'ปานเทพ' ให้ความเห็น 6 ข้อต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา จี้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน

20 ก.ย.2567- นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง บันทึกความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุข มีเนื้่อหาดังนี้

ต่อกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….. ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 16-30 กันยายน 2567 จึงเห็นว่าสมควรบันทึกความเห็นต่อ “ฉบับที่มีการแก้ไข” แล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 ไว้ดังนี้

ประการแรก นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ตัดสินใจเป็นเจ้าภาพในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงด้วยตัวเอง เพราะเท่ากับว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เห็นว่ากัญชา และกัญชง มีประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ จึงไม่ควรกลับไปอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติดต่อไป
โดยเฉพาะเมื่อมีร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ของคณะรัฐมนตรีแล้ว ย่อมเป็นผลงานของรัฐบาลทั้งคณะ ไม่ได้เป็นกฎหมายของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องการเมืองในรัฐบาลเรื่องกัญชา กัญชงย่อมลดน้อยลงไป

ประการที่สอง ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด 4 ฉบับ ซึ่งมาจากการเข้าชื่อของประชาชน 2 ฉบับ และมาจากการเข้าชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย อีก 1 ฉบับ แต่เนื่องจากทั้ง 3 ฉบับ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่กระทรวงสาธารณสุขจึงถือเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล ที่ต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลที่ต้องประสานงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะสามารถเร่งกฎหมาย กัญชา กัญชงของรัฐบาลให้เร็วที่สุดได้หรือไม่
เพราะกกฎหมายกัญชา กัญชง ทั้ง 4 ร่างดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรควรลงมติให้ความเห็นชอบทั้ง 4 ฉบับในวาระแรก และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในทุกฉบับเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระที่ 2 ของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในกฎหมายดังกล่าวในการแปรญัตติจากข้อเท็จจริงรอบด้านและรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายกัญชา กัญชงนั้น สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน แต่ก็ควรพิจารณาให้มีความต่อเนื่องและรวดเร็ว เพราะประเทศไทยได้ใช้การประยุกต์กฎหมายหลายฉบับในการควบคุมกัญชาเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ด้วยเพราะยังไม่มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาทั้งระบบในฉบับเดียวนานเกินไป
ประการที่สาม ปัญหาของกัญชา และกัญชง มิใช่เรื่องของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายด้วย โดยเฉพาะการลักลอบการนำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเปิดร้านกัญชาจำนวนมากโดยชาวต่างชาติโดยนอมินีคนไทย การเปิดขายร้านกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดขายและโฆษณาออนไลน์ ฯลฯ ดังนั้นภาครัฐจึงควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อไป

ประการที่สี่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุขโดยภาพรวม ที่เป็นสาระสำคัญ คือ
1.มาตรา 15 การเพาะปลูก การผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำเข้าเฉพาะคราว การส่งออกเฉพาะคราว ของกัญชา กัญชง และสารสกัด “จะต้องขอใบอนุญาตทั้งหมด” ยกเว้นมาตรา 15/1(1) การผลิต ส่งออก จำหน่าย ส่วนของราก กิ่งก้าน ใบ ลำต้น หรือเมล็ด ของกัญชา กัญชงไม่ต้องขออนุญาต
2.มาตรา 15/1(2) “การสั่งจ่ายหรือจำหน่าย” ส่วนของช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง หรือสารสกัด ให้โดยแพทย์เวชกรรม ทันตกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนจีน เพื่อการบำบัดรักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือป้องกันโรคไม่ต้องขออนุญาตในการสั่งจ่ายหรือจำหน่าย แต่ไม่รวมถึงอาชีพสัตวแพทย์
แต่การ ปลูก การผลิต นำเข้า ของกลุ่มแพทย์เหล่านี้จะต้องขอใบอนุญาตอยู่ดี จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้เห็นว่าควรมีการทบทวนให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด คือการเพาะปลูก การผลิต หรือการนำเข้าเพื่อการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลาย ไม่ควรต้องขอใบอนุญาต รวมถึงสัตวแพทย์ก็ควรได้รับสิทธิ์นี์ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 32 ประมวลกฎหมายยาเสพติด เพราะแม้แต่เป็นยาเสพติดกลุ่มคนทางการแพทย์เหล่านี้ก็ยังสามารปลูก ผลิต หรือจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
และแพทย์เหล่านี้ควรมีสิทธิ์ให้ใบรับรองแพทย์สำหรับให้ผู้ป่วยสามารถได้รับอนุญาตในการปลูกเพื่อใช้ช่อดอกกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการบำบัด รักษา และความเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หรือให้คณะกรรมการประกาศกำหนดโรคที่ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชา กัญชงได้ เพื่อการพึ่งพาตัวเองได้
และควรเปิดช่องสำหรับการสร้างบุคลากรพิเศษ “ผู้จำหน่ายกัญชา” ในฐานะเป็น “การแพทย์ทางเลือก” ที่เป็นบุคคลทั่วไป ที่ต้องผ่านหลักสูคตีการฝึกอบรมและผ่านการสอบการจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์โดยเฉพาะจากหน่วยงานที่คณะกรรมการกัญชากัญชงกำหนด ซึ่งอาจใช้ข้อความว่า “หรือผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามที่คณะกรรมการฯกำหนด
3.มาตรา 45 กำหนดห้ามผู้ใดบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เว้นแต่มีวัตถุประสงค์ คือ
(1)การบำบัดรักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้ในมนุษย์เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายหรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนจีน หมอพื้นบ้าน
สำหรับในส่วนดังกล่าวนี้อาจเพิ่ม “ผู้จำหน่ายกัญชา” คือ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการฯประกาศกำหนดด้วย
(2)การศึกษาวิเคราะห์หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่ายงานของรัฐที่มีหน้าที่ ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชนทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาลันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
สำหรับข้อความดังกล่าวควรมีความชัดเจนให้ครอบคลุมถึง การศึกษาในอุดมศึกษาที่มีการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ การแพทย์แผนจีน หรือการศึกษาในหลักสูตรตามที่คณะกรรมการกำหนด
(3) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้
ประการที่ห้า ควรเพิ่มบทลงโทษในประเด็นที่สังคมห่วงใย
มาตรา 62 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 41 ในการจำหน่ายให้กับเด็กเยาวชน จากที่ระวางโทษโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควรเพิ่มโทษเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 67 สำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 46 ที่ว่าห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยง ส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นบริโภคหรือใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด จากต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควรเพิ่มโทเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประการที่ห้า อย่างไรก็ตามปัญหาในประเด็นที่ว่ากฎหมายกัญชา กัญชงทั้ง 4 ฉบับจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกันได้หรือไม่นั้น ตัวแปรที่สำคัญกลับเป็นร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ของกระทรวงสาธารณสุขเอง เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีภารกิจอยู่มาก หากปล่อยไปตามปกติจะทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และครั้งละ 1 มาตรา ดังนั้นร่างฉบับดังกล่าวมีทั้งสิ้น 77 มาตรา จึงต้องใช้เวลา 77 สัปดาห์ หรือเป็นเวลาปีกว่า ซึ่งเป็นเวลานานเกินไป อันอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเร่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณากฎหมายกัญชา กัญชงให้มาใช้ให้เร็วที่สุด

สำหรับเรื่องนี้มี 2 แนวทาง คือ รัฐบาลกำหนดเป็นนโบายเร่งด่วนและประสานให้คณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุขให้เร็วที่สุด เพื่อพิจารณาไปพร้อมๆกับ กฎหมายกัญชา กัญชงอีก 3 ฉบับ หากสุดวิสัยและไม่สามารถเร่งรัดได้ นายกรัฐมนตรีควรเร่งรับรองกฎหมายกัญชา กัญชงอีก 3 ฉบับไปก่อน โดยให้นำรับข้อสังเกตในร่างของกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาควบคู่ไปด้วย

ประการที่หก เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีลักษณะการควบคุมการใช้ กัญชา กัญชง และสารสกัด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อยู่แล้ว เมื่อผ่านขั้นตอนกฎหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ควรประกาศยกเลิกสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
19 กันยายน 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/1054899176003782/?
อ้างอิง
[1] ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
https://files.law.go.th/dgaBackoffice/2024-09-16-14%3A55%3A33_ร่างพ.ร.บ.กัญชา%20กัญชง%20พ.ศ.%20ฉบับรับฟังความคิดเห็น%2016-30กย67.pdf

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หม่อมกร' เห็นพ้อง 'ปานเทพ' ตอกย้ำ กต.แถลง MOU 44 ขัดกับพระบรมราชโองการโดยชัดแจ้ง

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าวันนี้ปรากฎหัวข้อข่าวว่า“ปานเทพ ซัด กต.กล้าบังอาจแถลงข่าวตัดตอนพระบรมราชโองการ ร.9 ถามกรมสนธิสัญญาฯ ทำเพื่อประโยชน์รัฐบาลชาติใด”

'ปานเทพ' ชำแหละ กต. บังอาจแถลง MOU 44 ตัดตอนพระบรมราชโองการสมัย รัชกาล 9

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ทำไมกระทรวงการต่างประเทศ ถึงบังอาจแถลงข่าวตัดตอนพระบรมราชโองการสมัย รัชกาลที่ 9? มีเนื้อหาดังนี้

ย้อนมติครม.ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง อย่าลืมมติคณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU 2544” ไปแล้ว มีเนื้อหาดังนี้

ยกพระบรมราชโองการสมัยร.9 กำหนดเขตไหล่ทวีป โต้การบิดเบือนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า อย่าปล่อยให้คนปล้นชาติ ทำให้พื้นที่ทะเลไทย กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา