'สภา' เดือด 'รอมฎอน' ถามกลางสภา ส่งตัว 'พิศาล' ดำเนินคดีตากใบสมัยประชุมได้หรือไม่ 'วันนอร์' แจงไม่มีหนังสือขอตัวมา เผยอยู่มา 40 ปี สภาไม่เคยอนุญาต 'อดิศร' ลั่นต้องไม่ให้ไปเด็ดขาด
11 ก.ย.2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยในช่วงเปิดโอกาสให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนนั้น นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) หารือว่า ถ้าเรานับจากวันนี้ถึงวันที่ 25 ต.ค. คือวันครบรบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดอายุความก็จะเหลือเวลาอีก 44 วันเท่านั้น และตอนนี้ความคืบหน้าของคดีคือศาลประทับรับฟ้อง จากโจทก์ที่ประชาชน 48 รายยื่นฟ้องต่ออดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือพล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จึงขอถามประธาน เพราะทราบมาว่ามี หนึ่งในผู้เสียหาย ซึ่งเป็นภรรยาของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วทำหนังสือร้องเรียนของประชาชนที่ทำถึงประธานสภา ผ่านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ไม่แน่ใจว่าประธานสภา ได้รับหนังสือหรือไม่
นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า จึงขอหารือว่า เนื่องจากในวันพรุ่งนี้(12 ก.ย.) ศาลจะนัดเบิกคำให้การจำเลยครั้งแรก ซึ่งญาติผู้เสียหาย ขอให้ทางประธานและ สส.โปรดให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรม และได้ให้กระบวนการศาลพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขอให้ท่าน อนุญาติให้ พล.อ.พิศาล เดินทางไปศาลในวันที่ 12 ก.ย. และในวันถัดไปที่มีการนัด จึงขอปรึกษาว่าแนวทางปฎิบัติของสภา เป็นอย่างไรเพราะน่าจะเกี่ยวข้องกับมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ จึงอยากทราบว่าเรื่องนี้แนวทางจะเป็นอย่างไร เพราะเราต้องการให้การอำนวยความยุติธรรมผ่านกลไกของศาล สามารถทำงาน และคลี่ปมความขัดแย้งที่มีมาตลอด 20 ปีได้
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า เนื่องจากเรามีรัฐธรรมนูญมาตรา 125 บัญญัติว่าในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ไปทำการสอบสวนได้ เพราะฉะนั้นถือเป็นเอกสิทธิ์ที่สมาชิกรัฐสภา ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 แต่วิธีปฏิบัติที่เราเคยปฏิบัติมาคือในกรณีที่ศาลมีความจำเป็นขอสอบสวนหรือตำรวจขอดำเนินคดีในระหว่างสมัยประชุม ก็ขอมาที่ประธานซึ่งประธานไม่มีอำนาจ แต่สภาจะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรอนุญาตหรือไม่
“ที่ผ่านมาก็มีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือศาลขอตัว หรือเจ้าตัวของสมาชิกรัฐสภาเอง ขอไปดำเนินคดีเพราะตัวเองเห็นว่าไม่อยากให้คดียืดเยื้อ ซึ่งก็มาขอที่สภาทุกครั้ง แต่เท่าที่ผ่านมาผมจำได้ว่าสภามักจะให้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 คือจะลงมติไม่อนุญาตให้นำตัวสมาชิกไปดำเนินคดี ดังนั้นผม อยากเรียนต่อสมาชิกและประชาชนว่ามิได้หมายความว่าสภาของเราทั้งสองสภาจะไม่เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดี แต่สภาเห็นว่าเพื่อพิทักษ์เอกสิทธิ์ของสมาชิก เหมือนอย่างที่เขาพูดกัน แต่สมัยโบราณเกรงว่า สมาชิกฝ่ายค้านหรือที่ไม่ได้อยู่กับฝ่ายรัฐบาล ในสมัยประชุมก็จะถูกกันแกล้งไปฟ้องคดีอาญาแล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกไปสอบสวนจนไม่สามารถมาปฎิบัติหน้าที่ได้ โดยเฉพาะดาวสภาทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาพูดกันแต่ยังไม่เคยเกิดขึ้น”ประธานสภา กล่าว
