เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำเหนือต่อเนื่อง เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำเฝ้าระวังน้ำสูงขึ้น
29 ส.ค.2567 - สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันนี้ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ยังทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดอยู่ในอัตรา 900-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำฉบับที่ 5 ของกรมชลประทาน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้
ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ c.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 1,270 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่ อ.เมืองชัยนาท มีปริมาณ 1,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 187 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
กรมชลประทาน ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา รวมกันในอัตรา 225 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระบายน้ำออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อน ที่ อ.เมืองชัยนาท ลดลงจากเมื่อวาน 45 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 15.96 เมตร(รทก) เพิ่มพื้นที่รับน้ำเหนือ แต่ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่ อ.สรรพยา สูงขึ้นจากเมื่อวาน 75 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 12.10 เมตร(รทก) ต่ำกว่าตลิ่ง 4.24 เมตร
และตลอดทั้งวันนี้ จะมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ต่อเนื่องไปจนถึงอัตรา 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามการแจ้งของกรมชลประทานก่อนหน้านี้ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคั้นกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 50 ซม. ถึง 1.50 เมตร จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ด้านนางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท สั่งการให้นางนำสุข การภักดี ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด สำรวจ ตรวจสอบ อุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ซักซ้อมบุคลากรเตรียมความพร้อมหากเกิดอุทกภัยในพื้นที่ และเตรียมการออกคำสั่งจัดทีมช่วยเหลือกรณีเร่งด่วน โดยพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดชัยนาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภา อบจ.ชัยนาท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อย่าตื่นตระหนก และติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นไปตามความจำเป็นตามสถานการณ์ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา หากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในช่วงระดับวิกฤติที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทางภาครัฐจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศปช. เตือนชุมชนริมน้ำ 7 จังหวัดระวังน้ำท่วม หลังน้ำทะเลหนุนต่อเนื่อง 10 วัน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช. ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ภายหลังนายกรัฐมนตรีเปิดงาน โครงการไทยแลนด์วินเทอร์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในทุกมิติที่ผ่านมานั้น
ศปช. เตือน 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับมือน้ำสูงขึ้น 30-50 ซม.
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่บริเวณจังหวัดอุทัยธานี
กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยารับมือน้ำสูงอีกครึ่งเมตร
กลับมาอีกแล้ว! กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยารับมือน้ำสูงขึ้นอีก 50 ซม. หลังแม่น้ำสะแกกรังไหลลงเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เตรียมเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,900 ลบ.ม./วินาที
เอาแล้ว! เขื่อนเจ้าพระยากลับมาเพิ่มการระบายน้ำอีกระลอก
เขื่อนเจ้าพระยากลับมาเพิ่มระบายน้ำขึ้นอีกรอบ หลังฝนตกทำให้แม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำสะแกกรัง เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตอนบนของประเทศ ฝนลดลง ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน สำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด
เมื่อวันนี้ 15 ต.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา
ศปช. อัปเดตสถานการณ์น้ำทั่วไทย ภาคกลางแนวโน้มดี คืบหน้าเยียวยา-ฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ยังตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงนี้