'ปานเทพ' ย้อนถามถ้ากัญชาเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ ทำไมผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงคุก

21 มิ.ย.2567- นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ถ้ากัญชาเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ ทำไมที่ผ่านมาผู้ป่วยไทยเกือบทั้งหมดยังต้องเสี่ยงคุกใช้กัญชาใต้ดิน? มีเนื้อหาดังนี้

ปัญหาการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น ปัจจุบันความเห็นไปในทางที่หลากหลายด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป เช่น บางครั้งก็ว่ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วยังใช้ทางการแพทย์ได้ บางครั้งก็ว่าห้ามเฉพาะการนำกัญชาไปสันทนาการเท่านั้น บางครั้งก็ว่ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วร้านขายกัญชาจะสามารถเปิดต่อไปได้โดยให้มีแพทย์แผนไทยหรือเภสัชกรจ่ายกัญชาต่อไปได้ ฯลฯ

จนประชาชนมีความสับสนว่าเหตุใดจึงไม่มีการถกเถียงข้อเท็จจริงและในทางวิชาการให้ยุติเสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะตัดสินใจว่าสมควรที่จะนำกัญชาถูกควบคุมโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือควรนำกัญชาถูกควบคุมโดยการตราพระราชบัญญัติขึ้นมาควบคุมเป็นการเฉพาะกันแน่

เพราะในความเป็นจริงแล้วกัญชาและกัญชงมีลักษณะต่างจากพืชเสพติดอื่นๆ ที่มีการใช้ประโยชน์ในหลากหลายและกว้างขวางทั้งในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ เกินกว่าที่จะใช้กฎกติกาแบบยาเสพติดทั่วไป

ขอย้ำว่าประเทศไทยได้เคยมีช่วงเวลาในการที่ให้ช่อดอกของกัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดแต่ยังคงใช้ในทางการแพทย์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ของสังคมไทยตามมา คือ แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชาให้กับผู้ป่วย ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ใช้กัญชานอกระบบทางการแพทย์ จึงทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อนถูกจับกุมไปอยู่ในเรือนจำอย่างแน่นอน

รายงานของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดในผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 ในประเทศไทย ซึ่งศึกษาโดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัยและคณะ[1]

โดยการศึกษาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่กัญชายังเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ กลับพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับกัญชา “นอกระบบ” ของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆนอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84[1]

แต่ผลการศึกษาเดียวกันนี้กลับพบว่า หลังใช้กัญชาโรคที่เป็นของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ 93[1]

ซึ่งตัวอย่างที่กัญชาที่อยู่นอกเหนือข้อบ่งใช้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ย่อมไม่จ่ายในโรคเหล่านี้ ทั้งๆที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น ได้แก่

“เบาหวาน แพ้เหงื่อตัวเองแพ้ความร้อน งูสวัด ก้อนเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ AIDS สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ ก้อนเนื้อที่ต่อม ลูกหมาก นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อัมพาตครึ่งซีก เก๊าท์ ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจอ่อนๆ โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคปอด ไขมันในเส้นเลือด ปวดเข่าสาเหตุจากรถชน HIV,TB กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ไบโพล่าร์ ปวดประจำเดือนเรื้อรัง ก้อนที่เต้านม โรคเลือดจาง เลือดคลั่งในสมอง (จากอุบัติเหตุ) กล้ามเนื้อกระตุก ริดสีดวง ใกล้หมดประจำเดือน ต่อมลูกหมากโต หัวใจโต เส้นเอ็นแขนขาตึง แพ้ภูมิตนเอง เบื่ออาหาร ความดันโลหิตสูง วุ้นตาเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักเกิน โรคเริม วัยทอง โรคหัวใจ ภูมิแพ้อากาศ ไซนัส ไขมันสูง ต้อหิน โรคหอบ แผลกดทับ แผลที่ข้อเท้า ไตอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรัง สิว แผลเป็นจากสิว หนังแข็ง เส้นเลือดในสมองแตก ไขมันเกาะตับ ไส้เลื่อน โรคหัวใจ ไวรัสตับอักเสบ ทานข้าวไม่ได้ ไตบวม เส้นเลือดในสมองตีบ ก้อนเนื้อในมดลูก ตับแข็ง ปวดประจำเดือน หลอดเลือดสมองอุดตัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลงลืม ไขมันในเลือดสูง”

และถ้าแพทย์ไม่จ่ายให้ประชาชนซึ่งมีโรคหรืออาการเหล่านี้ ด้วยข้ออ้างว่าไม่ได้มีงานวิจัยที่ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ และไม่ได้เป็นข้อบ่งใช้ภายใต้ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข หรือมีอคติและความไม่เข้าใจในเรื่องกัญชา แม้กระทั่งแต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับยาแผนปัจจุบันอย่างอื่น ใครจะไปจ่ายให้ และผู้ป่วยจะได้รับยาจากที่ไหน?

