'ดร.วิโรจน์' โต้เดือด 'หมอเดชา' การโฆษณาชวนเชื่อ คุณสมบัติการรักษาโรคของกัญชา

12 มิ.ย. 2567- ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เขียนบทความเรื่อง "การโฆษณาชวนเชื่อ/บิดเบือนหรือสื่อสารข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับคุณสมบัติการรักษาโรคของกัญชา" ตอบโต้ นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนธิข้าวขวัญ หมอพื้นบ้านผู้บุกเบิกการทำน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรค ว่า

จากบทความ "กัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพ : ทางออก ทางเลือก หรือทางตัน?" ซึ่งสกัดมาจากร่างรายงานโครงการวิจัย “แนวทางและมาตรการใช้กัญชาเพื่อเพิ่มทางเลือกด้านการแพทย์และสุขภาพ และมาตรการกำกับดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาต่อสังคม” ซึ่งสนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ เรื่องกัญชา ของ สกสว. และ วช. ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทบทวนความรู้ที่เกี่ยวกับกัญชาในทางการแพทย์ออกเผยแพร่เมื่อ 6 มิ.ย. 2567 ใน https://tdri.or.th/2024/06/medical-cannabis-article/ ได้นำมาสู่บทความวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้ผลักดันการใช้กัญชาอย่างน้อยสองบทความซึ่งเว็บ manageronline.com นำมาเผยแพร่ต่อ คือจดหมายเปิดผนึกของ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เขียนถึงประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในวันเดียวกัน https://mgronline.com/politics/detail/9670000049665 และบทความของเดชา ศิริภัทร Deycha Siripatra อดีตกูรูด้านเกษตรอินทรีย์ที่ผันตัวมาเป็น “หมอเดชา” เจ้าของตำรับ “น้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา” ที่น่าจะใช้มากที่สุดในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข https://mgronline.com/qol/detail/9670000049753 ซึ่งได้ให้สมญาผู้เขียนเป็น "นักวิชาการขายตัว" และ "โสเภณีทางวิชาการ" ด้วย
.
ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ 3 ที่มีองค์กรหรือเครือข่ายต่างๆ ส่งจดหมายร้องเรียนงานวิจัยที่ผมเป็นผู้วิจัยหลัก สองชิ้นก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องนโยบายเมดิคัลฮับ (ทำร่วมกับ ศ.อัญชนา ณระนอง และ รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์) และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล (ทำร่วมกับ ศิริกัญญา ตันสกุล Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ) ซึ่งต่อมางานสองชิ้นนี้ก็ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และผลงานวิจัยดีเด่นสาขาเศรษฐศาสตร์จากสภาวิจัยแห่งชาติ
.
ท่านที่ได้อ่านบทความข้างต้นหรือร่างรายงานการวิจัย จะพบว่าคณะผู้วิจัยได้เสนอมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการทดลองทางคลินิกในการใช้ยากัญชารักษาโรคหรืออาการที่มีบุคลากรทางการแพทย์ไทยบางรายระบุว่ากัญชาใช้ได้ผลดีกว่ายาแผนปัจจุบัน (เช่น ช่วยการนอนหลับ) อย่างเป็นระบบที่รัดกุมและมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ พัฒนาศูนย์ศึกษาวิจัยพืชและยาสมุนไพรที่สามารถพิสูจน์คุณสมบัติและทดลองยากัญชาและยาสมุนไพรตัวอื่นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์และหลักฐานเชิงประจักษ์ และสนับสนุนการขยายการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ลงทุนกับกัญชาไปใช้วิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรและพืชเสพติดชนิดอื่นด้วย เพื่อที่วงวิชาการของไทยจะได้มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของกัญชาและพืชเสพติดอื่นในทางการแพทย์โดยมีหลักฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่รัดกุมมารับรอง
.
นอกจากนี้บทความของเรายังได้เสนอให้รัฐบาลยุติมาตรการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เช่น การสนับสนุนให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือน (ซึ่งมีความเสี่ยงปนเปื้อนโลหะหนักต่างๆ เพราะกัญชาเป็นพืชที่ดูดโลหะหนักจากดินได้ดีมาก) และควรเฝ้าระวังและควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านกัญชา พืชสมุนไพร และพืชเสพติดอื่นๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอที่จะมายืนยันสรรพคุณที่โฆษณา รวมทั้งควบคุมโฆษณาที่เกินความจริงที่อาจมาจากบางธุรกิจด้วย
.
เหตุผลสำคัญที่คณะผู้วิจัยเสนอมาตรการต่างๆ ข้างต้น ก็เพราะต้องการให้การใช้กัญชาเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของมวลมหาประชาชนในประเทศนี้อย่างแท้จริง คือเพิ่มทางเลือกให้สามารถใช้กัญชาที่เคยถูกจัดในกลุ่มยาเสพติดมาใช้ทดแทนหรือเสริมยาที่ใช้อยู่เดิม โดยต้องมีหลักประกันว่าอย่างน้อยยากัญชาที่มาทดแทนยาเดิมจะต้องมีประสิทธิผลที่ไม่ด้อยไปกว่ายาเดิม หรือต้องมีประสิทธิผลที่เหนือกว่ายาเดิมในกรณีที่การใช้กัญชามีผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยากัญชาต่อเนื่องในระยะยาวด้วย
.
ในช่วงที่ทำงานวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยได้พบการกล่าวอ้างสรรพคุณของกัญชาในประเทศนี้แบบแทบจะครอบ จักรวาล โดยมีคนไม่น้อยมีศรัทธาในกัญชาราวกับเป็นยาเทวดา (หรือยาผีบอก?) ที่รักษาได้แทบทุกโรค และยังผลักดันให้ใช้เป็น “สมุนไพรบำรุงสุขภาพ” เป็นประจำอีกด้วย และนอกจากการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว ก็ยังพบการบิดเบือนความจริงในการสื่อสารข้อมูลที่ผิดต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
.
แม้กระทั่งในบทความที่ “หมอเดชา” วิพากษ์ผมมาสดๆ ร้อนๆ ก็ยังพบการบิดเบือนโดยเอาความเท็จมาสอดแทรกในข้อความจริง เช่นในบทความท่อนนี้
“การละเลยข้อมูลที่ถูกต้อง เห็นได้ชัดจากการไม่ใช้ผลการวิจัยที่สำคัญในประเทศไทยคือการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมแพทย์แผนไทยฯ เมื่อปี 2562 ถึงปี 2564
เป็นการวิจัยรักษาโรค 8 โรค มีคนไข้เข้าร่วมวิจัยมากกว่า 180,000 คน ในช่วงเวลา 2 ปี
ข้อมูลการรักษาถูกส่งไปวิเคราะห์ผลโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าได้ผลอย่างดียิ่งคือรักษาโรคทั้ง 8 โรค ได้ผลเกิน 80% ทุกโรค และมีความปลอดภัย 100% ...
จากงานวิจัยนี้ ทำให้น้ำมันกัญชาฯ ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักของชาติตั้งแต่ปี 2564 และ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้นำไปรักษาโรคมะเร็ง พาร์คินสัน และ ไมเกรน (เชิงอรรถ 1)
ข้อมูลที่ชัดเจนและมีผลกระทบกว้างขวางขนาดนี้ กลับไม่ปรากฏในงานวิจัยของ TDRI แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ชัดเจนยิ่งกว่าคำพูดใดๆ
ยังไม่ต้องกล่าวถึงข้อมูลจากประเทศอื่นๆ (เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฯลฯ) ที่มีมากมาย ว่าการปลดล็อคกัญชา มีผลดีมากมาย โดยเฉพาะต่อเยาวชน ที่มักนำมาอ้างความห่วงใย”
.
แต่ท่านที่เคยอ่านผ่านตา บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564 จนถึงฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2566 จะไม่พบข้อความตรงไหนที่ระบุสรรพคุณของกัญชาหรือน้ำมันกัญชาในการ “รักษาโรคมะเร็ง” เลย แต่จะพบสรรพคุณอย่าง
“ช่วยให้นอนหลับ ช่วยให้เจริญอาหาร ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง”
“ใช้รักษาเสริมในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่รักษาด้วยยามาตรฐานไม่ได้ หรือไม่ได้ผล” (เป็นการรักษาประคับประคองที่ไม่ได้หวังผลว่าจะหายจากโรคมะเร็ง) ฯลฯ
.
ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมานี้ ถ้าอ่านด้วยสายตาและสมองของวิญญูชน ก็ไม่น่าจะมีใครที่กล้ามาอวดอ้างหรือแอบอ้างว่าบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และ/หรือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้อนุมัติหรือแนะนำให้ “นำ[น้ำมันกัญชา]ไปรักษาโรคมะเร็ง”
.
และถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการอ้างผลการทดลองการยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง (in vitro) ของกัญชาอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่เป็นระบบมายืนยันผลในสัตว์ทดลองและในคน และยิ่งห่างไกลจากการที่วงการแพทย์จะแนะนำให้ใช้กัญชามารักษามะเร็งในคนมาก ซึ่งกรณียารักษามะเร็ง ก็มีตัวอย่างที่มีการใช้สารสกัด Vinblastine และ Vincristine ในความเข้มข้นสูงจากแพงพวยฝรั่งเป็นยาฉีดในการรักษามะเร็งในต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก แต่การนำแพงพวยฝรั่งมาต้มกินหรือสกัดสดเองมากินนั้นไม่มีผลใดๆ ในการรักษามะเร็งเลย
.
ส่วนที่อ้างว่า “ข้อมูลการรักษาถูกส่งไปวิเคราะห์ผลโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าได้ผลอย่างดียิ่งคือรักษาโรคทั้ง 8 โรค ได้ผลเกิน 80% ทุกโรค และมีความปลอดภัย 100%” นั้น ผมต้องสารภาพว่าแปลกใจมาก และคงต้องขอตามไปเช็คว่าสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาฯ ที่ผมก็เป็นศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ จะรับรองความปลอดภัย 100% ให้น้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชาหรือยาอื่นใด เพราะจากบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรนั้น ดูแค่ยากัญชาเพียง 2 ตัวก็พบข้อห้ามใช้และคำเตือนจำนวนมาก เช่น
.
“ข้อห้ามใช้ - ผู้ที่เคยแพ้กัญชา - ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจิตเวช - ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่สามารถคุมอาการได้ - ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี (ผู้ที่อยู่ในช่วงปฐมวัย)
คำเตือน - หากผู้ป่วยมีอาการสับสน เห็นภาพหลอน มีความคิดฆ่าตัวตาย หรืออาการทางจิตอื่น ๆ ควรหยุดยาทันทีและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าอาการจะหายไป”
.
ข้อควรระวัง - หลีกเลี่ยงการสั่งใช้ยากับผู้ป่วยเป็นเวลานาน และควรติดตามอาการติดยาอย่างสม่ำเสมอก่อนหยุดใช้ยา ต้องปรับลดขนาดยาลงทีละน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนยา
- ระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาร่วมกับยากล่อมประสาทหรือ ยาที่ออกฤทธิ์ทางจิตอื่น ๆ เนื่องจากเสริมฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางหรือเพิ่มผลกระทบทางจิตประสาท
- ระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติของการใช้สารเสพติด รวมถึงผู้มีประวัติติดสุรา
- ผู้ชายที่บริโภคกัญชา อาจส่งผลให้มีบุตรยาก เพราะ THC อาจมีผลทำให้ต่อมสร้างน้ำอสุจิมีขนาดเล็กลง น้ำอสุจิลดลง และลดการสร้างตัวอสุจิ
.
อาการไม่พึงประสงค์ - ปากแห้ง คอแห้ง วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม เคลิ้มสุข (euphoria)
.
และที่ “หมอเดชา” อ้างว่า “ข้อมูลจากประเทศอื่นๆ (เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฯลฯ) ที่มีมากมาย ว่าการปลดล็อคกัญชา มีผลดีมากมาย โดยเฉพาะต่อเยาวชน” นั้น คณะผู้วิจัยพบว่าในสหรัฐอเมริกา การผลิต การขายและการครอบครองกัญชาเพื่อนันทนาการ ยังคงผิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง ถึงแม้ว่าในระดับรัฐ จะมีประมาณครึ่งหนึ่งที่อนุญาตให้ใช้ผู้ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปสามารถใช้เพื่อนันทนาการได้
.
สำหรับแคนาดา ก็ใช้เวลานานถึง 19 ปีหลังจากที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในปี 1999 มาสู่การอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการที่เพิ่งจะอนุญาตเมื่อตุลาคม 2018 โดยเกือบทุกจังหวัดอนุญาตผู้ที่อายุ 19 ปีขึ้นไป (ยกเว้น 2 จังหวัด คือ Alberta กำหนดอายุที่ 18 และ Quebec กำหนดอายุที่ 21 ปีขึ้นไป) และที่ผ่านมาก็มีการควบคุมการปลูกโดยคำนวณจำนวนต้นที่อนุญาตให้ปลูกตามความต้องการทางการแพทย์ของผู้ป่วยเท่านั้น และรัฐบาลยังเผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงและความรู้เกี่ยวกับกัญชา โดยทำเว็บที่เข้าใจง่าย และไม่โฆษณาประสิทธิผลของกัญชาเกินกว่าที่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจน
.
ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศนี้ต่างก็มีมาตรการที่ปกป้องเยาวชนทั้งการกำหนดอายุผู้ใช้กัญชาไว้สูงกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้บริโภคสุรา และให้ข้อมูลที่ไม่โฆษณาเกินจริงแก่เยาวชน
.
นอกจากนี้ เรายังพบว่างานวิจัยกัญชาในไทยหลายชิ้นออกแบบโดยเปรียบเทียบผลของกัญชากับยาหลอก ในขณะที่แทบทุกโรคมียาอื่นที่ใช้ได้ผลสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งอาจถือได้ว่าผิดจริยธรรมทางการแพทย์ เพราะการที่จะเปลี่ยนไปใช้กัญชาที่มีฤทธิ์เสพติดด้วยมาใช้นั้น ควรต้องได้ผลการทดสอบที่ดีกว่ายาเดิมที่มีใช้อยู่ (ตามหลัก Do no harm ตาม Hippocratic Oath) ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ยังไม่พบองค์กรทางการแพทย์ใดในทุกประเทศที่ศึกษา (รวมทั้งประเทศไทย) ที่แนะนำให้ใช้ยากัญชาเป็นยาหลักหรือยาตัวแรก (First-line drug) ในการรักษาโรคใดเลย
.
จึงดูเป็นเรื่องแปลกที่นอกจากกูรูอย่าง “หมอ” เดชาจะไม่ตระหนักหรือเคร่งครัดในหลักจริยธรรมสากลทางการแพทย์แล้ว ยังกลับมากล่าวหานักวิจัยที่ยึดประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักและผลักดันให้ทำวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของกัญชา ว่าเป็นการ “ตั้งธง” เพื่อล้มกัญชา
----------------
(เชิงอรรถ 1) เมื่อ 26 พ.ค. 2566 “หมอเดชา” ก็เคยออกข่าวด้วยคำที่เกือบเหมือนข้างบนว่า “ยากัญชาตำรับหมอเดชา กระทรวงสาธารณสุข นำไปวิจัยตั้งแต่ปี 62 วิจัยไปแล้วกว่า 180,000 คน รักษาได้ผลเกิน 80 % ทั้งโรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน และโรคไมเกรน” https://www.ch7.com/amp/646420 ซึ่งคณะผู้วิจัยเองยังไม่พบรายงานวิจัยเรื่องกัญชาทางการแพทย์เรื่องใดในประเทศไทยที่มีผู้เข้าร่วมมากถึง 180,000 คน ที่อาจจะใกล้เคียงที่สุด—แต่ไม่ใช่งานวิจัย—ก็คือระบบรายงาน ฐานข้อมูล HPVC ของ อย. ที่เคยกำหนดให้ต้องรายงานการจ่ายกัญชาทุกราย ซึ่งมีการแยกน้ำมันกัญชาสูตรหมอเดชาออกมาด้วย แต่ถึงกระนั้นตัวเลขก็ยังน้อยกว่า 180,000 คนมาก (ตัวเลขถึง 11 มิ.ย. 66 พบข้อมูลสะสมการจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ 119,103 คน แต่รายงาน HPVC เพียง 66,865 คน และเป็นผู้ที่ได้รับน้ำมันเดชา 46,236 ราย ซึ่งถ้าที่ “หมอเดชา” อ้างคือฐานข้อมูลนี้ ก็เป็นไปได้มากที่เป็นการรายงานจากจำนวนครั้ง (หรือนับจำนวนขวดยา) ซึ่งอาจสูงเป็น 4 เท่าของจำนวนคนจริงๆ และในฐานข้อมูลนี้ก็มีเพียงร้อยละ 60 ที่มีรายงานผลการรักษา ซึ่งก็มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 30 ที่มีรายงานว่ามีผลการรักษาที่ดีขึ้น
*ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ความเห็นทั้งหมดในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปานเทพ' ย้อนถามถ้ากัญชาเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ ทำไมผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงคุก

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ถ้ากัญชาเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้ ทำไมที่ผ่านมาผู้ป่วยไทยเกือบทั้งหมดยังต้องเสี่ยงคุกใช้กัญชาใต้ดิน? มีเนื้อหาดังนี้

'ปานเทพ' ชำแหละผลวิจัยด้อยค่ากัญชา หลังกล่าวหาการปลดล็อก ทำให้จำนวนผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อผลวิจัย บางส่วนที่เปิดเผ

'ประสิทธิ์ชัย' กังขาถึงยุค นายทุนมาบัญชาการ เอากัญชาไปสู่ยาเสพติด

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และเพื่อภาคีชาวกัญชาประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า

'หมอธีระวัฒน์' เผยเป็นโรคกระดูกและข้ออักเสบ ใช้กัญชาพื้นบ้าน โรคสงบโดยไม่ได้ใช้ยาแก้ปวด

'หมอธีระวัฒน์' ย้ำ กันชง กัญชา มีประโยชน์ทางการแพทย์ มีตำรับ ตำราแพทย์แผนไทยมากมาย คนไทยน่าส่งเสริมในการใช้สมุนไพรเหล่านี้ เผยตนเองเป็นโรคกระดูกและข้ออักเสบ ใช้กัญชาพื้นบ้านโรคสงบโดยไม่ได้ใช้ยาแก้ปวด

'หมอเดชา' รำลึก5ปีเดินเพื่อผู้ป่วย รัฐบาล​จะนำกัญชาเป็น​ยาเสพติด ถามใครจะร่วมเดินทางไกลบ้าง

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ว่า