ประธานสภากล่าวต่อว่า ที่เขาพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเพื่อปกป้องกรณีที่จะมีการกลั่นแกล้งฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่ถูกกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีอำนาจในการที่จะให้ตำรวจเรียกไปไต่สวนหรือคุมขังได้หักเป็นตอนนี้ยิ่งยุ่งใหญ่เลยถ้าไปคุมขังก็จะพ้นสภาพจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นสภาก็มองในแง่นี้ ซึ่งอาจมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ก็มีหลายคดีที่สมาชิกเอง มาขอไปดำเนินคดีสภา ก็ไม่ให้เพราะถ้าให้กรณีนี้กรณีอื่นก็จะต้องให้ และเท่าที่ตนจำได้ที่ 40 กว่าปีในสภานี้ก็จะเป็นอย่างนี้ ตนเรียนข้อมูลข้อเท็จจริง แต่สมัยก่อนดุเดือดกว่านี้ ในทางการเมืองคงเข้าใจ โดยเฉพาะสส.ทั้งหลายที่ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งก็เกรงว่าจะถูกกันแกล้ง จึงต้องบอกว่าตามมาตรา 125 เขาให้ความคุ้มครองสมาชิก แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศาลบอกว่าอย่างไรก็ขอดำเนินคดีในระหว่างสมัยประชุม เพราะคดีจะหมดอายุความ ตนก็จะเอามาพิจารณาทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ เว้นแต่สภา จะอนุญาต ดังนั้นก็ต้องขอสภาให้เป็นผู้อนุญาต
ทำให้นายรอมฎอน อภิปรายอีกว่า เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 125 มี 4 วรรค โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญาไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา” เข้าใจว่านี่คือข้อความที่พึงมีในรัฐธรรมนูญปี 60 จึงไม่แน่ใจว่าแนวปฏิบัติเดิมและแนวปฏิบัติใหม่จะเป็นอย่างไร
นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ศาลจะพิจารณาได้ถ้าไม่เกี่ยวกับสมาชิกสภา ต้องไปถูกไต่สวนบางครั้งสมาชิกสภา เป็นโจทก์ก็ไม่ต้องไปและไม่มีกฎหมายว่าต้องเอาตัวไป โดยสมาชิกสภา ก็มอบหมายให้ทนายไปดำเนินคดีได้โดยที่ศาลเห็นว่าคดีนี้ไม่มีคนคัดค้าน จำเลยก็อยากให้จบเร็ว ฝ่ายโจทก็ไม่ได้ถูกบังคับให้ไปไต่สวนอะไรปล่อยให้เป็นเรื่องของทนาย ก็ดำเนินการได้ ซึ่งมีหลายคดีที่เป็นในรูปนี้คือศาลเห็นว่าสามารถจะดำเนินคดีได้โดยที่สมาชิกสภาไม่ต้องไปในวันประชุมหรือไม่ได้ประชุมก็แล้วแต่แต่ในสมัยประชุมก็ใช้มาตรา 125 แต่สุดท้ายตกลงกันได้ว่าศาลจะดำเนินคดีไม่เสียหาย ฝ่ายสมาชิกสภา ก็ไม่เสียเวลาก็เคยมีเหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับคดี
“ในส่วนสภาได้สอบถามแล้วศาลยังไม่ได้มีหนังสือขอตัว พล.อ.พิศาล ไปดำเนินคดี และผู้ที่ถูกกล่าวหา ที่เป็น สส. ก็ไม่มีหนังสือขอไปดำเนินคดี หากเขาขอก็ต้องขออนุญาตที่สภา หรือศาลขอกก็ต้องมาขออนุญาตที่สภา แต่ขณะนี้ไม่มีการขออนุญาตเข้ามาทั้งสองฉบับ”นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายด้วยว่า วันนี้ศาลอาญาได้พิจารณาในคดีที่ตนเองเป็นจำเลยข้อหาบงการเหตุการณ์ที่พัทยา เป็นการสืบพยานโจทก์แต่พิจารณาลับหลัง ซึ่งไม่ได้ไปแต่ได้มอบหมายทนายไปดำเนินการแทน ทั้งนี้เอกสิทธิของ สส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ที่กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีสมัยประชุมก็ได้ แต่หากศาลขอมา สภาเรามีประเพณีว่าไม่ให้โดยกรณีใดทั้งสิ้นโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ความเป็นจริงตนเองต้องไปที่ศาลอาญา ซึ่งทุกคนไม่ควรไป ถ้าไม่จำเป็นอย่าไปศาลเด็ดขาด หากมีธุระควรไปกินกาแฟที่อื่น ดังนั้นเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องไม่ให้เด็ดขาด
ส่วนนายกมลศักดิ์ ชี้แจงว่า การใช้เอกสิทธิ์ของคดีตากใบ ตามมาตรา 125 วรรคท้ายทุกคนเป็นห่วง ว่าคดีจะขาดอายุความพรุ่งนี้(12 ก.ย.) หลังศาลรับฟ้องแล้ว นัดสอบคำให้การวันแรก จะครบกำหนดอายุความ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ประเด็นคือการนับอายุความต้องนับ 20 ปี เมื่อจำเลยหรือผู้ต้องหาไปศาล หากผู้ที่เป็น สส.ใช้เอกสิทธิ์ไม่ไปศาล เป็นเรื่องของสภา ที่คุ้มครอง สส.โดยประธานสภา ไม่มีอำนาจ
“เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของผู้ที่ถูกกล่าวหาที่ศาลรับฟ้องในคดีตากใบว่าหากท่านพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ท่านสามารถที่จะเดินทางไปศาลได้ เพราะมาตรา 125 วรรคท้าย ระบุว่าต้องไม่ขัดขวางการประชุม เพราะมีการประชุม พุธ พฤหัสบดี แต่วันอื่นไม่มีประชุม ท่านสามารถไปได้ ดังนั้นหากเรื่องนี้เข้าสู่สภา อยากให้เข้าใจว่าคดีนี้ต่างจากคดีอื่นๆ เนื่องจากใกล้หมดอายุความ และเรื่องนี้เป็นเรื่องทั้งสภา ไม่ใช่ประธานสภา” นายกมลศักดิ์ กล่าว
ประธานสภาชี้แจงว่า เรามีข้อบังคับของสภา ข้อ 187 กรณีมีเรื่องที่สภา ต้องพิจารณาหรืออนุญาตหรือไม่อนุญาตจับกุม หรือหมายเรียกสมาชิก ไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ในระหว่างสมัยประชุมตามมาตรา 125 นั้น ให้ประธานสภา บรรจุระเบียบวาระ การพิจาณณาก็ต้องพิจาณณาตามระเบียบวาระ แต่ขณะนี้ไม่มีเรื่องนี้มาถึงเพื่อบรรจุระเบียบวาระ ดังนั้นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ก็ต้องขอขอบคุณที่ทุกฝ่ายที่ห่วงใย เรื่องสิทธิของพี่น้องประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
ประธาน กกต. ไม่ฟังธง 'ทักษิณ' ช่วยหาเสียงชูนโยบายรัฐบาลเกินอำนาจ อบจ. ผิดหรือไม่
"อิทธิพร" เผยบัตรเลือกตั้งอบจ. เตรียมส่งถึงทั่วประเทศ เตือนผู้สมัคร หลีกเลี่ยงให้เงินแตะเอีย-สิ่งของในช่วงตรุษจีน
'มาริษ' โผล่ตอบกระทู้สดครั้งแรกยันการเมืองเมียนมาเป็นเรื่องภายใน!
'รมว.กต.' ยัน วงหารือ 5 ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีประเด็นรองรับการเลือกตั้งในเมียนมา บอกความขัดแย้งเป็นเรื่องภายใน 'กัณวีร์' แนะดำเนินการทูตแบบแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์แทนการทูตแบบเงียบๆ
เด็ก ปชน.แฉตำรวจเมืองนนท์ฯ ขอชื่อผู้ช่วยหาเสียง
'สส.ปรีติ' แฉตำรวจเมืองนนท์ฯ โทรถามรายชื่อผู้ช่วยหาเสียง ส.อบจ.ของพรรคประชาชน สงสัยเอาไปทำอะไร จี้ สตช.ให้ตำรวจวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งท้องถิ่น