คำถามที่ตามมาคือ ถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก คนที่ใช้กัญชานอกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพราะแพทย์ไม่จ่ายยาให้ ก็ต้องกลับไปเป็นอาชญากรนำไปติดคุกตะรางนั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่?
โดยผลการศึกษายังพบด้วยว่า ประชาชนที่ใช้กัญชา(ซึ่งส่วนใหญ่ใช้อย่างผิดกฎหมายแต่มีอาการที่เจ็บป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก)ในกลุ่มโรคจิตและระบบประสาทมากที่สุดถึงร้อยละ 39.8 ใช้ในกลุ่มโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูกร้อยละ 30.7 ใช้ในโรคติดต่อไม่เรื้อรังร้อยละ 19.5 และใช้ในกลุ่มโรคมะเร็งร้อยละ 18.3 และใช้ในกลุ่มโรคอื่นๆรวมกันอีกร้อยละ 30.2[1]

ในจำนวนดังกล่าวผู้ให้ข้อมูลใช้กัญชาในประเทศไทย เพื่อรักษาโรคทางจิตประสาทเป็นสัดส่วนสูงที่สุดคือร้อยละ 39.8 นั้น ได้แก่ ภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ นอนไม่หลับ นอนหลับผิดปกติ ใกล้หมดประจำเดือน โรคหัวใจอ่อน ๆ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน[1]

นอกจากนั้นผู้ที่ใช้กัญชาในประเทศไทย เพื่อบรรเทาโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูกร้อยละ 30.7 ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม ออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระตุก หดตัวผิดปกติ อัมพาตครึ่งซีก กระดูกทับเส้นประสาท เส้นเอ็นแขนขาตึง[1]

สำหรับผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อบรรเทาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 19.5 ได้แก่โรค เบาหวาน ไขมัน ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เก๊าท์[1]

สำหรับกลุ่มสำรวจผู้ใช้กัญชาในโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 18.3 ได้แก่ มะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง ตับ ปอด ลำไส้ ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ[1]

สำหรับคำอธิบายในผู้ป่วยมะเร็งที่ว่าใช้กัญชามีอาการดีขึ้นอย่างไรนั้น ได้มีผลการศึกษาต่อมา เป็นตัวอย่างในการสำรวจผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้กัญชาในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เผยแพร่ในวารการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข ฉบับเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2565 พบว่า

“เมื่อผู้ป่วยมะเร็งใช้น้ำมันกัญชาในการรักษาร่วมต่างมีความพอใจต่อผลการรักษา มีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการของโรคมะเร็ง และทำให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตในช่วง
เวลาที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ และในด้านผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้น้ำมันกัญชา พบว่าผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงหลังการรักษาด้วยน้ำมันกัญชา”[2]

สำหรับผู้ใช้กัญชาในโรคอื่นๆที่หลากหลายในประเทศไทยนั้น ยังมีสัดส่วนอีกร้อยละ 30.2 ได้แก่ เอชไอวี/เอดส์ ก้อนเนื้อและนิ่ว ถุงลมโป่งพอง ภูมิแพ้ หอบ ไซนัส โรคโลหิตจาง หัวใจโต เบื่ออาหาร ปัสสาวะ บ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักเกิน แผลกดทับ แผลที่ข้อเท้า ไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง ต้อหิน วุ้นตาเสื่อม ไส้เลื่อน ไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง โรคผิวหนัง ได้แก่ แพ้เหงื่อ งูสวัด สะเก็ดเงิน เริม สิว แผลเป็นจากสิว หนังแข็ง[1]

โดยอาการที่กล่าวถึงดังที่กล่าวมานั้น แม้ส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ หรือใช้กัญชาใต้ดินก็ตาม แต่ผลสำรวจยังพบว่าผู้ที่ใช้กัญชามีอาการดีขึ้นร้อยละ 54.8 มีอาการดีขึ้นมากร้อยละ 38.6 และมีอาการเหมือนเดิมร้อยละ 6.7 รวมแล้วมีผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากร้อยละ 93[1]
ประเด็นต่อมาที่สำคัญเช่นกัน คือ ผลการศึกษาเดียวกันนี้ยังพบอีกด้วยว่าผู้ที่ใช้กัญชาเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันร้อยละ 31.7 ในขณะที่ลดการใช้ยาแผนปัจจุบันอีกร้อยละ 26.3 ในขณะที่ยังคงใช้ยาแผนปัจจุบันเหมือนเดิมร้อยละ 42[1]

รวมผู้ที่ใช้กัญชาแล้วได้ประโยชน์โดยการลดหรือเลิกยาแผนปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 58[1]
แม้ว่าผลการสำรวจจะไม่ได้ทำการศึกษาต่อว่าผู้ที่ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันนั้น คือยาประเภทใด

และที่น่าประหลาดใจคือช่วงที่ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ภาครัฐหรือองค์กรทั้งหลายต่างสนใจเพียงแค่ว่ามีผู้ใช้กัญชามากขึ้นแต่กลับไม่ได้มีคำถามต่อไปว่า ผู้ที่ใช้กัญชาลดหรือเลิกยาแผนปัจจุบันหรือไม่และอะไรไปบ้าง หรือผู้ที่ใช้กัญชาแล้วลดยาเสพติดอื่นๆ หรือลดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ และเท่าไหร่กันแน่?

เพราะผลการวิจัยในวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2565 เป็นการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามีการลดการจ่ายยาต่างๆลง

คือ ประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ 11.1, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไปร้อยละ 12.2, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ 8, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ 10.7, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ 10.8, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ 9.5[3]
และถ้าพิจารณาผลการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มขึ้น จะยิ่งพบด้วยว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นการเลิกและลดการใช้ยาแผนปัจจุบันจะยิ่งมากขึ้นไปอีก ดังเช่น

เมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ของมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถนำมาใช้นันทนาการได้ ปรากฏว่า “ใบสั่งยาแก้โรคซึมเศร้า” ลดลงไปถึงร้อยละ 16.39[3]
เมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ของมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถนำมาใช้นันทนาการได้ ปรากฏว่า “ใบสั่งยาแก้วิตกกังวล“ ลดลงไปถึงร้อยละ 17.67[3]
เมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ของมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถนำมาใช้นันทนาการได้ ปรากฏว่า “ใบสั่งยาแก้โรคจิต“ ลดลงไปถึงร้อยละ 15.29[3]
เมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ของมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถนำมาใช้นันทนาการได้ ปรากฏว่า “ใบสั่งยานอนหลับ“ ลดลงไปถึงร้อยละ 13.10[3]
เมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ของมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถนำมาใช้นันทนาการได้ ปรากฏว่า “ใบสั่งยาแก้ปวด“ ลดลงไปถึงร้อยละ 13.19[3]
เมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ของมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสามารถนำมาใช้นันทนาการได้ ปรากฏว่า “ใบสั่งยาแก้โรคลมชัก“ ลดลงไปถึงร้อยละ 14.29[3]

การที่กัญชาได้ส่งผลกระทบต่อยาหลายชนิด ก็แปลว่ากัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นภัยต่อผลประโยชน์ของยาแผนปัจจุบันหลายชนิด ยิ่งประชาชนเข้าถึงมากเท่าไหร่ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของยาเหล่านี้มากขึ้นด้วย ซึ่งแปลว่าแพทย์ในกลุ่มเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการโจมตีกัญชาอยู่ด้วยหรือไม่?

การเสียผลประโยชน์ของกลุ่มทุนยาและแพทย์บางกลุ่มนั้นมีมากขนาดไหน ยกตัวอย่างจากโรคลมชัก (Epilepsy)

ซึ่งโรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคทางประสาทที่พบบ่อยในเด็กไทย ซึ่งโรคนี้สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ทั้งด้านพัฒนาการของเด็ก การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาการชักที่มักเกิดอย่างฉับพลันอาจนำไปสู่อุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่รุนแรง

โดยวัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และเติบโต อาการของโรคลมชักในเด็กอาจขัดขวางพัฒนาการตามช่วงวัยและตัดโอกาสที่สำคัญของเด็ก

ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2562 พบว่าโรคลมชักในเด็กนับเป็น 1 ส่วน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วประเทศ (500,000 คน) ซึ่งอาจหมายความว่ามีเด็กราว 170,000 คนที่ต้องการรักษาและเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น[3]

ยากัญชากับผู้ป่วยเด็กโรคลมชักรักษายาก 170,000 คน เป็นเด็กโรคลมชักที่ดื้อยา จำนวน ร้อยละ 15 คิดเป็นประมาณ 25,500 คน[3] โดยการวิจัยในไทยโดยองค์การเภสัชกรรใ (อภ.) พบว่า กัญชาที่มีสารซีบีดีเด่นจะรักษาโรคนี้ได้ผลดีมาก[4]

ซึ่งถ้าใช้ยาฝรั่งจะเสียเงิน 3 ล้านบาทต่อคน และถ้ารักษาทุกคนประเทศไทย จะต้องเสียเงินออกนอกประเทศ 7.7 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าใช้ยากัญชา (ไทยผลิตได้เอง) จะเสียเงินเพียง 1.5 แสนบาทต่อคน ถ้ารักษาทุกคนประเทศไทย จะใช้เงินเพียง 3.8 พันล้านบาท

แปลว่าหากมีผู้ใช้กัญชาหรือกัญชงจะมีผู้เสียผลประโยชน์จากยาฝรั่งสูงถึง 73,200 ล้านบาท และแปลว่าอาจจะมีคนในประเทศไทยบางกลุ่มที่เกี่ยวกับยาเหล่านี้ย่อมสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตัวไปด้วยหรือไม่?

ดังนั้นจะมีแพทย์บางกลุ่มอย่างไรเสียก็อาจจะไม่ยอมจ่ายกัญชาไทยให้คนไข้หรือไม่?
ยังไม่นับแพทย์บางคนที่ต่อต้านกัญชาอาจเสียผลประโยชน์จากยาเหล่านี้หรือไม่

ในขณะเดียวกันด้วยความที่กัญชาเป็นยาเสพติด จึงมีข้อกำหนดที่ยุ่งยากและเป็นภาระเกินไปในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่จึงไม่เป็นมิตกับการจ่ายกัญชาให้คนไข้

และในความเป็นจริงในช่วงกัญชาเป็นยาเสพติดแต่อ้างว่าใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์กัญชาที่รัฐบาลลงทุนผลิตให้โรงพยาบาลต่างๆจ่ายกลับปรากฏว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชาให้คนไข้และปล่อยให้ผลิตภัณฑ์น้ำกัญชาหมดอายุไป ในขณะที่ประชาชนกลับต้องหาน้ำมันกัญชาใต้ดินเพื่อมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ดังเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 คุณยายอายุ 70 ปี ปลูกกัญชาเพื่อต้มกินรักษาโรคเพื่อการพึ่งพาตัวเอง แต่กลับถูกจับกุมและขังคุกด้วย[5] เราต้องการให้เหตุการณ์ทำนองนี้กลับมาอีกหรือไม่?

ในสถานการณ์เวลานี้จึงใช้โพลการตัดสินของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้กัญชาไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึง 2 ด้าน คือ
1.เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นโดยไม่ถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนทางการแพทย์บางกลุ่ม
2.ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชาอย่างเข้มงวด และผู้ที่ห้ามใช้กัญชาอย่างเคร่งครัด และยังกำหนดให้มีบทลงโทษรุนแรงกว่ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ก็ยังได้

และการจะทำเช่นนั้นได้ ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาด้วยการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดโดยอ้างว่าจะยังคงใช้ทางการแพทย์ได้ แต่จะปล่อยให้สถานการณ์ที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมทั้งระบบก็ไม่ได้เช่นกัน

ทางออกเรื่องนี้จึงทำได้เพียงประการเดียวคือ ต้องเร่งตราพระราชบัญญัติในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา และกัญชงทั้งระบบ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเอาความจริงมาพูดกันเท่านั้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ, การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง, ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565
[2] ณัฐิกา วรรณแก้ว, ทัศนคติต่อการรักษาด้วยน้ํามันกัญชาของผู้ป่วยมะเร็ง ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 20 ฉบับที่ 2, พฤษภาคม-สิงหาคม 2565, หน้า 405-413
https://he01.tci-thaijo.org/.../article/view/250185/174191
[3] เว็บไซต์มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก,ความรู้เรื่องโรคลมชักในเด็ก
https://www.childrenhospitalfoundation.or.th/epilepsydetail/
[4] องค์การเภสัชกรรม, การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก, Facebook, 14 มีนาคม 2567
https://web.facebook.com/share/v/dSLh35sRSiyJyPNq/
[5] ไทยรัฐออนไลน์, จับยายวัย 70 ปลูกกัญชา 1 ต้น ยันไว้ต้มกินรักษาโรค โดนขังข้ามคืน, 22 มี.ค. 2565
https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2347710

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เครือข่ายกัญชา' จ่อยื่นบอร์ด ป.ป.ส. ค้านนำกัญชากลับสู่ยาเสพติดตามเกมรัฐบาล

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า ขอเรียนไปยังประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เอากัญชากลับเป็นยาเสพติด เท่ากับปิดโอกาสใช้เพื่อสุขภาพ !

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่ออนาคตกัญชาไทย ที่มีความพยายามจากบางฝ่าย ในการให้กลับเป็นยาเสพติด ว่า

'ปานเทพ' ชำแหละผลวิจัยด้อยค่ากัญชา หลังกล่าวหาการปลดล็อก ทำให้จำนวนผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อผลวิจัย บางส่วนที่เปิดเผ

'ประสิทธิ์ชัย' กังขาถึงยุค นายทุนมาบัญชาการ เอากัญชาไปสู่ยาเสพติด

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และเพื่อภาคีชาวกัญชาประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า

'ดร.วิโรจน์' โต้เดือด 'หมอเดชา' การโฆษณาชวนเชื่อ คุณสมบัติการรักษาโรคของกัญชา

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เขียนบทความเรื่อง "การโฆษณาชวนเชื่อ/บิดเบือนหรือสื่อสารข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับคุณสมบัติการรักษาโรคของกัญชา"