25 ก.ค.2567 - ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทำไมเรียก ปลาหมอ(สี)คางดำ ... ไม่เรียก ปลานิลคางดำ"
มีแฟนเพจท่านหนึ่งที่เป็นคุณครูทางชีววิทยา ส่งคำถามนี้มาครับ ว่าถ้าเจ้าปลาหมอคางดำมันดูหน้าตาคล้ายปลานิล ทำไมเราไม่เรียกว่า "ปลานิลคางดำ" กัน แทนที่จะเรียกว่าปลาหมอคางดำ ?
คำตอบแบบสั้นๆ ก็คือ ชื่อ "ปลานิล" เป็นชื่อพระราชทานเฉพาะของปลาชนิดหนึ่ง ในวงศ์ "ปลาหมอสี" ซึ่งที่มาของชื่อนั้น มาจากแม่น้ำไนล์ .. ทำให้ปลาชนิดอื่นๆ ในวงศ์นี้จะเรียกคำขึ้นต้นว่าเป็น ปลาหมอ(สี) ไม่เรียกว่า "ปลานิล" ครับ
ส่วนด้านล่างต่อไปนี้ จะอธิบายแบบยาวๆ (ตามข้อมูล+ความเข้าใจของผม) น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นนะครับ
- แต่ดั้งแต่เดิม ในไทยเรามีแต่ "ปลาหมอไทย" (ชื่อสามัญ climbing perch ชื่อวิทยาศาสตร์ Anabas testudineus) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลาหมอ (family Anabantidae) โดยพบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป กระจายพันธุ์ในทุกภาคของประเทศไทย และอีกหลายประเทศของเอเชีย เป็นปลาที่รู้จักกันดี และนำมาเป็นอาหารมานานแล้ว (ชื่อ "ปลาหมอ" มาจากความเชื่อที่ว่า ถ้าได้ปล่อยปลาชนิดนี้ จะทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ)
- ต่อมา ในปี พ.ศ. 2492 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) บุญ อินทรัมพรรย์ แห่งคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเอา "ปลาหมอเทศ" (ชื่อสามัญ Mozambique tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis mossambicus) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (family Cichlidae) และห่างจากวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอัฟริกา แต่มีรูปร่างคล้ายกับปลาหมอไทย เข้ามาจากปีนัง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง (จึงเรียกชื่อปลานี้ว่า "ปลาหมอเทศ" ทั้งที่อยู่คนละวงศ์ family กันเลย)
- ในปี พ.ศ. 2495 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทดลองเลี้ยงปลาหมอเทศ ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นำเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวาย ที่สระน้ำในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน และมีพระราชดำริให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศ ไปเลี้ยงและขยายพันธุ์
- จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วราชอาณาจักร เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานลูกปลาหมอเทศที่ทรงเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไว้ ไปปล่อยขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มีปลาเป็นอาหารโปรตีนบริโภค เป็นประโยชน์แก่การดำรงชีพของประชาชนในชนบท
- แต่การส่งเสริมการเลี้ยงปลาหมอเทศไปสู่ประชาชน ปรากฏว่า ไม่เป็นที่นิยมรับประทานแพร่หลายนัก เนื่องจากเป็นปลาชนิดใหม่ที่นำเข้ามาในประเทศไทย คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติ
- ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น (ขณะทรงดำรงพระยศเป็น มกุฎราชกุมาร) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกปลา Nile tilapia (ก็คือ ปลานิล ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงกับปลาหมอเทศ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica (ปัจจุบันใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis niloticus ) จำนวน 25 คู่ ทรงให้นำไปเลี้ยงไว้ที่บ่อปลาในบริเวณสวนจิตรลดา และปลาดังกล่าว ได้เจริญเติบโตขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
- ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” โดยทับศัพท์จากชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อพันธุ์ปลา “Nil” จาก “nilotica”
- และได้พระราชทานพันธุ์ที่ทรงเพาะเลี้ยงกว่า ๑๐,๐๐๐ ตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้สถานีประมงจังหวัดต่างๆ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง พร้อมกับปล่อยลงในแหล่งน้ำทั่วไ ปให้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชุมชนสำหรับการบริโภคต่อไป
- นอกจากนี้ ยังมีพระราชประสงค์ ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้น ให้มีตัวโต มีเนื้อมาก ส่วนปลานิลที่เพาะเลี้ยงไว้ในสวนจิตรลดานั้น ให้มีชื่อเรียกว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา” เพราะเป็นพันธุ์แท้ดั้งเดิมนั่นเอง
