'พิธา' โผล่ประชุม กมธ.ความมั่นคง เชิญ 5 ธนาคารไทยแจงปม 'ยูเอ็น' แฉหนุนเมียนมาซื้ออาวุธ

'กมธ.ความมั่นคงฯ' เชิญ กต.- 5 ธนาคารไทย เข้าชี้แจง หลัง 'UN' แฉ เอื้อ 'รัฐบาลเมียนมา' ทําธุรกรรมซื้ออาวุธ 'พิธา' โผล่แจมด้วย

11 ก.ค. 2567 - ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน มีการพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยรายงานอ้างว่า ธนาคารในประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลัก ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ โดยเชิญนายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้จัดทํารายงาน มาให้ข้อมูล พร้อมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ, สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาติ และธนาคารกรุงเทพ

นายทอม กล่าวว่า ประเทศเมียนมากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ และมีโอกาสที่ประเทศไทย รวมถึงนานาชาติ จะพลิกวิกฤตในเมียน มาเป็นโอกาสการพัฒนาในอนาคต ทั้งนี้ จุดประสงค์ของรายงานคือ มีพลเมืองกว่า 5 พันคนที่ถูกสังหารไป นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร และขณะนี้รัฐบาลเมียนมากำลังสูญเสียพื้นที่ยึดครอง และการทำสงครามครั้งนี้ วิธีการตอบรับและต่อสู้ ได้มุ่งเป้าไปที่พลเมือง ในฐานะชุมชนนานาชาติ ควรหาทางยุติ จำกัดสมรรถภาพทางการทหาร เพื่อยุติความเสียหาย

นายทอม กล่าวว่า รายงานมีเนื้อหาสำคัญคืองบประมาณ ตนได้เริ่มดูการจัดซื้องบประมาณอาวุธที่ใช้ในทางทหาร ที่พุ่งเป้าไปยังพลเมือง ซึ่งงบมากกว่า 70% ที่ซื้อโดยรัฐบาลทหารเมียนมา พึ่งพาธนาคารอย่างเป็นทางการ แต่ข่าวดีคือ ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา การตัดซื้ออาวุธของรัฐบาลเมียนมาลดลงกว่า 1 ใน 3

นายทอม กล่าวว่า ธนาคารในประเทศสิงคโปร์เองก็เคยอำนวยความสะดวกให้รัฐบาลทหารเมียนมา แต่หลังจากมีการเผยแพร่รายงานฉบับนี้ จนเกิดการตรวจสอบ ทำให้การสนับสนุนลดลง ทิศทางของโลกในเรื่องนี้ กำลังเป็นไปในทางที่ดี แต่ท่าทีของไทยกลับตรงกันข้าม โดยยกตัวอย่างธนาคารเอกชนในไทย มีการอำนวยความสะดวกในเรื่องธุรกรรมการเงินเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่บางธนาคารก็มีการลดลง

นายทอม กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยมีนโยบายชัดเจน ว่าจะต่อต้านการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อซื้ออาวุธ ป้องกันความเป็นไปได้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับธนาคารไทย ในทางใดทางหนึ่ง และรัฐบาลอาจจะไม่ทราบถึงความสำคัญของจำนวนการทำธุรกรรม ที่เพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก แม้จะยังไม่เจอหลักฐานที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน หรือมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมทางธนาคาร แต่เข้าใจว่าธนาคารในประเทศไทย ต่างมีความรับรู้ถึงลักษณะของการทำธุกรรม ที่อำนวยความสะดวกให้กับรัฐมนตรีว่าการระทรวงกลาโหม ของรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบัน ดังนั้น ตนขอเสนอให้รัฐบาลเรียกร้องไปยังธนาคารในไทย ยุติการอำนวยความสะดวกให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา เป็นวิธีการเดียวที่จะป้องกันอาชญากรรมทางสงคราม และมวลมนุษยชาติ

ด้านนายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวชี้แจงว่า ไม่พบหลักฐานเส้นทางการเงินของธนาคารในประเทศไทย ตามที่ระบุในรายงาน และไม่พบว่ารัฐบาลรับรู้ในเรื่องดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และความเป็นอยู่ของประชาชนเมียนมา ไม่สนับสนุนความรุนแรง และปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด

ด้านตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ธนาคารของประเทศไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนก่อการร้าย พร้อมกำชับให้สถาบันการเงิน ตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างเคร่งครัด แต่หากพบว่ามีกระทําเป็นไปตามที่ระบุ ก็พร้อมจะดําเนินการทันที

ด้านตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงว่า สมาคมฯ เห็นว่าเป็นข้อกล่าวหาค่อนข้างรุนแรง เพราะจากรายงานเขียนว่า เป็นแหล่งธุรกรรมหลัก แต่จริงๆ ไม่มีข้อมูล และธนาคารก็ทำตามขั้นตอนและหน้าที่ ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนการซื้อยุทโธปกรณ์ เพื่อมาละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรากำลังพิจารณา ว่ากระบวนการต่างๆ ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม หรือเข้มข้นขึ้นหรือไม่ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลเมียนมา จะใช้ความพยายามในการหลบหลีก ทั้งการมีนอมินี เปิดบัญชีบุคคลธรรมดา ซึ่งธนาคารตรวจสอบอยู่แล้ว

ด้านนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ปปง.ได้ออกประกาศแจ้งให้สถาบันการเงินทราบ ว่าประเทศเมียนมาร์มีความเสี่ยงในการฟอกเงิน และการสนับสนุนการก่อการร้าย ดังนั้นหากจะรับลูกค้า หรือทำธุรกรรมกับประเทศเมียนมา จะต้องมีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทุกครั้ง และมีกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ระหว่างการประชุม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้เป็นหนึ่งใน กมธ. เดินทางมาร่วมรับฟัง และซักถามในที่ประชุม ถึงมาตราการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ประเมินความเสี่ยงต่อรัฐบาลไทย หากไม่มีการดําเนินการในเรื่องดังกล่าว

ต่อมา เวลา 13.00 น. นายรังสิมันต์ แถลงผลการประชุมว่า เนื่องจากรายงานดังกล่าว เป็นรายงานที่ได้แสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงในส่วนของธนาคารของประเทศไทยไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธต่างๆ ที่ใช้ในการเข่นฆ่าประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งเป็นความรุนแรงที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพเข้ามาที่ประเทศไทย ทั้งในรูปแบบที่สามารถระบุได้และไม่ได้ ย้ำว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจได้

นายรังสิมันต์ ยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้านี้ในปี 66 ที่มีรายงานในลักษณะแบบนี้ มาก่อนแล้ว หรือคือ 4 ปี ที่ประเทศไทยไม่ได้มีมาตรการหรือการดำเนินการอย่างไร โดยผลของรายงานฉบับดังกล่าว ก็มีความเชื่อมโยงของบริษัทจำนวนมากกว่า 250 บริษัท ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธและความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา แม้ในวันนั้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมมากที่สุด แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมบางอย่าง ที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในเมียนมา แต่เราไม่ได้เห็นความชัดเจนว่า ภายหลังจากที่มีรายงานฉบับแรกออกมา ประเทศไทยได้มีมาตรการหรือดำเนินการอย่างไรบ้าง

ดังนั้น ในวันนี้หลังจากที่มีรายงานอีกฉบับหนึ่งของนายทอมออกมา เราก็พยายามที่จะสอบถามเรื่องนี้กับทุกฝ่าย ทั้งภาคส่วนของธนาคาร ภาคส่วนของรัฐ ไปจนกระทรวงการต่างประเทศ โดยทุกฝ่ายก็พูดตรงกันว่า ไม่อยากให้ระบบธนาคารของเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่จะนำไปสู่การซื้ออาวุธเลย และแน่นอนว่า แม้วันนี้เรายังไม่ได้มาตรฐานที่ชัดเจนว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร แต่วันนี้เรามีคำสัญญาจากทุกฝ่าย ว่าจะมีมาตรการทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต่อไป

เบื้องต้น ตลอดการพูดคุยไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อประเด็นที่อาจจะโต้แย้ง ว่ารายงานฉบับนี้ไม่ถูกต้องเลย ดังนั้น เราก็คงจะสามารถอนุมานได้ว่า ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ คงจะเป็นรายงานที่ถูกต้อง และเป็นรายงานที่เราคงจะต้องนำไปสู่การสร้างมาตรการที่จะแก้ปัญหาต่อไป มี กมธ.บางคน รวมถึงนายพิธา ได้นำเสนอในที่ประชุมว่า สิงคโปร์ จะเป็นโมเดลที่สำคัญ ให้ประเทศไทยควรจะเดินตาม ย้ำว่า เราไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ลำพัง แต่ต้องเอากรณีของสิงคโปร์มาเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งคงจะมีการประสานงานกันต่อไป

ทั้งนี้ กมธ. ได้มีการแนะนำไปที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะต้องมีการประสานงานกับทางสิงคโปร์ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ในภาพรวมทั้งหมดนะครับ และได้ให้หน่วยงานทั้งหมดทำรายงานความคืบหน้ากลับมาที่ กมธ.ใน 30 วัน เพื่อติดตามมาตรการที่มีความชัดเจนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีบัญชีที่ถูกใช้ในการทำธุรกรรมทางธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธต่างๆ ยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่เราก็ได้รับคำยืนยันจากธนาคารว่า แม้จะยังใช้งานอยู่ แต่มีการทำธุรกรรมทางธนาคารน้อย แม้สิ่งนี้จะไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ แต่ที่น่าประหลาดใจ คือเงิน และระบบของเรายังถูกใช้ เพื่อนำไปซื้อขายอาวุธ และสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาร์ในการเข่นฆ่าประชาชน ทำให้เรารับไม่ได้

ด้านนายทอม กล่าวเสริมว่า ประเทศรอบข้างเมียนมาร์ กำลังสนใจเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์ตอนนี้ จากกรณีที่มีการใช้อาวุธร้ายแรงในการประหัตประหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ซึ่งจากการประชุมในครั้งนี้ นายรังสิมันต์ ก็ได้พูดในลักษณะที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และค่อนข้างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องของแผนงานและเรื่องของระยะเวลา

นายทอม คิดว่า นี่น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดี และยังมีหลายอีกหลายหนทาง เพื่อเริ่มต้นด้วยกัน สิ่งที่เห็นในวันนี้ คือ การมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติชัดเจนเช่นเดียวกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โรม' สุดต้าน 'พท.' แก้เกมดึงเช็งถกลับปมชั้น​ 14 ไร้เงา 'ทักษิณ' ลงรับหนังสือ​แต่ไม่ตอบกลับ​

'โรม' สุดต้าน 'เพื่อไทย' แก้เกม​ ดึงเช็งถกลับปมชั้น​ 14 บอกให้หารือ​ขอบเขตอำนาจหน้าที่​ กมธ.ก่อน​ หลัง 'กรมราชทัณฑ์' ติงไร้อำนาจสอบ​ หวั่น​ ผิดจริยธรรมยกคณะ​ ทำ 'ทวี' ต้องนั่งรอไปก่อน ขณะที่ไร้เงา 'ทักษิณ' ลงรับหนังสือ​แต่ไม่ตอบกลับ​

'รังสิมันต์' ลั่นกมธ.มั่นคงฯมีอำนาจตรวจสอบเทวดาชั้น 14 ท้า 'ทักษิณ' บริสุทธิ์จริงต้องมาชี้แจง

'รังสิมันต์' ลั่นกมธ.มั่นคงฯมีอำนาจตรวจสอบเทวดาชั้น 14 ยันไม่ซ้ำซ้อนคณะอื่น รับทำงานลำบากหน่วยงานไม่ให้ข้อมูล ท้า 'ทักษิณ' บริสุทธิ์จริงต้องมาชี้แจง วอนขรก.น้ำดีหากพบพิรุธส่งมาให้กมธ.

'โรม' กล่อม 'ทักษิณ' เข้าแจง กมธ.ความมั่นคง ปมชั้น 14 เชื่อเป็นผลดีต่อรัฐบาล-นายกฯอิ๊งค์

นายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเชิญนายทักษิณ ชินวัตร

'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย

เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้

'พิธา' คุยพรรคประชาชนแข่งเลือกตั้งมีแต่ชนะกับพัฒนา ไม่มีคำว่าแพ้

ที่จ.อุดรธานี แกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน ร่วมเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก องค์การ​บริหาร​ส่วน​จังหวัด​ (อบจ.)​ อุดรธานี ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย. 2567 ซึ่งพรรคประชาชนได้ส่ง คณิศร ขุริรัง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก