พิธีกรดัง เปิด 7 ข้อ ชำแหละ 'ว.วชิรเมธี' ไม่ผิดกฎหมายอย่างเดียว ที่เหลือผิดหมด

19 ต.ค.2567 - ปู-จิตกร บุษบา พิธีกรและคอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ท่าน ว.วชิรเมธี ผิดตรงไหน?มาดูกันทีละเรื่อง

1.รับกิจนิมนต์จากดิไอคอนกรุ๊ป

วิเคราะห์ : เป็นกิจปกติของสงฆ์ในการรับนิมนต์ ไปเทศน์ตามสถานที่ต่างๆ แม้แต่บริษัทห้างร้าน เว้นเสียแต่พระสงฆ์ที่ท่าน "เคร่ง" จริงๆ ท่านจะปฏิเสธ และไม่รับกิจนิมนต์ในองค์กรธุรกิจ หรือสถานประกอบการทางธุรกิจ ซึ่งท่าน ว. ท่าน "ไม่เคยเคร่ง" กับเรื่องนี้ 

2.ตาลปัตร ดิไอคอน, #ป้ายดิไอคอน ที่ปรากฏตามเสนาสนะต่างๆ

วิเคราะห์ : เป็นเรื่องปกติ ที่บริษัทห้างร้านหรือหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนราชสกุลต่างๆ จะทำตาลปัตรของตนขึ้นใช้ หรือนำไปถวายวัด เรื่องนี้ ท่าน ว. ก็ไม่ได้มีความผิดอะไร รวมถึงป้ายชื่อ "เจ้าภาพ" ที่ติดตามเสนาสนะต่างๆ ก็มีกันทุกวัด และมีมานาน

3.ผิดกฎหมาย ในฐานะ "บอส ว." หรือ "โค้ช ว."

วิเคราะห์ : ท่านเพียงแต่ไปเทศน์ อาจจะมีอวยบ้าง หยอกบ้าง หรือประชดแดกดันอย่างที่ท่านชี้แจง ซึ่งท่านมิได้ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เพราะไม่ใช่แม่ทีมหรือแม่ข่าย ที่รับผลตอบแทนจาก ดิ ไอคอน กรุ๊ป เป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงแต่อาจมีคนเทียบเคียงว่า สิ่งที่ท่านไปเทศน์ ไปเชียร์ ก็ทำตัวประหนึ่งเหมือนบอสบางคนที่ขึ้นพูดบนเวที เหมือนแม่ข่ายแม่ทีม ที่ช่วยกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ ให้คนที่มารับฟังอยากร่วมงานกับดิ ไอคอน กรุ๊ป เปิดบิล หลงเชื่อ ไว้ใจ ฯลฯ คล้ายๆ กับเป็น "พรีเซ็นเตอร์คนหนึ่ง" หรือไม่ อันนี้ผ้าเหลืองก็จะปกป้องท่านไว้ เนื่องด้วยท่านทำในกิจของสงฆ์ คือ รับนิมนต์ไปแสดงธรรมเทศนา และเจ้าภาพหรือบริษัทถวายปัจจัยให้เท่านั้น อาจจะสูงจนน่าตกใจ คือ ๑ ล้านบาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ในทางกฎหมายต้องดูจากเส้นทางการเงิน ไม่ได้ดูจากข่าวแล้วตั้งข้อหา ต้องดูทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ว่า ท่านร่วมรับผลประโยชน์อื่นใดจากดิไอคอนอีกในทางลับหรือเปล่า

อีกเรื่องที่มีคนตั้งข้อสังเกตคือ เงินที่รับไป จะเหมือนกรณีมูลนิธิ ของวัดพระธรรมกาย รับเงินโกงจากสหกรณ์คลองจั่น จนต้องถูกอายัดหรือไม่ อันนี้พอจะมีประเด็นให้สนใจ เพราะเงินที่ถวาย เป็นเงินของ ดิไอคอนกรุ๊ป หากพิสูจน์ว่า เป็นเงินที่มาจากการฉ้อโกง จะมีผลอย่างไรต่อไปกับมูลนิธิของท่านไหม จะลามเลยไปถึงขั้น "ฟอกเงิน" ไหม ก็ต้องติดตามกันต่อไป

4.กรณี "#ประจบคฤหัสถ์" ตามที่สังคมมองว่า เทศน์สอพลอ เยินยอ ยกเครดิตให้ ดิไอคอนกรุ๊ป เทศน์แบบ "แคร์รอตคะนองไมค์" อาจเข้าข่าย #อาบัติสังฆาทิเสส หรือไม่? เป็นเรื่องที่คณะสงฆ์จะพิจารณา ซึ่งไม่ได้มีโทษร้ายแรงอะไร

5.แต่ที่ผิดแน่แล้ว คือ "ผิดหู-ผิดใจ" พุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่ง เข้าข่าย "#โลกวัชชะ" คือ โลกติเตียน เพราะการเทศน์ของท่าน มีเนื้อหาที่สะท้อนว่าท่านสอพลอ ไม่สำรวม และเชียร์ ดังที่ พระพยอม กัลยาโณ ติเตือน (ข้าพเจ้าตั้งใจใช้คำว่า เตือน ไม่ใช่ติเตียน) ว่า เทศน์เชียร์ธรรมได้ แต่เชียร์บริษัทไม่ได้ การวางตัวของท่านอาจไม่สงบ สำรวม อยู่ใน #สมณสารูป ซึ่งก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย ท่านต้องการให้ผู้ฟังสนุก มีชีวิตชีวา ได้หัวเราะไปด้วยกัน เป็นแค่มุกหยอดเท่านั้น-ก็ว่ากันไป เพราะมีคนที่ยังแยกไม่ออกระหว่าง "นักพูด-ทอล์กโชว์-เดี่ยวไมโครโฟน-แคร์รอตคะนองไมค์" กับ "พระแสดงธรรม" อยู่ก็มาก และเนื่องจากโลกปัจจุบันนี้แสนกว้างใหญ่ และความถือเคร่งของอุบาสก อุบาสิกา และสงฆ์ อันเป็นหุ้นส่วนที่เรียกว่า "#พุทธบริษัท" คลายลงมาก ตึง-หย่อน ไม่เท่ากัน และหน่วยงานทางสงฆ์ก็มักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ค่อยอยากยุ่ง ไม่อยากเปลืองตัว

6.ยิ่งพระรูปไหนไฮโซ มียี่ห้อ เป็นพระแบรนด์เนมในวงการ เป็นอินฟลูฯ ชื่อเสียงโด่งดัง มีแฟนคลับมาก พระอื่นๆ มักไม่ค่อยอยากจะข้องเกี่ยวให้เปลืองตัว

7.พระอุปัชฌาย์" ของท่านยังอยู่ไหม จะเตือนจะสอนจะอบรมท่านอย่างไร ดูจะเป็น "#หน้าที่โดยตรง" นะครับ

ส่วนสังคม จะติเตียนหรือติเตือนอันใด ก็อยากให้กระทำบนความมีเหตุมีผล เลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม และตรงกับเหตุ อย่าให้มากไปหรือน้อยไป ด้วยอคติ ความไม่นิยมชมชอบ หรือรักชอบจนลุ่มหลง

พึงระลึกไว้เถิดว่า พุทธศาสนิกชนนี่แหละ ตัวดี ตัวที่ทำให้พระเสียคนมานักต่อนัก เพราะปรนเปรอเอาใจ และคิดแค่มุมโง่ๆ ง่ายๆ ว่า "เดี๋ยวบาป"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผอ.สำนักพุทธ เผยต้องรอพระ ว.วชิรเมธี ชี้แจงด้วยตัวเอง ไม่รู้กลับไทยเมื่อไหร่

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีใครชี้แจงถึงประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นได้ดีเท่าตัวท่าน ว.วชิรเมธี เอง

ราชทัณฑ์ แจงข่าว 'บอสกันต์-แซม' เจอ 'เมธี' อดีตดาราในคุก แค่เห็นหน้า ไม่ถึงกับโผกอด

จากกรณีเพจ “คุยกับณชิตเมธี” ออกมาโพสต์ “กันต์และพี่แชม กอดคุณเมธีใหญ่เลย ฯลฯ″ และล่าสุดได้ออกมาเฉลยที่นายเมธี อมรวุฒิกุล หรือ นายณชิต

'ประเสริฐ' ยันมีกฎหมายสอบเส้นทางเงินดิจิทัล หลังพบโยกออกนอกประเทศ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรม