กสม.สอบพลทหารเสียชีวิต แนะกห.กำหนดหลักเกณฑ์ตรวจหาโรคประจำตัวทหารเกณฑ์

กสม. ตรวจสอบกรณีพลทหารเสียชีวิตหลังถูกดำรงวินัย แนะกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์ตรวจหาโรคประจำตัวทหารเกณฑ์เข้าใหม่ ป้องกันความเสี่ยงเกิดอันตรายจากการฝึก

5ก.ค.2567 - นายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวพลทหารวรรญวุฒิ ลำพะพา ทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) สังกัดศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี เสียชีวิตบนเตียงนอน โดยถูกทำร้ายร่างกายและถูกดำรงวินัย (ลงโทษ) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ซึ่งกองทัพภาคที่ 1 มีคำสั่งให้สอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า อาจมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีการเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ จึงมีมติหยิบยกขึ้นตรวจสอบ โดยรับเป็นคำร้องเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นั้น

กสม. ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 7 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือถูกลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยตามความเห็นทั่วไปลำดับที่ 20 (General Comment No. 20) ของคณะกรรมการประจำกติกา ICCPR ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การกระทำทรมานนี้ ครอบคลุมถึงความทุกข์ทรมานทางจิตใจและหมายความรวมถึงการลงโทษที่เกินสมควรแก่เหตุด้วย เช่น การสั่งสอน หรือมาตรการฝึกวินัย

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ครูฝึกและผู้ช่วยครูฝึกสั่งทหารใหม่ปฏิบัติท่ากายบริหาร และวิ่งเป็นระยะทาง 2.4 กิโลเมตร ซึ่งพลทหารวรรญวุฒิ ผู้เสียชีวิต วิ่งได้ประมาณ 600 เมตร ต่อมาเวลา 21.00 - 21.15 น. มีการสั่งดำรงวินัยทหารใหม่โดยให้ทำท่าพุ่งหลังและท่าลุกหมอบเนื่องจากตรวจพบว่า มีทหารใหม่สูบบุหรี่ ซึ่งพลทหารผู้เสียชีวิตปฏิบัติได้ไม่ครบตามคำสั่งเพราะมีอาการเหนื่อย จึงสั่งให้นอนหงายยกแขนยกขาพ้นพื้นแทน จากนั้นเวลา 21.30 น. ได้สั่งให้ขึ้นโรงนอน แต่พลทหารผู้เสียชีวิตมีอาการอ่อนล้าจึงให้พักที่ห้องพยาบาล โดยมีนายสิบพยาบาลเป็นผู้ดูแล และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้ 36.6 องศาเซลเซียส ต่อมาเวลาประมาณ 22.20 น. พลทหารผู้เสียชีวิตมีอาการหายใจติดขัด ชีพจรอ่อน จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอดิศร ระหว่างทางนายสิบพยาบาลได้ปั๊มหัวใจกู้ชีวิตต่อเนื่อง จนถึงโรงพยาบาล แพทย์ได้ให้การรักษาและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง การเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ เกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างการฝึกทหารใหม่หรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏว่า พื้นที่เกิดเหตุในค่ายไม่มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไว้ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามรายงานผลการชันสูตรพลิกศพของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสำนวนการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสระบุรีสรุปสาเหตุการเสียชีวิตสอดคล้องกันว่า มีสาเหตุจากตับวาย ไขมันพอกตับชนิดรุนแรง (ร่วมกับประวัติฮีทสโตรก) อีกทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ซึ่งเป็นแพทย์ ให้ความเห็นว่า พลทหารผู้เสียชีวิตมีภาวะของโรคอ้วนจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคไขมันพอกตับ ส่วนการเกิดฮีทสโตรกเป็นการเจ็บป่วยจากความร้อนเกิดขึ้นได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน และเป็นเหตุให้ตับวายได้ เมื่อพลทหารวรรญวุฒิ มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดฮีทสโตรก ดังนั้น การฝึกหรือการออกกำลังกายหนักอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

สำหรับกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่า พลทหารวรรญวุฒิ มีภาวะเปลือกหุ้มม้ามแตกหรือฉีกขาดทำให้มีเลือดไหลออกมาในช่องท้องนั้น ตามรายงานผลการชันสูตรพลิกศพของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระบุว่า มีการตรวจพบเลือดในกระเพาะอาหารจริง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยแพทย์ให้ความเห็นว่าอาจเกิดจากการสำลักเลือด หรือเกิดจากเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเอง หรืออาจเกิดจากภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติเนื่องจากฮีทสโตรก นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเลือดในช่องท้องปริมาณ 100 มิลลิลิตร ซึ่งเกิดจากตับแตก โดยตำแหน่งที่ตับแตกอาจเกิดจากการปั๊มหัวใจกู้ชีวิตในตำแหน่งที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดี ปริมาณเลือดที่ออกมามีปริมาณน้อยจึงไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ เกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างการฝึกทหารใหม่

ประเด็นที่สอง การฝึกและการดำรงวินัยทหารใหม่มีลักษณะเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า แม้การที่ครูฝึกและผู้ช่วยครูฝึกสั่งให้ทหารใหม่ปฏิบัติท่ากายบริหารและดำรงวินัยจะเป็นไปตามแบบธรรมเนียมทหารปกติทั่วไป แต่การที่พลทหารผู้เสียชีวิตไม่สามารถปฏิบัติได้ครบตามคำสั่งเนื่องจากมีอาการเหนื่อยซึ่งอาจเพราะมีรูปร่างสูงใหญ่และมีน้ำหนักมาก ประกอบกับมีโรคประจำตัวที่ทั้งตนเองหรือครูฝึกอาจไม่ทราบ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของทหารใหม่ที่เป็นทหารเกณฑ์ ซึ่งอาจไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่เข้ารับราชการทหารในกองทัพบกด้วยวิธีการสอบคัดเลือกที่มีการเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการทดสอบ ฉะนั้น ครูฝึกหรือผู้ช่วยครูฝึกต้องตระหนักถึงข้อจำกัดด้านร่างกายของทหารใหม่ และต้องใช้ความระมัดระวังเมื่อพบทหารใหม่มีอาการผิดปกติ

การที่ครูฝึกหรือผู้ช่วยครูฝึกยังคงสั่งให้พลทหารวรรญวุฒิ ฝึกปฏิบัติร่วมกับเพื่อนทหารใหม่แม้จะมีอาการเหนื่อยบ่อยครั้งจนนำไปสู่การเสียชีวิต ถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามนโยบายการฝึกประจำปี 2566 ของกองทัพบกและระเบียบและหลักสูตรการฝึกทหารใหม่เบื้องต้นทั่วไป สำหรับทหารทุกเหล่าของกองทัพบก (6 สัปดาห์) พ.ศ. 2564 จัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก ที่กำหนดให้การฝึกทหารใหม่จะต้องกำหนดตารางฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่กองทัพบกมีคำสั่งลงโทษกำลังพลที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ดังกล่าว เนื่องจากกระทำความผิดวินัยฐานบกพร่องต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่าการฝึกและการดำรงวินัยทหารใหม่มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลทหารวรรญวุฒิ และอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย

กสม. เห็นว่า กรณีการเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการตรวจสุขภาพเพื่อหาโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตกรณีที่ต้องใช้ร่างกายสำหรับการฝึกทหาร เนื่องจากขั้นตอนคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับการเกณฑ์ทหารกองประจำการ มีเพียงการตรวจสภาพร่างกายภายนอกทั่วไป และการให้บุคคลที่มีโรคประจำตัวนำหลักฐานมาแสดงเพื่อไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารกองประจำการเท่านั้น ทั้งนี้ บุคคลที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารมีพื้นฐานอาชีพและฐานะการเงินที่แตกต่างกันอาจทำให้มีผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพและไม่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวอยู่

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม สรุปได้ดังนี้

(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กองทัพบกดำเนินการให้แต่ละหน่วยฝึกทหารใหม่กำหนดตารางการฝึกทหารใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการพัฒนาสมรรถภาพทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการฝึกเพื่อให้ทหารใหม่ปรับสภาพร่างกายได้ รวมทั้งให้กำชับผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ครูฝึกและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ให้ปฏิบัติตามนโยบายการฝึกประจำปีของกองทัพบกอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังและการปฐมพยาบาลการเจ็บป่วยจากความร้อน (Heat Stroke) ในระหว่างการฝึกทหารใหม่

(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพให้กับบุคคลที่ผ่านเข้ารับการเกณฑ์ทหารกองประจำการ โดยเฉพาะบุคคลที่มีภาวะเสี่ยงมีโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายหากต้องใช้ร่างกายสำหรับการฝึกทหาร

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบนี้ ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 29 และตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับสำนักงานอัยการสูงสุด

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ทำข้อเสนอแนะเรื่อง 'ทรงผมนักเรียน' ชี้ต้องรับฟังความเห็นและเน้นการมีส่วนร่วม

กสม. ทำข้อเสนอแนะเรื่องทรงผมนักเรียน ชี้การกำหนดระเบียบทรงผมต้องรับฟังความเห็นและเน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก

กสม. แนะแก้ปัญหาความเป็นอยู่ผู้ถูกควบคุมตัวของรัฐ ให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

ญาติไม่ติดใจ พลทหารเสียชีวิตปริศนาในค่าย หลังเข้าฝึก 20 วัน ไม่เชื่อถูกทำร้าย

ญาติพลทหาร “ปังปอนด์” อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ ไม่ติดใจปมเสียชีวิตปริศนาคาเตียงนอนในค่ายที่สระบุรี หลังเข้ารับการฝึกเพียง 20 กว่าวัน ไม่เชื่อถูกซ่อมม้ามแตกปมบุหรี่ไฟฟ้าตามที่มีกระแสข่าว

เตรียมบี้รัฐบาลให้สั่ง 'สตช.-ป.ป.ส.' เร่งเยียวยาเคสตรวจดีเอ็นเอเหมารวมซึ่งละเมิดสิทธิ์

กสม.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการ สตช. และ ป.ป.ส. แก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิฯ ชาวบ้านจากการตรวจดีเอ็นเอแบบเหมารวม