'หมอประเวศ' ออกบทความ 'บูรณาการฐานแผ่นดินไทยปลอดภัยจากพิบัติ ความยากจน-ฝนแล้ง-น้ำท่วม'

26 ก.ย.2567 - ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ออกบทความเรื่อง “บูรณาการฐานแผ่นดินไทย ปลอดภัยจากภัยพิบัติ 3 ความยากจน ฝนแล้ง น้ำท่วม” มีเนื้อหาว่า

1.การสร้างพระเจดีย์จากฐาน
     พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลงถ้าไม่มีฐานรองรับ
     ฐานแผ่นดินไทยคือ ชุมชน ตำบล อำเภอ การพัฒนาให้ฐานแผ่นดินไทยแข็งแรงมั่นคงจะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง
     การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาทำเหมือนการสร้างพระเจดีย์จากยอด ทำอะไรก็จะเอาแต่ข้างบนโดยทอดทิ้งข้างล่าง หรือทำลายข้างล่างเพื่อประโยชน์ของคนข้างบน เช่น การทำลายป่าเพื่อความร่ำรวยของนายทุนและบริษัทต่างประเทศ หรือการเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรม จากเกษตรธรรมชาติหรือเกษตรสมดุลมาเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อความสะดวกและความร่ำรวยของพ่อค้าคนกลาง แต่ทำให้เกษตรกรทั้งหมดยากจนลง หมดเนื้อหมดตัว หนี้สินท่วมหัว หนีภัยพิบัติเข้ามาเป็นคนจนในเมืองหรืออยู่ในสลัม เกิดเป็นปัญหาทางสังคมต่อๆไป

2.การออกแบบระบบและโครงสร้าง
     ถ้าเราต้องการอะไรก็สามารถออกแบบระบบและโครงสร้าง และหาชิ้นส่วนมาประกอบจนครบเป็นองค์รวม เช่น ถ้าเราต้องการอะไรที่บินได้ ก็ต้องออกแบบระบบเครื่องบิน ถ้าเราต้องการอะไรที่ลอยน้ำได้ ก็ต้องออกแบบระบบและโครงสร้างที่เป็นเรือ ถ้าเราต้องการบ้านที่อยู่อาศัยได้ ก็ต้องออกแบบบ้านและโครงสร้าง แล้วเอาส่วนประกอบเข้ามาประกอบตามโครงสร้าง เช่น พื้นบ้าน ผนังบ้าน หลังคาบ้าน เป็นต้น
เมื่อมีระบบ โครงสร้าง และองค์ประกอบครบเป็นองค์รวม ก็จะเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ เช่น เครื่องบินที่เป็นองค์รวมสามารถบินได้ ซึ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ทั้งที่ไม่มีชิ้นส่วนใดๆของเครื่องบินที่บินได้เลย ต้องเป็นองค์รวมจึงจะบินได้
     ประเทศไทยพัฒนาแต่ชิ้นส่วนโดยไม่ออกแบบระบบและโครงสร้าง จึงไม่เคยมีประเทศไทยที่บินได้ หรือประเทศไทยที่เป็นองค์รวม
     การคิดเชิงระบบจึงมีความสำคัญ แต่เราคุ้นเคยกับการคิดแยกส่วน ทำอะไรต่างๆโดยเอาเทคนิคหรือวิชาการเป็นตัวตั้ง ที่เรียกว่า Technique-driven ไม่ได้ออกแบบและโครงสร้างแล้วจึงใช้เทคนิคเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบเครื่องตามที่ออกแบบไว้ เราจึงพัฒนาไม่สำเร็จ

3.การออกแบบระบบและโครงสร้างฐานแผ่นดินไทยโดยใช้เป็นอำเภอตัวตั้ง
     แต่ละอำเภอประกอบด้วยตำบลโดยเฉลี่ย 10 ตำบล แต่ละตำบลโดยเฉลี่ยมี 10 หมู่บ้านหรือชุมชน แต่ละอำเภอจึงประกอบด้วยชุมชนประมาณร้อยชุมชน แต่ละชุมชนมีประชากรประมาณ 500-1,000 คน เรามีอำเภอทั้งหมดประมาณ 800 อำเภอ แต่ละอำเภอมีประชากรประมาณ 50,000-100,000 คน รวมแล้วก็เท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศประมาณ 76 ล้านคน
      เราสามารถออกแบบอำเภอแต่ละอำเภอให้บูรณาการเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความยากจน ฝนแล้ง น้ำท่วม โดยแต่ละอำเภอต้องออกแบบให้เป็นเสมือนป้อมปราการที่ทุกคนอยู่ในป้อมได้อย่างปลอดภัย รอบๆอำเภอมีคลองหรือทะเลสาบ เป็นอำเภอที่มีน้ำล้อมรอบ มีกำแพงอำเภอก่อเป็นมูลดินขึ้นรอบๆอำเภอ เพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือให้คนขึ้นไปอยู่อาศัยบนเชิงเทินหรือกำแพงดิน
     การที่คนทั้งอำเภอจะปลอดภัยจากน้ำท่วม ฝนแล้ง และความยากจน แต่ละอำเภอควรมีป่าไม้ประมาณ 50%
     ก่อนการพัฒนาสมัยใหม่ พื้นที่ประเทศไทยเป็นป่าไม้กว่า 50% ต้นไม้เก็บน้ำไว้จำนวนมาก ป้องกันน้ำท่วมและปล่อยน้ำออกมาในหน้าแล้งเป็นต้นน้ำลำธาร ทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น ฉะนั้นแต่ละอำเภอต้องพยายามปลูกป่าให้มีพื้นที่ป่าประมาณ 50%
  แต่ละครอบครัวมีสระน้ำประจำครอบครัวที่สามารถเก็บน้ำได้ทั้งปี การมีสระน้ำประจำครอบครัวจะทำให้หายจน โดยสามารถเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เหนือสระ ให้มูลขี้ไก่ตกลงไปเป็นอาหารปลา น้ำในสระนำไปรดน้ำผักสวนครัว ทำให้มีกินมีใช้และขายทั้งปลา ผัก ผลไม้เป็นรายได้ประจำวัน แต่ละสระมีปลานับพันตัว กินกันอย่างมากก็วันละสองตัว เหลือขายทำให้หลุดหนี้ มีเงินออม เรื่องนี้ชาวบ้านได้ทดลองมาแล้วว่า การมีสระน้ำประจำครอบครัวทำให้หลุดหนี้ มีเงินออมได้จริงๆ
     การขุดสระ ต้องลงทุนสระละประมาณ 15,000 บาท ครอบครัวหนึ่งอาจมีหลายสระก็ได้ โดยสามารถกู้เงินจากธนาคารและใช้คืนได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนจากการสร้างงานในการใช้รถแทรกเตอร์ขุดสระทั่วประเทศ สร้างงานให้คนงานขุดสระจำนวนมหาศาล และสระยังช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อมีน้ำทั้งปีก็สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ด้วย ถ้าผืนดินเป็นดินทราย เก็บน้ำไม่ได้ ก็แก้ไขได้โดยซื้อยางพาราจากภาคใต้มาฉาบพื้นสระเพื่อกักน้ำ ทำให้ยางพาราขายดี
     ที่อยู่อาศัยของคนภายในอำเภอเวลาน้ำท่วมทำได้ 3 รูปแบบคือ
     1. ทำเรือนขาสูงพ้นจากน้ำท่วม
     2. ทำเป็นบ้านแพไม้ไผ่ โดยแต่ละพื้นที่ปลูกไผ่ไว้ให้พอใช้ และเอาไม้ไผ่มาทำแพ พอน้ำท่วมแพก็ลอยน้ำขึ้นมา
     3. อพยพขึ้นไปอยู่บนกำแพงดินรอบอำเภอ
และสามารถทำวิธีอื่นๆได้อีก
     ทั้งนี้ต้องการภูมิสถาปนิกและวิศวกรทำการออกแบบพื้นที่อำเภอดังกล่าว เพื่อป้องกันน้ำท่วม มีน้ำใช้ยามฝนแล้ง และสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สถาปนิกและวิศวกรช่วยกันออกแบบให้พื้นที่สวยงาม น่าอยู่ และปลอดภัย ประเทศจึงต้องการภูมิสถาปนิกและวิศวกรชุมชนจำนวนมาก

4.การบริหารจัดการบูรณาการฐานแผ่นดินไทย
      จุดยุทธศาสตร์อยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งมีอยู่ในทุกอำเภอ และรับผิดชอบต่อสุขภาวะที่สมบูรณ์ของประชาชนในพื้นที่ จนสามารถเรียกว่าเป็นสถาบันฐานแผ่นดินไทย
     ในการพัฒนาที่เรียกว่า 1 มหาวิทยาลัยต่อ 1 จังหวัด คือทุกมหาวิทยาลัย นอกจากเทคนิคทางวิชาการแล้ว ควรทำงานวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาพื้นที่ใอำเภอ ตั้งอยู่ในที่ดินของโรงพยาบาลอำเภอซึ่งมีอยู่แล้ว และร่วมงานกับโรงพยาบาลอำเภอ เป็นสถาบันฐานแผ่นดินไทยร่วมกัน
     สถาบันฐานแผ่นดินไทยจะทำงานสนับสนุนให้ทุกชุมชน ทุกตำบลในอำเภอ สามารถพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย
ทั้ง 8 มิติต้องบูรณาการอยู่ในกันและกัน ไม่ใช่พัฒนาแต่ละเรื่องแยกๆกันไป อย่างที่ทางพระเรียกว่า มรรคสมังคี คือมรรค 8 นั้นไม่ได้แยกเป็นมรรคๆ แต่มรรคทั้ง 8 บูรณาการกัน สามัคคีกัน
  ในแต่ละมิติของการพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการสามารถตั้งเป้าหมายได้ เช่น
     เรื่องเศรษฐกิจ เป้าหมายคือมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งหมายถึงทุกครอบครัวมีงานทำ มีรายได้ หลุดหนี้ มีเงินออม
     เมื่อเศรษฐกิจดี จะเชื่อมโยงไปถึงการมีจิตใจดีหรือมีศีลธรรม เพราะถ้ายากจนข้นแค้นเกินไป การพัฒนาจิตใจย่อมไม่ได้ผล สถาบันทางศาสนา คือวัดทั้งหมดในพื้นที่ก็ต้องมาร่วมบูรณาการกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่ทำแต่พิธีกรรมและสอนธรรมะแบบแยกส่วน ซึ่งจะไม่สำเร็จ
     สังคมต้องเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ทุกชุมชนมีอาสาสมัครจากทั้งภายในและภายนอกช่วยดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นต้น
     สิ่งแวดล้อมก็ดังที่กล่าวมาแล้วเรื่องการออกแบบพื้นที่ ทุกชุมชน ทุกพื้นที่ ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม ฝนแล้ง และความยากจน
     วัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ความเชื่อ คุณค่า การทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆเพื่อการอยู่ร่วมกัน การแก้ความขัดแย้งในชุมชน การดูแลทะนุบำรุงสิ่งแวดล้อม การรักษาตัว ทั้งหมดรวมกันเรียกว่า ภูมิปัญญา หมายถึงปัญญาที่ติดแผ่นดิน ซึ่งได้มาจากวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชน การได้อยู่ในสังคมวัฒนธรรมทำให้เกิดความอบอุ่น เรียนรู้ง่าย สนุก และมีความสุขร่วมกัน
     สุขภาพบูรณาการหรือสุขภาพชุมชน ทุกชุมชนมีคนประมาณ 1,000 คน ควรมีหน่วยพยาบาลชุมชน ซึ่งมีพยาบาลประจำ 3 คน คือพยาบาลวิชาชีพ 1 คน และผู้ช่วยพยาบาล 2 คน กำลังพยาบาล 3 คนต่อประชากร 1,000 ทำให้ดูแลทุกคนได้ใกล้ชิดประดุจญาติ ให้บริการทุกอย่าง ทั้งการรักษาโรคที่พบบ่อย การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ ทำให้คนในชุมชนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใหญ่น้อยลง
     การศึกษาบูรณาการ ไม่ควรเป็นการศึกษาโดยท่องวิชาแบบปัจจุบัน แต่เป็นการศึกษาในฐานวัฒนธรรม ศึกษาจากการทำงานและการอยู่ร่วมกัน การศึกษาที่บูรณาการในฐานการทำงานจะไม่ทำให้คนว่างงาน ไม่สร้างความยากจน และทำให้หายยากจน ไม่ใช่การศึกษาที่ให้ท่องแต่วิชาโดยทำอะไรไม่เป็น แต่ทำให้ทำเป็น คิดเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น และเรียนรู้เป็น นี่คือการศึกษาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่การศึกษาแบบแยกส่วนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เป็นการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ชีวิตต้องทำอะไรก็เรียนรู้เพื่อชีวิต ชีวิตคือการเรียนรู้
     ประชาธิปไตยชุมชนหรือชุมชนาธิปไตย ชุมชนมีขนาดเล็ก เมื่อทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาจึงเป็นประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ที่ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง ซึ่งมีการซื้อเสียงขายเสียง เป็นประชาธิปไตยปลอมหรือประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ และเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม (Indirect Democracy)
     ทั้งหมดนี้โดยย่นย่อคือ การพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ 8 มิติ โดยมีการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นจุดคานงัด คนทั้งหมดจึงพ้นจากความยากจน พ้นจากภัยพิบัติ จากน้ำท่วม จากฝนแล้ง

5.สภาผู้นำชุมชน
     แต่ละหมู่บ้านจะมีผู้นำตามธรรมชาติหรือผู้นำที่ไม่เป็นทางการประมาณ 40-50 คน ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ มีคุณสมบัติ 5 ประการ ดังที่กล่าวในบทความดังกล่าว คือ
     1. เป็นผู้ทำงานเพื่อส่วนรวม
     2. เป็นผู้สุจริต
     3. เป็นผู้มีสติปัญญารอบรู้
     4. เป็นผู้สื่อสารเก่ง
     5. เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
     ผู้นำที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้มีอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม จึงควรมีกลไกเพื่อให้ผู้นำเหล่านี้มีบทบาทในการพัฒนาบูรณาการฐานแผ่นดินไทย คือการมี 1. สภาผู้นำชุมชนระดับหมู่บ้าน 2. สภาผู้นำชุมชนระดับตำบล 3. สภาผู้นำชุมชนระดับอำเภอ และอาจมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในรูปอื่นๆ เช่น มีสภาหอการค้าอำเภอ เป็นองค์กรของนักธุรกิจที่มีอยู่ในอำเภอจำนวนไม่น้อย มาร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ
กองทัพก็ควรมีบทบาทในการสร้างความปลอดภัย กองทัพมีสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ สามารถศึกษาความรู้ วิชาการ เพื่อการป้องกันประเทศจากภยันตรายทุกชนิดทั้งภายนอกและภายใน ภัยแบบสงครามระหว่างประเทศอาจเหลือน้อยแล้ว แต่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นภายในประเทศ 3 ประการ คือ ภัยจากความยากจน ภัยจากฝนแล้ง ภัยจากน้ำท่วม เป็นภัยพิบัติใหญ่ที่สุดในประเทศและจากธรรมชาติ ปัญหาโลกร้อนจะนำมาซึ่งหายนะภัยทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง อย่างที่เกิดขึ้นและมากขึ้น ฉะนั้นกองทัพควรเป็นภูมิคุ้มกันภัยพิบัติภายในประเทศเหล่านี้ด้วย โดยทหารทุกกองทัพได้รับการฝึกอบรมให้ร่วมทำงานอย่างบูรณาการกับชุมชน แล้วไปร่วมมือพัฒนาอย่างบูรณาการฐานแผ่นดินไทยได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมื่อทหารเหล่านี้ปลดประจำการ ก็จะกลายเป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี

6.ทุกภาคส่วนของประเทศควรเชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างบูรณาการฐานแผ่นดินไทย
      ประเทศไทยมีทรัพยากรเพื่อการพัฒนาแบ่งออก เป็น 9 ส่วน คือ
     1. พื้นที่แผ่นดินไทย หมายถึงชุมชนท้องถิ่น
     2. ระบบการเมือง
     3. ระบบรัฐ ทั้งฝ่ายพลเรือนและกองทัพ
     4. ระบบธุรกิจและระบบการเงิน
     5. ระบบการศึกษา
     6. ระบบศาสนาและวัฒนธรรม
     7. ระบบสุขภาพ
     8. ประชาสังคม
     9. ระบบการสื่อสาร
     ทั้ง 9 ระบบนี้เดิมพัฒนาอย่างแยกส่วน จึงไม่เคยมีประเทศไทยที่เป็นองค์รวม และการพัฒนาต่างๆไม่เป็นผลสำเร็จ
     ทั้ง 9 ภาคส่วนควรบูรณาการกัน โดยภาคส่วนที่ 2 ถึง 9 ควรลงไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง จะทำให้คนไทยรู้ความจริงของแผ่นดินไทย และร่วมกันพัฒนาอย่างบูรณาการให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยเชื่อมโยงบูรณาการกันสู่ความเป็นองค์รวมประเทศไทย
ประเทศไทยที่เป็นองค์รวมจะมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ ซึ่งยังไม่รู้จะเรียกว่าอะไร แต่มีลักษณะของสุขภาวะที่สมบูรณ์ หรือแผ่นดินศานติสุข ที่ทุกคนมีกิน มีอยู่ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีการพัฒนาจิตใจและจิตวิญญาณสูงส่งขึ้นไปเรื่อยๆ และคนไทยทั้งประเทศจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ความแตกแยกทุกชนิด มาพัฒนาประเทศไทยร่วมกัน

7.หลักการ PPPO
      ที่กล่าวมาข้างต้น อาศัยหลักการที่เรียกว่า PPPO
      P เท่ากับ Purpose ความมุ่งมั่นร่วมกัน
      P เท่ากับ Principle หลักการ
      P เท่ากับ Participation การมีส่วนร่วม
      O เท่ากับ Organization การจัดองค์กร
      ความมุ่งมั่นร่วมกัน: คนไทยไม่เคยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ต่างคนต่างส่วน ต่างไป จึงไม่มีพลังร่วมในการพัฒนาประเทศ ต้องหาความมุ่งมั่นร่วมกันให้ได้
ความมุ่งมั่นร่วมกันตามที่เสนอมานี้คือ “บูรณาการฐานแผ่นดินไทยให้ปลอดจากภัยพิบัติ 3 ประการ” สิ่งนี้น่าจะเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกฝ่ายได้โดยไม่ยาก แทนที่จะคิดแบบแบ่งข้าง แบ่งขั้ว และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ที่เรียกว่า Confrontation มาเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่เรียกว่า Collaboration การสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน คือการออกจากการเผชิญหน้าสู่ความร่วมมือ ก้าวข้ามความแตกแยกทุกชนิด
หลักการ: หลักการของการบูรณาการฐานแผ่นดินไทยคือที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด
      การมีส่วนร่วม: เมื่อมีความมุ่งมั่นร่วมกันและมีหลักการที่ถูกต้อง ทุกฝ่ายจะสามารถทำการร่วมกันหรือ Participation คือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง หรือ PILA (Participatory Interactive Learning through Action) จุดสำคัญคือต้องมาถึงขั้นนี้ให้ได้ เพราะการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ เช่น
      • ยิ่งทำ ยิ่งรักกันมากขึ้น เพราะมีความเสมอภาค ภราดรภาพ และสามัคคีธรรม
     • เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) ซึ่งหาได้ยาก จะใช้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนก็ซื้อไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ
     • เกิดความฉลาดและฉลาดร่วมกัน การเรียนรู้เดี่ยวๆในเรื่องที่ซับซ้อนและยากเป็นสิ่งที่ยากแค้นแสนเข็ญ ทุกคนจะเหมือนเป็นคนโง่ แต่ถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจะง่ายและมีความสุข จึงเกิดความฉลาดและฉลาดร่วมกัน
     • เกิดปัญญาร่วม (Collective Wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยภาพกลุ่ม ที่เรียกว่า Group Genius
     • ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้เกิดพลังมหาศาล ทำให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคทุกชนิดสู่ความสำเร็จ
      • ทุกคนมีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
      การพ้นทุกข์ร่วมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นเป้าหมายของยุคใหม่แห่งการพัฒนา อาจเรียกว่า ยุคศรีอาริยะ คือการร่วมกันสร้างสังคมพระศรีอาริย์
ยุคแรกเป็นยุคที่มีความมุ่งหมายเพื่อการพ้นทุกข์อย่างปัจเจกชน ซึ่งในสังคมครั้งโบราณ การพ้นทุกข์อย่างปัจเจกสามารถเป็นไปเพื่อความสุขของคนทั้งหมดได้ แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนและยาก การพ้นทุกข์ของปัจเจกบุคคลเป็นไปได้ยาก ที่กล่าวมาทั้งหมดจะนำสู่การพ้นทุกข์ร่วมกัน ซึ่งเป็นยุคที่ 2 ของการพัฒนา
      การพัฒนาในยุคใหม่นี้ เป็นยุคที่สังคมทั้งหมดมีความสุขร่วมกัน ดังความฝันหรือจินตนาการของมนุษย์ตั้งแต่โบราณมา ที่เรียกว่า ยุคพระศรีอาริย์ เราอาจเรียกว่าเป็นยุคศรีอาริยะก็ได้ หรือจะเรียกว่าแผ่นดินศานติสุขก็ได้
  ถ้ามีการออกแบบระบบ โครงสร้าง และความร่วมมือของทุกฝ่าย บูรณาการกันสู่ความเป็นองค์รวมของประเทศ ก็จะทำให้ความฝันเป็นความจริงได้ คือประเทศไทยที่เป็นองค์รวม หรือองค์รวมประเทศไทย อันมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
     จึงเสนอเรื่องบูรณาการฐานแผ่นดินไทย เพื่อให้คนไทยทุกภาคส่วนได้ทำความเข้าใจ และมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการมีส่วนร่วมหรือเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงทั่วประเทศต่อไปเทอญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั