8 ต.ค.2567- พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความหัวข้อ “อิสรภาพบนเส้นด้ายของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2”
สภาพทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันกล่าวได้ว่ากำลังเข้าสู่สภาพความแตกแยกทั้งด้านผลประโยชน์และแนวคิด “นิยมตะวันตกเสมือนพ่อของตัวเอง” รวมถึงเรื่องการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ผมจึงเขียนเรื่อง “ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างไร” ขึ้น เพราะเป็นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศไทยที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง หรือกล่าวถึงก็มักคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพื่อทิ้งไว้เป็นข้อเตือนใจ เตือนสตินักการเมืองทั้งหลายตั้งแต่ “รุ่นไดโนเสาร์” จนถึง “รุ่นฟันน้ำนม” โดยเฉพาะนักการเมืองบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ ให้หันกลับมาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องกับการรักษาประเทศชาติให้เป็นเอกราช ไม่เสียเปรียบต่างชาติ โดยดูตัวอย่างการตัดสินใจของนายปรีดี พนมยงค์, คณะรัฐมนตรีรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ สส. ในห้วงเวลาคับขันหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว เป็นตัวอย่างประกอบ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจน
- ปฐมบทของเสรีไทย
กรณีนี้ต้องขอแนะนำตัวเอกของเรื่อง “เสรีไทย” ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เกียรตินิยมอันดับ 2 (สอบได้ B วิชากฎหมายโรมันจึงไม่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1) แต่สอบเนติบัณฑิตกฤษได้ที่ 1 เมื่อกลับเมืองไทยก็เข้าสอบเนติบัณฑิตไทยภาคแรกได้ที่ 1 ภาค 2 ได้ที่ 3 เพราะไปบวช และมุ่งมั่นที่จะสอบได้นักธรรมเอก ซึ่งก็สามารถสอบนักธรรมเอกได้เป็นที่ 1
ม.ร.ว.เสนีย์ขึ้นเป็นผู้พิพากษาขั้นต้น เลื่อนลำดับเรื่อยมาจนเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่ออายุได้ 32 ปี (ขณะนั้นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มักจะมีอายุประมาณ 55 ปี) ต่อมาได้ไปเป็นอาจารย์กฎหมายที่ มธ. เขียนตำรากฎหมายมากมาย เป็นที่รักใคร่ของลูกศิษย์อย่างมากเป็นที่ประจักษ์ของคนทั่วไป ประกอบการเป็นพระราชวงศ์ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์กลายเป็นอาจารย์ที่เด่นดังเกินไป จึงถูกรัฐบาลส่งตัวไปเป็นทูตประจำสหรัฐฯ พร้อมกับพระมนูเวทย์วิมลนาท (เปี๋ยน สุมาวงศ์) ที่ไปเป็นทูตประจำอังกฤษ ในขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เพียงปีเดียว (พ.ศ.2483) ม.ร.ว.เสนีย์จึงต้องเดินทางไปเป็นทูตทั้งที่ไม่เต็มใจ
อนึ่ง บุคคลสำคัญที่ต่อสู้จนประเทศไทยพ้นภัยคุกคามของอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นั้นยังมีอีกหลายคน เช่น นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย นายมณี สาณะเสน นายยวด เลิศฤทธิ์ ฯลฯ
- ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย
เมื่อ 8 ธ.ค. 2484 ญี่ปุ่นบุกโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ และยกพลขึ้นบกในประเทศไทย รบได้ 3 วัน ประเทศไทยก็ยอมแพ้ รัฐบาลสั่งให้เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ เผาทำลายเอกสารสำคัญทิ้ง แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ไม่ยอมแพ้ด้วย ได้ประกาศตั้ง “เสรีไทย” ขึ้นทันที รวมทั้งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในสหรัฐฯ หลังจากรัฐบาลไทยยอมแพ้ญี่ปุ่นได้ 2 วัน โดยมีเหตุผล 2 เรื่อง คือ
(1) ต้องรักษาสถานะและสถานทูตไทยไว้ในต่างประเทศ เพราะถ้ายังมีสถานทูตอยู่ก็เท่ากับประเทศไทยยังมีเอกราชอยู่ (เมื่อสงครามสิ้นสุดลง สหรัฐฯ ใช้เหตุผลนี้ประกาศให้ไทยเป็นเอกราช)
(2) สหรัฐฯ กำลังตกใจกับการโจมตีที่เพิร์ล ฮาเบอร์ และยังไม่พร้อมจะเข้าร่วมสงคราม ดังนั้นการที่ประเทศไทยประกาศร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นอันเป็นศัตรูร่วม จึงถือว่าไทยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรประเทศแรกของสหรัฐฯ ในการทำสงครามกับญี่ปุ่น
นอกจากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ยังส่งนายมณี สาณะเสน เจ้าหน้าที่องค์การนานาชาติ กรุงเจนีวา ที่มาตกค้างอยู่ที่สหรัฐฯ ให้เดินทางไปจัดตั้งเสรีไทยในอังกฤษ ตามคำเรียกร้องของนักเรียนไทยในอังกฤษ เนื่องจากทูตไทยในอังกฤษไม่กล้าประกาศตั้งเสรีไทย นักเรียนไทยในอังกฤษส่วนใหญ่ในขณะนั้นอยู่ในภาวะตกยากเพราะไม่มีสถานทูตดูแล ต้องไปรับจ้างทำงานตามฟาร์มหรือร้านค้าต่างๆ แต่ในที่สุดอังกฤษยอมให้มีการจัดตั้งเสรีไทยได้
ต่อมาเครื่องบินสหรัฐฯ ได้นำใบปลิว “ประกาศเสรีไทย” ซึ่งมีภาพ ม.ร.ว.เสนีย์จับมือกับแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาโปรยเผยแพร่เพื่อโฆษณาชวนเชื่อชักชวนให้คนไทยต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย
- จอมพล ป. พลาดต้องประกาศร่วมเป็นร่วมตายกับญี่ปุ่น
แนวโน้มที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเข้าร่วมกับญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2484 จอมพล ป. ได้ตกลงใจประกาศสงครามกับอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพแอฟริกาใต้
ต่อมา สหรัฐฯ เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ 25 ม.ค. 2485 รัฐบาลไทยก็ยังประกาศสงครามกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกประเทศหนึ่ง แต่การจัดตั้งเสรีไทยของ ม.ร.ว.เสนีย์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่สหรัฐฯ ประกาศเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทำให้สหรัฐฯ ถือว่าไทยถูกบังคับให้ประกาศสงครามตอนญี่ปุ่นยึดประเทศไทยแล้ว ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ตามสหรัฐฯ
- ท่าทีของประเทศต่างๆ ต่อการเป็นเอกราชของประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
• เดือน มี.ค. 2486 เจียงไคเช็คประกาศว่าจีนไม่ปรารถนาร้ายต่ออธิปไตยของไทย
• เดือน พ.ย. 2487 สหรัฐฯ ยอมให้ไทยเซ็นสัญญาการบินในประเทศที่ประชุมการบินพลเรือน ที่ชิคาโก (อนุสัญญาชิคาโก) ซึ่งมีผลเป็นการลบล้างสถานะอันเป็นศัตรูต่อกัน แต่อังกฤษก็ยังประท้วง
• กลางเดือน ส.ค. 2488 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สหรัฐฯ ประกาศยอมรับการมีเอกราชของไทยอย่างเป็นทางการ พอสรุปได้ดังนี้
• สหรัฐฯ ได้ประกาศรับรองเอกราชของประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2488 สหรัฐฯ ได้มีการประกาศให้ทุกประเทศทราบอย่างชัดเจนว่า “เราได้รับรู้การประกาศสงครามของไทย และได้รับรองสถานะของทูตไทยในกรุงวอชิงตัน เป็นทูตผู้แทนของประเทศไทยตลอดมา โดยเวลาเดียวกัน เราหาได้รับรองฐานะของรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ ไม่ เพราะรัฐบาลตกอยู่ในการบังคับควบคุมของญี่ปุ่น”
• สหภาพโซเวียต ไม่มีข้อขัดแย้งอะไรกับไทย
• อังกฤษ และฝรั่งเศส มีปัญหากับไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอังกฤษนั้นเห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ จึงพยายามใช้ข้ออ้างเรื่องสงครามมาบังคับให้ไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงครามเพื่อเป็นประเทศในอาณัติของอังกฤษให้ได้
- ผลประโยชน์หลังสงครามโลกของมหาอำนาจ 5 ประเทศ สหรัฐฯ จีน สหภาพโซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศส ถือว่าเป็นประเทศผู้ชนะสงครามที่จะร่วมกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ประเทศเหล่านี้จึงจัดการกับประเทศผู้แพ้สงครามขึ้นในหลายลักษณะตามใจตัวเอง แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ ไม่เคยมีเพื่อนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อนเลย ประกอบกับไทยเป็นประเทศเอกราช ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครมาก่อนเลย และยังตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องเข้ามาช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่เพื่อหวังผลประโยชน์เหมือนกันซึ่งเห็นได้ในเวลาต่อมา
• เดือน ส.ค. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ โทรเลขมาขอให้ ม.ร.ว.เสนีย์กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้สหรัฐฯ สนับสนุนประเทศไทย และร้านเพื่อกดดันให้อังกฤษซึ่งส่งทหารเข้ามาในประเทศไทยโดยอ้างว่า “มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น” กลับออกไป
แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ปฏิเสธเพราะได้ไปทำบันทึกตกลงกับทางสหรัฐฯ ไว้ว่า “ขบวนการเสรีไทยนอกประเทศเป็นขบวนการกู้ชาติ ไม่ใช่ขบวนการเมือง เมื่อสงครามยุติลง ม.ร.ว.เสนีย์จะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง”
นายปรีดีได้มีโทรเลขมาอีกว่า “เมืองไทยถูกทหารอังกฤษยึดครอง ไม่มีใครในเมืองไทยจะเจรจาให้เขาถอนทหารออกไปได้ มีแต่ ม.ร.ว.เสนีย์เท่านั้น ซึ่งถ้า ม.ร.ว.เสนีย์ไม่กลับไปเจรจา บ้านเมืองเป็นอะไรไป ความรับผิดชอบจะอยู่ที่ ม.ร.ว.เสนีย์”
จากสาเหตุนี้เอง ม.ร.ว.เสนีย์จึงไปติดต่อกับทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทางอธิบดีกรมตะวันออกไกลบอกว่า “งานกู้เอกราชของ ม.ร.ว.เสนีย์ยังไม่จบ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ กลับไปเจรจากับอังกฤษ ขัดข้องอะไรทางสหรัฐฯ จะช่วย” ดังนั้น ม.ร.ว.เสนีย์จึงตกลงกลับมารับตำแหน่งนายกฯ
• วันที่ 1 ก.ย. 2488 ม.ร.ว.เสนีย์ออกเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อมารับตำแหน่งนายกฯ โดย ม.ร.ว.เสนีย์พยายามทำให้อังกฤษเกิดความเห็นใจโดยอ้างว่าเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ จึงมาใช้บริการของรัฐบาลอังกฤษแทนสหรัฐฯ ในการเดินทางกลับประเทศไทย แต่กลับได้รับการกีดกันไม่ให้เดินทางได้อย่างสะดวก เพราะระหว่างนั้นอังกฤษกำลังเจรจาให้ประเทศไทยตกเป็น “รัฐอารักขา” ของอังกฤษกับรัฐบาลรักษาการของนายทวี บุณยเกตุ อยู่ จึงไม่อยากให้ ม.ร.ว.เสนีย์กลับมาขัดขวางการเจรจา ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จตามที่อังกฤษต้องการ ม.ร.ว.เสนีย์ มาไม่ทัน ตัวแทนรัฐบาลไทยจึงได้เซ็นสัญญาดังกล่าว ไปเรียบร้อยแล้ว
• ในที่สุดวันที่ 16 ก.ย. 2488 ม.ร.ว.เสนีย์ก็เดินทางถึงประเทศไทยและเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ต่อจากนายทวี
ภารกิจสำคัญของ ม.ร.ว.เสนีย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือการทำให้อังกฤษยกเลิกการประกาศทำสงครามกับประเทศไทย ซึ่งอังกฤษไม่ยอมยกเลิก พยายามกดดันไทยให้ทกตามสัญญา21 ข้อชดใช้ค่าเสียหายให้อังกฤษ จนเป็นผลสำเร็จตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ทาง ม.ร.ว.เสนีย์ในฐานะนายกฯ คนใหม่ มีเข็มมุ่งที่จะไม่ยอมรับ สัญญาที่จะทำให้ประเทศไทยมีสภาพเป็นเมืองขึ้นอย่างเด็ดขาด จึงมีการต่อรองในการทำสัญญากับอังกฤษมาตามลำดับถึง 3 ฉบับ ดังนี้
- สัญญาฉบับแรก 21 ข้อ
ลงนามวันที่ 8 ก.ย. 2488 ได้จัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลนายทวี (ระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์กำลังเดินทางกลับมารับตำแหน่ง) เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ต้องตกอยู่ในสภาพ “รัฐอารักขาของอังกฤษ” ม.ร.ว.เสนีย์จึงแจ้งให้ทางสหรัฐฯ ทราบ เพราะสัญญาทำระหว่างไทยกับกลุ่มสัมพันธมิตร แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสัมพันธมิตรไม่เห็นด้วยจึงแจ้งให้อังกฤษยกเลิกการทำสัญญากับไทยเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสัมพันธมิตร อังกฤษจึงยอมยกเลิกสัญญา 21 ข้อ และขอให้ไทยทำลายต้นฉบับสัญญาของไทยด้วย กรณีนี้อังกฤษจึงลักไก่ทำสัญญาโดยอ้างสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ
พล.อ.เนตร เขมะโยธี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปเจรจากับฝ่ายอังกฤษที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
“…การที่รัฐบาลไทยยอมรับข้อตกลง 21 ข้อ หมายความว่านอกจากการยอมร่วมมือทางการทหารแล้ว เราได้ยอมให้อังกฤษ มีสิทธิผูกขาดเกี่ยวกับน้ำมัน, ป่าไม้, ข้าว, สินค้าออกเกี่ยวกับยางและดีบุก, ควบคุมการเดินเรือของไทย สิทธิที่จะตั้งกองทหารจุดสำคัญๆ โดยไม่มีกำหนด, ฐานทัพและท่าเรือ ตลอดจนการผูกขาดสายการบินพาณิชย์ ผ่านที่กรุงเทพฯ ด้วยนั้น
ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาดูว่า เรายังมีอะไรเหลืออีกบ้าง…?…”
- สัญญาฉบับที่สอง 51 ข้อ
อังกฤษโกรธไทยมากที่ไปบอกสหรัฐฯ จึงพยายามยกร่างสัญญาใหม่ มีเจตนากลั่นแกล้งประเทศไทย โดยเพิ่มจำนวนเงื่อนไขในสัญญาให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 51 ข้อ และกำหนดให้ไทยลงนามที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ในวันที่ 20 ก.ย. 2488 ทั้งๆ ที่เพิ่งแจ้งมาเมื่อ 19 ก.ย. 2488 (บรรยากาศของการเจรจา อังกฤษแสดงท่าทีข่มขู่ตลอดเวลา)
ม.ร.ว.เสนีย์ได้พยายามประวิงเวลาต่อรอง ไม่ลงนามในสัญญากับอังกฤษ แต่นายปรีดีก็เห็นด้วยที่จะให้ไทยไปลงนามในสัญญาเพราะเกรงว่าเรื่องจะเลวร้ายมากขึ้นไปอีก ดังนั้นเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์เสนอเรื่องเข้าสภาเพื่อให้สภา ช่วยรับรองว่าจะไม่เซ็นต์สัญญา แต่ก็แพ้เสียง เพราะสภาเป็น สส.คณะราษฎรเกือบทั้งหมด ไปขอมติใน ครม. ก็โหวตใน ครม. แพ้อีก เพราะรัฐมนตรีเกือบทุกคนมาจากคณะราษฎร มีรัฐมนตรีที่ไม่ยอมให้ไปลงนามเพียง 3 คน คือ ม.ร.ว.เสนีย์ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ และพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (ข้าพระบาทในหลวง ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ขอโควตารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ให้ เพื่อนำการทำงานใน ครม. ไปกราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 8 ทรงทราบ)
ในที่สุด ม.ร.ว.เสนีย์ตัดสินใจไปตายเอาข้างหน้า โดยส่งผู้แทนไปสิงคโปร์วันที่ 13 ธ.ค. 2488 เพื่อลงนาม (กำหนดลงนาม 15 ธ.ค. 2488) โดยให้นโยบายแก่คณะผู้แทนไปถ่วงเวลาไว้ให้นานที่สุด ในขณะเดียวกัน ม.ร.ว.เสนีย์ได้เปิดเผยสัญญาต่อสื่อมวลชนต่างประเทศอย่างแพร่หลาย มีการตีพิมพ์สัญญาทาสนี้ในสื่อสหรัฐฯ หลายฉบับ เป็นผลทำให้ทางสหรัฐฯ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษด้วย การลงนามจึงถูกเลื่อนออกไป (ในระยะนั้นอังกฤษต้องการกู้เงินจำนวนมหาศาลจากสหรัฐฯ จึงต้องจำยอม)
- สัญญาฉบับที่สาม 24 ข้อ (บรรยากาศของการเจรจาครั้งนี้เป็นไปอย่างผ่อนคลาย ไม่เหมือนการเจรจา ๒ ครั้งแรก)
อังกฤษนำฝรั่งเศสและอินเดียเข้าร่วมในคู่สัญญาเพราะต้องการดินแดนที่ไทยยึดไปในสงครามอินโดจีนคืน สหรัฐฯ จึงได้หารือกับอังกฤษ ปรับสัญญาลงเหลือ 24 ข้อ แม้ประเทศไทยจะเสียเปรียบบ้างแต่ก็ไม่กระทบต่อเอกราชไทย ตามสัญญาข้อ 21 และ 22
“…สัญญา 24 ข้อที่เป็นประกันเอกราชของไทยคือข้อ 21 ซึ่งตราไว้ว่า โดยคำนึงถึงคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลไทยให้ไว้ดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรตกลงถือว่าสถานะสงครามเป็นอันสิ้นสุดลง และจะดำเนินการโดยพลัน ในอันที่จะกลับเจริญสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศไทยและแลกเปลี่ยนทูตกันด้วย ข้อ 22 ตราไว้ต่อไปว่า รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรรับรองด้วยว่า จะสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ…”(สมาชิกสหประชาชาติต้องเป็นรัฐที่เป็นเอกราชเท่านั้น)
ม.ร.ว.เสนีย์จึงยอมลงนามในสัญญาเมื่อ 1 ม.ค. 2489 เพราะเห็นว่าสัญญานี้ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียเอกราชแต่อย่างใด เรื่องที่ถูกทำให้เสียเอกราชนั้นได้ถอนออกไปจากสัญญาจนหมด (เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารอังกฤษกับอินเดียถอนกำลังออกจากประเทศไทย)
ระยะเวลาเจรจาต่อรองในสัญญานั้น เริ่มเจรจาในเดือน ก.ย. 2488 – 1 ม.ค. 2489 เป็นเวลาประมาณ 3 เดือนเศษ ทำให้ประเทศไทยซึ่งอังกฤษถือว่าเป็นชาติแพ้สงคราม ไม่ต้องตกอยู่ในอิทธิพลอังกฤษทั้งเอกราชของประเทศและค่าเสียหายจากสงคราม ฯลฯ) ยกเว้น 2 เรื่องที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือ (1) เรื่องการส่งข้าว แต่ก็มีจำนวนลดน้อยลง และยังเป็นการส่งข้าวให้สหประชาชาติด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นข้าวที่เหลือกินในประเทศแล้วโดยมีสัญญาแค่ 1 ปีครึ่งเท่านั้น และ (2) เรื่องขุดคลองคอดกระ
สัญญา 24 ข้อนี้ ถ้าประเทศไทยลงนาม อังกฤษและฝรั่งเศสจะสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งประเทศเอกราชเท่านั้นจึงจะเป็นสมาชิกได้
รศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล ได้ระบุไว้ในหนังสือ “ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” หน้า 238 ว่า
“… แม้ว่าสำหรับฝ่ายไทยนั้น ข้อตกลงจะเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่สำหรับมติมหาชนชาวอังกฤษนั้น ข้อตกลงสมดุลแบบเป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสียเท่าที่ควร ดังที่สื่ออังกฤษได้รายงานเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษเอาไว้ว่า
