'วินทร์' เล่าอีกมุมของ 'มารี อังตัวเน็ตต์' ปฏิเสธหนีจากคุก ยอมรับชะตากรรมอย่างสง่างาม

AFP

30 ก.ค.3567- วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าประวัติเจ้าหญิงแห่งออสเตรีย มารี อังตัวเน็ตต์ ว่าประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1755 ทรงสิริโฉมงดงาม เส้นเกศาสีบลอนด์ พระเนตรสีน้ำทะเล ทรงสนพระทัยดนตรีและศิลปะ เคยเล่นดนตรีคู่กับโมสาร์ทหลายครั้ง

สงครามและสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปห้วงเวลานั้นทำให้ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงถูกบังคับให้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายดอร์แฟ็ง ลุยส์-ออกุสต์ แห่งฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1774 กษัตริย์หลุยส์ที่ 15 สวรรคต พระสวามีของพระนางทรงขึ้นบัลลังก์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มารี อังตัวเน็ตต์ ก็ทรงกลายเป็นราชินีฝรั่งเศส ทว่าทรงไม่ใช่ราชินีในฝันของประชาชน มิใช่เพราะชาติกำเนิดเป็นออสเตรีย ผู้คนวิพากษ์พระนางที่ทรงใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อในราชสำนัก งานเลี้ยง ละคร การพนัน การแต่งพระองค์ ฯลฯ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนกำลังอดอยากยากแค้น

เล่าขานกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า เมื่อ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงได้ยินว่าประชาชนอดอยากไม่มีกินแม้แต่ขนมปังขึ้นรา พระนางตรัสว่า “ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ”

กลายเป็นคำคมประจำศตวรรษ ทว่าในกาลต่อมา นักประวัติศาสตร์หลายคนแย้งว่า ความจริง มารี อังตัวเน็ตต์ ไม่เคยทรงเอ่ยประโยคนั้น เป็นการสร้างกระแสเกลียดชังพระนางต่างหาก

ในปี ค.ศ. 1789 ไฟปฏิวัติกำลังคุกรุ่น ฝรั่งเศสก้าวย่างสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรุนแรง หลังจากประชาชนบุกเข้าทำลายคุกบาสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม แม้ชีวิตของพระนางจะอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง แต่ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงยืนหยัดเคียงข้างพระสวามีที่อำนาจในพระหัตถ์ลดน้อยลงไปทุกวัน

การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ราชวงศ์ถูกควบคุมตัวเป็นนักโทษ ขึ้นศาลประชาชนข้อหาทรยศต่อแผ่นดิน ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงถูกศาลประชาชนตัดสินประหาร

มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงรู้ว่าไม่ช้าก็เร็ววาระสุดท้ายของพระนางจะมาถึง แต่ทรงปฏิเสธแผนการช่วยพระนางหนีออกไปจากคุกทุกแผน

วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1793 มารี อังตัวเน็ตต์ ในสถานะนักโทษหมายเลข 280 ประทับยืนอยู่ต่อหน้าศาล แม้ทรงรู้ว่าคำพิพากษาประหารนั้นถูกกำหนดมาก่อนแล้ว แต่ก็ทรงตอบคำถามและโต้ข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน เยือกเย็น ทรงยืนรับฟังคำตัดสินประหารชีวิตอย่างสงบนิ่ง แม้แต่คนที่เกลียดชังพระนางก็ยังยกย่องความองอาจนั้น

สองวันต่อมา มารี อังตัวเน็ตต์ พระชนมายุสามสิบเจ็ดพรรษา ทรงเขียนจดหมายลาตาย เวลาสิบโมงเช้าวันนั้น ราชินีเชื้อชาติออสเตรียในภูษาเรียบสีขาวก็ดำเนินสู่ลานประหารอย่างเงียบสงบ

ชั่วขณะหนึ่ง พระนางทรงเผลอเหยียบเท้าของเพชฌฆาต ตรัสคำขอโทษอย่างสุภาพ แล้วถูกบั่นเศียรด้วยคมกิโยติน
แม้ว่า มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงมิใช่ราชินีที่ดีในประวัติศาสตร์ของโลก แต่ความสงบและความกล้าหาญของพระนางที่เผชิญหน้าความตายอย่างไม่พรั่นพรึง ทำให้หลายคนมองพระนางต่างจากเดิม

เมื่อแพ้แล้วก็ยอมรับชะตากรรมอย่างสง่างาม ไม่ตีโพยตีพาย ไม่เป็นขี้แพ้ชวนตี ไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ครูสลา - โอม ค็อกเทล - แม็ก เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์' คว้ารางวัลอันทรงเกียรติ

ครูสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) พร้อมด้วย โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวงค็อกเทล (Cocktail) และ แม็ก-ธิติวัฒน์ รองทอง นักร้องนำและมือเบสวง เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์ (The Darkest Romance) ได้รับรางวัล "เพชรในเพลง" ประจำปี 2567

12 ศิลปินแห่งชาติมือฉมัง ปั้นนักเขียนคลื่นลูกใหม่ก้าวสู่มืออาชีพ

เป็นอีกครั้งที่ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ชื่อดังมาถ่ายทอดความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์บนถนนนักเขียนเพื่อจุดประกายให้นักเขียนรุ่นใหม่มีความรู้และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์วรรณกรรมให้แก่ผู้ที่มีความสนใจในการเขียนทั้งนวนิยาย  เรื่องสั้น  สารคดี และกวีนิพนธ์ กว่า 80 คน

สิ้นศิลปินแห่งชาติ ฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร

6 มิ.ย. 2567 - นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานว่า นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์) พ.ศ. 2565 ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2567

ศิลปินนักร้องชื่อดังหลากรุ่น ร่วมเชิดชู 'สมาน กาญจนะผลิน'

จบลงอย่างสวยงาม กับคอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง 103 ปี ชาตกาล "เพลงคู่...ครูสมาน กาญจนะผลิน" เมื่อวันนี้ บ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เปิดงานช่วงแรกด้วย 2 พิธีกร โกมุท คงเทศ และ ขวัญรวี กาญจนะผลิน ที่ชวน จิรวุฒิ กาญจนะผลิน ทายาทครูสมาน มาเล่าเรื่องราว การประพันธ์เพลงของครูสมาน กาญจนะผลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล) ปี 2531ให้ฟังกัน

ศิลปินแห่งชาติ แพร่บทความเรื่องการใช้เงินให้เป็น กรณีสกายวอล์กแยกปทุมวัน

นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สองวันนี้มีหลายคนถามผมว่าคิดอย่างไรกับงานออกแบบอัตลักษณ์เมือง (พวกเขาใช้คำฝรั่งว่า City Branding) ของกทม. ผมจะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องการออกแบบ เพราะมันเป็นเรื่อง subjective บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา