ศูนย์ทนายฯ เผย ผูัลี้ภัยไทยยังมี 104 คน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมือง-นิรโทษ 112

ศูนย์ทนายฯ เผย สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112

26 มิ.ย.2567 - เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย: ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112
.
“...เราจึงขอแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจศาลไทย โดยการละเมิดทุกเงื่อนไขที่ศาลตั้งไว้ และปฏิเสธอำนาจศาลไทยในทุกมิติ ด้วยการเดินทางมายื่นลี้ภัยการเมืองในประเทศที่ไม่ยอมรับกฏหมายมาตราดังกล่าว”
.
ส่วนหนึ่งของถ้อยคำในแถลงการณ์ปฏิเสธอำนาจศาลของ “มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ” จำเลยคดีมาตรา 112 ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565 ภายหลังเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส และได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายจากศูนย์แรกรับผู้ลี้ภัยของฝรั่งเศสแล้ว
.
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเกือบ 20 ปี นอกจากส่งผลให้เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง 3 ฉบับ ประชาชนเสียชีวิตกว่า 100 ราย บาดเจ็บคาดว่าไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย และถูกดำเนินคดีอีกกว่า 6,000 ราย แล้ว ยังทำให้มากกว่า 100 คน ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมือง ทั้งด้วยความรู้สึกไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร ความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ถูกดำเนินคดี หรือเกรงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ความหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกคุมขัง กระทั่งความหวาดกลัวจากการคุกคามจนเกรงจะเกิดอันตรายถึงชีวิต
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนทบทวนสถานการณ์และเรื่องราวของผู้คนที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทย ผู้คนที่เป็นเพื่อนร่วมชาติแต่พวกเขาไม่สามารถอยู่ร่วมกับพวกเราด้วยเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองดังที่กล่าวมา เพื่อตระหนักถึงทั้งความเข้มแข็ง ความหวาดกลัว และความกล้าหาญของพวกเขา ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการยุติความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษนี้ เพื่อให้พวกเขาทั้งหมดสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
.
ที่ก้าวแรกนั้นคือ การนิรโทษกรรมประชาชน รวมถึงคดีมาตรา 112 และก่อนไปถึงจุดนั้นหากศาลให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จะทำให้ไม่เกิดผู้ลี้ภัยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก
.
ผู้ลี้ภัยใน 3 ช่วงสถานการณ์ทางการเมือง
1. ผู้ลี้ภัย ม.112 หลังรัฐประหาร 2549 อย่างน้อย 12 ราย
2. ผู้ลี้ภัยยุค คสช. ขั้นต่ำ 102 คน ทั้งเหตุ ม.112 - ไม่รายงานตัว - คดีอาวุธ
3. ผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ หลังยุค คสช. และการกลับมาของ 112 ไม่น้อยกว่า 30 ราย กว่าครึ่งเป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี และเป็นครั้งแรกที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เลือกที่จะกลายเป็นผู้ลี้ภัย
.
ชะตากรรมของเหล่าผู้ลี้ภัย
- ถูกบังคับสูญหาย อย่างน้อย 7 ราย
- เสียชีวิต ไม่ต่ำกว่า 10 ราย
- ถูกจับกุม-นำตัวกลับมาดำเนินคดี 2 ราย
- เดินทางกลับหลายราย
.
ให้ประกัน-หยุดคุกคาม-นิรโทษกรรมไม่ยกเว้น 112: หนทางยุติความขัดแย้งเพื่อให้ 104 ผู้ลี้ภัย ได้กลับบ้าน
.
ผ่านชะตากรรมทั้งที่เลือกได้ ถูกบังคับเลือก หรือไม่ได้เลือก ทำให้ล่าสุด (25 มิ.ย. 2567) มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทยที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 104 คน โดยมีเหตุจากคดีมาตรา 112 จำนวน 67 คน, คดีเกี่ยวกับอาวุธหรือระเบิด 14 คน, คดีมาตรา 116 จำนวน 5 คน, คดีไม่รายงานตัว คสช. 5 คน ที่เหลือ 13 คน มีเหตุจากคดีอื่น ๆ หรือถูกคุกคาม
.
พวกเขา… ไม่ใช่ทั้งหมดที่ได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือพลเมืองที่ได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการในประเทศใหม่ บางคนยังต้องรอหรือใช้ความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะดังกล่าว และอีกจำนวนหนึ่งยังคงต้องใช้ชีวิตหลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นบุคคลที่ไม่ได้รับรองทางกฎหมายใด ๆ อยู่ในประเทศอื่น ขาดไร้ซึ่งความมั่นคง สวัสดิภาพ และสวัสดิการทั้งปวง
.
พวกเขา… ครั้งหนึ่งเพียงใฝ่ฝันอยากเห็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม คุณภาพชีวิตที่ดี งอกงามในสังคมไทย เป็นคุณค่าที่เขาและเราล้วนใฝ่ฝันเช่นเดียวกัน
.
พวกเขา… จึงมิใช่ “คนอื่น” ที่สังคมไทยจะหลงลืม หรือไม่นับเป็นพวก
.
ในวันที่พวกเขาเลือกที่จะไม่สยบยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเพื่อรักษาเสรีภาพและความฝันของตน พวกเขาต้องแลกด้วยการละทิ้งสิ่งอันเป็นที่รักและคุ้นเคย ตั้งแต่บ้าน ครอบครัว เพื่อนมิตร การงาน การเรียน หรือกระทั่งชีวิต ขณะเดียวกันสังคมไทยก็สูญเสีย “Active Citizen” หรือพลเมืองที่กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคม อันเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
.
ในวันนี้ที่ประเทศไทยกลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกครั้ง และการพูดถึงการหาทางยุติหรือทางออกจากความขัดแย้งที่ทอดยาวมานานเกือบ 20 ปี เป็นประเด็นที่ได้รับการขานรับจากทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง โดยรูปธรรมที่ทำได้เร็วที่สุดเพื่อเป็นก้าวแรกก็คือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในห้วงดังกล่าว แต่กระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงว่าจะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่
.
แต่หากนับบุคคลผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากความขัดแย้งทางการเมือง และนับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย การยุติความขัดแย้งเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ที่ลี้ภัยมีเหตุมาจากคดี 112
.
แม้ว่าหลายคนของผู้ลี้ภัยไม่คิดจะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอีกแล้ว แต่การกลับบ้านมาพบปะครอบครัวที่รอคอย เยี่ยมเยือนและใช้ชีวิตในแผ่นดินที่เกิดและเติบโต ควรเป็นสิทธิที่ทำได้โดยเสรีอย่างพลเมืองไทยโดยทั่วไป
.
การเร่งผลักดันให้มีและบังคับใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวมถึงคดี 112 โดยเร็ว ระหว่างนั้นเรียกร้องให้ศาลพิจารณาให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีที่คดียังไม่ถึงที่สุด รวมถึงยุติการคุกคามนอกกฎหมาย เพื่อไม่กดดันให้เกิดผู้ลี้ภัยรายใหม่ จึงเป็นหน้าที่ที่จำเป็นของรัฐบาลปัจจุบันในอันที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อพลเมืองไทย และต่อประชาคมโลก เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ดังที่ประกาศไว้
.
อ่านรายละเอียดทั้งหมดบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/68186

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอวรงค์' จวกยับเจ้าของคอก-พวกแพ้เลือกสว. แล้วโทษรัฐประหาร

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นกระบวนการที่ผูกโยงกับพร

'เพนกวิน' หนีหมายจับคดีม.112 เหยื่ออธรรมของ 'ผู้ใหญ่สามนิ้ว' อำมหิตเลือดเย็น

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

'อนาคตไกล' ชี้รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หากบ้านเมืองยังมีนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด

ครบ 92 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 2475 การเมืองไทยยังวนลูปแย่งชิงอำนาจ “อนาคตไกล” ชี้รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หากบ้านเมืองยังมีนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด