อดีตรองอธิการฯมธ. ย้อนถามสโมสรนักศึกษา ม.เชียงใหม่ มีเจตนาอะไร? ถึงออกแถลงการณ์ไม่ส่งตัวแทนร่วมรับเสด็จ

16 ม.ค.2565-รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า การจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรหรือไม่ ย่อมเป็นเสรีภาพของบัณฑิตทุกคนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่เข้าร่วมในพิธีไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ปริญญา แต่การไปยืนชูป้าย และตะโกนใส่บัณฑิตว่า “ปริญญาศักดินา” เรียกร้องไม่ให้เขาเข้าร่วมในพิธี เป็นการไปรบกวนและละเมิดสิทธิเสรีภาพของบัณฑิตส่วนใหญ่ที่ต้องการจะเข้าร่วมในพิธี รวมทั้งพ่อแม่ของบัณฑิตที่ต้องการเห็นลูกรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าก็ตาม

งานนโยบายสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมรับเสด็จ และจะไม่ให้การสนับสนุนในทุกวิถีทางในการรับเสด็จ พร้อมทั้งเสนอให้สมาชิกสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และสโมสรนักศึกษาของคณะและวิทยาลัยต่างๆปฏิเสธการส่งตัวแทนรับเสด็จ ระบุเหตุผล 2 ประการคือ 1. เป็นการสนับสนุนระบบศักดินา 2. เป็นรูปแบบหนึ่งของการกดขี่ให้คนไม่เท่ากัน

“ความจริงเรื่องการไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมรับเสด็จ เป็นเรื่องระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับงานนโยบาย สโมสรนักศึกษา หากงานนโยบายปฏิเสธไม่ส่งตัวแทนเข้ารับเสด็จ ก็เพียงแจ้งมหาวิทยาลัยว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมรับเสด็จก็พอ แต่นี่ถึงกับออกเป็นแถลงการณ์ให้ชาวโลกรู้ว่าไม่ส่ง ทั้งยังไปเรียกร้องให้สโมสรระดับคณะไม่ส่งด้วยเหตุผลที่เลื่อนลอย ไม่ทราบว่างานนโยบาย สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเจตนาอะไร”

รศ.หริรักษ์ ระบุว่า การต้องการให้ทุกคนในประเทศไทยมีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกันหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ใช่เป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรอกหรือ เลิกพูดได้แล้วว่า ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง หากการปฏิรูปคือการให้พระมหากษัตริย์มีสถานะทางสังคมเท่ากับประชาชนทุกคน ก็คือการไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง แล้วมันต่างอะไรกับการล้มล้าง อย่าว่าแต่ความเท่าเทียมกันที่แท้จริงไม่มีในโลก อย่าได้เพ้อฝันไปเลยดีกว่า และก็ไม่ทราบว่าประชาชนถูกกดขี่อย่างไร การถวายความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการถูกกดขี่หรือ มีใครบ้างที่ตัวเองรู้สึกว่ากำลังถูกกดขี่จากสถาบันพระมหากษัตริย์

มีบทความบทหนึ่งที่ปรากฏใน social media เขียนบรรยายบิดเบือนพิธีพระราชทานปริญญาบัตรอย่างไม่อายฟ้าดินว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เป็นพิธีที่พยายามทำให้เป็นเรื่องของบัณฑิตกับเชื้อพระวงศ์ แม้แต่พ่อแม่ ญาติพี่น้องก็ถูกกีดกันบังคับให้ต้องอยู่นอกหอประชุม แต่ความจริงคือ ในสมัยก่อนมีบัณฑิตไม่มาก ที่นั่งในหอประชุมมีเพียงพอ พ่อแม่ของบัณฑิตก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งชมลูกรับพระราชทานปริญญาได้ อย่างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นั่งในหอประชุมมี 2 ชั้น ในสมัยก่อน บัณฑิตที่เข้ารับปริญญานั่งชั้นล่าง พ่อแม่หรือญาติพี่น้องนั่งชั้นบน แต่เดี๋ยวนี้ที่นั่งชั้นบนก็ต้องเป็นของบัณฑิต เนื่องเพราะจำนวนบัณฑิตแต่ละปีเพิ่มขึ้นมากจนที่นั่งในหอประชุมมีไม่เพียงพอ

จะว่าไปการที่พระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์พระราชทานใบปริญญาบัตรให้บัณฑิตทีละคนเป็นจำนวนหลายพันคนไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เป็นความทรมานพระวรกายที่ทุกพระองค์ต้องทรงอดทน ในสมัยก่อนมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งมีบัณฑิตแห่งละไม่มากยังพอทำเนา แต่เดี๋ยวนี้มีถึง 22 มหาวิทยาลัย และจำนวนบัณฑิตก็เพิ่มมากขึ้นมาก ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จนถึงสมัยปัจจุบัน การที่ยังทรงสามารถเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรทุกแห่งได้ ยังไม่ยกเลิก ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้วว่าทรงทำได้อย่างไร แม้บางครั้งจะทรงให้ผู้แทนพระองค์เช่น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าเสด็จแทนก็ตาม

การที่บัณฑิตจะไม่เข้าร่วมในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ยิ่งมีจำนวนมากยิ่งเป็นการลดภาระขององค์พระมหากษัตริย์ลง ยิ่งเลิกไปเลย เพียงให้รับจากอธิการบดีของแต่ละมหาวิทยาลัยก็น่าจะเป็นเรื่องดีและเหมาะสมแก่ยุคสมัย แต่บรรดาบัณฑิตและพ่อแม่ของบัณฑิตจะยอมหรือไม่ ยังคงต้องการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรพระหัตถ์หรือไม่ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังคงต้องการเช่นนั้น

ความพยายามก่อกวนสร้างความความวุ่นวายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จึงเป็นความพยายามที่จะด้อยความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ลง อันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ต้องสงสัย แม้ขณะนี้ขบวนการนี้จะอ่อนกำลังลงเนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย แต่ก็ยังไม่มอดดับไป เมื่อจังหวะเวลาเหมาะสม มีรัฐบาลและจำนวน ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาที่เป็นแนวร่วมกับพวกเขา ขบวนการนี้จะปะทุขึ้นอีกและจะขยายผลได้อย่างแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการ' วิเคราะห์ผลการเลือกสว.จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ มากกว่าเป็นผลเสีย

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

ปูดวาระซ่อนเร้น! เหตุดึงดัน 'แจกเงินดิจิทัล'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินคนหนึ่ง ซึ่งได้เคยดำเนินการออกหุ้นกู้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่

อดีตรองอธิการบดี มธ. เชื่อศาล รธน.วินิจฉัยคดี ‘นายกฯ’ เป็นคุณต่อประเทศแน่นอน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน มีความรู้ ผ่านการทำงานใหญ่มามากมาย มีความเป็นอิสระ ทั้งยังมีความเที่ยงธรรม

จับตา! 2 เรื่องใหญ่ บ่งชี้ใกล้ถึงจุดจบ 'รัฐบาลเพื่อไทย'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แรกทีเดียวคิดว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องข้าว 10 ปี