iLaw ชี้ช่อง ผู้สมัคร สว. พบเห็นการเลือกไม่สุจริต รีบร้อง กกต. ภายใน 29 มิ.ย.

28 มิ.ย. 2567 - เพจ iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โพสต์ข้อความว่า

ผู้สมัคร สว. 67 ระดับประเทศ พบเห็นการเลือกไม่สุจริต รีบร้อง กกต. ภายใน 29 มิถุนายน 2567
.
ผ่านไปแล้วกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่จัด ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยกระบวนการเลือก สว. ระดับประเทศ ใช้เวลา “ข้ามวันข้ามคืน” ถึงแล้วเสร็จ เริ่มต้นจากช่วงลงทะเบียน 08.00 น. ปิดท้ายในการนับคะแนนรอบเลือกไขว้ แต่ละสายนับคะแนนแล้วเสร็จไม่พร้อมกัน โดยสาย ง. เป็นสายสุดท้ายที่นับคะแนนเสร็จในเวลาประมาณ 04.52 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 สิริรวมแล้วกินเวลาประมาณ 21 ชั่วโมง
.
ระบบ “เลือกกันเอง” ที่ออกแบบโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้สมัคร สว. เป็นทั้งผู้เล่นในสนามการเลือกและผู้สังเกตการณ์ที่มีโอกาสเห็นความผิดปกติในกระบวนการเลือกและการนับคะแนนได้อย่างใกล้ชิดที่สุด ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ก็เปิดช่องให้ผู้สมัคร สว. ที่ผ่านเข้าสู่รอบระดับประเทศ สามารถยื่นคัดค้านการเลือก สว. ได้หากเห็นว่าการเลือกนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม อย่างไรก็ดี กฎหมายก็กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ หากผู้สมัคร สว. จะคัดค้าน ต้องรีบทำภายในสามวันนับแต่วันเลือกระดับประเทศ (ภายใน 29 มิถุนายน 2567) โดยกฎหมายให้อำนาจ กกต. หากเห็นว่ามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าการเลือก สว. เป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต. สามารถสั่งสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ได้ แต่ต้องดำเนินการก่อนประกาศผลการเลือก สว.
.
หากผู้อำนวยการเลือก สว. พบการเลือกไม่สุจริต ส่งเรื่องให้ กกต. เคาะสั่งเลือกใหม่ได้
นอกจากนี้ ในระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ข้อ 159 ยังกำหนดว่า กรณีการเลือกระดับประเทศ หากผู้ตรวจการเลือกหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. เห็นว่าการเลือกของกลุ่มใดหรือของสายใดหรือของสถานที่เลือกใด ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม ให้ส่งเรื่องไปยัง เลขาธิการ กกต. เพื่อรายงานให้ กกต. ทราบ และให้กกต. มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้เลือกใหม่ ทั้งนี้ กกต. ต้องพิจารณาสั่งให้มีการเลือกใหม่ภายในสองวันนับแต่ที่ได้รับรายงาน
.
นอกจากนี้ กฎหมายยังให้อำนาจ กกต. สอยผู้สมัคร ส่งเรื่องไปศาลฎีกาเพิกสิทธิรับเลือกตั้งได้ หากทำ-รู้เห็นกับการเลือกไม่สุจริต พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 60 กำหนดว่า ก่อนประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครกระทำการใดหรือรู้เห็นกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี
.
ในมาตรา 62 ยังกำหนดว่าหาก กกต. ประกาศผลการเลือก สว. แล้ว แล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใด ซึ่งไม่ใช่ผู้สมัคร กระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นได้
.
กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น สว. ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าไม่ได้กระทำความผิด ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิดให้สมาชิกภาพของ สว. รายนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าอยู่ในบัญชีสำรอง (ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นลำดับที่ 11 ถึงลำดับที่ 15 ของแต่ละกลุ่ม) หากศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้ กกต. สั่งลบรายชื่อออกจากบัญชีสำรองด้วย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อสอบผู้สมัครสว.กว่า4หมื่นคน

เลขาฯ กกต.ยกคำพิพากษาศาลวินิจฉัยสมัคร สว.ไม่ตรงกลุ่มอาชีพไม่ผิด สิทธิการรับสมัครเป็นคนละส่วนกับเอกสารรับสมัครเป็นเท็จ

เลขาฯกกต. อ้างคำพิพากษาศาล สมัคร สว.ไม่ตรงกลุ่มอาชีพไม่ผิด

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกสมัครเป็นเท็จ รับจ้างสมัคร

'โบว์' ชำแหละส้ม! ฮั้วไม่สำเร็จ ชี้นิ้วใส่คนอื่นเฉยเลย

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊กว่า เพิ่งรู้ตัวว่าแฉจนถูกเขา