กสม. แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสวมเสื้อชั้นในหรือแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ
13 ก.ย.2567 - นายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีกล่าวอ้างว่าผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศถูกบังคับให้สวมกางเกง ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพ ขณะที่ผู้ต้องขังที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่เสื้อชั้นในเป็นสาเหตุให้ถูกคุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ
กสม. ได้พิจารณาคำร้อง ศึกษาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารงานวิจัยและสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการ หากแต่คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงดำรงอยู่เฉกเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังทั่วไป การกระทำอันเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมมิอาจกระทำได้ โดยเฉพาะในกรณีการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดให้ได้รับการคุ้มครองและหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการลดทอนคุณค่าของมนุษย์และเลือกปฏิบัติ
สถิติของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 15 มกราคม 2567 ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่แปลงเพศสมบูรณ์แบ่งเป็น (1) ผู้ต้องขังชายศัลยกรรมแปลงเพศเป็นหญิง 15 คน และ (2) ผู้ต้องขังหญิงที่ศัลยกรรมแปลงเพศเป็นชาย 1 คน อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวเป็นการรวบรวมเฉพาะสถิติผู้ต้องขังที่ศัลยกรรมแปลงเพศเป็นคนข้ามเพศโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่รวมถึงผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ซึ่งยังไม่ได้ศัลยกรรมแปลงเพศและมีอยู่จำนวนไม่น้อย ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จึงถูกมองข้าม ถูกลดคุณค่า อันเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ
จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันการแต่งกายของผู้ต้องขังเป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ 3 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
(1) ปัญหาการแต่งกายของผู้ต้องขังตามเพศสภาพ ปัจจุบันระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศไว้ แต่กรมราชทัณฑ์มีมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ (Standard Operating Procedures: SOPs) ซึ่งกำหนดเรื่องการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศกรณีผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศเป็นชายและที่แสดงออกเป็นชาย (ทอม) และกรณีผู้ต้องขังชายข้ามเพศเป็นหญิงหรือมีสรีระเป็นหญิง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาและอนุญาตเป็นการเฉพาะราย อย่างไรก็ตามมาตรฐาน SOPs ดังกล่าว เป็นเพียงแนวปฏิบัติที่ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อกำหนดที่บังคับใช้ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 เห็นว่า ยังคงยึดตามเพศกำเนิดเป็นหลัก โดยมีเพียงข้อ 14 ที่เปิดช่องให้อำนาจอธิบดีใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ต้องขังใช้เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประกอบอย่างอื่นในกรณีมีเหตุพิเศษ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯ ดังกล่าวให้เข้ากับมุมมองเรื่องเพศที่เปลี่ยนไปในสังคมยุคปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติอันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ
(2) ปัญหาการไม่สามารถสวมใส่เสื้อชั้นในของผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศที่มีหน้าอก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ในปีหนึ่ง ๆ ให้จ่ายเสื้อชั้นใน จำนวน 4 ตัว แก่ผู้ต้องขังหญิงเท่านั้น ผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศที่มีหน้าอกจึงไม่มีสิทธิได้รับเสื้อชั้นใน และแม้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ข้อ 14 จะให้อำนาจอธิบดีใช้ดุลพินิจในกรณีมีเหตุพิเศษก็ตาม แต่ในความเป็นจริง พบว่า การใช้ดุลพินิจภายใต้กรอบความคิดของระเบียบดังกล่าวยังยึดถือเพศกำเนิดเป็นหลัก ส่วนการใช้ดุลพินิจให้แต่งกายรูปแบบอื่นถือเป็นข้อยกเว้น
(3) ปัญหาการแต่งกายของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี สถิติของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กันยายน 2567 ระบุว่า ปัจจุบันผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี มีจำนวน 68,260 คน หรือร้อยละ 22.64 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด โดยการแบ่งแยกแดนการควบคุมตัวผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ออกจากนักโทษเด็ดขาด กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการนำร่องเป็นตัวอย่างในเรือนจำพิเศษมีนบุรีซึ่งถือเป็นเรือนจำต้นแบบ โดยระยะต่อไปมีแผนให้มีการจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดีในเขตจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งถือเป็นพัฒนาการและความมุ่งมั่นของกรมราชทัณฑ์ในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะประเด็นเรื่องการแต่งกายของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี พบว่า กรมราชทัณฑ์มีการแบ่งแยกการแต่งกายตามมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ข้อ 2.1 ของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ซึ่งกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดสวมใส่เสื้อสีฟ้า กางเกงหรือผ้าถุงสีกรมท่า ส่วนผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีจะสวมใส่ชุดสีน้ำตาล หรือชุดสีลูกวัว แต่ปรากฏข้อแตกต่างเฉพาะเรือนจำพิเศษมีนบุรีซึ่งเป็นเรือนจำนำร่อง ที่ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีสามารถสวมใส่เสื้อผ้าทั่วไปที่ญาติฝากให้ได้ขณะอยู่ในเรือนจำ รวมทั้งกรณีเดินทางไปศาลให้ใส่เสื้อมีแถบสีที่แขนเสื้อเป็นสัญลักษณ์ และสวมใส่กางเกงวอร์มขายาวได้ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากนักโทษเด็ดขาด อันสอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ทั้งนี้ กสม. เห็นควรให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม มีสิทธิและเสรีภาพแต่งกายตามความเหมาะสมได้ ทั้งกรณีอยู่ในเรือนจำและออกไปศาลตามนัด เพื่อไม่ให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องหาที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในขณะที่เดินทางมาศาลด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ควรสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดเพศวิถีแก่เจ้าหน้าที่ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังโดยตรง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ และให้เร่งผลักดันนโยบายการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้แตกต่างกับนักโทษเด็ดขาดอย่างเหมาะสม และครอบคลุมเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศ โดยในส่วนการแต่งกายให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีมีสิทธิแต่งกายตามความเหมาะสมเองได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) อันเป็นการยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี
(2) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 โดยคำนึงถึงการรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสวมใส่เสื้อชั้นในของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศที่ทำศัลยกรรมหน้าอกแต่ไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศมีแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ประณาม 'ทักษิณ' ปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน ย้ำไทยอยู่ภายใต้ CERD
กสม.ซัด 'ทักษิณ' จ้อเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน อบรมคนมีอิทธิพลทางสังคมไม่ควรทำ หวั่นโดนขยายความรุนแรง ซ้ำรอยความสูญเสียในอดีต
กสม.แนะตร.แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังถูกอายัดตัวกว่า 10 ปี
กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้ รร.นายร้อยตำรวจเร่งคดีล่วงละเมิดทางเพศ!
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