'อดีตผู้ฝูง เอฟ-16' โพสต์ชำแหละ 7 ข้อเสนอ ล็อคฮีด มาร์ติน สหรัฐฯ แนะให้ผู้มีอำนาจ-ทอ. ขอดูรายละเอียดให้ครบถ้วน อย่าเป็นแค่ข้อเสนอทิพย์ บี้ใช้link16ฟรี- ให้ใบอนุญาต link TH ปลดแอกระบบสั่งการและพัฒนาอุตฯป้องกันประเทศ
2ส.ค.2567- น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย อดีตนักบิน F-16 และอดีตผู้บังคับฝูงบิน 102 โพสต์เฟสบุ้คส่วนตัวถึงข้อเสนอของบริษัทผู้ผลิต F-16 block 70/72 ใน EP 3 : นโยบายชดเชยและข้อเสนอการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง จากล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ตอนสุดท้าย โดยระบุว่า ใน EP 2 ได้นำข้อเสนอของบริษัท Lockheed Martin มาเล่าให้ฟังไปแล้ว 3 ข้อ พร้อมกันนั้นก็ฝากข้อแนะนำต่างๆให้กับผู้มีอำนาจว่า ควรให้ผู้เสนอคือ Lockheed Martin ช่วยระบุรายละเอียดต่างๆลงไปในข้อเสนอเพื่อให้มีรายละเอียดเพียงพอที่กรรมการจัดซื้อไปจนถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลสามารถใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะเลือกซื้อเครื่องบินจากบริษัทไหน?ด้วยเหตุผลอะไร? ใน EP 3 นี้ผมจะนำข้อเสนอ 4 ข้อที่เหลือ พร้อมกับข้อเสนอแนะ นำเรียนท่านผู้อ่านทุกท่านดังต่อไปนี้
ข้อที่ 4 บริษัท Lockheed Martin เสนอให้มีการยกระดับมาตรฐานการรับ - ส่งข้อมูล (Advanced datalink upgrade) ระหว่าง F-16 Block 70/72 ที่จะซื้อใหม่ กับ F-16 AM/BM eMLU และรุ่นย่อยอื่น ๆ ของกองทัพอากาศไทยที่มีอยู่เดิม ข้อเสนอนี้ก็ดีนะครับ แต่ผมเห็นว่ายังไม่ดีพอ เพราะในปัจจุบัน TDL (Tactical Datalink) สำหรับ F-16 จะแบ่งเป็น Link 16 ที่จะมาพร้อมกับ package ของการจัดซื้อ F-16 Block 70/72 ซึ่งหากจะรับ-ส่งข้อมูลกับ F-16 ที่ ทอ.มีใช้อยู่แล้ว ก็เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่บริษัทฯเสนอได้อย่างแน่นอน แต่ที่ยังไม่ทราบก็คือ สหรัฐอเมริกา จะให้เราใช้ Link 16 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือไม่ เพราะเดิมหาก ทอ.จะใช้ Link 16 ก็ต้องจ่ายค่าใช้ Link เป็นจำนวนหลายพันล้านบาท ซึ่งผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ Link มาตรฐาน NATO เพราะเราไม่ได้รบกับใคร และคงไม่ได้ส่งเครื่องบินรบของเราไปสนับสนุนการรบในสมรภูมินอกประเทศ เหมือนกับประเทศในเครือ NATO อื่นๆที่อาจมีความจำเป็น
แต่ที่อยากได้มากกว่า และถ้า Lockheed Martin เสนอมาจริงก็น่าเชียร์ นั่นก็คือ การได้รับอนุญาต (export license) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำหรับการให้ความช่วยเหลือในการติดตั้ง National Datalink (Link TH) ของไทย บนเครื่อง F-16 ปัจจุบันที่กองทัพอากาศมีใช้งานอยู่ รวมถึงการช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมไทยสามารถสร้างระบบ Air Command and Control (ACCS) ที่เป็นของตนเอง โดยใช้ TDL Gateway เป็นตัวเชื่อมการปฏิบัติงานระหว่าง F-16 Block 70/72 (Link 16) กับ National Datalink (Link TH)
“ที่ผ่านมา ผมทราบจากอดีตผู้บังคับบัญชาของผม (เกษียณ ยศ พล.อ.อ. และ อยู่ในโครงการจัดหาเครื่องกริพเพนฝูงแรก)ว่า ในปัจจุบัน ทอ.ยังต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติ และบริษัทต่างชาติก็ได้แจ้ง ทอ. เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนแล้วว่า ทอ.ไม่มีสิทธิ์ในระบบ TDL ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินรบของเขา และไม่มีสิทธิ์ในระบบ ACCS ของ ทอ.ที่พัฒนาร่วมกันมา โดยการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมการบูรณาการร่วมกับระบบ หรือ platform อื่นๆ จะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลต่างชาติ และต้องจ้างงานแก่ บริษัทต่างชาติ เท่านั้น ฟังแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจ ถ้าระบบ ACCS ของไทยยังไม่มีอธิปไตย และต้องไปขออนุญาตจากรัฐบาลต่างชาติ จะพัฒนาต่อยอดอะไรก็ไม่มีอิสระ ทั้งๆที่เป็นระบบหลักของ Network Centric Operation ตามหลักนิยมของ ทอ. แต่ก็สบายใจขึ้นมาบ้างว่า โครงการจ้างปรับปรุงโครงสร้างอากาศยานและระบบ Avionics รวมทั้งระบบอาวุธของ Alpha Jet หรือ บจ.7 โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกทดแทน บ.ฝ.๑๙ ที่ ทอ.เลือกแบบเป็นเครื่องบินฝึก T-6 และ การจัดหาเครื่องบินโจมตีเบา(AT-6) ของ ทอ. ทั้ง 3 โครงการประสบความสำเร็จในการดำเนินการขออนุญาต (export license) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา”
