'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่
18 ต.ค.2567 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะบางกุ้ง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานเมียนมากว่า 1,100 คน ต้องหลุดออกจากการเรียนกลางคัน รวมถึงศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวทุกแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอีกหลายแห่งในพื้นที่อื่นทั่วประเทศต้องปิดตัวลงด้วยความวิตกและหวาดเกรงว่าจะมีการปิดศูนย์การเรียนรู้และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เด็กนับหมื่นคนได้รับผลกระทบ
เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว เมื่อเดือนก.ย. 2567 กสม. จึงได้จัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาสังคม รวมทั้งลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนหน้านั้น กสม. ได้หารือกับหน่วยต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวอย่างเป็นระบบและองค์รวมโดยคำนึงถึงมิติที่รอบด้าน และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเด็ก และสังคมไทยโดยรวม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีมติเห็นควรให้แจ้งข้อพิจารณาตลอดจนข้อเสนอแนะกรณีดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 ประกอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี และมีหน้าที่กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพโดยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชน สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 13 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 ข้อ 28 และข้อ 29 ที่ให้การรับรองสิทธิของเด็กทุกคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ความขัดแย้งทางการเมือง และการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้เด็กชาวเมียนมา โดยเฉพาะลูกหลานแรงงานเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศนับร้อยแห่ง แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับครู นักเรียน รวมถึงรายละเอียดการเรียนการสอน ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคง และความปลอดภัยของเด็ก โดยศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ได้ทำหน้าที่ดูแลเด็กให้เข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา และช่วยดูแลเด็กไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ล่อลวง ชักนำไปในทางที่ผิด หรือเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในด้านหนึ่งจึงเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการจัดการศึกษา และคุ้มครองเด็กเหล่านี้ การปิดศูนย์การเรียนรู้จะเป็นการส่งต่อปัญหา กล่าวคือ เมื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษา มีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน เศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
กสม. ยังพบปัญหาในเชิงกฎหมายว่า ศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวไม่สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนตามกฎหมายว่าด้วยศูนย์การเรียนได้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติบางประการ เช่น ผู้ขอจัดการศึกษาต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หลักสูตรการศึกษาต้องสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางของไทย และภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาไทย ขณะที่สถานศึกษาของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็กต่างด้าว เนื่องจากหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามความต้องการของเด็กและผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กกลับไปเรียนต่อในประเทศเมียนมา รวมทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร เกณฑ์อายุของผู้เรียน และภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะสิทธิด้านการศึกษาและเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็ก หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดตาก รวมถึงฝ่ายความมั่นคง และภาคประชาสังคม สนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จัดตั้งศูนย์ประสานงานการศึกษาเด็กต่างด้าว (Migrant Education Coordination Center: MECC) เพื่อขึ้นทะเบียนจดแจ้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว (Migrant Learning Center: MLC) โดยขณะนี้มี 63 ศูนย์ เด็กต่างด้าวกว่า 18,000 คน เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และสังคมโดยรวม
ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าว กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขปัญหาศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติต่าง ๆ ให้รอบด้าน อาทิ ด้านความมั่นคง มนุษยธรรม สิทธิเด็ก สิทธิด้านการศึกษา มิติทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จะต้องมองปัญหาแบบองค์รวม บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ส่งต่อปัญหาอย่างเป็นลูกโซ่ จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ดังนี้
ระยะเร่งด่วน ให้ทบทวนมาตรการการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวโดยให้สามารถจัดการเรียนการสอนไปพลางก่อนได้ ระหว่างการขึ้นทะเบียนจดแจ้งตามแนวทางที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ดำเนินการจดแจ้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว (MLC) ทั้งนี้ ให้มีการสอนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารด้วย และดำเนินการให้เด็กในศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะบางกุ้ง และศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ปิดตัวลงไปแล้ว มีทางเลือกที่จะกลับไปเรียนในศูนย์การเรียนรู้เดิม หรือในโรงเรียนที่หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการรองรับไว้ให้ โดยให้สำรวจและจัดการให้เด็กได้เรียนภายในวันที่ 1 พ.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียน
ระยะถัดไป จัดให้มีกฎเกณฑ์ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนจดแจ้ง การขึ้นทะเบียนครู และนักเรียน รวมถึงการสอนภาษาไทย และให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ในการดูแลเด็กทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และการคุ้มครองสวัสดิภาพให้มีความปลอดภัยและไม่ถูกแสวงประโยชน์ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการจัดการศึกษาและคุ้มครองเด็กกลุ่มดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ หน้าหงาย! หอการค้า ชี้ไทยเดินตามกฎหมายปมส่งกลับอุยกูร์
นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ในฐานะคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจติดตามผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจและเศรษฐกิจด้านต่างๆซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปลง
'บิ๊กอ้วน' เดือดพลั่ก! ทุบ 'กัณวีร์' โกหก-เหมือนไม่รักประเทศ ปมส่ง 'อุยกูร์' กลับจีน
'ภูมิธรรม' ร่ายยาวปมส่ง 'อุยกูร์' กลับจีน อัด 'กัณวีร์' โกหก เพ้อเจ้อ ใช้แต่จินตนาการ เหมือนไม่รักประเทศ ซัดแรง 'เป็นคนรุ่นใหม่' แต่ไร้มนุษยธรรม
'นางแบก' ฟาด 'เกรียนคีย์บอร์ด' ทนเห็นหน้านายกฯไม่ได้ เป็นวิธีคิดคล้ายพวก 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์'
นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา หรือ แขก ผู้ดำเนิน รายการคุยคลายข่าว ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ และเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ได้แชร์โพสต์ดังกล่าว และโพสต์ข้อความตอบโต้ ว่า
นายกฯ สั่งโชว์ความจริงสิทธิมนุษยชนไทยให้โลกเห็นในการไปดูชีวิตชาวอุยกูร์
'จิรายุ' เผย 'ภูมิธรรม' ยกคณะบินเยี่ยมอุยกูร์แล้ว นายกฯกำชับสื่อสารความจริงด้านสิทธิมนุษยชน ของไทยให้นานาประเทศเห็น
'ภูมิธรรม' ไม่เห็นชื่อจนท.รัฐบาลไทย ถูกสหรัฐระงับวีซ่า เผยไปจีนพบผู้นำอิสลามด้วย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่ทางสหรัฐอเมริกาจะงดออกวีซ่า จากกรณีประเทศไทยส่งกลับชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีนว่า ตนยังไม่เห็นเลย เห็นแค่คำแถล
'สภายุโรป' ประณาม 'ไทย' เขย่า FTA นักวิชาการมธ. ชี้น่ากังวลมาก ยกเคส 'ยึดอำนาจ' ทำเจรจาการค้าสะดุด
นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ “รัฐสภายุโรป” ประณาม “ไทย” กรณีการส่งตัวอุยกูร์กลับจีน มีความน่ากังวลอย่างมาก เหตุ EU ยึดสิทธิมนุษยชน-ประชาธิปไตย เป็นหลักการเจรจาทางการค้า ยกเคสปี 57 การทำกรอบความตกลง PCA เคยสะดุดจากรัฐประหาร ชี้บรรยากาศพูดคุยที่ดีกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า อาจไม่เพียงพอสำหรับบรรลุ FTA เพราะรัฐสภายุโรปมีสิทธิในการตัดสินใจด้วย