เปิดเรื่องราวที่พวกโหน 6 ตุลาฯไม่ยอมพูดถึง 'คอมมิวนิสต์ล้อมฆ่าลูกเสือชาวบ้านที่เคียนซา'

4 ต.ค.2567- เพจ ฤๅ - Lue History เพยแพร่ บทความโดย ส. มีชัย มีใจความว่า
‘เราอดทนถึงที่สุด… ก็สุดทน’
: การล้อมฆ่าลูกเสือชาวบ้านของกองทัพคอมมิวนิสต์ไทยกับฟางเส้นสุดท้ายของมวชนฝ่ายกลาง
เรื่องราวที่พวกโหน 6 ตุลาฯไม่ยอมพูดถึง
บทความโดย ส.มีชัย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘ลูกเสือชาวบ้าน หรือ กิจการลูกเสือชาวบ้าน’ จัดตั้งครั้งแรก 2514 ณ หมู่บ้านเหล่ากอหก ตำบลแสงพา อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ภายใต้การอำนวยความสะดวกของตำรวจตระเวรชายแดนเขต 4 ในเวลานั้น สำหรับจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านนั้น เอกสารชั้นต้นชิ้นหนึ่งระบุไว้อย่างชุดเจนว่า
‘ [เพื่อ] ผนึกกำลังกันสร้างสรรค์ความสามัคคี ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะในหมู่ช้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เป็นการตัดช่องว่างของความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในวงสังคมให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด’
ดังนั้น จุดประสงค์ของการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านจึงหาได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะเป็นการจัดตั้งตามลักษณะองค์การที่นิยมลัทธิปกป้องบ้านเกิดเมืองนอน (Patriotism) สร้างความเข้าใจให้แก่คนในชาติ เสมือนกลไกช่วย ‘ส่งเสริม’ การทำงานของระบบราชการของรัฐบาลที่เทอะทะและอุ้ยอ้ายอีกทั้งยังถูกพันธนาการด้วยระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
องค์การนี้จึงเป็นกลไกของฝ่ายพลเรือน (ตามแนวทางเอาชนะการก่อการร้ายแบบ พตท. - พลเรือนตำรวจทหาร) ที่จะช่วยฝ่ายตำรวจและทหารปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนจากภัยคอมมิวนิสต์ และที่สำคัญ ลูกเสือชาวบ้านคือลูกเสือจริง ๆ กล่าวคือ หาใช่องค์กรมวลชนจัดตั้งติดอาวุธเหมือนพวกทหารป่า-ทหารบ้าน ของพวกฝ่ายซ้าย-คอมมิวนิสต์แต่อย่างใด
ภายหลังจากการจัดอบรมลูกเสือชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานเป็นจำนวนหลายรุ่นแล้ว ในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ก็เกิดขึ้น เมื่อ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้นำความทูลเกล้าถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2515 ณ จังหวัดอุดรธานี และทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชูถัมภ์นับแต่นั้นมา และนับตั้งแต่นั้น เอกสารชิ้นเดียวกันได้ระบุถึงความสำเร็จของกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ว่า
‘ด้วยเหตุนี้กิจการลูกเสือชาวบ้านจึงแผ่ขยายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปกคลุมไปทั่วตารางนิ้วของผืนแผ่นดินไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานหลักปฏิบัติของลูกเสือชาวบ้าน 3 ประการ คือ
1. ไม่ต้องการให้ลูกเสือชาวบ้านเกี่ยวข้องกับการเมือง
2. กิจการลูกเสือชาวบ้านควรให้ประชาชนควบคุมกันเอง ทางราชการเป็นเพียงผู้เสนอแนะ ช่วยเหลือหรือทักท้วงเมื่อเห็นปฏิบัติไม่ตรงเป้าหมาย
3. ไม่มีพระราชประสงค์ให้มีเครื่องแบบให้สิ้นเปลืองและต่างกับประชาชนทั่วไป นอกจากมีสัญลักษณ์ผ้าพันคอและวอกเกิ้ลและหน้าเสือเพียง 3 ประการเท่านั้น’
นอกจากนี้ ควรบันทึกไว้ด้วยว่า จากจำนวนเพลงฉบับทางการที่แจกจ่ายกันในหมู่ลูกเสือชาวบ้านนั้น มีจำนวนอยู่ถึง 138 – 149 เพลง ในจำนวนนี้มีอยู่ไม่กี่สิบเพลงเท่านั้นที่มีเนื้อหาทำนองชาตินิยมหรือที่เกี่ยวข้องกับการปลุกใจ (ส่วนมากเป็นเพลงเก่าสมัยรัฐนิยม)
จึงกล่าวได้ว่า กิจการลูกเสือชาวบ้าน คือลูกเสือของ ‘ผู้ใหญ่’ ที่ไม่ได้แตกต่างกับลูกเสือเด็กแต่อย่างใด
น่าสังเกตว่าในชั้นหลังมานี้มีงานวิชาการที่ผู้เขียนมีพื้นเพเป็นอดีตนักศึกษาหรือรุ่นหลังที่เป็นพวกเห็นนอกเห็นใจขบวนการ 6 ตุลาฯ ได้โจมตีแปะป้ายว่าลูกเสือชาวบ้านเป็น ‘จัดตั้งพวกฝ่ายขวา’ การใส่ร้ายเช่นนี้เป็นวาทกรรมประดิษฐ์ใหม่และบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างเกินจริง
เพราะหลักฐานชั้นต้นร่วมสมัยชี้ชัดว่า ลูกเสือชาวบ้านคือ ‘ฝ่ายกลาง’ และหากย้อนเวลากลับไปในช่วงที่การต่อสู้ทางการเมืองนับตั้งแต่หลังปี 2516 เริ่มแหลมคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการโหมกระพือและการจัดตั้งมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้าย ทำให้พวกฝ่ายขวา-อนุรักษ์นิยมในไทยจึงเริ่มจัดตั้งมวลชนขับสู้เข้าบ้าง
(จนถึงเวลานี้มีงานวิชาการยอมรับกันว่า การจัดตั้งมวลชนแข่งขันกันนั้นเริ่มมาจากฝ่ายซ้ายก่อน ทั้งในหมู่นิสิต นักศึกษา กรรมาชีพ ชาวนา นักเขียน และในชนบท ส่วนฝ่ายขวาได้กระทำตามหลังฝ่ายซ้ายหลายปี จนมาทันกันในช่วงประมาณปี 2518 แต่ถึงกระนั้นจำนวนของจัดตั้งฝ่ายขวากลับมีจำนวนน้อยมาก ไม่ค่อยมีเอกภาพ และมีข้อมูลน้อยมากเช่นกัน)
ในจำนวนของมวลชนฝ่ายขวาเด่น ๆ นั้น กระทิงแดง และนวพล (ดูเหมือนอันหลังจะเป็นองค์การจัดตั้งเฉพาะกิจมากกว่าจะมีตัวองค์การจริง ๆ) ถือว่าเป็นพวกฝ่ายขวาที่มีกำลังมากที่สุด และชัดเจนว่าตั้งขึ้นเพื่อเป้าประสงค์ที่จะ ‘ยัน’ กับมวลชนฝ่ายซ้ายที่ขยายตัวขึ้นทุกที ๆ และมีการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนทุกเมื่อเชื่อวัน (กระทั่งว่าสามารถจัด ‘นิทรรศการจีนแดง’ ที่มีเนื้อหาโน้มน้าวให้ประชาชนศรัทธาลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นกลางพระนคร ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้)
แน่นอนว่าทุกการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายย่อมไม่คลาดไปจากสายตาของพวกฝ่ายขวาได้ และเป็นที่ชัดเจนว่า ก่อนหน้าปี 2519 ไม่นาน
ยิ่ง ‘ฝ่ายซ้ายแรงขึ้นเท่าไหร่ ฝ่ายขวาก็ยิ่งขยายใหญ่โต’ ขึ้นเท่านั้น
ผนวกกับช่วง 2518 ที่บรรดาประเทศรอบบ้านของไทยทั้งลาว เวียดนาม เขมร เริ่มตกเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ผลจาก ‘ทฤษฎีโดมิโน่’ ดังกล่าวได้กระทบกระเทือนสภาพจิตใจคนไทยอย่างมาก
โดยเฉพาะกรณีการล้มสถาบันกษัตริย์ลาว (ในช่วงนี้ลาวแดงได้เข้ามาแพร่หนังสือชวนเชื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย อีกทั้งมีแผนจะยึด 16 จังหวัดอีสานอีกด้วย) ผสมรวมกับข่าวการถอนกำลังกลับของอเมริกาจากพื้นที่อินโดจีน (และไทย) จากกระแสการเมืองทั้งภายในและภายนอกที่ผันผวนรุนแรงและเป็นคุณแก่ฝ่ายซ้าย (คอมมิวนิสต์) เช่นนี้เอง
จึงไม่แปลกใจว่าจะสร้างความวิตกแก่พวกฝ่ายขวาและฝ่ายกลางจนกระทั่งฝ่ายหลังสามารถตั้งตัวติด ซึ่งนี่ทำให้มวลชนฝ่ายขวาขยายใหญ่โตลุกลามจนนำไปสู่ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ในที่สุด และนำไปสู่จุดจบของมวลชนจัดตั้งฝ่ายซ้ายในเขตเมืองขนานใหญ่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
หากมองผ่านสเปคตรัมทางการเมืองแล้ว ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ คือ ‘ฝ่ายกลาง’ เพราะแวดล้อมไปด้วยบุคคลในและนอกระบบราชการเป็นพื้น รวมถึงผู้นำชุมชนและชาวบ้านทั่วไปที่สนับสนับสนุนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นหลัก
งานหลักของลูกเสือชาวบ้านนั้นมิใช่มวลชนจัดตั้งที่ถืออาวุธ (แม้จะมีข้าราชการบางคนเป็นลูกเสือด้วย) แต่เป็นในลักษณะ ‘การถ่ายทอดและบ่มเพาะอุดมการณ์ของรัฐ’ (ตามคำของ Louis Althusser นักมาร์กซิสฝรั่งเศสชื่อดัง) ผ่านกิจกรรมเข้าค่ายและอาสาในพื้นที่ชนบทแบบลูกเสือทั่วไปเท่านั้น
หากแต่จุดเปลี่ยนอันสำคัญ ที่ทำให้ลูกเสือชาวบ้านทั้งประเทศ ซึ่งจากเดิมยกเว้นไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองและพวกฝ่ายขวา ได้ตัดสินใจเป็นปฏิปักษ์กับพวกฝ่ายซ้ายอย่างเด็ดขาด คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า
‘การล้อมฆ่าลูกเสือชาวบ้านที่เคียนซา’
อันเป็นเหตุการณ์ที่วิทยากรลูกเสือชาวบ้านจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกซุ่มยิงจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ ที่บ้านกระชุม หมู่ที่ 3 ตำบลพ่วงพรหมคร อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2518 หลังจากที่เสร็จสิ้นการบรรยายและฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน เมื่อขบวนรถกำลังเคลื่อนที่กลับนั้น ก็โดนซุ่มยิงทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในเครื่องแบบลูกเสือจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งตะโกนกำลังอย่างดังขณะสาดกระสุนใส่รถ ว่า
‘ฆ่ามัน.. ฆ่ามัน..!’
หลังจากโจมตีเสร็จแล้ว กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้จัดการเผาทุกคันทิ้งเพื่อมิให้มีการนำผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล
กล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่อำมหิตเป็นอันมาก
เหตุการณ์ล้อมฆ่าครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 คน ได้แก่ พลตำรวจสมัครเยื้อง คงจ้อย (ถูกยิงตกจากรถเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ) พลตำรวจสำรองพิเศษบรรจบ เข็มขาว (เสียชีวิตที่โรงพยาบาล) และนางยุพา ลดารัตน์ (เสียชีวิตที่โรงพยาบาล) นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว เหตุการณ์นี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่มวลชนฝ่ายกลางและเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เพราะมีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บถึง 22 คน
มีเกร็ดของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังยิงรถของลูกเสือชาวบ้านนั้น นางยุพา (หนึ่งในผู้เสียชีวิต) แม้นว่าจะโดนกระสุนเข้าที่ตัวแล้ว ก็พยายามตะโกนร้องขอชีวิตอย่างดังว่า
‘ฆ่าฉันทำไม ฉันเป็นลูกเสือชาวบ้าน วิทยากรพวกนี้ไม่มีอาวุธมาเลย เราไปอบรมลูกเสือชาวบ้านเพื่อความรักความสามัคคีในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราไม่ได้อบรมที่จะเตรียมไปทำร้ายพวกท่านเลย’
กระนั้น เพชรฆาตแดงก็หาได้สนใจคำร้องขอนี้แต่อย่างใด ต่อมา นางยุพา (เป็นแม่ลูก 3 และลูกยังเล็กอยู่ด้วย) ต้องคมกระสุนเสียเลือดมากและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล (เพราะรถโดนเผา)
การเสียสละของประชาชนชาวบ้านธรรมดาคนนี้ ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2518 (ไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์)
อีกทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่โรงพยาบาลและเงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกด้วย
และเหตุการณ์ ‘การล้อมฆ่าลูกเสือชาวบ้านที่เคียนซา’ เมื่อปี 2518 นี่เอง ที่กลายมาเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจแก่คนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าจะฝ่ายกลางหรือฝ่ายขวา เพราะเป็นการล้อมฆ่าคนบริสุทธิ์ไร้อาวุธอย่างเลือดเย็น และเป็นเสมือนการประการสงครามกับกับ ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ ของพวกฝ่ายซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
นี่จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงมีพวกลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนี้ตอบไม่ยากเลย ก็เป็นเพราะพวกฝ่ายซ้ายนั่นเองที่ไปเล่นงานพวกเขาก่อน เป็นความเขลาปัญญาอย่างมากที่ดันให้พวกมวลชนฝ่ายกลาง (ที่มีจำนวนมากกว่า) หันไปร่วมมือกับพวกฝ่ายขวา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงไม่แปลกที่จะมีการคิดเคียดแค้นแทนผู้ที่สูญเสียไป (อันที่จริงน่าจะยังมีลูกเสือชาวบ้านอีกมากที่โดนฆ่าและทำร้ายจากพวกฝ่ายซ้ายในพื้นที่ชนบทแต่ไม่เป็นข่าวดัง)
เมื่อย้อนกลับมาอ่านงานเกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่เขียนกันอย่างดาด ๆ ของพวกนักวิชาการฝ่ายเดียว อาทิ การกล่าวว่า ลูกเสือชาวบ้านเป็นพวกฝ่ายขวาบ้างเล่า หรือกระทั่งสุดโต่งไปว่าลูกเสือชาวบ้านคือขุมกำลังของเบื้องสูงที่จัดตั้งมาปราบปรามนักศึกษา 6 ตุลา 2519 ผู้เขียนอ่านบทความของ ‘นักวิชาการแก็งค์นี้’ แล้วเป็นอดขำไม่ได้
มีอย่างที่ไหนที่ใครจะไปรู้เรื่องล่วงหน้าถึง 4-5 ปี ว่ามวลชนที่จัดตั้งขึ้นจะสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเหตุการณ์ใด ๆ ได้ อีกทั้งชัดเจนว่า ลูกเสือชาวบ้านก็ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นกลาง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การกล่าวหาเบื้องต้นจึงเป็นการใส่ร้ายอย่างฉกรรจ์ มองข้ามพัฒนาการความรุนแรงที่พวกฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเร่งสร้างกันมาเอง จนกระทั่งทำให้เหลือตัวเลือกแค่ 2 ทาง คือ ‘ไม่ซ้าย ก็ขวา’
มีผู้เย้ยหยั่นต่อไปอีกด้วยว่า
‘จริงอยู่ที่คอมมิวนิสต์ไปฆ่าลูกเสือชาวบ้านจริง
แต่มันถูกต้องแล้วหรือที่ลูกเสือชาวบ้านไปทำร้ายนักศึกษาเป็นการตอบแทน ?’
ต่อคำถามนี้ ผู้เขียนก็อยากจะทบทวนความทรงจำว่า
ใช่หรือไม่ว่านักศึกษา 6 ตุลา ถ้าไม่เป็นคอมมิวนิสต์ก็เอียงไปทางคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น ?
ใช่หรือไม่ว่าในเวลานั้น นักศึกษา (แดง) ก็สนับสนุนการปลดปล่อยประเทศด้วยการให้กองทัพคอมมิวนิสต์ (ทปท.) ด้วย ? แล้วมันจะต่างอะไรเล่ากับการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้าน ประชาชน เจ้าหน้าที่คนไทยด้วยกันเอง ?
ที่เขียนมานี้ ผู้เขียนมิได้สนับสนุนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น (6 ตุลา) แต่พวกเราเองก็ควรจะยอมรับกันได้แล้วว่า ในเวลานั้น ‘ในใจลึก ๆ ’ ของเราต้องการอะไร (ใช่ ‘อีกไม่นานจะเอาธงแดงปักกลางนคร’ ไหม ?)
เพราะถ้าจะเอาแต่โทษและกล่าวลูกเสือชาวบ้านว่าโหดร้ายทารุณกับเราวันนั้น
แล้วการที่ฝ่ายซ้ายอย่างเรากระทำต่อพวกเขาในเขตชนบทนั่นเล่า อ้ายแบบนั้นเรียกว่าอะไรหนอ
วานปัญชาชนวานบอกทีเถิดหนา !!
อ้างอิง
1 สุเทพ สุขสงวน (บรรณาธิการ). 23 ปี ลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์. ศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน.
2 ‘วิทยุสาร’ กรมประชาสัมพันธ์ ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2518.
3 นันทเดช เมฆสวัสดิ์. ผ่านฟ้าลีลาศ. ภาคีสยามวิวัฒน์.
4 หนังสือ ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ (เอกสารชั้นต้น).

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนเดือนตุลาฯสะดุ้ง! 'หัวโต' แฉเอง สหายเคยฆ่ากลุ่มกระทิงแดง-อดีตแกนนำชาวนา

นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตแกนนำนักศึกษายุค 6 ตุลาฯ2519 ที่มีชื่อเรียกเล่นกันว่า “หัวโต” อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหลบหนีคดี 112 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' สะท้อนความรู้สึก 'ทหารเก่า' ทำไมต้องต่อต้าน 'สหายใหญ่' เป็นรมว.กห.

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ จิตสำนึก มีเนื้อหาดังนี้

จับตา 'สหายใหญ่' นั่งรมว.กห. คลื่นใต้ในกองทัพ รัฐประหารครั้งต่อไป จะรุนแรง!

'เสธ.นิด' จับตา 'สหายใหญ่'นั่ง รมว.กห. คลื่นใต้น้ำรุนแรง หวั่นพรบ.ต้านการรัฐประหารเป็นอันตราย การรัฐประหารครั้งต่อไปจะรุนแรงและเสียเลือดเนื้อ แนะทำงานตามรัฐธรรมนูญ อย่าล้ำเส้นหรืออย่าทำตัวเป็นตัวควบคุม Regulator ก็แล้วกัน

'ป้าธิดา' ยก 7 สิงหายุบก้าวไกล ซ้ำรอยวันเปิดการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตแกนนำนปช. โพสต์เฟซบุ๊กว่าเหตุการณ์ 7 สิงหา ปี 2567 ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมือ

'จุรินทร์' เตือน 'ยิ่งลักษณ์' ใช้ทักษิณโมเดลอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย!

'จุรินทร์' บอก ไม่มีใครห้ามกลับไทย แต่ 'ยิ่งลักษณ์' หนีคดีเอง เตือน หากใช้ 'ทักษิณโมเดล' อาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย เกิดวิกฤตซ้ำรอย 'นิรโทษกรรมสุดซอย'