'หริรักษ์' ชี้เพื่อไทยขว้างงูไม่พ้นคอ เล่นเกมเขย่าแบงก์ชาติ แต่คนหน้าแหกคือ นายกฯอิ๊ง

26 ก.ย.2567 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นักข่าวตั้งคำถามเรื่อง ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น นายกรัฐมนตรีตอบเป็น 2 รอบดังนี้

รอบแรก บนโพเดียม ขณะแถลง "ค่ะ อันนี้จริงๆแล้วนะคะ เรื่องของบาทแข็งเนี่ย ก็ทำให้เกิดความกังวลในทุกภาคส่วน เราก็ ในส่วนของรัฐบาล เราก็ทำได้ในหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะส่งออกหรืออะไรพวกนี้ค่ะ ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจกับเป็นการเซฟ ก็ใช้ข้อดีของการที่มีบาทแข็งตรงนี้ให้ได้ ในเรื่องของอีกด้านก็ต้องพูดคุยกัน ......."

รอบสอง ขณะเดินลงบันได แล้วนักข่าวตามสัมภาษณ์ "ขอเพิ่มเติมเมื่อกี้พูดสั้นไปหน่อย เพราะคำถามมีหลายคำถามใช่มั๊ย ทีนี้พอไปฟังดูก็รู้สึกสับสนเอง อิ๊งจะบอกว่า จริงๆแล้ว เรื่องของเงินบาทน่ะค่ะ ขอพูดเลยนะ เรื่องของเงินบาทเนี่ย พอเงินบาทแข็งเนี่ย เข้าใจเลยว่า เกษตรกร ส่งออกเนี่ย มันเป็นปัญหาแน่นอนนะคะ แล้วคนก็จะมีความกังวลใจ แต่ว่าที่พูดเมื่อกี้ เพราะว่า ก็ให้ใช้ข้อดีเวลาที่บาทแข็ง อย่างเช่นการนำเข้า แอ่ะ คือการนำเข้าหรือว่า คืนเงินต่างประเทศ หรือโครงการไหนที่มีการนำเข้าก็ให้ล็อคตรงนี้ไว้ เพื่อเป็นโอกาสเมื่อบาทแข็ง แต่ว่าเราก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป การคลังก็ต้องไปคุยกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย"

รอบแรก ต้องบอกว่า ฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลยว่านายกรัฐมนตรีพูดอะไร แต่คนส่วนใหญ่ตีความว่าคุณแพทองธารบอกว่า ค่าเงินบาทแข็งเป็นผลดีต่อการส่งออก จึงวิจารณ์กันยกใหญ่ แต่ที่แกพูดก็คือ " ในส่วนของรัฐบาล เราก็ทำได้ในหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะส่งออกหรืออะไรพวกนี้ค่ะ........" ฟังแล้วก็ไม่ชัดว่าค่าเงินบาทแข็งเป็นผลดีต่อการส่งออก ฟังแล้วสับสนและไม่รู้เรื่องเสียมากกว่า ส่วนที่บอกว่า "ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจกับเป็นการเซฟ" ก็ยิ่งงงกันใหญ่ ค่าเงินบาทแข็งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไง และที่ว่า เป็นการเซฟ เซฟอะไร

รอบสอง ขณะเดินลงบันได เป็นการพูดแก้ตัว ก็ดีขึ้นนิดนึง รอบสองนี้น่าจะมีคนไปบอกแล้วว่า ที่พูดน่ะไม่ใช่ จึงพยายามพูดใหม่อีกครั้ง ครั้งนี้พูดชัดว่า เงินบาทแข็งทำให้การส่งออกมีปัญหา แต่ที่พูดถัดไปก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี เช่น "ให้ล็อคตรงนี้ไว้ เพื่อเป็นโอกาสเมื่อบาทแข็ง" หมายถึงอะไร ?????????

คุณแพทองธาร ยังไม่พร้อมจริงๆที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งวิธีพูด คำพูดที่เลือกใช้ ไม่เหมาะสมสำหรับคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี เนื้อหาที่พูดก็แสดงถึงความเข้าใจเศรษฐกิจพื้นฐานแบบงูๆปลาๆ

ที่นักข่าวตั้งคำถามเรื่องเงินบาทที่แข็งขึ้น ก็คงเป็นเพราะมีรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย 2 คน ออกมาเขย่าธนาคารแห่งประเทศไทยว่า เงินบาทแข็ง ทำให้ผู้ส่งออกเดือดร้อนกันมาก คุณแพทองธารคงไม่ได้ตามข่าว จึงสับสน

เรื่องค่าเงินบาทแข็งกับผู้ส่งออก เป็นปัญหาโลกแตกของประเทศเรามาช้านาน เ่พราะผู้ส่งออกเราแข่งขันกันด้วยราคาไม่ใช่แข่งขันดัวยความแตกต่างของสินค้าหรือด้วยคุณภาพ ผู้ส่งออกจึงโวยทุกครั้งที่ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้สู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะทำให้ราคาขายต้องแพงขึ้น

Philip Kotler ผู้ที่เขียนตำราด้านการตลาดที่ผู้ที่เรียนบริหารธุรกิจทุกคนต้องเคยอ่านเล่มใดเล่มหนึ่งของท่าน ท่านมาบรรยายเรื่องการตลาดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อกว่า 30 ปีแล้ว Kotler ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของประเทศไทยว่า ประเทศไทยยังไม่มีแบรนด์ของตัวเองที่เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเป็นความจริง และยังเป็นความจริงมาจนถึงวันนี้

หากประเทศเรามีแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่ง มีความแตกต่าง(differentiation) มีคนที่มีความภักดี (brand loyalty) ทั่วโลก และหากสินค้าเรามีคุณภาพดีกว่าคนอื่น ไม่ว่าค่าเงินจะอ่อนหรือแข็ง ก็มีผลกระทบไม่มาก เพราะคนก็ยังต้องการซื้ออยู่เช่นเดิม

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คำว่าเหมาะสมคือเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยดูจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ดุลการค้า การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพราะประเทศเราไม่ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เหมือนบางประเทศ ซึ่งก็มีเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศแล้ว เราจึงไม่สามารถสั่งให้ค่าเงินอ่อนลง หรือแข็งขึ้นได้ตามใจปรารถนา

อย่างไรก็ดี ค่าเงินแข็งหรือค่าเงินอ่อน ก็จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ค่าเงินแข็ง ผู้ได้ประโยชน์คือผู้นำเข้าทั้งสินค้าสำเร็จรูป และปัจจัยการผลิต เช่น วัตถุดิบ ชิ้นส่วน เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เพราะของเหล่านี้จะถูกลง ผู้เสียประโยชน์คือผู้ส่งออกที่แข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก เพราะจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และเมื่อแลกกลับเป็นเงินบาทก็จะได้เงินน้อยลง ค่าเงินอ่อน ผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ก็จะกลับกันกับกรณีค่าเงินแข็ง

หากผู้ประกอบการของเราพัฒนาสินค้าไปถึงระดับหนึ่ง คือมีคุณภาพสูง มีแบรนด์ที่เข้มแข็ง คนมีความภักดีต่อแบรนด์สูง ผู้ประกอบการเหล่านี้แทบไม่ต้องพึ่งพาค่าเงินแต่อย่างใด

นี่คือส่ิงที่ทุกรัฐบาลควรนำมากำหนดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ แต่อนิจจา Kotler พูดไว้กว่า 30 ปีแล้ว วันนี้ประเทศเราก็ยังไปไม่ถึงไหน แบรนด์ของสินค้าที่ขณะนี้ที่พอจะแข็งแกร่งในระดับโลกได้ น่าจะมีเพียงสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์การฝึกซ้อมและแข่งขันมวยไทย นอกนั้นยังมองไม่เห็น แม้แต่สินค้าที่เกี่ยวกับอาหารไทยก็ยังมองไม่เห็น

หากผู้นำประเทศใดต้องการให้ทายาทของตนเองได้สืบทอดอำนาจต่อ ผู้นำคนนั้นจะต้องเตรียมทายาทคนนั้นตั้งแต่เด็กๆ ให้เรียนหนังสือในสาขาวิชาที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารประเทศ ให้ทำงานไต่เต้าตั้งแต่ตำแหน่งเล็กๆและให้เติบโตด้วยตัวเองจนกระทั่งทายาทคนนั้นมีความพร้อม ไม่ใช่ไปไม่เตรียมอะไรเลย อยู่ๆก็ดันให้ทายาทตนเองซึ่งไม่มีความพร้อมแม้แต่น้อยให้เป็นผู้นำประเทศ

การทำเช่นนี้ นอกจากเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศเดินไปสู่หายนะแล้ว ยังเป็นการทำลายอนาคตของทายาทตัวเองอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถกนัดแรก‘5กุนซือ’นายกฯอิ๊งค์ ปักธง‘ไทยพ้นยากจน’รัฐบาลนี้

ได้ฤกษ์รัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถกนัดแรก “คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี” ที่ บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาล

บิ๊กอ้วนหงุดหงิด! ถูกจี้ถาม สส.เพื่อไทยในคดีตากใบ

'ภูมิธรรม' หงุดหงิดถูกจี้ถามคดีตากใบ บอกไม่รู้ 'พล.อ.พิศาลและพวก' อยู่ในไทยหรือไม่ แต่หากอยู่ก็ถูกจับหรือเชิญตัวไปแล้ว ขอสื่อใส่ใจเรื่องน้ำท่วมช่วยประชาชน

'เพื่อไทย' พับแผนแก้กฎหมายลูก! หวังยืมมือ ส.ส.ร.ตอนร่างรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐบาลเพื่อไทยพลิกเกม หวังยืมมือ ส.ส.ร. ดันแก้กฎหมายลูกปมยุบพรรค-ครอบงำพรรค ริบอำนาจ ป.ป.ช. หลบกระแสต้านแก้ รธน.รายมาตรา

นายกฯให้สัมภาษณ์ไม่รู้เรื่อง เราควรสงสารใคร ระหว่าง ประชาชน คนผลักดัน หรือตัว 'อุ๊งอิ๊ง'

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุกรณีนส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องค่าเงินบาทแข็ง ว่า