ครม. มีมติอนุมัติการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 3,455-2-79 ไร่
23 ก.ค.2567 - นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (23 กรกฎาคม 2567) มีมติอนุมัติการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่รวมประมาณ 1,537-3-04 ไร่ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เนื้อที่รวมประมาณ 1,917-3-75 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อให้ รฟท. สามารถดำเนินงานโครงการก่อสร้างได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) จะได้พิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป ตามที่ คปก. เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คปก. รายงานว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ของรฟท. ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการของรัฐที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ และมีความจำเป็นต้องขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้าง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด 17 อำเภอ 59 ตำบล แบ่งเป็นทางรถไฟระยะทาง 323.10 กิโลเมตร อุโมงค์รถไฟจำนวน 4 แห่ง รวม 14.415 กิโลเมตร คันทางคู่สูงเฉลี่ย 4 เมตร ป้ายหยุดรถไฟจำนวน 13 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งทั้งสิ้น 6 สถานี ลานบรรทุกตู้สินค้าจำนวน 5 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 39 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟจำนวน 103 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ ซึ่งต่อมา รฟท. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวจำนวน 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ พื้นที่ของโครงการที่ต้องขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,537-3-04 ไร่
2. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด 19 อำเภอ 70 ตำบล โดยแบ่งเป็น 1. ทางรถไฟระดับดินระยะทาง 346 กิโลเมตร คันทางรถไฟสูงเฉลี่ย 4 เมตรและ 2. เป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 9 กิโลเมตร ก่อสร้างป้ายหยุดรถไฟจำนวน 12 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง สถานีรถไฟขนาดกลาง จำนวน 5 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งทั้งสิ้น 18 สถานี มีลานบรรทุกตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง มีย่านกองเก็บตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 81 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 245 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ ซึ่งต่อมา รฟท. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวจำนวน 2 สัญญาได้แก่ สัญญาที่ 1 บ้านไผ่-หนองพอก และสัญญาที่ 2 หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 พื้นที่ของโครงการที่ต้องขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,917 -3-75 ไร่
รวมทั้งสิ้น 3,455-2-79 ไร่
การดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟของ รฟท. ทั้ง 2 เส้นทางจะต้องเข้าดำเนินการในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเนื้อที่รวมประมาณ 3,455-2-79 ไร่ โดย รฟท. ซึ่งเป็นผู้ประสงค์จะใช้ที่ดินจะต้องยื่นคำขอรับความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อ คปก. ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ ก่อนที่ คปก. จะพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติอนุมัติให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวก่อน เพื่อให้ คปก. สามารถพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ รฟท. ใช้ที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินโครงการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลและเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐต่อไป
จากการดำเนินโครงการดังกล่าวส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบางส่วน และส่งผลต่อเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ในขณะเดียวกัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะให้ รฟท. ซึ่งเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เยียวยาหรือจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ตามข้อตกลงระหว่าง รฟท. กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกำหนดเป็นจำนวนเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นเพื่อค่าทดแทนความเสียหายจากการรอนสิทธิเกษตรกร หรือการสูญเสียโอกาสในการใช้ที่ดินของเกษตรกรบรรดาผู้มีสิทธิในที่ดินนั้น
และเมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามกฎหมายแล้ว รฟท. จะต้องนำส่งค่าตอบแทนใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับ ส.ป.ก. เพื่อนำเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินพ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย ส.ป.ก. จะนำค่าตอบแทนดังกล่าวมาใช้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทิ้ง 'ลุงป้อม' อีกราย! 'อดีตรองโฆษกรัฐบาล' ไขก๊อก พปชร.
'ผึ้ง เกณิกา' โบกมือลาอีกราย แจ้ง กกต. ลาออกจากสมาชิกพรรค 'พปชร.' จับตาทำงานการเมืองพรรคไหนต่อหรือไม่
ครม.ไฟเขียวมาตรการด้านภาษี ดึงคนไทยระดับหัวกะทิกลับประเทศ
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (30 กรกฎาคม 2567) มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ และมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา
ครม. เห็นชอบแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง 2 ราย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
'เกณิกา' เผยโครงการจ้างงานสร้างรายได้เสริมกับกรมชลฯ ยอดเข้าร่วมกว่า 4 หมื่นคน
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
‘เกณิกา’ โชว์ผลงานกวาดล้างเว็บพนันออนไลน์ทลายเครือข่าย ‘แม่มนต์’
”เกณิกา”เผย ผลงาน รบ.เร่งปฏิบัติกวาดล้างเว็บพนันออนไลน์ ทลายเครือข่าย"แม่มนต์" พบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 5,000 ล้าน
รัฐบาล ชวนประชาชน บริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี
รัฐบาล ชวนประชาชน ร่วมโครงการรวมน้ำใจ บริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ เฉลิมพระเกียรติ ในหลวง” ครบ 6 รอบ 72 พรรษา