- ดังนั้น จะเห็นว่า "ปลานิล" ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus และเป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) และเป็นญาติใกล้ชิดกับปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) ก็จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นปลาหมอแม่น้ำไนล์ ทั้งที่ชื่อสามัญคือ Nile tilapia เนื่องจากคำว่า "ปลานิล" เป็นชื่อเฉพาะที่รับพระราชทานมา
- ส่วน "ปลานิลแดง" นั้น เรียกขึ้นต้นว่าปลานิลได้ เนื่องจากเป็นลูกผสมระหว่าง "ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus กับ ปลานิล Oreochromis niloticus " เกิดขึ้นโดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น โดย ดร.ปกรณ์ อุ่นประเสริฐ และเมื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ได้รับการพระราชทานนามว่า "ปลานิลแดง" มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522
- ส่วนปลาหมอคางดำนั้น มีชื่อสามัญว่า blackchin tilapia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron จัดอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (family Cichlidae) เช่นเดียวกับปลานิล และปลาหมอเทศ (แต่คนละสกุล genus กัน) ในการบัญญัติชื่อภาษาไทยจึงขึ้นต้นว่า "ปลาหมอ" (หรือช่วงหนึ่งเคยใช้คำว่า "ปลาหมอสี" ตามชื่อวงศ์ด้วยซ้ำ) แทนที่จะชื่อว่า ปลานิล
- ในปี พ.ศ. 2549 ตอนที่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง จะนำเข้าพันธุ์ปลา blackchin tilapia จากประเทศกานา มาทำการทดลองผสมปรับปรุงพันธุ์ปลานิล และมีการเขียนในเอกสารโครงการวิจัยว่า "ลูกปลานิลจากประเทศกานา" ก็ยังถูกกรมประมงกำหนดให้เปลี่ยนเป็น "ปลาหมอ" แทน
- แต่คงเนื่องจากช่วงเวลานั้น ยังไม่มีการบัญญัติชื่อ "ปลาหมอ(สี)คางดำ" ทำให้ในเอกสารโครงการที่ถูกแก้ จึงใช้คำว่า "ปลาหมอเทศข้างลาย (ชื่อสามัญ Blue tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis aureus)" ทั้งที่เป็นคนละสปีชีส์กันกับปลาหมอคางดำ
- และมาปรากฏเป็นชื่อ "ปลาหมอ(สี)คางดำ" ชัดเจน ในประกาศห้ามนำเข้า-เพาะพันธุ์-ส่งออก ของกรมประมง ในปี พ.ศ 2561 พร้อมกับปลาหมอสีต้องห้ามอื่นๆ เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์: Heterotilapia buttikoferi) ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid ชื่อวิทยาศาสตร์: Mayaheros urophthalmus) ฯลฯ
#โดยสรุป จะเห็นว่าการบัญญัติให้ปลา blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) มีชื่อไทยว่า "ปลาหมอ(สี)คางดำ" นั้น ถูกต้องแล้ว และเหมาะสมกว่าชื่อ "ปลานิลคางดำ" ครับ
ป.ล. ส่วนที่มีผู้สงสัยว่า ปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในบ้านเราในปัจจุบันนั้น เป็นพันธุ์ปลาลูกผสมระหว่างปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) กับปลานิล (Oreochromis niloticus) ก็ต้องบอกว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันสมมติฐานนี้แต่อย่างไร เนื่องจากรูปร่างหน้าตาของปลาที่พบนั้น ตรงกับปลาหมอคางดำดั้งเดิม ไม่ได้มีลักษณะของความเป็นลูกผสม (ดังที่เคยมีการทดลองผสมกัน เอาไว้ในต่างประเทศ)
รวมทั้งการเกิดลูกผสมข้ามสกุล (genus) ของปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ ก็เป็นไปได้โดยยากมาก ยังไม่มีรายงานการเกิดขึ้นและแพร่พันธุ์ในธรรมชาติ นอกจากที่ทำให้การทดลองสร้างลูกผสมครับ
(ภาพประกอบนำมาจากวิกิพีเดีย ส่วนข้อมูล "โครงการปลานิลพระราชทาน" ดูลิงค์ได้ในคอมเม้นต์ครับ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประมงนครฯ และสุราษฎร์ฯ ยันปลาหมอคางดำเบาบางลง หลังมาตรการได้ผล เดินหน้าต่อ จับมือ CPF ปล่อยปลาผู้ล่าลดปริมาณปลาในระยาว
ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี โชว์มาตรการปราบปลาหมอคางดำได้ผลดีทั้งสองจังหวัด หลังสำรวจพบปลาหมอคางดำเบาบางลง พร้อมเดินหน้ามาตรการต่อเนื่องทันที ด้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ หนุนอีก 3
เอาแล้ว! เลขาฯไบโอไทย เจอหมายเรียกปมปลาหมอคางดำ
เฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถีโพสต์ข้อความ ระบุว่าหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแจ้งความดำเนินคดี นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
ฟ้องแพ่งเอกชน ‘คางดำ’ระบาด! ชดใช้4.4พันล้าน
กลุ่มชาวประมงผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ "ปลาหมอคางดำ" ยื่นฟ้องเเพ่งเรียกค่าเสียหายเอกชนกว่า 4 พันล้านบาท
กลุ่มชาวประมง ยื่นฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายเอกชนหลายพันล้าน ทำปลาหมอคางดำแพร่ระบาด
นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง พร้อมชาวบ้านกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา และประมงพื้นบ้าน ในเขตอําเภออัมพวา อําเภอบางคนที