กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
5 ก.ค.2567- นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) แจ้งข้อกล่าวหาผู้ร้องว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือพ้นจากการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 วรรคหนึ่ง และสอบปากคำผู้ร้องโดยไม่แจ้งว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 นอกจากนี้ ยังพบว่าสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 - 8) นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำว่าผู้ร้องกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยใช้สารไซยาไนด์ (Cyanide) ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ร้องกระทำความผิด และสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวของผู้ร้องออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โดยใช้ระยะเวลานานเกินสมควร อีกทั้งยังพบสื่อมวลชนบางสำนักคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้ร้องและครอบครัว จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม สิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทนายความ อันสอดคล้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว โดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลอื่น การกระทำใดอันเป็นการละเมิดสิทธิหรือกระทบต่อสิทธินั้น หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในทางใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบพระราชบัญญัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2564 และแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน
จากการตรวจสอบเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ไม่แจ้งต่อผู้ร้องว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวน เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1ได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ร้องตามประมวลกฎหมายอาญา และได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาทราบ แต่จากการพิจารณาข้อความในรายงานประจำวันปรากฏเพียงว่า “ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบซึ่งผู้ต้องหาทราบ และเข้าใจดีโดยตลอดแล้ว” โดยไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาเกี่ยวกับการมีทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายและไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาที่มีสิทธิได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ในชั้นนี้จึงเห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เห็นว่า การที่สถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 - 8) นำเสนอข่าวคดีของผู้ร้องโดยเปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ภาพถ่ายใบหน้าหรือรูปพรรณสันฐาน ชื่อ นามสกุลที่อยู่อาศัย ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติทางการเงิน ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลเกี่ยวกับญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ แม้ว่าสื่อมวลชนบางรายพยายามปกปิดอัตลักษณ์ของผู้ร้องโดยการเบลอภาพไว้ก็ตาม แต่มีการบรรยายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องที่สามารถระบุตัวตนได้ และพบว่าสื่อมวลชนได้บันทึกภาพผู้ร้องขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ทำให้ผู้ชมโดยทั่วไปสามารถทราบได้ว่าผู้ร้องเป็นใคร การกระทำลักษณะนี้ จึงเป็นการใช้เสรีภาพของสื่อที่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคลเกินสัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนกรณีสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำ ตีตรา และด้อยค่าผู้ตกเป็นข่าวโดยใช้ภาพผู้ร้องเป็นภาพประกอบ บางรายการมีรูปแบบรายการข่าวเชิงสืบสวนโดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสัมภาษณ์ ผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำนำเสนอข่าวเชิงตัดสินและตีตราผู้ร้องว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา มีการตั้งฉายาบุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยใช้ชื่อบุคคลต่อด้วยสารไซยาไนด์ที่เกี่ยวข้องกับคดี เมื่อมีการนำเสนอข่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สาธารณชนเชื่อว่าผู้ร้องกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ กรณีสื่อมวลชนคุกคามสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของครอบครัวผู้ร้อง เช่น ดักรอบริเวณเคหสถานของบิดามารดา เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ แสวงหาข้อมูลและเก็บบันทึกภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมทั้งติดต่อสัมภาษณ์บุคคลที่รู้จักผู้ร้องเพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้ร้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำข้อมูลไปเสนอต่อสาธารณชนอันเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน อับอาย หรือได้รับความทุกข์ทรมานใจ ตามที่รัฐธรรมนูญ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ การกระทำของสื่อมวลชนดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นกัน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กำชับพนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิในชั้นสอบสวนให้ผู้ต้องหาทราบด้วยวาจาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด และกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และให้สื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และให้สถานีโทรทัศน์จัดให้มีการอบรมหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสื่อมวลชนในสังกัด รวมทั้ง ให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกหนังสือเวียนเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว
ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมหรือความรุนแรง มาตรฐานในการไม่เปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคลผู้ตกเป็นข่าว รวมทั้งศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาของการนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่เหมาะสม และพิจารณาให้การเยียวยาแก่ผู้ร้องตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่
'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ
ป.ป.ช.โวยขอภาพวงจรปิดชั้น14ไปนานแล้วยังไม่ได้ ให้จนท.พิจารณาเชิญ 'เสรีพิศุทธ์' เป็นพยาน
ป.ป.ช.โวยขอภาพวงจรปิดชั้น 14ไปนานแล้วแต่ยังไม่ได้ ลั่นถ้าไม่ให้ต้องตรวจสอบเหตุผล ไม่ฟันธง เชิญ 'เสรีพิศุทธ์' เป็นพยานหรือไม่ หลังเข้าเยี่ยม 'ทักษิณ'
ธำรงวินัยทหารเกณฑ์จนตายย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กสม.ร้องเอาผิด!
กสม.ชี้กรณีทหารเกณฑ์วัย 18 ปี ถูกธำรงวินัยจนเสียชีวิต ละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด - คกก.ป้องกันการทรมานฯ เอาผิดตามกฎหมาย