‘ด้วยข้อตกลงใหม่นี้ สยามหลุดรอดจากสงครามไปได้อย่างบางเบา พวกเขาได้รับการลงโทษไปไม่มากไปกว่าการลงโทษเด็กน้อย พวกเขาได้รับเอกราชเฉกเช่นดังเดิม พวกเขาไม่ได้กลายมาเป็นประเทศราช ดังที่พวกเขาควรจะเป็น ในช่วงเวลาที่พวกเราไร้ความปราณีมากกว่านี้…สิ่งเดียวที่น่าสงสัยที่เราจะได้จากข้อตกลงก็คือ การที่เราบอกสยามว่า พวกเขาสามารถจะขุดคอคอดกระได้เมื่อใด ข้อตกลงเหมือนจะเป็นซากเก่าจากโลกสมัยก่อนยุคปรมาณู’…”
กล่าวได้ว่าประเทศไทยเอาตัวรอดมาจากความกระหายในผลประโยชน์ของอังกฤษได้แบบหวุดหวิด ได้เอกราชคืนมาเสมือนฝัน
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้อ้างอิงมาจาก
- ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ชีวลิขิต, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, 2548).
- พีระ เจริญวัฒนนุกูล, ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2567).
- พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์, วิวัฒน์รัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ : ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสต์ ฟาเซ็ท, 2562).
- พลเอก เนตร เขมะโยธิน, งานใต้ดินของพันเอกโยธี, (พระนคร : เฟื่องอักษร, 2510).
หนังสือทั้ง 4 เล่มนี้มีประเด็นหลักของเรื่องแตกต่างกัน แต่มีตรงหัวเรื่องจริงๆ คือ หนังสือ “ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” ของ รศ.ดร.พีระ ซึ่งควรค่าแก่การหามา อ่านอย่างยิ่งครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เพจดังย้อนอดีต สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงมองเห็นถึงพิษภัยของการพนัน แต่นักการเมืองทำตรงกันข้าม
เพจ ฤๅ - Lue History ซึ่งมีติดตามนับแสนคน โพสต์ข้อความกรณีรัฐบาลกำลังผลักดันให้มีกาสิโนว่าในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงมองเห็นถึงพิษภัยของการพนัน ที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์ แม้จะสร้างรายได้จำนวนมากให้แ
รู้ทันกลเกมนักการเมือง แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ใครได้ใครเสีย?
ประชาธิปไตยจะไม่มีทางเบ่งบานได้เลย หากประชาชนยังไม่รู้เท่าทันกลเกมของนักการเมือง ที่มักแอบอ้างประชาชนในการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน การเมืองไทยทุกวันนี้ยังคงเป็นพื้นที่ของคนรวยที่อยากมีอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป หรืออยากได้อำนาจรัฐมา
จับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นนักการเมืองดัง ลวงเหยื่อ 22 ล้าน
พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 (ผบก.สอท.5) มอบหมายให้ พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก.1 บก.สอท.5 สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์
'ชวน' สะบัดมีดใส่ 'ทักษิณ' เล่นการเมืองไม่ได้หวังปกป้องธุรกิจหรือเอาประโยชน์ให้ครอบครัว
'ชวน' สวน 'ทักษิณ' สส.แก่สุดอยู่ในพรรคเพื่อไทย 2 คน กรีดเข้าการเมืองไม่ใช่ปกป้องธุรกิจครอบครัว ยันไม่เคยแค้น 'แม้ว' แต่ย้ำทำไม่ดีกับบ้านเมืองจะมีปัญหา
นักเขียนซีไรต์บอกเมื่อโจรเป็นนักการเมือง!
นายวิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์
กดดันรางวัลเยอะ ‘แพทองธาร’ ดีใจนึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียลมา 3 เดือน!
"อิ๊งค์" กดดันหนัก! บริหารประเทศ 3 เดือนได้รางวัลเพียบ ดีใจโพลสำรวจ ปชช.ให้เบอร์ 1 “นักการเมืองแห่งปี” นึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียล "หมอวรงค์" เฉ่งยับ!