เดือด! 2 กมธ.รุมซักปมจำเลยคดีตากใบออกนอกประเทศ

'กมธ.กฎหมาย-มั่งคงฯ' เชิญหน่วยงานแจงความคืบหน้าคดีตากใบ รุมจี้เดือดปม 2 จำเลย ออกนอกประเทศจริงหรือไม่ ด้าน 'พรรณิกา' ชี้ใช้การทูตประสานอินเตอร์โพลจับกุมได้ แม้ไม่มีกฎหมายรองรับ

09 ต.ค.2567 - ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่มีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณาศึกษาการติดตาม จับกุมจำเลยและผู้ต้องหา ตามหมายจับของศาลกรณีคดีการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ และแนวทางการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อคดีหมดอายุความ ร่วมกับกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ส่งตัวแทน 3 คนเข้าร่วม พร้อมทั้งเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อ กมธ.

ช่วงหนึ่งในการประชุมพ.ต.ท.เสกสันต์ คงคืน รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ชี้แจงไทม์ไลน์ในการดำเนินการของคดีตากใบ และได้ย้ำว่ารักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ไปประชุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และได้มีการสั่งการกำชับ การปฏิบัติ และมีหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เร่งรัดการจับกุมส่งไปยังทุกหน่วยงานทั่วประเทศ​เพื่อดำเนินการตามหมายจับ

จากนั้นนายวิทยา แก้วภาราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ถามถึงบุคคลที่อยู่ในหมายจับได้ส่งรายชื่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แล้วหรือไม่ ด้านพ.ต.อ.รังษี มั่นจิตร ผู้กำกับการซักถาม 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า มีหนังสือแจ้งไปแล้ว หากบุคคลที่มีหมายจับจากศาลนราธิวาสและศาลปัตตานีมีการออกนอกประเทศ ตม.ก็จะมีการจ้งเตือนเข้ามา ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะประสานไปยังอินเตอร์โพล ทั้งนี้ ขออนุญาตไม่เปิดเผยรายละเอียด

จากนั้นนายกมลศักดิ์ จึงถามว่า สามารถแจ้งต่อที่ประชุมได้หรือไม่ว่า ขณะนี้มีผู้ต้องหาเดินทางออกนอกประเทศไปกี่ราย เพราะตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ลับ โดยพ.ต.อ.รังษี กล่าวว่า สามารถตอบได้ว่ามี 2 ราย แต่ไม่สามารถระบุชื่อบุคคลได้

โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกมธ.ความมั่นคงฯ ได้ตั้งคำถามว่า คำถามที่ประชาขนสงสัยคือ ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน อยู่ที่ไหน อีกทั้งจากการที่ตนทราบข้อมูล มีบุคคลที่อยู่ต่างประเทศ จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ คนแรกอยู่ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกคนอยู่ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงอยากให้ช่วยยืนยันว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงนี้ใช่หรือไม่

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ถ้าใช่ตามข้อเท็จจริง ท่านได้มีความพยายามสื่อสารไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบการจับกุมในต่างประเทศหรือไม่อย่างไร พร้อมตั้งคำถามอีกว่า ในกรณีคดีอาญาที่ร้ายแรงแบบนี้ ถ้าไม่สามารถทำได้จริงๆ ช่วยชี้แจงว่าประชาชนจะสามารถช่วยจับกุมผู้ต้องหาอย่างไรได้บ้าง

จากนั้น พ.ต.อ.รังษี ได้ตอบคำถามนายรอมฎอนว่า ผู้ต้องหาทั้ง 14 รายอยู่ที่ไหนนั้น ถ้าวันนี้ทราบ เราคงจับได้ไปแล้ว ซึ่งเรากำลังตามอยู่ และไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ส่วนคำถามที่ให้ยืนยันว่ามีบุคคลหลบหนีไปประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่นนั้น ถือว่าเป็นการให้เบาะแส

