'อ.เจษฎา' ย้อนถาม 'กรมประมง' ใส่ข้อมูลการส่งออก 'ปลาหมอเทศข้างลาย' ผิด 4 ปีเลยหรือ

26 ก.ค.2567- ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

อ่านข่าวนี้ ด้วยความแปลกใจ มีคำถามตามมาเยอะเลยครับ หึๆ

- สรุปว่า ช่วงปี พ.ศ. 2556-2559 มีข้อมูลระบุจากกรมประมง ว่า มีข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำ จาก 11 บริษัท ไปยัง 17 ประเทศ จำนวนกว่า 2 แสนกว่าตัว (ผมเห็นเอกสารไฟล์เอ็กเซลแล้ว ซึ่งระบุว่า เป็น "blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron)" แต่ชื่อไทย ใช้ว่า "ปลาหมอเทศข้างลาย" ครับ)

- แต่อธิบดีกรมประมง ให้ข้อมูลว่า น่าจะเป็นความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งที่ส่งออก ที่ใส่ชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อสามัญ ของปลาหมอเทศข้างลาย ผิด ? (ห่ะ ? . ง่ายๆ อย่างนั้นเลยเหรอครับ)

- เกิดคำถามว่า เจ้าหน้าที่ชิปปิ้ง จะใส่ข้อมูลผิด ติดต่อกันทั้ง 11 บริษัท ทุกรอบการส่งออก ตลอด 4 ปี เลยเหรอ ? (ส่งออกกันเป็น 100 กว่ารอบเลยมั้งครับ ถ้าจำไม่ผิด)

- แล้วกรมประมง ไม่เอะใจตรวจสอบเลยหรือ ตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งออก ปล่อยให้ "กรอก" ข้อมูลผิดพลาดได้อย่างไร ตลอด 4 ปี ?

- จะมั่นใจได้อย่างไร ว่าปลากว่า 2 แสนตัวนั้น ไม่มี "ปลาหมอคางดำ" ออกไปด้วย

- แล้วพอหลังปี 2561 ที่มีประกาศห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง และส่งออกปลาหมอคางดำแล้ว .. ก็ไม่มีการส่งออก "ปลาหมอคางดำ" อีกเลย ... ถ้าเป็น "ปลาหมอเทศข้างลาย" จริง ผู้ส่งออกก็น่าจะยังส่งออกได้ (คือหลังปี 2559 ก็ไม่มีการส่งออกแล้วครับ )

- แล้วพวกพ่อแม่พันธุ์ปลา ที่เคยเพาะพันธุ์ไว้ส่งออกเนี่ย มีการจัดการทำลายอย่างไร เอาไปปล่อยลงแม่น้ำลำคลองหรือเปล่า ?

ท่าทางปริศนาเรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำในอดีต จะยังคงเป็นคำถามคาใจกันอีกนานครับ หึๆ
------------
(ข่าว) อึ้ง!! กรมประมง อ้างชิปปิ้ง กรอกข้อมูลผิด 4 ปี ‘ปลาหมอคางดำส่งออก’

ประเด็นคำถาม ที่สังคมยังสงสัยว่า ไทย มีการส่งออก “ปลาหมอคางดำ” ในช่วงปี 2556-2559 กว่า 3 แสนตัว ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ เป็นปลาต่างถิ่น ที่ห้ามนำเข้ามาเพาะเลี้ยง ซึ่งกรมประมงได้ออกมายอมรับว่า มีข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำ จาก 11 บริษัท ไปยัง 17 ประเทศ

จากข้อมูลกรมประมงพบว่า บริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำมากเรียงตามลำดับจำนวนส่งออกมากไปน้อย ดังนี้ หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์ ส่งออก 162,000 ตัว, หจก. ซีฟู้ดส์ อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต 30,000 ตัว, บจก.นิว วาไรตี้ 29,000 ตัว, บจก. พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง 3,638 ตัว, บจก.ไทย เฉียน หวู่ 2,900 ตัว ส่วนอีก 6 บริษัท ประกอบด้วย บจก. แอดวานซ์ อควาติก บจก.เอเชีย อะควาติคส์ บจก.หมีขาว หจก. วี. อควาเรียม บจก.สยามออร์นา เมนทอล ฟิช และ หจก.สมิตรา อแควเรี่ยม ส่งออก100-900 ตัว

แต่อธิบดีกรมประมง บัญชา สุขแก้ว ให้ข้อมูลกับ คณะอนุกรรมาธิการว่า จากการตรวจสอบ บริษัทผู้ส่งออกทั้ง 11 ราย พบว่า ในเอกสารส่งออกระบุว่า ปลาที่ส่งออก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron ชื่อสามัญว่า Blackchin tilapia ชื่อภาษาไทยว่า “ปลาหมอเทศข้างลาย” ซึ่งน่าจะเป็นความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งที่ส่งออก ที่ใส่ชื่อ วิทยาศาสตร์ และชื่อ สามัญ ของปลาหมอเทศข้างลายผิด?

เกิดคำถามตามมาว่า เป็นคำตอบที่ยอมรับได้หรือไม่ ? เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งใส่ข้อมูลผิดติดต่อกันทั้ง 11 บริษัท ทุกรอบการส่งออกตลอด 4 ปี เลย โดยที่กรมประมงไม่เอะใจตรวจสอบเลยหรือว่า เป็นปลาต่างถิ่นห้ามเพาะเลี้ยง แต่มียอดส่งออกได้อย่างไร

สอดคล้องกับ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานอนุกรรมธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่ให้ข้อมูลหลังเข้าตรวจกรมประมงว่า ปมการส่งออกที่แจ้งว่า เป็นความผิดพลาดของ เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งในการกรอกเอกสารนั้น อาจพอรับฟังได้ แต่ก็เก็บคำถามว่า แล้วทำไมกรมประมง ไม่สงสัย และไม่ตรวจสอบตั้งแต่ปีแรกที่เห็นยอดการส่งออก ปล่อยให้ข้อมูลผิดพลาดได้อย่างไรตลอด 4 ปี

เมื่อย้อนไปในช่วงเวลานั้น อาจยังไม่มีชื่อเรียก ปลาหมอคางดำ ซึ่งสอดคล้องกับ อ.เจษฎ์ - ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า ยุคนั้นทำไมไม่รู้ถึงเรียกปลาหมอคางดำ ว่า ปลาหมอเทศข้างลาย ตั้งแต่ในเอกสารที่ขอนำเข้ามาวิจัยแล้ว (โดนให้แก้จากปลานิลเป็นปลาหมอเทศข้างลาย) ซึ่งเดาว่า ตอนนั้นยังไม่บัญญัติชื่อ ปลาหมอคางดำ

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ มีความเป็นไปได้ว่าปลาที่ส่งออก มีโอกาสเป็นปลาหมอคางดำมากกว่า และยิ่งน่าสงสัยว่า หลังจากปี 2561 ที่ กรมประมงประกาศห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง และส่งออกปลาหมอคางดำแล้ว ไม่มีการส่งออกอีกเลย ถ้าปลาเป็นปลาหมอเทศข้างลายจริง ผู้ส่งออกก็น่าจะยังส่งออกได้ ไม่จำเป็นต้องหยุดหลังจากประกาศห้ามเลย สำคัญไปกว่านั้นคือ หลังจากปี 2559 ที่ไม่มีการส่งออกอีก แล้วปลาสวยงามที่ได้เพาะเลี้ยงไว้ รวมถึงพ่อแม่พันธุ์ปลาที่นำมาเพาะพันธุ์ ผู้ประกอบการมีการจัดการกับปลาเหล่านั้นอย่างไร แล้วปลาทั้งหมดอยู่ที่ไหน เพราะหากการจัดการคือการปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง ก็แทบไม่ต้องสงสัยแล้วว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำนั้นมาจากไหน และเมื่อดูแหล่งที่อ้างว่าพบการระบาดของปลาก็ยังมีความเป็นไปได้ เพราะแหล่งเพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อยู่ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีแหล่งน้ำที่สามารถเชื่อมต่อมาถึงจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาครได้

ข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำ จึงต้องได้รับการตรวจสอบหาความชัดเจน เพื่อให้สิ้นสงสัยมากกว่าจะการอ้างว่า เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งกรอกข้อมูลผิดมาตลอด และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรยอมรับถึงความบกพร่องในระบบการตรวจสอบติดตาม เพื่อวางแนวทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เฉลิมชัย' เข้มสั่ง ทส. จัดการ 'ปลาหมอคางดำ' ต่อเนื่อง

“เฉลิมชัย” สั่งกำชับ ทส.แก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ”เข้มข้น ย้ำทำมาต่อเนื่อง ให้ประสานประมง-ท้องถิ่น เร่งแผนควบคุม-กำจัด พร้อมติดตามประเมินผลใกล้ชิด

ประมงนครฯ และสุราษฎร์ฯ ยันปลาหมอคางดำเบาบางลง หลังมาตรการได้ผล เดินหน้าต่อ จับมือ CPF ปล่อยปลาผู้ล่าลดปริมาณปลาในระยาว

ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี โชว์มาตรการปราบปลาหมอคางดำได้ผลดีทั้งสองจังหวัด หลังสำรวจพบปลาหมอคางดำเบาบางลง พร้อมเดินหน้ามาตรการต่อเนื่องทันที ด้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ หนุนอีก 3

เอาแล้ว! เลขาฯไบโอไทย เจอหมายเรียกปมปลาหมอคางดำ

เฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถีโพสต์ข้อความ ระบุว่าหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแจ้งความดำเนินคดี นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