สำหรับการได้รับ software source code เพื่อสามารถพัฒนาต่อยอด ปรับปรุง ดัดแปลง เพิ่มเติมการบูรณาการระบบร่วมกับระบบอื่นๆ ได้เอง และมีระบบ System Integration Lab ตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องกลับไปพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ หรือขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีก ทำให้ ทอ.มีความเป็นอิสระในการที่จะพัฒนาระบบ National Tactical Datalink ที่เป็นของตนเองได้
“ย้ำอีกครั้ง! ข้อนี้สำคัญนะครับ ถือเป็นลายแทงที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ใครจะขาย F-16 หรือ ใครจะขาย กริพเพน ถ้าเสนอนโยบายชดเชยข้อนี้มา ถือเป็นการปลดแอกออกจากบ่าของ ทอ.ในทันที หรือ เครื่องบินรุ่น 4.5 จากบริษัทอื่นๆที่สนใจเข้าแข่งขัน เสนอออฟชั่นนี้มา ผมเชื่อว่ามีโอกาสคะแนนนำคนอื่นอย่างแน่นอน และ ระบบ ACCS ของไทย จะได้เป็น “ไท” เสียที คนไทยทั้งประเทศรอ เชียร์ เชียร์ และ เชียร์ ครับ”
ต่อไปคือข้อที่ 5 ข้อนี้ Lockheed Martin เสนอให้มี การฝึกอบรมการบำรุงรักษาเครื่องบินขับไล่ (Fighter Maintenance Training) เพิ่มเติมสำหรับ ทอ. ซึ่งผมเห็นว่าคงไม่ต่างกับบริษัทอื่นๆ เพราะการฝึกอบรมการบำรุงรักษาเครื่องบิน เป็นสิ่งปกติที่จะต้องมีให้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทุกชนิดอยู่แล้ว ข้อ 6 Lockheed Martin เสนอความเป็นไปได้ในการให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain opportunities) ในการผลิตชิ้นส่วนให้กับ Lockheed Martin
เช่นเดียวกับความเห็นในข้อ 3 ใน EP 2 ครับ การให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิ้นส่วนให้กับ Lockheed Martin นั้น จะชัดเจนก็ต่อเมื่อมีการแสดงรายละเอียดในสัญญาจัดซื้อเครื่องบินครับ โดยในสัญญาต้องระบุให้เกิดการจ้างงานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยในปริมาณหรือมูลค่าที่ตกลงร่วมกัน ควบคู่ไปกับการอบรมบุคลากรระหว่างปฏิบัติงาน (On the Job Training) จึงจะเห็นผลและจับต้องได้จริง และผลงานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าว จะต้องเป็นหนึ่งในหัวข้อการตรวจรับงวดงานด้วย
และข้อสุดท้ายคือข้อที่ 7 บริษัทเสนอเรื่อง การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainment Capabilities) สำหรับประเทศไทยในข้อนี้ผมมีความเห็นว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความชัดเจน โดยมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้จริง ที่ผ่านมา ทอ.ได้จัดซื้อเครื่องบินรบ โดยมีสัญญาเรื่องความเป็นอิสระด้าน Software Core Avionics หรือ Operational Flight Program (OFP) แต่บริษัทที่ขาย ก็ไม่เคยให้ความเป็นอิสระของระบบ TDL และ ACCS โดยอ้างว่าจะต้องขออนุญาตรัฐบาลตัวเองเพื่ออนุมัติก่อนทุกครั้ง การพัฒนาเช่นนี้จึงไม่ยั่งยืน และไม่เคยมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง พึ่งจะมีการจัดซื้อเครื่อง AT-6 ล่าสุดนี่แหละครับ ที่มีหลักฐานระบุไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน และ ทอ.มีอิสระในการพัฒนาระบบต่อไปโดยไม่ต้องไปขออนุญาตใครหน้าไหนอีกแล้ว
สรุปนะครับ ใน EP 2 และ EP 3 ข้อเสนอทั้งหมด เป็นเพียงการแถลงการณ์จากฝั่งผู้ผลิตอย่าง Lockheed Martin เท่านั้น ในขณะที่ ทอ. ยังไม่ได้มีการแถลงข่าวถึงกรณีนี้เพิ่มเติม และยังไม่มีการนำข้อเสนอของบริษัท SAAB มาเปิดเผยแต่อย่างใด แต่ผมเชื่อว่าเดี๋ยว ทอ. ก็คงนำมาเปิดเผยครับ เพราะ ผบ.ทอ.ท่านนี้ ท่านเป็นคนตรงไปตรงมา สุดท้ายแล้ว ทอ.จะเลือกเครื่องบินรบฝูงใหม่จากบริษัทไหน คงมีการชี้แจงข้อเสนอของทุกฝ่ายและให้คะแนนกันอย่างโปร่งใสแน่นอน
ใน EP ต่อไปคอยติดตามแนวทางและบรรทัดฐานการระบุเงื่อนไข OFFSET สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ผลิตต่างประเทศ กันนะครับ เรื่องนี้เหมาะกับกรรมาธิการงบประมาณทุกท่าน สามารถนำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขสำหรับการใช้เงินแผ่นดินไปซื้อครุภัณฑ์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศทุกประเภท ไม่จำกัดแค่เครื่องบินรบครับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นอ.อนุดิษฐ์ ได้โพสต์ข้อมูลใน EP2ในเรื่องผลประโยชน์ด้านที่ 1 ที่ Lockheed Martin เสนอ ก็คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research & Development Center) เพื่อยกระดับแรงงานไทยในหลากหลายด้าน “ข้อนี้ฟังดูดี แต่ กรรมการจัดซื้อฯ คงต้องถาม Lockheed Martin กลับไปว่า บริษัทต้องการจะทำอะไรบ้าง ทำแค่ไหน ขอให้ระบุรายละเอียดแผนการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวลงไปด้วย ว่าจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร และมีเป้าหมายในการยกระดับแรงงานไทยแค่ไหน อย่างไร เพราะหากไม่มีรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ ก็พูดยากว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายชดเชย หรือ Offset Policy หรือเปล่า”
ผลประโยชน์ด้านที่ 2 คือ การฝึกอบรมวิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง (Advanced aerospace engineering training) ให้กับพันธมิตรในไทย รวมถึงกองทัพอากาศไทย “เรื่องนี้ก็เช่นกัน ต้องระบุหัวข้อและรายละเอียดมาให้ด้วยว่า จะมีการฝึกอบรมวิศวกรรมอากาศยานขั้นสูงในหัวข้ออะไรบ้าง ผมยกตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยเสนอว่าต้องการสร้าง UCAV ได้เอง Lockheed Martin จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทยสามารถสร้าง UCAV ได้เองหรือไม่ เป็นต้น”
ผลประโยชน์ด้านที่ 3 คือ การพัฒนาแรงงานในภาคการผลิต (Manufacturing workforce development) สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง “ข้อนี้ก็สำคัญครับ เพราะหากทาง Lockheed Martin ต้องการให้เกิดการพัฒนาแรงงานในภาคการผลิตนี้ได้จริงและจับต้องได้ ในเอกสารข้อเสนอต้องมาพร้อมเอกสารข้อตกลง รวมถึงผู้ร่วมมือที่จะต้องผลิตตามข้อผูกพันเพื่อส่งมอบแก่ Lockheed Martin โดย ทอ. ต้องนำเอกสารเหล่านั้นตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบกับผู้เสนอจากสวีเดน”
โดย นอ.อนุดิษฐ์ ยังระบุว่ากำลังรวบรวม หาข้อมูลในการเขียนเรื่องข้อเสนอของ SABB บริษัท GripenE/F ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’
ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ
'ภูมิธรรม' ไฟเขียว ทอ. เลือก 'กริพเพน' ของสวีเดน แจงทูตสหรัฐฯแล้วไม่กู้เงินซื้อเอฟ-16
นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติของกองทัพอากาศ (ทอ.)ถึงความคืบหน้าในการอนุมัติแบบเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ว่า ขณะนี้กำลังจะเลือกแบบของเครื่องบินขับไล่กริพเพนมาประจำไว้อีก 1 ฝูงบิน
รวม กิจกรรมวันเด็ก กองทัพอากาศ จัดเต็มเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก
พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีซ้อมใหญ่เปิดงานวันเด็กแห่งชาติของกองทัพอากาศ ประจำปี 2568 “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง”
ทอ. เฝ้าระวังน่านฟ้าชายแดน ตรวจเข้มเครื่องบิน-โดรน
ทอ.ยันเฝ้าระวังน่านฟ้าชายแดน มอร์นิเตอร์เครื่องบิน-โดรน ลุกล้ำ ยันไทยไม่ออกไปปฏิบัตินอกแนว เดินหน้าตั้ง ศรอ. จับมือเหล่าทัพรักษาผลประโยชน์ชาติ มีกม.รองรับการทำงาน
ทอ. ส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 สกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย ชายแดนไทย-เมียนมา
กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก
ทอ.ปรับโครงสร้างใหญ่ เตรียมเปลี่ยนชื่อเป็น 'กองทัพอากาศและอวกาศ'
พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ แถลงภายหลังประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ถึงการปรับโครงสร้างกองทัพอากาศ ตามที่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการ