12 ก.ค.2567- นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
เนื้อหา “หนังสือฉบับที่ ๒” จาก ๒ ฉบับ ของ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “ข้อเสนอใหม่”
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/1011358070357893/?
ที่ กพอ.๑๗๐๐/๑๑๓ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗
เรื่อง ข้อเสนอใหม่
เรียน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๖ (๒)แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดในการเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการระบุชื่อโดยได้รวมถึงช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง และยาง ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ โดยคณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำหนังสือขอให้ท่านได้ทบทวนร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว
โดยสาระสำคัญของการเรียกร้องให้มีการทบทวนการประกาศให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ นั้น ด้วยเพราะมี ๔ ปัจจัยที่สำคัญคือ
๑. มีการเลือกใช้ข้อมูลของผู้ที่ต่อต้านกัญชาเป็นฐานข้อมูลหลักในการตัดสินใจให้ช่อดอกกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากวิธีการเก็บข้อมูลและการตีความที่ไม่ถูกต้อง
๒. อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์เหมือนในอดีต
๓. มีปัญหาข้อกฎหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยมีการกีดกั้น วิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่ให้จ่ายยาที่เป็นสารสกัดกัญชาและกัญชงซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมสำหรับผู้ป่วยได้
๔. ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เปลี่ยนไปจากกฎหมายยาเสพติดเดิม โดยมีการะบุให้เภสัชกรต้องอยู่กับเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตในการปลูกกัญชาตลอดเวลาทำการ และรวมถึงต้องมีเภสัชกรอยู่ในคลินิกแพทย์แผนไทยหรือคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่จ่ายยากัญชาตลอดเวลาทำการด้วย อันเป็นการบั่นทอนการปลูกของเกษตรกรรายย่อย และปิดกั้นสถานพยาบาลให้มีความสามารถในการจำหน่ายกัญชาให้กับผู้ป่วยได้ยากยิ่งกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยสถานการณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชง ได้กระจัดกระจายเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับทั้งในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและหลายมิติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรตรากฎหมายเป็นการเฉพาะในฉบับเดียว และแก้ปัญหาที่มีความหลากหลายมากกว่าที่จะกำหนดให้เป็นยาเสพติดอย่างเดียวหรือประยุกต์ใช้กฎหมายฉบับอื่นก็ยังไม่มีความเหมาะสม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ที่ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ไม่สามารถจัดทำขึ้นสำเร็จได้เป็นเวลา ๒ ปีนับตั้งแต่การนำกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ได้ก่อให้เกิดปัญหาบทลงโทษที่ไม่รุนแรงพอต่อการกระทำความผิด และกำลังพลของกระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มข้นต่อผู้กระทำความผิด แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ได้ลงทุนโดยสุจริตก่อให้เกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ และการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวาง
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้จึงควรจะมีการแยกแยะ “วิธีการใช้” และพิจารณาในประเด็นเรื่องเงื่อนไข “เวลา” ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นจุดอ่อนต่อนโยบายกัญชา และยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าธุรกิจที่ก่อให้เกิดคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจควรจะต้องได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรอการประกาศกฎหมายลำดับรองที่ยังไม่แน่ชัดอีกด้วย
ในขณะเดียวกันต้องให้โอกาสผู้ประกอบการปรับตัวให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับต่อสังคมไทยและต่างประเทศมากขึ้น โดยมีกฎหมายที่สามารถกำกับดูแลและบังคับใช้ได้จริง และมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเพียงพอ
ดังนั้น “การบังคับใช้”กฎหมายในปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยอาศัยประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติดแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘ เป็นสิ่งที่ช้าเกินไปในการแก้ไขปัญหาบางอย่างที่สังคมมีความเป็นห่วง ในขณะที่ “การสร้างความเชื่อมั่น”ต่อนักลงทุนไม่สามารถ “รอเวลา“ เพื่อตรากฎหมายลำดับรองได้เช่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งประเทศไทยยังต้องการ “เวลา”ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับงานวิจัยเพื่อยุติข้อขัดแย้งในการใช้ประโยชน์และโทษของกัญชาในการพึ่งพาตัวเองของประชาชนอีกด้วย ที่ไม่สามารถผลีผลามตัดสิทธิประชาชนไปก่อนโดยไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริง
ในความเป็นจริงแล้ว การประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติด นอกจากจะมีปัญหาหลายด้านทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในทางปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมหาศาลอีกด้วย จึงขอเสนอหลักการที่เป็น “ข้อเสนอใหม่”เพื่อให้นิเวศของกัญชายังคงเดินต่อไปได้และมีการปรับตัวให้มีความเหมาะสม โดยมีการแยกแยะดังนี้
หลักการที่ ๑ ให้ช่อดอกกัญชา ยาง และสารสกัด กลับไปเป็นยาเสพติดอย่างมีเงื่อนไข คือผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษตามกฎหมายโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด และทำได้ทันทีไม่ต้องรอวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘
ดังนั้นร้านกัญชาที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศก็ดี การละเมิดจำหน่ายกัญชาให้กับเด็กและเยาวชนก็ดี การเปิดร้านขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็ดี จะต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดทันที โดยไม่ต้องรอวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘
หลักการที่ ๒ จะต้องเปิดเสรีทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพ แพทย์ทุกสาขาจะต้องมีเสรีภาพในการใช้กัญชา รับผิดชอบและติดตามผลของคนไข้เอง ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลอยู่แล้ว จึงให้มีผลทันทีนับแต่วันประกาศ
หลักการที่ ๓ ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพ จะต้องได้เข้าถึงยากัญชาได้ ร้านกัญชาจึงไม่ต้องปิดร้าน แต่จะต้องปรับตัวเป็นสถานที่จำหน่ายสมุนไพรควบคุมสำหรับผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพโดยไม่มีการปิดกั้น ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกัญชาในฐานะสมุนไพรควบคุมให้ได้ตามวัตถุประสงค์นี้ต่อไป
หลักการที่ ๔ ผลิตภัณฑ์ที่มีช่อดอกกัญชา ยาง หรือสารสกัด หากทำตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง กฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องได้รับการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยแล้ว จะต้องได้รับการคุ้มครองทันทีว่าไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทันทีในวันออกประกาศ ซึ่งเป็นลักษณะข้อความเดียวกันกับ พระราชบัญญัติ พืชกระท่อม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใดที่ดำเนินการไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน
หลักการที่ ๕ เมื่อวิกฤติของเวลากับปัญหาที่สังคมห่วงใย ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแบบมีเงื่อนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๗ แล้ว ย่อมต้องมีเวลาในการพิจารณาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนในเรื่องสิทธิ์ของประชาชนในการปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเอง จึงควรตั้งคณะกรรมการศึกษาจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติทางวิชาการที่ยังขัดแย้งกันเพื่อการปรับปรุงเงื่อนไขให้ได้ดีขึ้น ก่อนวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ และให้ประชาชนปฏิบัติตามเงื่อนไขในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๗ (ซึ่งยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขเวลาเดิม) หรือใช้เวลาดังกล่าวในการเร่งการตราพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎรควบคู่กันต่อไป
ทั้งนี้ได้แนบตัวอย่างร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ โดยอาศัยหลักการทั้ง ๕ มาแล้วตามสิ่งที่สิ่งมาด้วย ๑. (ร่วมร่างโดย อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ อ.คมสัน โพธิ์คง)จึงขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเสนอใหม่นี้และยังสามารถปรับแก้ตามความเหมาะสมได้ เสนอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกอบการพิจารณาทบทวนแก้ไขการประกาศให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยกพระบรมราชโองการสมัยร.9 กำหนดเขตไหล่ทวีป โต้การบิดเบือนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า อย่าปล่อยให้คนปล้นชาติ ทำให้พื้นที่ทะเลไทย กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
'สมศักดิ์' เชื่อไม่ซ้ำรอยรัฐบาลเศรษฐา โยนฝ่ายกฎหมายแจง 6 ประเด็นคำร้องยุบพท.
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. สาธารณสุข ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมืองในขณะนี้โดยเฉพาะกรณีนายธีรยุทธ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย(พท.)
'ธนกร' หนุน 'รัฐบาล-สมศักดิ์' ตั้งตัวชี้วัดตำรวจทั่วประเทศ กวาดล้างยาเสพติด
'ธนกร' หนุน 'รัฐบาล-สมศักดิ์' ตั้งตัวชี้วัดตำรวจทั่วประเทศ ทั้ง 9 ภาค-กทม.กวาดล้างยาเสพติดปีละ 6,000 คดี จี้ ฟันไม่เลี้ยงจนท.เอี่ยว วนของกลางออกขายต่อ ฝาก มท.-ตร.ผนึกกำลัง ปปส.เข้มกม.ยึดทรัพย์เครือข่ายค้ายา เชื่อ หากเอาจริงตัดวงจรได้ แก้ปัญหาเห็นผลชัด เร็วกว่า 3 ปีแน่นอน
'ปานเทพ' ให้ความเห็น 6 ข้อต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา จี้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง บันทึกความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุข มีเนื้่อหาดังนี้
เปิด 7 ความเสี่ยง รัฐบาล 'แพทองธาร' จะบริหารประเทศต่อไปด้วยความยุ่งยาก
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง 7 ความเสี่ยง รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีเนื้อหาดังนี้
สธ. มอบรางวัลสุดยอดแห่งปี “อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ปีที่ 16” ให้สถานประกอบการดีเด่นและผลิตภัณฑ์สุขภาพดีเด่น 177 รางวัล
กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดพิธีมอบรางวัลสุดยอดแห่งปี “อย. ควอลิตี้ อวอร์ด” ปีที่ 16 ส่งเสริมสถานประกอบการยึดมั่นในการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