ขณะที่น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในฐานะที่ปรึกษากมธ.มั่นคงฯ กล่าวว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกออกหมายจับทั้งหมด โดยเฉพาะบุคคลที่หนีออกนอกประเทศ หากเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏว่าอยู่ที่สหราชอาณาจักร 1 คน และประเทศญี่ปุ่น 1 คน ซึ่งเราสามารถขอความร่วมมือผ่านกลไกอินเตอร์โพล กับ 2 ประเทศดังกล่าวได้ ด้วยการออกหมายแดง ซึ่งทางตำรวจจะต้องเป็นผู้ประสานกับอินเตอร์โพล เพื่อนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อให้ข้อมูลทั้ง 2 ประเทศสามารถช่วยติดตามจับกุมได้ นอกจากนี้ กรณีนี้ยังเข้าข่ายสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะเป็นฐานความผิดถึงชีวิต ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศสามารถทำสำเนาหมายจับและดำเนินการได้ หรือหากไม่มีกฎหมายรองรับเราก็สามารถใช้กลไกการทูตเจรจาส่งตัวกลับได้ ด้านพ.ต.อ.รังษี กล่าวว่า เราได้ส่งหมายจับไปยังกองการต่างประเทศ​ เพื่อประสานไปยังอินเตอร์โพลเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

จากนั้นน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะกมธ.กฎหมายฯ ได้ซักถามว่า หากจำเลยทั้ง 2 คนเดินทางออกนอกประเทศแล้วจริง ได้มีการประสานไปทางกระทรวงการต่างประเทศจนมีหนังสืออกมาเป็นทางการแล้วหรือไม่ ด้านพ.ต.อ.รังษี กล่าวยืนยันว่า พนักงานสอบสวนดำเนินการทุกกระบวนการแล้ว จากนั้นน.ส.ชลธิชา ได้ถามต่อว่า ยื่นบัญชีดำให้กับกระทรวงการต่างประเทศวันที่เท่าไหร่ ด้านพ.ต.อ.รังษี กล่าวว่า เราเริ่มดำเนินการไปแล้ว ทั้งการตรวจสอบหาสำเนา ตั้งคณะทำงาน และได้แจ้งไปทุกหน่วยงาน แต่อย่างใดก็ตามเมื่อเราแจ้งไปแล้ว ก็มีระเบียบปฏิบัติ หากหน่วยงานมีระเบียบแต่บุคคลผิดพลาดก็ต้องว่าไปตามระบบ ดังนั้น ตนตอบได้แค่ว่า หากระบบมีการแจ้งก็ต้องมีการทำระเบียบ

จากนั้นนายคุณากร มั่นนทีรัย สส.นนทบุรี พรรคประชาชน ในฐานะกมธ. ได้ถามย้ำถึงขั้นตอนการดำเนินการจับกุมว่าขณะนี้ไปถึงไหนแล้ว ด้านพ.ต.ท.เสกสันต์ กล่าวว่า คดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ณ วันนี้มีทั้งหมด 10,593 คดี และมีหมายจับผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงอีกพันกว่าหมาย ซึ่งเราสืบสวนและจับกุมมาตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะผ่านมา 20 ปี เราก็ยังจับไม่ได้ เพราะผู้ต้องหามีการเคลื่อนไหวแต่ละวันคนละที่ ดังนั้น เราไม่สามารถประเมินเป็นเปอร์เซนต์ได้ว่าใครจะหลบหนีไปที่ใด แต่ยืนยันว่าแนวทางการสอบสวนต้องเป็นเรื่องลับ จากนั้น นายคุณากร จึงตอบกลับว่า จากที่ตนได้ฟังหากเปรียบเทียบการดำเนินการเป็น 5 ระดับ ตนประเมินว่าอยู่ในระดับแค่ 0-1

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โรม' ยัน กมธ.ความมั่นคง มีอำนาจเค้นข้อมูล 'ป่วยทิพย์ชั้น 14' อย่าอ้างกฎหมาย PDPA

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกมธ.ถึงการพิจารณาวาระกรณีกรมราชทัณฑ์

'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ชำแหละทุกแง่มุม ผลกระทบคดีตากใบขาดอายุความ

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงคดีตากใบที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ ภายในอายุความ 20 ปี ทำ

'ทวี' สวมบท สส. รับ 'คดีตากใบ' ไม่เป็นธรรม ไร้เงาผู้ต้องหา

'ทวี' ชี้ 'ตากใบ-ไฟใต้' ทุกภาคส่วนต้องร่วมหาทางออก ย้ำสังคมขาดความยุติธรรมมีความแตกแยก ผู้มีอำนาจอาจอยู่ไม่ได้ เร่งเยียวยาจิตใจคนชายแดนใต้

กมธ.กฎหมาย เผยจำเลยคดีตากใบ 14 คน ยังอยู่ในไทย 12 หนีต่างประเทศ 2

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาฯ แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า ที่ประชุมพิจารณาติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาส