'สสรท.' ยกเหตุผล 5 ข้อ ค้านขยายอายุผู้ประกันตน มาตรา 33 ชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 65 ปี

6ก.ย.2567 - สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 ชราภาพ ประกันสังคม จาก 55 ปี เป็น 65 ปี มีใจความว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้แถลงต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชนในงานพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม และรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจ พร้อมกล่าวว่า ในโอกาสที่สำนักงานประกันสังคมดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 34 ปี โดยมีสาระสำคัญ คือ “การผลักดันนโยบายหรือทิศทางการขับเคลื่อนงานประกันสังคมในปี 2568 โดยให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. อาทิ ขยายฐานอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็น 65 ปี ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39/1 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และตาย”

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ได้เฝ้าตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมเสมอมา พร้อมได้มีข้อเสนอแนะในบางเรื่องที่เป็นความต้องการของผู้ประกันตน และในบางครั้งก็ไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง ซึ่งเป็นปกติที่ สสรท. และเครือข่ายได้กระทำอย่างต่อเนื่อง และข้อเสนอให้มีการปฏิรูปประกันสังคมทั้งระบบ ซึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศว่าจะปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนนั้นเป็นเรื่องที่ดี ต้องสนับสนุนและชื่นชม และควรเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแล

แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศนโยบายที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .... ตามคำแถลง โดยเฉพาะประเด็นการขยายอายุของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการจ่ายเงินชราภาพจากเดิม 55 ปี เป็น 65 ปี สสรท. และองค์กรสมาชิกได้ประชุมร่วมกันและมีมติก่อนหน้านี้ ตั้งแต่มีนโยบายจะขยายอายุของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการจ่ายเงินชราภาพ จากเดิม 55 ปี เป็น 60 ปี สสรท. และองค์กรสมาชิก เครือข่ายแรงงานได้แสดงจุดยืนชัดเจน ว่า “คัดค้าน ไม่เห็นด้วย” มาก่อนหน้านี้แล้ว และคราวนี้จะขยายอายุของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการจ่ายเงินชราภาพจากเดิม 55 ปี เป็น 65ปี นั้น สสรท. ขอประกาศจุดยืนอีกครั้งว่า “ขอคัดค้าน ไม่เห็นด้วย” โดยมีเหตุผล ดังต่อไปนี้

1.ขัดต่อหลักการและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 ทวิ และกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทำงานเพราะคนงานส่วนมากจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี การขยายเวลาออกไป จึงเป็นการประวิงเวลาและไม่เป็นคุณกับคนงาน

2.การอ้างประกันสังคมจะล้มเนื่องจากเงินไม่พอ... เหตุเพราะรัฐบาลค้างจ่ายหลายหมื่นล้านบาท และ สัดส่วนการจ่ายสมทบลดลงจากในอัตราเท่ากัน 3 ฝ่าย คือ ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง และมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ในต้นปี 2540 จากเหตุวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” จนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมาเกือบ 30 ปี รัฐยังคงลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเหลือเพียงร้อยละ 2.75 นอกจากจ่ายเงินสมทบอัตราที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการ และผู้ประกันตนแล้ว รัฐยังค้างจ่ายเงินสมทบอีก กว่า 68,000 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้ สสรท. ต้องติดตามทวงหนี้รัฐบาล เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล

3.อีกประการหนึ่ง การอ้างว่าประกันสังคมจะล้มไม่มีเงิน เพราะบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพ เช่น การลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทนดีพอ เสี่ยง ขาดทุนจากการวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน เช่น การลงทุนในต่างประเทศ ทำให้สูญเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน กว่า 14,400 ล้านบาท (ในปี 2566)

4.กรณีที่ผู้ประกอบการบางรายไม่ชำระเงินเข้ากองทุน และมีการตัดหนี้สูญอย่างมีนัยและอาจมองได้ว่าเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางไม่สุจริต หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายเก็บเงินจากผู้ประกันตนแล้วไม่นำส่งประกันสังคม

5.นายจ้างที่เป็นส่วนราชการ จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมล่าช้า บางส่วนราชการได้รับการยกเว้นเงินเพิ่ม ก่อให้เกิดปัญหากับกองทุนต่าง ๆ ของประกันสังคม

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) จึงมีข้อเสนอเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของการประกันสังคมและเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน ดังนี้

1.ยกเลิกแนวคิดนโยบาย การขยายอายุรับเงินชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 65 ปี

2.แก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้รัฐต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราส่วนที่เท่ากันหรือมากกว่าผู้ประกอบการและผู้ประกันตน

3.ให้ขยายฐานสมาชิกประกันสังคมให้กว้างมากขึ้นให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ คนทำงานบ้าน และแรงงานข้ามชาติ

4.ปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ บริหารจัดการที่มีแบบแผน มีวิสัยทัศน์ มั่นคง ยั่งยืน

5.ดำเนินงานการลงทุนและการได้รับผลตอบแทนที่ยั่งยืนด้วยการสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม สร้างบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขของประกันสังคมเอง เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และประโยชน์ที่ได้เงินจากการลงทุนนำไปสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้การประกันสังคม และการจัดตั้งสถาบันการเงิน (ธนาคารแรงงาน) เพื่อการระดมทุนจากผู้ประกันตนจากการออม การให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน และผู้ประกอบการ (นายจ้าง)

6.กระบวนการปฏิรูปประกันสังคมต้องเป็นประชาธิปไตยผ่านความเห็นชอบของผู้ประกันตนเพราะเงินกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ของกองทุนประกันสังคมส่วนใหญ่เป็นของคนงานหรือผู้ประกันตน ดังเช่นครั้งนี้ คือ การขยายสิทธิประกันสังคมชราภาพจาก 55 ปี เป็น 65 ปี ไม่ผ่านความเห็นชอบ ไม่ผ่านความคิดเห็นจากผู้ประกันตน เป็นเหตุผลที่ สสรท. ออกแถลงการณ์คัดค้านเป็นเบื้องต้น และจะเรียกประชุมองค์กรสมาชิกและเครือข่ายเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านต่อไปจนถึงที่สุด

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและขอให้ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนได้ตระหนักในสิทธิของตนเอง และร่วมแสดงจุดยืน ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม สุภาพ อย่างเป็นเหตุเป็นผลของการคัดค้าน รวมทั้งข้อเสนอและความต้องการ ซึ่ง สสรท. จะรณรงค์สร้างการรับรู้ความเข้าใจและแสดง “จุดยืน” อย่างแจ่มชัดในโอกาสต่อไป

ด้วยความสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังของชนชั้นแรงงาน
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พิพัฒน์" เปิด มหกรรมรับงานและอาชีพอิสระ สร้างโอกาสคนไทย มีงานทำ เพิ่มรายได้ครัวเรือน พร้อมเปิดพื้นที่ให้กลุ่มอาชีพ มาค้าขายสินค้าในกระทรวงแรงงาน

วันที่ 4 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานมหกรรมรับงานและอาชีพอิสระ เพื่อคนไทยมีอาชีพ มีรายได้ DOE Craft Fair 2024 โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์

"พิพัฒน์" เร่งช่วยคนงานเหตุแท่นพิมพ์หนีบศีรษะ ส่งประกันสังคม ดูแลครอบครัวรับสิทธิประโยชน์

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 น. ได้เกิดเหตุเครื่องพิมพ์หนีบศีรษะลูกจ้างชาวเมียนมาเสียชีวิต ย่านจอมทอง กรุงเทพฯ และขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมมอบ

"พิพัฒน์" ลุยนครพนม ส่งเสริมเลี้ยงต่อหัวเสือ มอบเครื่องมือทำกินแรงงานอิสระ เพิ่มรายได้ครัวเรือน

วันที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลกินต่อหัวเสือโลก เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2567

"พิพัฒน์" พลิกโฉมแรงงานรุ่นใหม่ สู่การจ้างงานยุคดิจิทัล Thailand Digital Employer Day 2024 ผนึกเครือข่าย เตรียมคนทำงานสู่อนาคต

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Digital Employer Day 2024 ‘ยกระดับแรงงานดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน” พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ

รมว.พิพัฒน์ ห่วงเหตุการณ์ดินถล่มอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ จ.นครราชสีมา สั่งประกันสังคมเตรียมให้การช่วยเหลือสิทธิกองทุนเงินทดแทน 3 แรงงาน โดยเร่งด่วน

จากกรณีเกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิตร ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน