รองโฆษกก้าวไกล ซัดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ แต่กลับสู้เพจเล็กๆ ไม่ได้ บอกถ้าทำเป็นทำถึงจริง โครงการ IGNITE THAILAND ของนายกฯ คงไม่ถูกประชาชน IGNORE แบบนี้ ชี้ต้นทางของการสื่อสารที่จะทำให้ได้ผล คือฝีมือการบริหารราชการแผ่นดิน ความสง่างามทางการเมือง
21 มิ.ย.2567 - เวลา 14.25 น. นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ จำนวนกว่า 2,945 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นสองแบบคือ 1.แบบทางตรง และ 2.แบบที่ซ่อนอยู่ในคำสำคัญต่างๆ เช่นคำว่า รณรงค์, ส่งเสริม, สร้างจิตสำนึก, ทำความเข้าใจ ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ มีโครงการที่ซ้ำซ้อนกันอยู่อย่างน้อย 662 ล้านบาท โดยยกตัวอย่างโครงการยอดฮิตอย่างโครงการยาเสพติดที่หลายกระทรวงรุมกันทำ ที่แม้ชื่อโครงการจะไม่เหมือนกัน แต่จุดประสงค์คงไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ทั้งยังไม่ใช่งบบูรณาการ แต่เป็นแยกกันทำ ซึ่งหากมีการพูดคุยกันสักนิด ก็คงไม่ต้องจ่ายเงินมากขนาดนี้
หากจะอ้างว่า เป็นคนละกรมคนละกระทรวงก็ต้องแยกกันทำถูกต้องแล้วนั้น ตนขอยกตัวอย่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่มีกรมประชาสัมพันธ์อยู่ในกำกับดูแล ก็มีโครงการที่ใกล้เคียงกัน อย่างโครงการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสร้างการรับรู้เรื่องสถาบันหลักของชาติ และ โครงการเสริมสร้างความรักสถาบันหลัก ซึ่งมีจุดประสงค์เดียวกัน
นางสาวภคมน ยืนยันว่า ตนเห็นความจำเป็นที่กระทรวงจะต้องมีโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบข่าวสาร โดยยกตัวอย่างกรณีคลิปของอินฟูเอ็นเซอร์ท่านหนึ่งที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทหารชายแดนจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมหรือไม่ พร้อมชวนตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วจะเห็นงบประมาณก้อนนี้ ถูกนำมาใช้ในลักษณะเดียวกันนี้อีกหรือไม่ และขอตั้งคำถามว่าโครงการประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ หรือไม่ หรือใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์
ส่วนหน่วยงานที่ไม่ได้มีภารกิจเพื่อการประชาสัมพันธ์โดยตรงอย่างศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ ที่ได้รับงบกว่า 68 ล้านบาท แต่ผลงานที่ผ่านมา กรณีการพิสูจน์ข่าวผลงานรัฐบาลข่าวนึงว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว สุดท้ายก็เป็นข่าวจริง แต่เลือกที่จะไม่เผยแพร่ เพราะให้เหตุผลว่าเป็นผลดีต่อรัฐบาล
ล่าสุดศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ ก็ยังทำหน้าที่แก้ข่าวให้กับพรรคการเมือง อย่างพรรคเพื่อไทย ทั้งที่พันธกิจของกรมประชาสัมพันธ์คือ ต้องเป็นกลาง และเป็นอิสระ มุ่งเน้นประโยชน์ต่อประชาชน ขนาดรัฐบาลที่แล้วยังไม่กล้าใช้ศูนย์ต่อต้านเฟสนิวส์ในการแก้ข่าวให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเลย ขณะที่ข่าวที่ดูจะไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ หนำซ้ำยังดูเป็นข่าวที่เก่าไปแล้ว แต่เรากลับเห็นท่าทีที่แข็งขันของศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ออกมาแก้ข่าวให้กับพรรคการเมือง “ลืมไปแล้วหรอคะว่า ในระดับพรรคการเมือง เขามีโฆษกอยู่แล้ว ให้เขาทำงานนี้สิคะ”
หากจะบอกว่าจำเป็นต้องตรวจสอบ ก็ลองเปรียบเทียบกับข่าวของซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังที่แจกคูปองเงินสดมูลค่า 1,500 บาท ซึ่งศูนย์ต่อต้านเฟคนิวไปทำการตรวจสอบ แต่เมื่อตรวจสอบว่าเป็นข่าวปลอม ก็ตัดสินใจที่จะเผยแพร่ออกสู่เว็บไซต์ แต่กลับไม่ปรากฏชื่อ แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไร ว่าเขาต้องระวังอะไร ระวังห้างไหน
”อันที่ดูจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็เซ็นเซอร์ซะมิดชิด อันที่ดูจะไม่ใช่ความเดือดร้อนของประชาชน ก็แข็งขันทำหน้าที่ นับวันจะแปลเปลี่ยนจากหน่วยงานรัฐ เป็นเครื่องมือทางการเมืองเข้าไปทุกวัน“
ส่วนหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์โดยตรงอย่างกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของ สปน. และก็อาจจะพูดได้ว่าอยู่ภายใต้กำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี มีคำของบประมาณจำนวน 2,496 ล้านบาท ทำให้กรมประชาสัมพันธ์น่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดแล้วในประเทศไทย มีบุคลากรมากที่สุด งบแต่ละปีก็หลักพันล้านบาท แต่เมื่อเทียบผลงานกับสื่อออนไลน์กลับสู้เขาไม่ได้เลย
นอกจากนี้ งบสำคัญอย่างงบประชาสัมพัทนธ์ภาครัฐก็อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งได้ไปถึง 272 ล้านบาท แต่เมื่อไปดูในรายละเอียด ก็จะมีโครงการทีวี Soft Power ที่เป็นเพียงความคิดของรัฐมนตรี และยังไม่มีรายละเอียดอะไร ตนจึงอยากรู้ว่า งบประมาณที่เพิ่มมาจาก ปี 67 จำนวน 82 ล้านบาทนั้น จะงอกอยู่ที่ตรงไหน ทำให้พบโครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์เชิงรุกในเวทีต่างประเทศถึง 36 ล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่านี่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับกรณีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปทั่วโลก ตนเข้าใจว่าเป็นภารกิจที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล และรัฐบาลต้องทำงานให้เชื่อมั่นต่อนานาชาติ แต่ต่อให้กรมประชาสัมพันธ์ได้งบก้อนนี้เพิ่มซัก 10 เท่า 100 เท่า ก็คงไม่สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นเชิงรุกในเวทีต่างชาติได้อย่างมีนัยยะสำคัญแน่ๆ
”ก็ไม่ผิดอะไรที่กรมประชาสัมพันธ์จะทำงานไม่เข้าเป้า และรัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาเอง ก็ไม่ใช่ต้นเหตุที่จะทำให้เศรษฐกิจสังคมและอุตสาหกรรมเป็นแบบนี้ เพราะท่านเพิ่งเข้ามาเพียง 1 ปี แต่ที่ท่านผิดแน่ๆ คือท่านเชื่อโดยสนิทใจเหลือเกินว่า การเดินทางไปทั่วโลก จะสร้างความเชื่อมั่น และทำให้นานาชาติลงทุนในประเทศไทยได้“
อีกหนึ่งภารกิจที่น่าสนใจคือ การที่กรมประชาสัมพันธ์มุ่งไปที่แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทันยุคทันสมัยตามช่องทางโซเชียลต่างๆ มีจำนวนเพจเฟซบุ๊กถึง 729 เพจ มีติ๊กต๊อก 313 บัญชี ยูทูป 129 แชนเนล ซึ่งเมื่อทราบแบบนี้ ก็ทำให้ถูกตั้งคำถามว่า จะมียอดเพจเยอะๆ ไปทำไม มียุทธศาสตร์ที่ดีกว่านี้หรือไม่ เพราะการมีจำนวนมากไม่ได้ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย มีแต่จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณอย่างไม่จำเป็นไม่สมเหตุสมผลต่างหาก พร้อมยกตัวอย่าง เรตติ้งทีวีดิจิตอล ที่ปัจจุบันหยุดช่อง NBT มีอันดับที่ 19 เป็นรองบ๊วยจาก 20 อันดับ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่จะชี้ให้เห็นว่า กรมประชาสัมพันธ์ยังทำงานไม่เข้าเป้า และไม่เข้าใจภารกิจตนเอง
ในบรรดาแฟนเพจเฟสบุ๊กทั้งหมดนั้น เราพบหนึ่งเพจที่แอคทีฟที่สุดคือ เพจ NBT Connect ซึ่งหลายครั้งก็มีการลงข่าวสารที่ทำให้ตั้งคำถามว่า นี่คือภารกิจของรัฐบาลและประชาชนได้ประโยชน์อะไร แต่เมื่อเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ NBT Connect ก็ใจดีลงข่าวพรรคก้าวไกลให้ แต่ก็ถูกตั้งคำถามอยู่ดีว่า แล้วเรื่องนี้เป็นภารกิจรัฐตรงไหน ทำไมไม่เอาเวลาไปสื่อสารโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประชาชนโดยตรง ท่านเอาเวลามาทำแบบนี้ทำไม
สำหรับโครงการที่พอจะเข้าเกณฑ์การทำงานสื่อสารอย่างโครงการจ้างเหมาบริการผลิตข้อมูลข่าวสารจำนวน 39 ล้านบาทนั้น ก็อาจทำให้ประชาชนคิดไปถึงกรณีที่มีสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งปิดตัวลงด้วยเหตุผลขาดทุนสะสม และมีผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการข่าว ถูกถ่ายโอนไปทำงานที่ NBT และทำให้สังคมตั้งคำถามว่า เข้าไปโดยวิธีใด โปร่งใสหรือไม่ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร
นางสาวภคมน ยังตั้งคำถามถึงพันธกิจหลักของการใช้งบประมาณก้อนนี้ ว่าจะต้องใช้ไปกับอะไร โดยยกมาสองทางเลือก คือ ก.แก้ต่างตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามสร้างความนิยมให้รัฐบาล ข.สื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการรักษ์ภารกิจของรัฐให้ประชาชนรับรู้รับทราบอำนวยความสะดวกข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ แน่นอนว่าสองข้อนี้อย่างไรก็ต้องตอบ ข.
”ตอนนี้กรมประชาสัมพันธ์กำลังประสบปัญหาใช้บทบาทของตนเองเป็นปากเป็นเสียงให้กับรัฐบาลมากกว่ามุ่งเน้นการสื่อสารที่เป็นสิทธิประโยชน์ของประชาชน ช่องทางของท่านในแต่ละช่องทางก็เรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดินเหลือเกินสู้ใครเขาไม่ได้เลย ขอแนะนำว่า ทำงานตัวเองให้ดี ตั้งเป้าสื่อสารของภาครัฐให้เต็มที่ สื่อสารสิคะ ทำงานท่านสิคะ ถ้าท่านทำสิ่งเหล่านี้ ยังไงพี่น้องประชาชนก็กลับมาดู เพราะมันเป็นสิทธิประโยชน์โดยตรงของพวกเขา“
นางสาวภคมน ยังเสนอแนะแนวทางเพื่อให้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม มีความคุ้มค่า เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่นำไปสู่การแทรกแซง ครอบงำสื่อมวลชน 3 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1 ปิดช่องโหว่งบประมาณ ไม่ให้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์กับบุคคลและพวกพ้อง โดยรัฐบาลควรออกระเบียบ สปน. ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ และกำหนดว่างานประชาสัมพันธ์ต้องเป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น ห้ามไม่ให้ใช้เพื่อการโฆษณาตัวผู้บริหาร หน่วยงาน ทั้งรัฐมนตรี อธิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงาน ต้องเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์เฉพาะในเรื่องที่อยู่ในอำนาจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ประชาชนเท่านั้น รวมถึงต้องมีข้อความกำกับว่า ดำเนินการโดยใช้เงินส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องไม่มีข้อความ ภาพ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ของพรรคการเมืองใดๆ เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง และห้ามใช้เงินหลวงในการโปรโมท สร้างความนิยม สร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเอง
ขั้นที่ 2 เพื่อลดการซ้ำซ้อนของงบประมาณ จากรายงานพบว่าในปี 58-65 พบสามหน่วยงานที่มี โครงการมูลค่าสูงกว่ากรมประชาสัมพันธ์ ได้แก่ กรมการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมยกตัวอย่างคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล ว่าควรใช้กรรมการชุดนี้ให้เกิดประโยชน์ โดยให้ระบุในแผนงานว่า งานสื่อสารภาพลักษณ์และนโยบายหลักของรัฐบาลในภาพรวมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไปควรให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับผิดชอบหลักเพราะถือเป็นการสื่อสารนโยบายของรัฐ ส่วนหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวง ที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ก็ให้หน่วยงานนั้นรับผิดชอบไป ย้ำว่า เรื่องนี้สามารถดำเนินการได้เลย
นางสาวภคมน ยังชี้ว่า การประชาสัมพันธ์ในระดับหน่วยงานควรมองเป็นกระทรวงมากกว่ากรม เพราะกระทรวงควรเป็นผู้คิดแผนงานตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน หรือพูดง่ายๆ ว่า รัฐมนตรีควรเป็นผู้กำหนดโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐของหน่วยราชการในสังกัดตัวเองก่อนที่จะมาของงบประมาณ
”กรมประชาสัมพันธ์ควรยกระดับตัวเอง ปรับตัวเอง ให้ดูทันสมัยสักหน่อย อย่าเอาเวลาไปคอยปกป้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว“
ขั้นที่ 3 เพื่อให้งบโปร่งใสทั้งระบบ ควรแก้พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน นิยามค่าใช้จ่ายและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องมีแผนแยกออกมา เพื่อให้สาธารณะชนสามารถมองเห็นตรวจสอบได้อย่างชัดเจน ต้องมีการกำหนดมาตรฐานราคากลางของสื่อดิจิทัล เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความคุ้มค่า จึงทำให้ไม่สามารถลงโทษได้ หากพบผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามวินัยการเงินการคลัง
นางสาวภคมน ยังยกตัวอย่าง การเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ ที่ถูกเบิกจ่ายในช่วงท้ายปี ที่มีเป้าหมายใช้งบประมาณคงค้างให้หมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้มีเป้าหมาย เพื่อต้องการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนจริงๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นโครงการที่มีงบประมาณต่ำ เพื่อจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ดังนั้น โครงการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ต้องให้ผ่านกระบวนการ E-Bidding ทั้งหมด และสื่อที่ผลิตและได้รับงบประมาณจากรัฐ ต้องแสดงรายละเอียดแปะป้ายบอกว่า ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเท่าไหร่ เหมือนเวลาเราใช้เงินจากกองทุนพัฒนาการเมือง ก็ต้องมีการระบุเช่นเดียวกัน
“งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความไม่โปร่งใส งบกระจัดกระจาย ผลลัพธ์การสื่อสารไม่มีเอกภาพ เอาง่ายๆ งบประมาณปีละเกือบ 3,000 ล้านบาท ถ้าทำเป็นทำถึงจริง โครงการ IGNITE THAILAND ของนายกรัฐมนตรี คงไม่ถูกประชาชน IGNORE แบบนี้”
สุดท้าย ด้วยปรารถนาดีและคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ จะทำให้งบประชาสัมพันธ์โปร่งใส เลิกซุก เลิกซ่อน เลิกซ้อน เสียที และด้วยความปรารถนาดีครั้งที่สอง การสื่อสารเป็นเพียงปลายทาง แต่ต้นทางของการสื่อสารที่จะทำให้ได้ผล คือฝีมือการบริหารราชการแผ่นดิน และความสง่างามทางการเมือง“ นางสาวภคมน กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปริญญา' ชี้เป้าจับตา 'กกต.' ยุบเพื่อไทยมาตรฐานเดียวยื่นก้าวไกลหรือไม่
'ปริญญา' มองการตีความคำว่า 'ชี้นำ-ครอบงำ' กว้าง อยู่ที่ 'กกต.-ศาลรธน.' ตัดสิน หลังคำร้อง 'ยุบเพื่อไทย' ถูกรับไว้ จับตาเดินตามแนวก้าวไกลหรือไม่
'ธนกร' ตบปาก 'ธนาธร' โชว์ธาตุแท้ ปม 112 บนเวที 6 ตุลา
'ธนกร' ฟาด 'ธนาธร' เผยธาตุแท้ หลุดพูดเวที 6 ตุลา ข้องใจพาดพิงสถาบันผิด 112 ทำประเทศก้าวหน้าตรงไหน แนะเอาเวลาไปช่วยน้ำท่วมทำประโยชน์ดีกว่า
'เลขาส้ม' มีแผนสำรอง โดน 112 เหี้ยนพรรค 'ไหมสอง-โรมสอง' เกิดแน่
เลขาธิการพรรคส้ม-ประชาชน ยอมรับเตรียมแผนสำรองไว้แล้ว หากอดีตส.ส.ก้าวไกลแก้ 112 ไม่รอดโดนเกือบหมดพรรค ระบุเห็นแถวสี่ รับไม้ต่อ “ไหมสอง-โรมสอง”เกิดแน่
อดีตสส.ปชป. เจ็บปวด สส.สาวพรรคส้ม จวกประชาธิปัตย์ได้แสบถึงทรวง!
ถ้าใครได้ติดตามการประชุมรัฐสภา และได้ฟังการอภิปรายของของคุณลิซ่า นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายในฐานะที่เป็นคนใต้คนหนึ่ง เนื้อหาการอภิปรายตอน
ควันหลงถกงบ68 'สว.พันธุ์ใหม่' แนะรัฐบาลต้องกล้าคิดใหญ่ทำใหม่ ตัดงบองค์กรอิสระ
นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กว่า อภิปรายงบประมาณ ปี 2568 ในภาพรวม ให้เห็นว่า การจัดงบประมาณขอ
ผ่านฉลุย! 'วุฒิสภา' ไฟเขียวงบปี 68 'ขุนคลัง' ขอให้มั่นใจใช้จ่ายโปร่งใส
การประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หลังสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายแล้วเสร็จ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ 174 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 งดออกเสียง 7