'อ.เจษฎา' ไขข้อข้องใจ 'ไข่ปลาหมอคางดำ' ตากแดด 2 เดือน ยังฟักเป็นตัวได้

24 ก.ค. 2567- ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

"ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน ว่า "ไข่ปลาหมอคางดำ ตากแดด 2 เดือน ยังฟักเป็นตัวได้" นะครับ

#โดยสรุป ในขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า "ไข่ปลาหมอคางดำ สามารถทนทาน ตากแดดนาน 2 เดือนแล้วฟักใหม่ได้เมื่อมีน้ำ" อย่างที่กล่าวอ้างกัน และในทางทฤษฎีแล้ว ก็ไม่น่าเป็นไปได้ด้วย .. แต่กรมประมง ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มให้ชัดเจน จะได้กำหนดแนวทางในการรับมือได้อย่างถูกต้องครับ

เป็นประเด็นใหม่ให้น่าวิตกกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก กับกรณีของ "ปลาหมอคางดำ " เอเลี่ยนสปีชีส์ที่ระบาด รุกรานระบบนิเวศ แพร่กระจายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย .. ที่นอกจากมันจะทนทานต่อสภาพแวดล้อม อยู่ได้ทั้งน้ำจืด-น้ำกร่อย-น้ำเค็ม หรือน้ำอุณหภูมิค่อยข้างสูง .. ล่าสุด ยังมีข่าวเกษตรกร รายงานว่า ไข่ปลาหมอคางดำ ที่ตากแดดอยู่ 2 เดือน แต่กลับฟักเป็นตัวได้ !?

ซึ่งต้องบอกว่า ใจเย็นๆ กันก่อนครับ อย่าพึ่งตกใจเกิน ... ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่าไข่ปลาหมอคางดำจะทนความแห้งแล้งได้ขนาดนั้น !

ข่าวนี้ยังเป็นแค่เรื่องเล่าจากเกษตรกร ซึ่งอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เข้าใจผิดได้ และยังต้องการงานวิจัยจากกรมประมง ที่มีการ "ควบคุมปัจจัย" ต่างๆ มายืนยัน

- ตามรายงานข่าว ระบุว่า "เกษตรกรรายหนึ่ง ได้เปิดเผยว่า ตนเคยสู้กับปลาหมอคางดำมานาน ตอนนั้น ตนคิดจะพัฒนาบ่อให้เป็นเชิงพาณิชย์ มีการจัดระบบกรองน้ำเข้า โดยการจับปลาจากบ่อขึ้นให้หมด ตากบ่อ นานกว่า 2 เดือน จนดินแห้งแตกระแหงเป็นฝุ่น แล้วก็นำรถแบ็คโฮ เข้าไปดันบ่อปรับพื้นแต่งบ่อใหม่ทั้งหมด และตากบ่อต่ออีก คิดว่าจะฆ่าปลาหมอคางดำให้หมด แต่เมื่อมีฝนตกลงมา ตนก็ได้เห็นว่ามีอะไรบางอย่างดำผุดในน้ำ ตอนแรกคิดว่าเป็นลูกอ๊อด จึงเข้าไปดู พบว่าเป็นลูกปลาหมอคางดำ จากการวิเคราะห์ จึงสรุปว่าปลาหมอคางดำมันคายไข่ทิ้งไว้ในบ่อ มันทนมาก ทนแดด พอมีน้ำเข้ามามันก็ฟักเป็นตัว กลับมาอีก"

- ซึ่งถ้าเป็นจริงเป๊ะๆ ตามเรื่องเล่า ก็น่าเป็นห่วงครับ ที่การตากบ่อให้แห้ง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่แนะนำให้ทำกัน กลับทำลายไข่ปลาหมอคางดำไม่ได้ ...

- แต่เราก็ควรเผื่อใจไว้ว่า นี่เป็นเพียงแค่ "เรื่องเล่า" จากเกษตรกรรายนั้นเท่านั้น ไม่ได้มีการวิจัยหรือรายงานทางวิชาการรองรับเลย

-ถ้าความจริงแล้ว มีการเปิดน้ำจากแหล่งน้ำภายนอก เข้าไปเติมในบ่อ (ไม่ใช่แค่น้ำฝนอย่างเดียว) ก็เป็นไปได้มาก ที่จะมีลูกปลา หรือไข่ปลา ปนเข้าไปด้วยโดยไม่รู้ตัว (แต่ปรกติแล้ว ไข่ปลาจะถูกพ่อปลาอมเลี้ยงไว้ในปาก มากกว่าจะลอยไปตามน้ำ)

- นอกจากนี้ จากคำให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการ 2 ท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ไม่น่าจะเป็นไปได้ ! และยังต้องมีการวิจัยเพิ่ม เพื่อหาหลักฐานยืนยัน

- ดร. ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาคนหนึ่งของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ PPTV ไว้ว่า จริงๆแล้ว ปลาหมอคางดำ อยู่ในตระกูลปลานิล ซึ่งปลาในตระกูลนี้จะอมไข่ไว้ในปาก ที่มีความชื้นหรือเปียก ต้องมีออกซิเจนตลอดเวลา หากไข่ปลาถูกกักในบ่อแห้งและเจอแดดแรงๆ ตามที่ปรากฏในข่าว หรือแค่เอาขึ้นมาวางบนโต๊ะ เอาจริงๆ มันน่าจะอยู่รอดได้แค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น แม้แต่ตัวลูกปลาก็ตาม .. ดังนั้นที่แชร์กันว่า ไข่ปลาหมอคางดำอึดทนถึง 2 เดือน แล้วต่อได้เนี่ย ในมุมมองของอาจารย์ คิดว่าไม่เป็นความจริง !

- ดร. สรวิศ เผ่าทองศุข นักวิจัยอาวุโสด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของศูนย์ไบโอเทค สวทช. ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส โดยคิดทำนองเดียวกันว่า โอกาสที่ไข่ปลาฝังในดินแล้วโตขึ้นมาใหม่ ยังไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเพราะยังไม่มีใครศึกษา โดยทั่วไป ปลาที่อมไข่แบบนี้ก็จะดูแลลูกปลาไว้ในปากมัน ซึ่งก็อาจจะตั้งเป็นประเด็นให้กรมประมงไปทำการศึกษา เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นปลาต้องห้าม หน่วยงานอื่นจะเลี้ยงหรือศึกษาไม่ได้ กรมประมงต้องเป็นผู้ศึกษาเชิงลึก เพราะในเชิงวิทยาศาสตร์ ยังไม่สามารถฟันธงทิ้งได้

- จึงเป็นเรื่องที่ต้องฝาก "กรมประมง" ในการทำความจริงให้กระจ่างครับ เพราะในธรรมชาติ มันก็มีปลาบางชนิด ที่ไข่ของมันมีสารเคลือบพิเศษ ทำให้สามารถอยู่รอดได้ในดินโคลนของบ่อที่แห้งแล้ว และเมื่อมีน้ำเข้าไปในบ่อ ลูกปลาก็ยังสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ (ตัวอย่างเช่น ปลา คิลลี่ฟิช (Killifish) แต่เป็นปลาคนละกลุ่มกับปลาหมอคางดำนะ พวกนี้จะใกล้เคียงกับปลาหัวตะกั่ว ของไทย หน้าตาจะคล้ายๆ ปลาหางนกยูง) / กลุ่มปลาหมอ ปลานิล ก็เป็นปลาที่ทนทานกับความแห้งแล้ง น้ำน้อย บางชนิดก็สามารถจะแถกเหงือกไปตามพื้นดินได้ เพื่อย้ายไปแหล่งน้ำใหม่ ได้นานหลายชั่วโมง .. จึงน่าคิดว่า ถ้ามันถูกฝังไว้ใต้ดินที่ยังมีความชื้นอยู่ จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ?

#โดยสรุป ในขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า "ไข่ปลาหมอคางดำ สามารถทนทาน ตากแดดนาน 2 เดือนแล้วฟักใหม่ได้เมื่อมีน้ำ" อย่างที่กล่าวอ้างกัน และในทางทฤษฎีแล้ว ก็ไม่น่าเป็นไปได้ด้วย .. แต่กรมประมง ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มให้ชัดเจน จะได้กำหนดแนวทางในการรับมือได้อย่างถูกต้องครับ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อ.เจษฎา' ให้ข้อมูลละเอียดยิบ ทำไมเรียกชื่อ 'ปลาหมอคางดำ ไม่ใช่ 'ปลานิลคางดำ'

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทำไมเรียก ปลาหมอ(สี)คางดำ ... ไม่เรียก ปลานิลคางดำ"

พบ 'ปลาหมอคางดำ' หลากสี คาดเป็นตัวผู้ช่วงฤดูผสมพันธุ์ เจอแบบนี้ก็ต้องกำจัด

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ปลาหมอคางดำ" ที่สีสวยๆ ก็มีนะครับ อย่าคิดแต่ว่าจะต้องดูสีตุ่นๆ คล้ายปลานิลเท่านั้น

หมดทางแถ! BIOTHAI เปิดผลวิเคราะห์ DNA 'ปลาหมอสีคางดำ' มีแหล่งที่มาร่วมกัน

เพจ BIOTHAI มูลนิธิชีววิถี โพสต์ข้อความถึงปัญหาการระบาดของ ปลาหมอสีคางดำ ว่า หมดทางแถ ! การวิเคราะห์DNAพบ #ปลาหมอสีคางดำ ที่ระบาดมี #แหล่งที่มาร่วมกัน #มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรม #ไม่ได้นำเข้ามาหลายครั้ง

'ณัฐชา' โอดชาวประมงเลี้ยงกุ้งโดน 'ปลาหมอคางดำ' กินเกลี้ยงบ่อ เรียก 'ซีพีเอฟ' แจงอนุกมธ.

'ณัฐชา' โอด ชาวประมงในพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 3 แสนตัว โดน'ปลาหมอคางดำ' กินเกลี้ยงบ่อ ต้องกู้เงินทำทุน สุดท้ายขายโฉนด เผย 11 ก.ค.นี้ เรียก 'ซีพีเอฟ' เข้าแจง อนุ กมธ. จี้ส่งซากปลาขวดโหลตรวจ DNA ตรงกันกับที่ระบาดหรือไม่

'ประมงสมุทรสาคร' ดีเดย์ 9 ก.ค. เตรียมลุยกำจัด 'เอเลี่ยนสปีชี่ส์' ปลาหมอสีคางดำ

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายนิรันดร์ พรหมครวญ ประมงอาวุโสจังหวัดสมุทรสาครว่า ในช่วงเวลานี้ ปลาหมอสีคางดำระบาดหนักมาก ทำให้ระบบนิเวศทางน้ำเสียไป ทางประมงจังหวัดสมุทรสาครจึงจัดเตรียมลงแขกลงคลอง ดีเดย์ 9 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการปล่อยลูกปลากระพงและสัตว์น้ำลงสู่คลองต่อไปเพื่อสร้างระบบนิเวศทางน้ำให้สมดุลกลับสู่สภาพดั่งเดิม