กป.อพช.ยื่นร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับภาคประชาชนต่อรองประธานสภา
20 มิ.ย. 2567 - ที่รัฐสภา นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) ยื่นร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกฎหมายโลกร้อน ฉบับภาคประชาชน ต่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง
โดยตัวแทนกล่าวถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งมีประชาชนเตรียมเข้าชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ดังนี้ 1.เจตนารมณ์มุ่งให้รัฐแก้ปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เร่งลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่เป็นภาคส่วนหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่มีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อประชาชน ชุมชน กลุ่มเปราะบาง และธรรมชาติ
2.มุ่งฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศ โลกร้อนและรักษาธรรมชาติ คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ในฐานะผู้มีบทบาทรักษาระบบนิเวศ เพื่อสร้างสมดุลทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ
3.เน้นที่หลักการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศ อันเป็นไปตามหลักสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน โดยกำหนดสิทธิไว้ถึง 14 ประการ ครอบคลุมสิทธิทุกกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง และสิทธิในเนื้อหาและกระบวนการ และกำหนดหน้าที่รัฐให้คุ้มครองสิทธิทั้งหมด
4.นิยามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุ โดยนิยามว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุจากพลังงานฟอสซิลเป็นสาเหตุหลัก เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดการให้ชัดเจน (มาตรา 4)
5.กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหประชาชาติ โดยเร่งเป้าหมายให้เข้าสู่คาร์บอนเป็นกลางในปี 2035 (มาตรา 16 (10)) และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ ในปี 2050 (มาตรา 16 (11)) และสามารถทบทวนให้เร็วขึ้นได้กว่าแผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่รัฐเสนอต่อสหประชาชาติ
6.ใช้โครงสร้างการบริหารจัดการร่วมระหว่างรัฐกับสังคม โดยกระจายอำนาจสู่สังคมและท้องถิ่น มีคณะกรรมการนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม (มาตรา 12) มีคณะกรรมการกำกับ ที่เป็นกลไกกึ่งอิสระ (มาตรา 43) เพื่อตรวจสอบให้รัฐดำเนินตามเป้าหมาย และมีสมัชชาประชาสังคม (มาตรา 21) เพื่อสร้างความเข้มแข็งประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมนโยบายทุกระดับ อันทำให้เกิดธรรมาภิบาล
7.ใช้หลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง กำหนดให้ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล ต้องมีความร้บผิดชอบต่อระบบนิเวศ สังคมของโลกและประเทศด้วยการปรับลดการปล่อยคาร์บอนฯ ตามสัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายชาติกำหนด ภายเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และจะถูกคิดภาษีคาร์บอนฯ เพื่อควบคุมการปล่อยคาร์บอนฯ
8.แยกขาดระหว่างความรับผิดชอบและการสร้างแรงจูงใจลดก๊าซฯ ออกจากกัน จะไม่ใช้หลักการชดเชยคาร์บอนด้วยการเอาการสร้างแรงจูงใจ เช่น คาร์บอนเครดิตที่ไปลงทุนหาซื้อมาไปชดเชยกับการปล่อยคาร์บอนของตนเอง เพราะเป็นการลดทอนหรือเบี่ยงเบนความรับผิดชอบในการลดปล่อยคาร์บอนฯ ระบบความรับผิดชอบของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การถูกควบคุมจำกัดการปล่อยคาร์บอนตามเป้าหมาย และการเสียภาษีคาร์บอน ส่วนระบบแรงจูงใจของร่าง พรบ.ฉบับนี้มาจากการเข้าถึงกองทุนเปลี่ยนผ่านสีเขียวเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้ลดปล่อยคาร์บอนโดยเร็ว
9.ใช้ระบบภาษีคาร์บอนเป็นเครื่องมือเศรษฐศาสตร์ในการลดคาร์บอนโดยเฉพาะกับกลุ่มพลังงานฟอสซิลและอุตสาหกรรมรายใหญ่ (มาตรา 80-82) เพื่อป้องกันการฟอกเขียวอันอาจเกิดจากระบบตลาดคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต และภาษีที่ได้จากภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่จะมาเข้ากองทุนเปลี่ยนผ่านสีเขียว อันเป็นการสอดคล้องกับหลักความรับผิดชอบที่แตกต่างซึ่งไม่เพียงแต่จะรับผิดชอบลดคาร์บอนของตนเอง แต่เม็ดเงินที่ได้จากภาษีจะเอามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนจน ชุมชน ประชาชนในการปรับตัวต่อภูมิอากาศเป็นหลัก
10.เน้นลดก๊าซเรือนกระจกที่ต้นเหตุ เช่น ภาคพลังงานฟอสซิลและอุตสาหกรรมรายใหญ่ แต่การใช้ธรรมชาติเช่น การฟื้นฟูป่า ธรรมชาติ และอื่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญ แต่เป็นเพียงส่วนเสริม และจะไม่นำไปชดเชยกับเป้าหมายและหน้าที่การลดปล่อยคาร์บอนของแต่ละภาคส่วน
11.มุ่งเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซของภาคส่วนต่าง ๆ ยึดหลักระวังไว้ก่อน (มาตรา 58) และหลักสิทธิประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศตามมาตรา 6
และ 12.มีกองทุนเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ได้จากภาษีคาร์บอน มาจัดสรรเพื่อแก้ไข เยียวยา ผลกระทบ ส่งเสริมการปรับตัวของประชาชน กลุ่มเปราะเบางไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกองทุน (มาตรา 85)
ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดการประชุมสภามาในสมัยนี้ มีกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่สภาหลายฉบับ ตัวอย่างกฎหมายที่มาจากภาคประชาชนประสบผลสำเร็จไปแล้วคือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดังนั้น จึงจะเห็นได้ชัดว่ากฎหมายที่ประชาชนได้ริเริ่มเสนอนั้น สามารถนำไปเป็นปากเป็นเสียง และนำไปสู่การแก้ไขในมาตราที่สำคัญได้ ตนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะรับร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ และมั่นใจว่าประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เห็นด้วยกับการมีร่างกฎหมายนี้ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ในกระบวนการถัดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประธานวิปรัฐบาลการันตีนายกฯ ไม่หนีกระทู้มาตอบสภาแน่เมื่อเวลาเหมาะสม!
'วิสุทธิ์' ย้ำพรรคร่วมองค์ประชุมต้องปึ๊ก กนัด ป้อง 'นายกฯ อิ๊งค์' ไม่ได้หนีตอบกระทู้ 'ฝ่ายค้าน' เหตุติดแถลงผลงาน รบ.เลื่อนเวลาไม่ได้ มั่นใจ หากไม่ติดวาระสำคัญ 'นายกฯ' มาตอบสภาแน่นอน
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
พิเชษฐ์จี้ 'คมนาคม' เข้มงวดมาตราฐานความปลอดภัย
'พิเชษฐ์' จ่อเรียก 'คกก.แห่งชาติ' ถกอุบัติเหตุ 'รถบัสไฟไหม้' จี้ 'คมนาคม' เข้มงวดมาตราฐานความปลอดภัย ไม่เห็นด้วย ยกเลิกทัศนศึกษา มองเป็นการแก้ปลายเหตุ
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 2 รองประธานสภาฯ 'พิเชษฐ์-ภราดร'
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 2 รองประธานสภาฯ 'พิเชษฐ์' เผยพร้อมยกระดับสภาฯ ให้เจริญก้าวหน้า 'วันนอร์' เรียกแบ่งงาน 17 ก.ย. ขณะที่ 'ภราดร' ไร้กังวลขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
'วันนอร์' เผยนำชื่อ 'พิเชษฐ์-ภราดร' ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นรองประธานสภาฯแล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงขั้นตอน หลังเลือกรองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง และรองประธานสภภาฯคนที่สองว่า วันนี้ (11 ก.ย.)จะนำรายชื่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน
ตามคาด! 'พิเชษฐ์- ภราดร' นั่งเก้าอี้รองประธานสภา
ตามคาด! 'พิเชษฐ์- ภราดร' นั่งแท่นรอง ปธ.สภาแบบไร้คู่แข่ง 'อนุทิน' ใช้สิทธิ์ สส. เข้าสภาเสนอชื่อรอง 1 ด้วยตัวเอง 'พิเชษฐ์' ตั้งเป้าทำสภาประจำจังหวัด ด้าน 'ภราดร' มาซึ้ง ยกสภาเป็นบ้านหลังที่สอง