเท็จจริงในช่วงนั้น แม้ว่าจะเคยมีการสืบสวนสอบสวนผ่านคณะกรรมการฯ ที่ทางการตั้งขึ้นมาแล้ว แต่มันยังไม่เป็นที่กระจ่างในความเข้าใจของประชาชน ปัจจัยหนึ่งก็เพราะคดีมันยังติดปัญหาอยู่ ยังไม่มีการเอาผิดทางอาญากับคนที่รับผิดชอบ ทำให้หลายเรื่องยังไม่กระจ่าง ดังนั้น หากมีช่องทางของรัฐสภาหรือช่องทางอื่นๆ ในการทำให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดกระจ่างขึ้น มีการยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตและความล้มเหลวในปัจจุบันในการดำเนินคดีกับคนที่รับผิดชอบ คิดว่าสิ่งนี้เป็นมาตรฐานที่ต่ำที่สุดที่รัฐบาลควรจะทำ หากไม่สามารถนำคนกลุ่มนี้มาขึ้นศาลได้
เมื่อถามว่า หากคดีหมดอายุความ เรื่องนี้จะเป็นบาดแผลในจิตใจของญาติผู้เสียชีวิตหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลนานนท์ อดีตนายกฯจะเคยกล่าวคำขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว นายชนาธิป ให้ความเห็นว่า จะเป็นการสร้างบาดแผลซ้ำให้กับเขา คำขอโทษมันจะว่างเปล่าหากไม่ได้ตามมาด้วยการดำเนินการอย่างจริงจังที่จะเอาคนผิดมาลงโทษ เข้าใจว่าในอดีตก็เคยมีการสัญญากันไว้หลังมีการขอโทษว่าจะมีการดำเนินการเอาคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ มีโอกาสที่จะทำให้ญาติผู้เสียหายหรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์แล้วได้รับบาดเจ็บ กลายเป็นคนพิการ จะรู้สึกว่า ภาครัฐไม่ได้มีความจริงใจในการปกป้องพวกเขา เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเลวร้ายมาก เปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย เช่นจากที่เคยเป็นคนปกติ ทำงานใช้ชีวิตได้ก็ต้องกลายเป็นคนพิการหรือสูญเสียเสาหลักของคนที่บ้านไป เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลในใจที่ไม่ใช่แค่ครอบครัว หรือผู้เสียหายโดยตรง แต่เกิดกับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นายชนาธิป ยอมรับว่า น่าเป็นห่วงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เพราะเหตุการณ์ตากใบเชื่อมโยงกับความขัดแย้งและความตึงเครียดในพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าสำคัญ แน่นอนว่าภาครัฐต้องรับประกันความปลอดภัยของคนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เขาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง จากฝั่งขบวนการที่ก่อเหตุไม่สงบฯ แต่บ่อยครั้งในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา วิธีการของหน่วยงานความมั่นคง ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเน้นการใช้วิธีการทางทหารแบบหว่านแห อย่างเช่นใช้การปิดล้อมตรวจค้นคนทั้งหมู่บ้าน หรือจับคนที่ยังไม่มีข้อกล่าวหาชัดเจน ไปเข้าค่ายทหารแล้วซ้อมทรมาน ซึ่งการใช้วิธีการเหล่านี้ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นบ่อย โดยไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุรุนแรงจริงๆ ซึ่งแนวทางของฝ่ายความมั่นคง แน่นอนว่าควรเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น แต่ก็ควรจะใช้วิธีการที่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ควรใช้วิธีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ไม่ซ้อมทรมานคนที่ถูกควบคุมตัว
“ประเด็นเรื่องตากใบเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศอย่างแอมเนสตี้ฯ และองค์กรอื่นๆ ก็ติตดามอย่างใกล้ชิด เรามองว่า ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้วมีการลอยนวลพ้นผิด มันก็เหมือนเป็นใบเบิกทางให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกในประเทศไทย และประเทศไทยตอนนี้เหมือนถูกจับตาโดยชาวโลกอยู่เพราะเราเป็นสมาชิกคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ และในเดือนหน้า ประเทศไทยจะเข้ารับการทบทวนสถานการณ์เรื่องการซ้อมทรมาน ต่อหน้าสหประชาชาติ ดังนั้นประเด็นนี้ จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศอยู่ตลอด ก็อยากฝากทางการไทยที่รับผิดชอบว่าตอนนี้ ทั่วโลกกำลังจับตาอยู่และอยากให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อนำผู้กระทำผิดในกรณีตากใบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้”นายชนาธิป ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทวียก 'ทักษิณ' นั่งที่ปรึกษาอันวาร์ ผลดีงานแนวชายแดนใต้
ทวียกทักษิณ นั่งที่ปรึกษาอันวาร์ ส่งผลดีความร่วมมือแนวชายแดนใต้ “ทวี”เชื่อ การที่ นายกฯอันวาร์ อิบราฮิม แต่งตั้ง อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย จะส่งดีต่อการเจรจาเพื่อยกระดับความร่วมมือตามแนวชายแดน ไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะการเพิ่มการค้าการลงทุนและการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
'ณฐพร’ ห่วงบุคลากรกระบวนการยุติธรรม ไม่ทำหน้าที่ตาม รธน.
ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทุกท่านต้องไม่ลืมว่า ท่านมีหน้าที่ตามบทบัญัตติ รัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (1)(2)
รู้แล้ว! ทำไม 'นายกฯอิ๊งค์' ไม่ลงพื้นที่น้ำท่วมชายแดนใต้ ไปแค่เมืองคอน
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แนะนำ อุ๊งอิ๊ง จัดลำดับความสำคัญลงพื้นที่
'พิชิต' ชี้ 'ทวี' ต้องรับผิดชอบทางการเมือง! ปมป่วยทิพย์ชั้น 14
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)
งงหนักมาก! ตั้ง ’ทักษิณ‘ เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน เพื่อสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้
สืบเนื่องจากกรณี นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแต่งตั้งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในตำแหน่งประธานอาเซียน ที่นา
ไม่รอด! บุก ป.ป.ช. ทวงถาม ‘รมต.ทวี’ หลุดโผเอื้อนักโทษเทวดาชั้น 14
สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง (ป.ป.ช.) มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง